ผู้นำนิวซีแลนด์เยือนไทย : ลงนาม FTA เพิ่มพูนการค้าร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ นาง Helen Clark มีกำหนดเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน 2548 ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ก็คือ การร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ ซึ่งการเจรจาเสร็จสิ้นสมบูรณ์เรียบร้อยแล้วนับตั้งแต่ปลายปี 2547 และความตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 พร้อมกันนี้ ไทยกับนิวซีแลนด์ได้บรรลุข้อตกลงด้านอื่นๆ อีก 3 ฉบับ ซึ่งจะลงนามในคราวเดียวกันนี้ด้วย ได้แก่ ข้อตกลงเกี่ยวกับวีซ่าการทำงานและท่องเที่ยว ข้อตกลงว่าด้วยแรงงาน และข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม นับว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองพัฒนาไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

ตลาดนิวซีแลนด์ : เล็กพริกขี้หนู

นิวซีแลนด์ เป็นประเทศคู่เจรจา FTA กับไทยที่คืบหน้าอย่างรวดเร็วและแซงโค้งประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ นิวซีแลนด์กับไทยใช้ระยะเวลาเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าระหว่างกันเพียง 7 เดือน (พฤษภาคม – พฤศจิกายน 2547) และสามารถบรรลุข้อตกลง FTA อย่างเบ็ดเสร็จ โดยครอบคลุมการเปิดเสรีสินค้าทุกรายการ นับว่านิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ 2 ถัดจากออสเตรเลีย ที่จัดทำความตกลง FTA กับไทยเสร็จสิ้นเรียบร้อยและครบถ้วน ประกอบด้วยขั้นตอนการลดหย่อนภาษีในการนำเข้าสินค้าต่างๆ ระหว่างกันอย่างชัดเจน ทั้งสินค้าธรรมดาและสินค้าอ่อนไหว ประเทศทั้งสองจะเริ่มต้นลดภาษีทันทีในวันที่ 1 กรกฎาคมศกนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ ไทยได้เปิดเสรีการค้าสินค้าบางรายการกับจีนและอินเดีย แต่ก็เป็นการบรรลุข้อตกลง FTA ระหว่างกันเพียงบางส่วน และเป็นการเปิดเสรีสินค้านำร่องเฉพาะรายการที่เร่งลดภาษีเท่านั้น มิใช่การเปิดเสรีที่ครอบคลุมสินค้าทั้งหมด

นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของไทยในการจัดทำ FTA แม้ว่านิวซีแลนด์เป็นประเทศขนาดเล็ก แต่มีความโดดเด่นสรุปได้ดังนี้

* กำลังซื้อสูง ประชาชนชาวนิวซีแลนด์มีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 16,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี มากกว่ารายได้เฉลี่ยของไทยเกือบ 8 เท่า (รายได้ประชาชาติของไทยประมาณ 2,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี) แม้ว่าประชากรของนิวซีแลนด์มีจำนวนค่อนข้างน้อยราว 4 ล้านคน แต่การที่ประชาชนนิวซีแลนด์ทั่วไปมีกำลังซื้อสูงมาก คาดว่าการเปิดเสรี FTA ไทย – นิวซีแลนด์ จะช่วยกระตุ้นให้ความต้องการนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้น เพราะการค้าขายสินค้าระหว่างกันปราศจากภาษีและคล่องตัวมากขึ้น

* เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจนิวซีแลนด์เติบโตในอัตราเฉลี่ยประมาณ 3.1% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับเงินเฟ้อของนิวซีแลนด์อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยราว 1-2% นับว่านิวซีแลนด์เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่น่าพอใจและมีเสถียรภาพมั่นคงต่อเนื่อง

