ตลาดเงินต่างประเทศอยู่ในสภาวะเงียบเหงาในช่วงแรก เนื่องจากตลาดส่วนใหญ่ยังคงปิดทำการเทศกาล Easter holiday เงินดอลลาร์สหรัฐฯเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบประมาณ 1.28-1.29 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ทำสถิติสูงสุดในรอบ 5 เดือน เมื่อเทียบกับเงินเยน ณ อัตราเฉลี่ยราว 107 เยน/ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ มีค่ากระเตื้องขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าผลการสำรวจราคาบ้านในอังกฤษซบเซาก็ตาม สำหรับราคาทองคำต่างประเทศฟื้นตัวเช่นกัน สวนทิศทางกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ท่ามกลางกระแสข่าวที่คาดว่าอาจมีการนำทองคำสำรองของ IMF ออกขาย รวมถึงทองคำสำรองของธนาคารกลางยุโรปด้วย
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงมีค่าเข้มแข็งในช่วงต้นสัปดาห์ ในบรรยากาศการค้าที่ค่อนข้างเบาบางของเทศกาลวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนค่าเงินดอลลาร์ ได้แก่ การที่ตลาดเงินยังให้ความสนใจกับผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า ที่สะท้อนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปอยู่ในระดับ 4% ในช่วงสิ้นปีนี้ จากอัตราปัจจุบัน 2.75% เนื่องจากธนาคารกลางมีท่าทีหวั่นวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อและคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น การที่เงินดอลลาร์มีค่าแกร่งเมื่อเทียบกับเงินเยน ยังเป็นผลมาจากรายงานอัตราการว่างงานญี่ปุ่นเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น ประกอบกับการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ลดลง ส่งผลกดดันให้ตลาดหุ้นโตเกียวหวั่นไหวและค่าเงินเยนทรุดต่ำลงด้วย
อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าอ่อนตัวลงในเวลาต่อมา เนื่องจากดัชนีวัดความเชื่อมั่นสหรัฐฯเดือนมีนาคมลดลงอยู่ที่ 102.4 จากเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 104.4 นอกจากนี้ รายงานตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯไตรมาสสุดท้ายของปี 2547 ซึ่งปรับครั้งล่าสุด ปรากฏว่า มีอัตราเพิ่ม 3.8% เทียบกับอัตราการเติบโตของ GDP ไตรมาสที่สามอยู่ที่ระดับ 4.0% ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 ก็ขยับเพิ่มเป็น 2.3% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ราว 2.1% มีส่วนกระตุ้นให้ตลาดเงินกลัวว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสะกัดเงินเฟ้ออย่างรุนแรง และอาจเป็นผลเสียต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงกดดันให้ราคาหุ้นและราคาพันธบัตรสหรัฐฯต่ำลง ส่งผลให้นักลงทุนหนีหน้าออกจากหลักทรัพย์สหรัฐฯ ไม่เป็นผลดีแก่ค่าเงินดอลลาร์ในที่สุด
ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินดอลลาร์ยังคงซบเซา แม้ว่าจะมีรายงานดัชนีภาคอุตสาหกรรมในบริเวณตะวันตกตอนกลางของสหรัฐฯระบุว่าสถานการณ์การผลิตอยู่ในเกณฑ์ดีมาก แต่ข่าวดังกล่าวก็ไม่มีผลช่วยพยุงค่าเงินดอลลาร์แต่ประการใด เพราะตลาดเงินเพ่งความสนใจไปยังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐฯเป็นสำคัญ
เงินปอนด์อังกฤษ มีค่ากระเตื้องขึ้นจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งๆที่มีตัวเลขเศรษฐกิจอังกฤษบางรายการสะท้อนว่าธนาคารกลางอังกฤษอาจชะลอการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน เช่น ราคาบ้านเดือนมีนาคมที่ยังลดลง รวมถึงยอดค้าปลีกด้วย ล้วนชี้ว่าเศรษฐกิจอังกฤษอาจเริ่มส่งสัญญาณอ่อนล้าบ้างแล้ว แต่ปรากฏว่าเงินปอนด์กลับได้รับผลดีจากค่าเงินดอลลาร์ที่แผ่วลง ทำให้ค่าเงินปอนด์เพิ่มขึ้นอยู่ที่อัตราเฉลี่ยราว 1.89 ดอลลาร์/ปอนด์ในช่วงปลายสัปดาห์
ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ได้รับอานิสงส์จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่คลายความแข็งแกร่งลงในสัปดาห์นี้ ทำให้ราคาทองคำฟื้นตัวดีขึ้นจากปลายสัปดาห์ก่อนหน้า และเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 426-428 ดอลลาร์/ออนซ์ เป็นที่น่าสังเกตว่า ราคาทองคำไม่ได้รับผลดีในฐานะหลักทรัพย์ปลอดภัย จากข่าวแผ่นดินไหวในอินโดนีเซีย และในเวลาเดียวกันทองก็ไม่ได้รับผลกระทบด้านลบจากข่าวที่ว่าอาจมีการนำทองคำสำรองของ IMF และธนาคารกลางยุโรปออกขาย ทั้งนี้ เป็นเพราะค่าเงินดอลลาร์มีอิทธิพลสำคัญต่อราคาทองคำอย่างมากในขณะนี้
อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 28 มีนาคม 2548 เทียบกับวันที่ 31 มีนาคม 2548 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.2898 ดอลลาร์/ยูโร (1.2966 ดอลลาร์/ยูโร) 107.09 เยน (107.13 เยน) และ 1.8662 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.8904 ดอลลาร์/ปอนด์)
ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 เท่ากับ 426.90 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 428.0 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2548