ท่ามกลางกระแสการบริโภคสินค้าที่มีการผลิตอิงธรรมชาติ หรือสินค้าอาหารที่ปลอดจากสารเคมี ทำให้ธุรกิจการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งในขั้นตอนของการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้นมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ดังนั้นความต้องการปุ๋ยอินทรีย์จึงมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วตามการเติบโตของสินค้าเกษตรอินทรีย์ สำหรับในประเทศไทยความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ยังมีมากกว่าปริมาณที่ผลิตได้ ในปัจจุบันไทยต้องมีการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งน่าจะมีปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพียงพอ ดังนั้นแนวนโยบายที่ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในระดับไร่นา และส่งเสริมภาคเอกชนในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าแล้ว ยังสามารถช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี และเป็นการส่งเสริมนโยบายการขยายการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยอีกด้วย ในอนาคตไทยน่าจะสามารถก้าวขึ้นไปเป็นประเทศผู้นำในการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ในภูมิภาคนี้ได้อีกด้วย
ปุ๋ยอินทรีย์ (Organic Fertilizer) เป็นปุ๋ยที่ได้จากอินทรีย์สารซึ่งผลิตขึ้นโดยแยกประเภทวัตถุดิบที่นำมาผลิตดังนี้
-ปุ๋ยคอก แหล่งวัตถุดิบสำคัญคือ มูลสัตว์
-ปุ๋ยหมัก แบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ ปุ๋ยหมักในไร่นาที่ได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในไร่นา เช่น ฟางข้าว ใบไม้ เป็นต้น ปุ๋ยหมักเทศบาลได้จากการนำขยะประเภทเศษพืช เศษอาหารเข้าโรงหมักจนกลายเป็นปุ๋ย และปุ๋ยหมักอุตสาหกรรมซึ่งได้จากการหมักวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร และโรงงานผลิตสุรา
-ปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการปลูกพืชบำรุงดิน ได้แก่ พืชตระกูลถั่วต่างๆ แล้วทำการไถกลบในช่วงพืชเจริญเติบโตมากที่สุด ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังออกดอก พืชเหล่านี้ก็ได้แก่ ถั่วพุ่ม ถั่วเขียว ถั่วลาย ปอเทือง ถั่วขอ ถั่วแปบ และโสน เป็นต้น
ปัจจุบันประเทศไทยมีวัตถุดิบเพียงพอที่จะทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แต่การผลิตเพื่อทำการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์นั้นยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นใช้เองในระดับไร่นา สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ที่มีการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ที่สำคัญได้แก่ ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก ซึ่งในปัจจุบันมีการผลิตปุ๋ยหมักในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการเพาะปลูกและการส่งออกมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่ามีปริมาณการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศประมาณปีละ 100,000 ตัน
การประเมินปริมาณการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จึงทำได้ยาก เนื่องจากเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองได้ จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรในปีเพาะปลูก 2544/45 ของกระทรวงเกษตรฯพบว่าเกษตรกรใช้จ่ายเงินสดในการซื้อปุ๋ยอินทรีย์โดยเฉลี่ยประมาณ 250 บาทต่อครัวเรือน โดยซื้อปุ๋ยคอกมากที่สุด และคาดว่าปริมาณความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ของครัวเรือนเกษตรไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากการที่กระทรวงเกษตรฯมีโครงการรณรงค์การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร โดยการสำรวจในเบื้องต้นพบว่าเกษตรกรมีความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 543,807 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 13.6 ของความต้องการใช้ปุ๋ยทั้งหมดของเกษตรกร ส่วนราคาจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์นั้นจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของปุ๋ยและระยะทางในการขนส่ง โดยปัจจุบันยังไม่มีการเก็บข้อมูลราคาปุ๋ยอินทรีย์อย่างเป็นระบบเหมือนกับปุ๋ยเคมีที่มีการเก็บข้อมูลไว้อย่างครบถ้วนในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิตทางด้านการเกษตร
ปัจจุบันประเทศไทยมีทั้งการส่งออกและนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ โดยแยกเป็น 3 ประเภทคือ ปุ๋ยอินทรีย์จากสัตว์ ปุ๋ยอินทรีย์จากพืช และปุ๋ยอินทรีย์ผสมทั้งจากพืชและสัตว์
-การส่งออก ในช่วงไตรมาสแรกปี 2548 ไทยส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ 564.53 ตัน มูลค่า 4.54 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 72.5 และ 88.5 อันเนื่องจากปัญหาภัยแล้งทำให้ความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศต่างๆลดลง อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาการส่งออกในช่วงปี 2544-2547 แล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์แยกออกเป็นปุ๋ยอินทรีย์ผสมทั้งจากพืชและสัตว์ร้อยละ 87.0 ของมูลค่าการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหมด โดยตลาดส่งออกสำคัญคือ ญี่ปุ่น สเปน พม่า ปากีสถาน เวียดนาม พม่า และจีน ปุ๋ยอินทรีย์จากสัตว์ร้อยละ 10.6 โดยตลาดส่งออกสำคัญคือ ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย สิงโปร์ และไต้หวัน และปุ๋ยอินทรีย์จากพืชร้อยละ 2.6 โดยตลาดส่งออกสำคัญคือ มาเลเซีย บรูไน เยอร-มนี อินโดนีเซีย ลาว และสิงคโปร์
ปัจจุบันการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์นั้นยังมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะชนิดของวัตถุดิบที่นำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์อาจมีปัญหาในด้านสุขอนามัยและถูกเข้มงวดจากประเทศผู้นำเข้า รวมทั้งน้ำหนักของปุ๋ย ซึ่งทำให้ไม่สะดวกในการขนส่ง
ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ของไทย
ปริมาณ : ตัน
มูลค่า : ล้านบาท
ปี ปุ๋ยอินทรีย์จากสัตว์ ปุ๋ยอินทรีย์จากพืช ปุ๋ยอินทรีย์ผสม รวม
ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า
2544 41.18 1.51 59.10 0.17 528.68 3.79 628.96 5.46
2545 244.90 2.67 43.21 0.29 242.26 5.20 530.37 8.15