* การค้าสดใส การส่งออกสินค้าไทยไปนิวซีแลนด์ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยสูงถึง 22% ต่อปีระหว่างปี 2545-2547 และในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกไปนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น 42% แม้ว่าปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างกันยังค่อนข้างน้อย โดยการค้ารวม (ส่งออก+นำเข้า) ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นิวซีแลนด์จึงเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพของไทยอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งการค้าขายสินค้าระหว่างกันมีโอกาสเติบโตอีกมาก คาดการณ์ว่าการค้ารวมระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์จะมีมูลค่าสูงกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีหลัง 2548 การค้าระหว่างกันมีแนวโน้มคึกคักขึ้นหลังจากที่ความตกลง FTA มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับนิวซีแลนด์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

นมกีวี VS สิ่งทอไทย : สินค้าอ่อนไหว วัดใจมิตรภาพ

การที่ไทยกับนิวซีแลนด์สามารถบรรลุความตกลง FTA ระหว่างกันอย่างรวดเร็ว เนื่องจากประเทศทั้งสองแทบไม่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับรายการสินค้าที่จะเปิดเสรี ยกเว้นสินค้าเพียง 2-3 รายการ ทั้งของฝ่ายไทยและฝ่ายนิวซีแลนด์ที่จะเปิดเสรีช้ากว่าสินค้ารายการอื่นๆ เพราะเป็นสินค้าที่อ่อนไหวและเกรงว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ผลิตภายในของแต่ละประเทศ หากเปิดการค้าเสรีทันที สินค้าที่อ่อนไหวของไทย ได้แก่ น้ำนมและนมพร้อมดื่ม รวมทั้งนมผงพร่องมันเนย ซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard) และจะเปิดเสรีหลังสุด คือ ในปี 2568 (20 ปี หลังจาก FTA ไทย – นิวซีแลนด์มีผลบังคับใช้) ทางการไทยคาดว่าในช่วง 20 ปีถัดจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจะเร่งรัดพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าดังกล่าวให้สามารถแข่งขันกับสินค้าประเภทน้ำนม-นมพร้อมดื่มและนมผงพร่องมันเนยที่นำเข้าจากนิวซีแลนด์ได้เมื่อถึงเวลานั้น

ทางด้านนิวซีแลนด์ไม่มีสินค้ารายการใดที่จัดอยู่ภายใต้มาตรการปกป้องพิเศษ แม้ว่านิวซีแลนด์มีสินค้าอ่อนไหวบางรายการ แต่ก็มีกำหนดเวลาที่จะลดภาษีลงเหลือ 0% ให้เสร็จสิ้นทั้งหมดภายในปี 2558 (10 ปีหลังจากที่ FTA ไทย – นิวซีแลนด์มีผลบังคับใช้) สินค้ากลุ่มสุดท้ายที่นิวซีแลนด์จะเปิดเสรีให้แก่ไทย ได้แก่ สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้า เนื่องจากสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ไทยมีความเชี่ยวชาญในการผลิตสูงและมีความได้เปรียบด้านราคา หากนิวซีแลนด์เปิดเสรีสินค้าประเภทสิ่งทอ-เสื้อผ้าและรองเท้าทันที จะส่งผลเสียต่อผู้ผลิตชาวนิวซีแลนด์ จึงเป็นสินค้าที่นิวซีแลนด์กำหนดให้เปิดเสรีหลังสุด

สำหรับสินค้ารายการอื่นๆ ที่นิวซีแลนด์นำเข้าจากไทย ส่วนใหญ่มีอัตราภาษีเป็น 0% อยู่แล้ว การที่ไทยกับนิวซีแลนด์ทำความตกลง FTA ระหว่างกัน ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าสินค้าไทยจะปลอดภาษีอย่างแน่นอนในการเข้าสู่ตลาดนิวซีแลนด์ ขณะเดียวกันนิวซีแลนด์จะได้รับประโยชน์จากการที่สินค้านิวซีแลนด์ที่ส่งมาไทยจะเสียภาษีขาเข้าลดลงอย่างมาก ปัจจุบัน ไทยเก็บภาษีขาเข้าสินค้านิวซีแลนด์คิดเป็นอัตราเฉลี่ยประมาณ 12% เปรียบเทียบกับที่นิวซีแลนด์เก็บภาษีขาเข้าสินค้าไทยในอัตราเฉลี่ยราว 3.6% ดังนั้น การเปิดเสรีการค้าไทย – นิวซีแลนด์ จึงส่งผลดีซึ่งกันและกัน

ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับไทย แต่การเจรจาคืบหน้าค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคงต้องการปกป้องการผลิตสินค้าภายในประเทศของตนซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหว ประกอบกับบางประเทศนำเงื่อนไขอื่นๆ มาผูกพันกับการค้ามากเกินไป เช่น มาตรฐานด้านแรงงาน มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ประเทศคู่เจรจา FTA อื่นๆ กับไทยที่กำลังดำเนินการเจรจากันอยู่ขณะนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เปรู บาห์เรน กลุ่ม BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectorial Technical and Economic Cooperation ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย) และกลุ่ม EFTA (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ประกอบด้วยประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และลิกเตนสไตน์)

FTA ไทย – นิวซีแลนด์ : ใครได้อะไร

ความตกลง FTA ไทย – นิวซีแลนด์ จะส่งผลให้สินค้าไทยที่เข้าสู่ตลาดนิวซีแลนด์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของรายการสินค้าทั้งหมด มีอัตราภาษีเป็น 0% ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 20% นิวซีแลนด์จะทยอยลดภาษีให้เหลือ 0% ภายในปี 2558 สำหรับประเทศไทย จะลดภาษีขาเข้าให้แก่สินค้านิวซีแลนด์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของรายการสินค้าทั้งหมดในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เช่นกัน ส่วนสินค้าที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ไทยจะทยอยลดภาษีให้แก่นิวซีแลนด์อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีกำหนดเสร็จสิ้นภายในปี 2568 ช้ากว่านิวซีแลนด์ 10 ปี

สินค้าไทยที่จะได้ประโยชน์ทันทีจากการเปิดเสรีการค้ากับนิวซีแลนด์ สรุปได้ดังนี้

* รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้ไปนิวซีแลนด์มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของสินค้าที่ไทยส่งออกไปนิวซีแลนด์ทั้งหมด ภายใต้ความตกลง FTA นิวซีแลนด์จะรักษาอัตราภาษีขาเข้ารถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบที่นำเข้าจากไทยไว้ที่ 0% ตามเดิม ทำให้ผู้ส่งออกรถยนต์ของไทยมั่นใจได้ว่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปนิวซีแลนด์จะปราศจากภาษีอย่างแน่นอน

คู่แข่งของไทยสำหรับตลาดรถยนต์ในนิวซีแลนด์ ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ ออสเตรเลีย ตุรกี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รถยนต์ที่นิวซีแลนด์นำเข้าจากไทย ส่วนใหญ่เป็นรถปิกอัพ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3 ใน 4 ของรถยนต์ที่นิวซีแลนด์นำเข้าจากไทยทั้งหมด รถปิกอัพของไทยที่ส่งออกไปนิวซีแลนด์สามารถแข่งขันได้ดีในตลาดแห่งนี้ โดยรถปิกอัพของไทยครองส่วนแบ่งตลาดนิวซีแลนด์ประมาณ 30% คิดเป็นมูลค่านำเข้ารถปิกอัพจากไทยประมาณ 64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547 รองจากญี่ปุ่น ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดรถปิกอัพในนิวซีแลนด์มากกว่าครึ่งหนึ่ง

* เครื่องสำอาง-ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม นิวซีแลนด์ลดอัตราภาษีเหลือ 0% ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ สำหรับเครื่องสำอางบางประเภท เช่น แชมพูสระผม รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เครื่องแต่งหน้า และผลิตภัณฑ์ทากันแสงแดด สินค้ารายการนี้เป็นสินค้าอันดับ 3 ที่ไทยส่งออกไปนิวซีแลนด์ การส่งออกเครื่องสำอาง-สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิวของไทยไปยังนิวซีแลนด์เติบโตเร็วมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยมากกว่า 100% ต่อปี และในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้ไปยังนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น 124% เป็นมูลค่า 3.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยในการส่งออกเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ ไปยังนิวซีแลนด์ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส จีน เป็นต้น การที่นิวซีแลนด์ปรับลดภาษีขาเข้าสำหรับเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงามให้แก่ไทย จะส่งผลให้ไทยสามารถขยายตลาดสินค้าดังกล่าวในนิวซีแลนด์ได้กว้างขวางขึ้น รวมทั้งการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติและสมุนไพรของไทย

* เม็ดพลาสติก สินค้าอันดับ 4 ที่ไทยส่งออกไปนิวซีเแลนด์ นิวซีแลนด์ปรับลดอัตราภาษีเม็ดพลาสติกลงเหลือ 0% ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 คู่แข่งของไทยในตลาดนิวซีแลนด์สำหรับสินค้ารายการนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

* เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ นิวซีแลนด์ลดอัตราภาษีขาเข้าสินค้ารายการนี้เป็น 0% ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเป็นสินค้าสำคัญอันดับ 8 ที่ไทยส่งออกไปนิวซีแลนด์ คู่แข่งของไทยในตลาดนิวซีแลนด์สำหรับสินค้ารายการนี้ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี เกาหลีใต้ อิสราเอล เป็นต้น

* ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สินค้าอันดับ 14 ที่ไทยส่งออกไปนิวซีแลนด์ นิวซีแลนด์ลดภาษีขาเข้าสำหรับสินค้ารายการนี้เหลือ 0% ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ประเทศคู่แข่งของไทยที่ส่งออกสินค้าคล้ายคลึงกันไปยังนิวซีแลนด์ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน สหรัฐฯ เป็นต้น การปรับลดภาษีสำหรับผลไม้กระป๋องและแปรรูป จะช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันด้านราคาในตลาดนิวซีแลนด์ได้มากขึ้น

* เครื่องประดับ นิวซีแลนด์ลดอัตราภาษีขาเข้าลงเหลือ 0% ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 สำหรับเครื่องประดับที่ไม่ใช่โลหะเงิน เช่น เครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะมีค่าชนิดอื่นๆ (สำหรับเครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน นิวซีแลนด์จะลดอัตราภาษีลงเหลือ 0% ในวันที่ 1 มกราคม 2551) คาดว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าจำพวกเครื่องประดับของไทยไปยังนิวซีแลนด์ต่อไป ปัจจุบันอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าอันดับ 19 ที่ไทยส่งออกไปนิวซีแลนด์ มูลค่าส่งออกประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี

สินค้ารายการอื่นๆ ที่ไทยส่งออกไปนิวซีแลนด์ค่อนข้างน้อยในปัจจุบัน แต่เป็นสินค้าอยู่ในกลุ่มที่นิวซีแลนด์จะลดภาษีขาเข้าให้แก่ไทยเหลือ 0% ทันทีที่ความตกลง FTA มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าของไทยไปยังนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาทูน่าปรุงแต่ง กุ้งปรุงแต่ง มันฝรั่งปรุงแต่ง ข้าวโพดแปรรูป ผลิตภัณฑ์พาสต้า ซอสและของผสมที่ใช้ปรุงอาหาร แล็กโตสและน้ำเชื่อม อาหารสุนัขและอาหารแมว กระสอบและถุงทำด้วยพลาสติก กระเบื้องปูพื้นหรือติดผนัง มอเตอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ การที่พ่อครัว-แม่ครัวชาวไทยจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำงานในนิวซีแลนด์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้ความตกลง FTA ไทย – นิวซีแลนด์ คาดว่าจะมีส่วนช่วยเผยแพร่อาหารและขนมไทยให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางในนิวซีแลนด์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกอาหารไทยประเภทต่างๆ ตลอดจนวัตถุดิบและอุปกรณ์สำหรับใช้ประกอบอาหารไทยและขนมไทยไปยังนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นด้วย

สินค้าที่นิวซีแลนด์จะได้รับประโยชน์ทันทีจากการเปิดเสรีการค้ากับไทย สรุปได้ดังนี้

* อาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารก เป็นสินค้าอันดับ 2 ที่นิวซีแลนด์ส่งออกมาไทย ไทยจะปรับลดอัตราภาษีขาเข้าสำหรับสินค้ารายการนี้ให้แก่นิวซีแลนด์เหลือ 0% ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ซึ่งจะส่งผลให้สินค้านิวซีแลนด์มีความได้เปรียบด้านราคามากขึ้นในการส่งออกมาไทย ปัจจุบันไทยนำเข้าอาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารกจากนิวซีแลนด์มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของสินค้ารายการนี้ที่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด คู่แข่งสินค้าดังกล่าวของนิวซีแลนด์ในตลาดเมืองไทย ได้แก่ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย เป็นต้น

* ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ สินค้าอันดับ 6 ที่นิวซีแลนด์ส่งออกมาไทย อัตราภาษีจะลดลงเหลือ 0% ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 คาดว่าจะช่วยให้การส่งออกไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้ของนิวซีแลนด์มาไทยกระเตื้องขึ้น หลังจากที่การส่งออกสินค้าดังกล่าวของนิวซีแลนด์มาไทยลดลงในปีที่ผ่านมา ประเทศที่เป็นคู่แข่งของนิวซีแลนด์ในการส่งออกไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้มายังประเทศไทย ได้แก่ มาเลเซีย พม่า ลาว สหรัฐฯ จีน อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี เป็นต้น

* สัตว์น้ำสดแช่เย็น-แช่แข็ง & สัตว์น้ำแปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอันดับ 10 ที่นิวซีแลนด์ส่งออกมาไทย ไทยปรับลดอัตราภาษีขาเข้าสินค้ารายการนี้จากนิวซีแลนด์ลงเหลือ 0% ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ คาดว่าจะช่วยฟื้นฟูการส่งออกสัตว์น้ำสดแช่เย็น-แช่แข็ง รวมทั้งสัตว์น้ำแปรรูปและกึ่งสำเร็จรูปของนิวซีแลนด์มายังไทย หลังจากการส่งออกสินค้าดังกล่าวมาไทยลดลงเป็นลำดับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่เป็นคู่แข่งของนิวซีแลนด์ในการส่งออกสินค้ารายการนี้มายังไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น วานูอาตู ชิลี จีน มัลดีฟส์ เกาหลีใต้ อินเดีย เป็นต้น

* กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ สินค้าอันดับ 12 ที่นิวซีแลนด์ส่งออกมาไทย อัตราภาษีจะลดลงเหลือ 0% ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ประเทศที่เป็นคู่แข่งของนิวซีแลนด์ในประเทศไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ เป็นต้น

สำหรับสินค้าอื่นๆ ที่นิวซีแลนด์ส่งออกมาไทย แต่ยังมีมูลค่าไม่มากนักในช่วงที่ผ่านๆ มา คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นหลังจากไทยปรับลดภาษีขาเข้าเหลือ 0% ให้แก่นิวซีแลนด์ตามความตกลง FTA ได้แก่ ขนแกะ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ของปรุงแต่งสำหรับบริโภค เช่น วิตามิน โปรตีน ฯลฯ พืชผัก เช่น แครอท ถั่ว เป็นต้น

นิวซีแลนด์เป็นประเทศเล็กๆ ที่มีศักยภาพทางการค้าสูง การจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์บรรลุผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว โดยจะเริ่มต้นมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 จะส่งผลดีต่อการค้าขายสินค้าระหว่างกัน รวมทั้งขยายความร่วมมือไปสู่ธุรกิจบริการ การลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นต่อไป ตลอดจนถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการระหว่างบุคลากรทั้งสองประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น การคลี่คลายปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน จะช่วยให้สินค้าจำพวกผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ของไทย ส่งออกไปยังนิวซีแลนด์อย่างคล่องตัวเช่นกัน โดยเฉพาะผลไม้ไทยซึ่งเป็นสินค้านำร่องที่จะเปิดตลาดนิวซีแลนด์ ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด ทุเรียน เป็นต้น นิวซีแลนด์จึงนับเป็นตลาดใหม่ FTA ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้การส่งออกของไทยบรรลุเป้าหมายในปีนี้