2546 4,478.67 91.21 93.62 0.81 452.45 9.24 5,024.74 101.25
2547 6,680.59 145.21 114.40 0.76 1,323.58 15.30 8,118.57 161.27
มค.-มีค.47 1,776.20 37.73 – – 273.02 1.92 2,049.22 39.65
มค.-มีค.48 94.00 0.48 21.00 0.12 449.53 3.95 564.53 4.54
ที่มา : กรมศุลกากร
-การนำเข้า ในช่วงไตรมาสแรกปี 2548 ไทยนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ 37.05 ตัน มูลค่า 0.92 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 71.5 อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์แล้วมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 โดยแยกเป็นการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ผสมทั้งจากพืชและสัตว์ร้อยละ 42.6 ของมูลค่าการนำเข้า โดยตลาดนำเข้าสำคัญคือ เยอรมนี ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ปุ๋ยอินทรีย์จากพืชร้อยละ 32.2 โดยตลาดนำเข้าสำคัญคือ ออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ และสหรัฐฯ และปุ๋ยอินทรีย์จากสัตว์ร้อยละ 25.2 โดยตลาดนำเข้าสำคัญคือ จีน
ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ของไทย
ปริมาณ : พันตัน
มูลค่า : ล้านบาท
ปี ปุ๋ยอินทรีย์จากสัตว์ ปุ๋ยอินทรีย์จากพืช ปุ๋ยอินทรีย์ผสม รวม
ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า
2544 2,912.24 17.17 114.30 0.69 767.25 3.89 3,793.79 21.75
2545 2,768.55 18.70 38.98 0.60 201.13 1.72 3,008.66 21.02
2546 1,589.44 10.55 14.20 0.21 18.33 4.25 1,621.97 15.01
2547 72.78 2.57 74.09 3.28 34.22 4.33 181.09 10.18
มค.-มีค.47 8.07 0.49 20.00 2.70 0.45 0.05 28.52 3.23
มค.-มีค.48 16.05 0.56 21.00 0.37 – – 37.05 0.92
ที่มา : กรมศุลกากร
โอกาสของปุ๋ยอินทรีย์…กระแสเกษตรอินทรีย์เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ
ในปัจจุบันกระแสการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าที่มีการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมส่งผลให้ความต้องการปุ๋ยอินทรีย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมากถ้าทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่
1.ปริมาณการใช้ปุ๋ยอินทรีย์อยู่ในปริมาณต่ำ เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุอาหารค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบกับปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เท่ากัน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้ธาตุอาหารเพียงพอและสมดุลสำหรับพืชหรือเพื่อทดแทนปุ๋ยเคมีจึงต้องใช้ในปริมาณมาก ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวรัฐบาลได้ดำเนินการอบรมและเผยแพร่ความรู้เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นใช้เองจากวัสดุในไร่นา รวมทั้งเลือกชนิดของปุ๋ยอินทรีย์ที่จะใช้ให้เหมาะสมกับพืชและดินในแต่ละพื้นที่
ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ความรู้เกษตรกรในเรื่องเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งโครงการลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงร้อยละ 50 ในทุกจังหวัด ภายในปี 2551 โดยในปีแรกตั้งเป้าให้เกษตรกรผ่านการอบรมการลดใช้ปุ๋ยเคมี 400,000 ครัวเรือน คาดว่าจะสามารถทำให้เกษตรกรประหยัดเงินค่าปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชลงได้กว่า 20,000 ล้านบาท คาดว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้ปริมาณการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก
นอกจากนี้รัฐบาลควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เป็นการค้าและจำหน่ายในประเทศในราคาที่เป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปรับปรุงบำรุงดินได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยในด้านสิ่งแวดล้อมในการนำเอาวัสดุที่เหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งมีการติดตามรายงานราคาจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์แต่ละประเภททั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นราคาอ้างอิงและยังเป็นการควบคุมราคาจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์อีกด้วย
2.การควบคุมมาตรฐานของปุ๋ยอินทรีย์ เนื่องจากพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนที่ครอบคลุมถึงปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้ยังไม่มีการควบคุมมาตรฐานของปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตเพื่อการจำหน่าย
ดังนั้นถ้ามีการแก้ไขให้มีการควบคุมมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์เช่นเดียวกับปุ๋ยเคมีจะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์มีการรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานของกระทรวงเกษตรฯ ผู้ประกอบการขอรับใบอนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าสำหรับปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปุ๋ยให้ครอบคลุมถึงปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นการควบคุมมาตรฐานการผลิตและการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์อย่างเป็นระบบมากขึ้น
บทสรุป
ประเทศไทยสามารถจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำในการผลิตและการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ในภูมิภาคนี้ได้ ถ้าหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการขยายตัวของปุ๋ยอินทรีย์ เนื่องจากปัจจัยหนุนจากปริมาณและความหลากหลายของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แม้ว่าในปัจจุบันการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของไทยยังไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์บางส่วน แต่ไทยก็มีการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์โดยตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ตามการสำรวจปริมาณการผลิต ความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ของเกษตรกร การควบคุมมาตรฐานการผลิต และติดตามจัดเก็บราคาปุ๋ยอินทรีย์แยกรายประเภท นับว่ามีความจำเป็นอย่างมาก สำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐานในการสนับสนุนธุรกิจการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากในอนาคต