เวียดนาม : คู่ค้า & คู่แข่งระวังเกินดุลลด

วิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นในช่วงนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะนี้ยอดนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศของไทยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฉุดให้การนำเข้าโดยรวมของไทยขยายตัวรวดเร็วตามไปด้วย ขณะเดียวกันสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง มีส่วนกดดันภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยให้ชะลอลง ทำให้ประเทศคู่ค้าเหล่านั้นมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดลง ส่งผลเสียต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดต่างๆ ให้อ่อนแรงลงด้วย ในช่วง 5 เดือนแรก 2548 การส่งออกของไทยขยายตัว 12.6% เป็นมูลค่า 42,562 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 30.5% เป็นมูลค่า 48,834 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับต่างประเทศราว 6,272 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดียวกัน คาดการณ์ว่าปีนี้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่ไทยมีแนวโน้มขาดดุลการค้ากับต่างประเทศ

น้ำมันดิบ

การที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การนำเข้าน้ำมันดิบของไทยพุ่งขึ้น 78.3% เป็นมูลค่า 6,723 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ส่งผลให้น้ำมันดิบกลายเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 ของไทยนับตั้งแต่ปี 2547 จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับ 3 และอันดับ 2 ในปี 2545 และ 2546 ตามลำดับ นับตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับสูงขึ้น ไทยปรับกลยุทธ์การนำเข้านำมันดิบโดยหันมานำเข้าน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันภายในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำเข้าจากสมาชิกอาเซียนที่มีบ่อน้ำมันในประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และเวียดนาม รวมทั้งประเทศเอเชียอื่นๆ ได้แก่ จีน อินเดีย เป็นต้น ขณะที่ไทยชะลอการนำเข้าน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันดิบระยะไกล เช่น เยเมน การ์ตา แอลจีเรีย เป็นต้น เพื่อประหยัดค่าขนส่งในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบแพงขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ การนำเข้าน้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลางจะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการนำเข้าจากบางประเทศในเอเชียอื่นๆ

ในช่วงที่ผ่านๆ มา ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่บ้าง แต่ไม่ค่อยสม่ำเสมอนัก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับราคาและคุณภาพของน้ำมัน แต่ท่ามกลางวิกฤตราคาน้ำมันแพงมากขณะนี้ การนำเข้าน้ำมันจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงนับเป็นวิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสมประการหนึ่ง

เวียดนามถือเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันดิบล่าสุดของไทยในอาเซียน เนื่องจากเวียดนามเพิ่งพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศเพื่อการพาณิชย์อย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อปี 2529 ทำให้เวียดนามมีปริมาณน้ำมันดิบเพียงพอที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ ในช่วง 5 เดือนแรก 2548 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากเวียดนามเป็นมูลค่า 65.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นมูลค่าสูงสุดตั้งแต่มีการนำเข้าน้ำมันดิบจากเวียดนามเมื่อปี 2539 ทั้งนี้ เวียดนามจัดเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่ไทยนำเข้าน้ำมันดิบ

เวียดนามนับเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่มีศักยภาพอีกแห่งหนึ่งในกลุ่มอาเซียน ประมาณว่าเวียดนามมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองราว 600 ล้านบาร์เรล และมีแนวโน้มว่าอาจสำรวจพบแหล่งน้ำมันดิบใหม่ๆ ในเวียดนามเพิ่มเติมในอนาคต ปัจจุบันเวียดนามได้พัฒนาการขุดเจาะน้ำมันดิบเพื่อนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สามารถขยายการส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการส่งออกมาไทยด้วย ในช่วงต้นปีนี้ น้ำมันดิบเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าจากเวียดนามมากเป็นอันดับ 2 รองจากเครื่องจักรไฟฟ้า การนำเข้าน้ำมันดิบจากเวียดนามจำนวนมาก ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าโดยรวมจากเวียดนามเพิ่มขึ้นรวดเร็วตามไปด้วย โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว เป็นมูลค่า 306.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 5 เดือนแรก 2548 เวียดนามจึงเป็นสมาชิกอาเซียนที่ไทยมีอัตราขยายตัวของการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นมากที่สุด

แต่ในทางตรงกันข้าม การส่งออกสินค้าไทยไปเวียดนามในช่วงต้นปีนี้กลับชะลอลงอย่างมาก มีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 18% ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับอัตราขยายตัวที่สูงถึง 49% ในปี 2547 เวียดนามเคยเป็นประเทศที่ไทยสามารถขยายการส่งออกอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะได้รับผลดีจากการที่เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยประมาณ 7% ต่อปี ทำให้การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามขยายตัวในอัตราค่อนข้างสูง ส่งผลให้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 ของไทยในกลุ่มอาเซียน รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยไทยส่งสินค้าออกไปเวียดนามเป็นมูลค่า 1,877 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547

น่าเสียดายที่การส่งออกสินค้าไทยไปเวียดนามเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ โดยเฉพาะรายการสินค้าสำคัญ อาทิ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก-เหล็กกล้า หนังฟอก-หนังอัดและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สาเหตุสำคัญเนื่องจากสินค้าจีนแย่งตลาดสินค้าไทยในเวียดนาม สินค้าไทยต้องแข่งขันกับสินค้าจีนที่เข้าไปขยายตลาดเวียดนามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เวียดนามได้พัฒนาความร่วมมือทางการค้ากับจีนแนบแน่นขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เวียดนามมีพรมแดนตอนเหนือติดต่อกับจีน และประเทศทั้งสองได้ปรับปรุงเส้นทางคมนาคมระหว่างกัน ทำให้สินค้าจากจีนเข้าสู่เวียดนามได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันจีนก้าวขึ้นเป็นประเทศที่เวียดนามนำเข้าสินค้ามากเป็นอันดับ 1 ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 6 รองจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ เวียดนามยังนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากไทยลดลง โดยน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 ของไทยในตลาดเวียดนาม และในรอบ 5 เดือนแรก 2548 ไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปเวียดนามลดลง 1.9% เหลือมูลค่า 67.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเวียดนามหันไปนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากจีนเพิ่มขึ้น เพราะค่าขนส่งถูกกว่าการนำเข้าจากประเทศไทย

การส่งออกของไทยไปเวียดนามที่ขยายตัวในอัตรา 18% เทียบกับการนำเข้าจากเวียดนามที่พุ่งขึ้น 98% ในช่วงต้นปีนี้ ส่งผลให้ยอดเกินดุลการค้าของไทยกับเวียดนามลดลง 3.9% เหลือมูลค่า 530.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 5 เดือนแรก 2548 คาดว่าไทยยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากเวียดนามในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่การส่งออกซบเซาลง ก็มีความเป็นไปได้ว่าไทยอาจจะกลับกลายเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับเวียดนามในระยะต่อไป ทั้งๆ ที่ไทยเกินดุลการค้ากับเวียดนามมาโดยตลอด และเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ไทยเกินดุลการค้ามากเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ โดยไทยเกินดุลการค้ากับเวียดนาม 530.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 5 เดือนแรก 2548 เทียบกับยอดเกินดุลการค้ากับสิงคโปร์ 614.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดียวกัน

เวียดนามคู่แข่งส่งออกไทย

หลังจากเวียดนามดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้พัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าและมีเสถียรภาพมั่นคงขึ้น รวมทั้งสามารถผลิตสินค้าหลายประเภทที่คล้ายคลึงกับไทย ทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ทำให้เวียดนามเปรียบเสมือนเป็นคู่แข่งของไทยในการส่งสินค้าออกไปขายแข่งขันกันในตลาดโลก สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนาม (นอกเหนือจากน้ำมันดิบ) ได้แก่ สิ่งทอ รองเท้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเล เฟอร์นิเจอร์ไม้ ข้าว รวมทั้งพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ เช่น กาแฟ ชา พริกไท เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ยางพารา เป็นต้น

สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่ไทยกับเวียดนามขายแข่งขันกันในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ทั้งเวียดนามและไทยส่งสินค้าออกไปขายมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% และ 15% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของเวียดนามและของประเทศไทย ตามลำดับ เวียดนามมีศักยภาพสูงในการส่งออกสินค้าหลายรายการ อาทิ

1.สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป — สินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของเวียดนาม รองจากน้ำมันดิบ เวียดนามส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังตลาดสหรัฐฯ มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมดของเวียดนาม สำหรับประเทศไทย เสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 9 โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดของไทยเช่นกัน (สัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมดของไทย) คาดว่าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเวียดนามมีแนวโน้มจะขายแข่งขันกับเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยได้มากขึ้น หลังจากที่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างเป็นทางการภายในปีนี้ ทำให้สิ่งทอของเวียดนามไม่ถูกจำกัดโควตานำเข้าจากประเทศคู่ค้าต่างๆ จึงสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ สิ่งทอเวียดนามได้รับผลดีจากการที่สหภาพยุโรป (EU) ประกาศยกเลิกโควตานำเข้าสิ่งทอให้แก่เวียดนามนับตั้งแต่ต้นปี 2548 ทำให้สินค้าสิ่งทอจากเวียดนามขยายตลาดในกลุ่ม EU ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งเป็นตลาดสิ่งทอชั้นนำของไทยด้วย

2.รองเท้า — สินค้าส่งออกอันดับ 3 ของเวียดนาม เทียบกับอันดับ 24 ของไทย ตลาดหลักที่เวียดนามส่งออกรองเท้าไปจำหน่ายมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐฯ เช่นเดียวกับไทย การที่อัตราค่าจ้างแรงงานของเวียดนามยังต่ำกว่าไทย ทำให้ต้นทุนการผลิตรองเท้าของเวียดนามค่อนข้างถูก รองเท้าส่งออกของเวียดนามจึงมีความได้เปรียบด้านราคา เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้ขณะนี้รองเท้าของไทยยังคงสามารถแข่งขันได้ดีในตลาดสหภาพยุโรป (EU) และประเทศแถบตะวันออกกลาง แต่รองเท้าเวียดนามเริ่มรณรงค์และทำตลาดใน EU อย่างเต็มที่ หลังจากที่เวียดนามประสบความสำเร็จเรื่องสิ่งทอกับ EU มาแล้ว

3.อาหารทะเล — สินค้าส่งออกอันดับ 4 ของเวียดนาม และอันดับ 15 ของไทย ตลาดส่งออกอาหารทะเลสำคัญของเวียดนาม ได้แก่ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น อาหารทะเลเป็นรายการสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีความได้เปรียบด้านทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติได้เข้าไปช่วยเหลือเวียดนามในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการรักษาคุณภาพมาตรฐานและการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ทำให้อาหารทะเลของเวียดนามสามารถขยายการส่งออกอย่างกว้างขวาง

4.ข้าว — เวียดนามส่งออกข้าวไปจำหน่ายในตลาดโลกมากเป็นอันดับ 2 รองจากไทย โดยเวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 3.5-4 ล้านตัน/ปี เทียบกับไทยส่งออกข้าวเฉลี่ยประมาณ 6 ล้านตัน/ปี ข้าวเป็นสินค้าที่ไทยและเวียดนามน่าจะร่วมมือกันในการค้าข้าว เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาข้าวในตลาดโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

5.เฟอร์นิเจอร์ไม้ – สินค้าส่งออกอันดับ 6 ของเวียดนาม และอันดับ 21 ของไทย เฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้เป็นสินค้าส่งออกดาวรุ่งของเวียดนามที่ยอดส่งออกพุ่งขึ้นรวดเร็ว ทะลุระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ไปสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป มากที่สุด การที่เวียดนามสามารถพัฒนาการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ เพราะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและได้รับการฝึกฝนทักษะจากนักลงทุนต่างชาติที่ย้ายโรงงานไปผลิตสินค้าในเวียดนาม เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และสหรัฐฯ ประกอบกับเวียดนามได้รับอานิสงส์จากการที่ตลาดสหรัฐฯ ยังคงเปิดกว้างสำหรับสินค้าเวียดนาม ทำให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ของเวียดนามเติบโตเร็วมาก สำหรับประเทศไทย การส่งออกเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้ซบเซาลงในช่วงต้นปีนี้ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดเฟอร์นิเจอร์หลักของไทย เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นต้น สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากต้นทุนการผลิตของไทยค่อนข้างสูงกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ รวมทั้งเวียดนาม

6.ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ — สินค้าส่งออกอันดับ 7 ของเวียดนาม และอันดับ 1 ของไทย ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วยสินค้าจำพวกเครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่ครองส่วนแบ่งประมาณ 1 ใน 5 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย ประเทศที่ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ไปขายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง สำหรับเวียดนามเริ่มขยายการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้มากขึ้น โดยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน คาดว่าผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามมีแนวโน้มทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากบริษัทต่างชาติ เช่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ได้เข้าไปลงทุนจัดตั้งฐานการผลิตสินค้าดังกล่าวในเวียดนามแล้ว

7.ยางพารา — สินค้าส่งออกอันดับ 9 ของเวียดนาม และอันดับ 5 ของไทย ประเทศที่เวียดนามส่งออกยางพาราไปขายมากที่สุด ได้แก่ ประเทศจีน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของมูลค่าส่งออกยางพาราทั้งหมดของเวียดนาม สำหรับประเทศไทยส่งออกยางพาราไปยังประเทศจีนมากเป็นอันดับ 1 เช่นกัน คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 20-25% ของมูลค่าส่งออกยางพาราทั้งหมดของไทยในแต่ละปี ดังนั้น ไทยและเวียดนามน่าจะจับมือเป็นพันธมิตรในการส่งออกยางพารา เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

นอกจากนี้ เวียดนามมีศักยภาพในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด ที่สำคัญ ได้แก่ พริกไท (เวียดนามส่งออกมากเป็นอันดับ 1 ของโลก) กาแฟ (ส่งออกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล) เม็ดมะม่วงหิมพานต์ (ส่งออกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย) ชา (ส่งออกมากเป็นอันดับ 6 ของโลก) เป็นต้น ทั้งนี้ การพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรเหล่านี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของเวียดนาม ซึ่งระบุไว้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อเสนอแนะ

เวียดนามมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และมีความสามารถในการส่งออกสินค้าหลายประเภทที่คล้ายคลึงกับไทย จนเปรียบเสมือนเป็นคู่แข่งกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าไทยกับเวียดนามน่าจะเปลี่ยนฐานะเป็น “คู่หู” มากกว่าจะเป็น “คู่ปรับ” ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน โดยส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น อาทิ

1.พันธมิตรส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวและยางพารา ไทยและเวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก หากไทยและเวียดนาม รวมทั้งประเทศที่ส่งออกข้าวรายย่อยต่างๆ หันมาเป็นพันธมิตรในการค้าข้าว แทนที่จะเป็นคู่แข่งกัน จะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวโดยรวม เนื่องจากการผนึกความร่วมมือกันจะช่วยให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น เป็นผลดีต่อประเทศผู้ส่งออกข้าวทั้งหลาย ในกรณีของยางพาราก็เช่นเดียวกัน หากเวียดนามเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการส่งออกยางพาราร่วมกับไทย-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย คาดว่าจะช่วยเสริมอำนาจต่อรองของประเทศผู้ส่งออกในตลาดค้ายางพาราระหว่างประเทศมากขึ้น

2.พัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน แม้ว่าไทยและเวียดนามไม่มีพรมแดนติดต่อกัน แต่ประเทศทั้งสองสามารถเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศ โดยผ่านประเทศลาว คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสามคึกคักขึ้น เพราะจะได้รับประโยชน์จากการขนส่งสินค้าที่สะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย

โครงการความร่วมมือในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว และเวียดนาม ประกอบด้วยโครงการหลัก 2 โครงการ ซึ่งควรเร่งรัดให้คืบหน้าโดยเร็ว ได้แก่
•เส้นทางหมายเลข 9 ซึ่งเชื่อมระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม จากจังหวัดมุกดาหารของไทยไปยังเมืองคันทะบุลี แขวงสะหวันนะเขตของลาว ผ่านเข้าไปยังเมืองชายแดนเวียดนาม และไปสิ้นสุดที่เมืองท่าดานัง การพัฒนาถนนระหว่างประเทศสายนี้ได้คืบหน้าไปมากแล้ว เหลือเพียงการปรับปรุงถนนในเขตจังหวัดตอนกลางของเวียดนาม และการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ของไทย บริเวณชายแดนจังหวัดมุกดาหารกับแขวงสะหวันนะเขตของลาว การก่อสร้างสะพานแห่งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2549 นับเป็นเส้นทางเศรษฐกิจสายใหม่ที่จะส่งผลดีต่อการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม และกลุ่มอาเซียนโดยรวม
•เส้นทางหมายเลข 12 เชื่อมระหว่างจังหวัดนครพนมของไทย ผ่านไปยังเมืองคำม่วนของลาว และเชื่อมต่อกับเมืองวินท์ของเวียดนาม นับเป็นเส้นทางคมนาคมจากประเทศไทยไปยังเวียดนามที่ใกล้ที่สุด ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร แต่เส้นทางคมนาคมสายนี้อยู่ในระยะเพิ่งเริ่มต้นพัฒนา นอกจากนี้ การที่มีแม่น้ำโขงกั้นพรมแดนระหว่างจังหวัดนครพนมของไทยกับเมืองคำม่วนของลาว ทำให้การเดินทางไปมาหาสู่กันต้องใช้เส้นทางคมนาคมทางเรือ ซึ่งไม่ค่อยสะดวกนัก ดังนั้น การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงอีกแห่งหนึ่งในบริเวณนี้น่าจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ควรพิจารณาควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางสะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น

3.เปิดเสรีท่องเที่ยวข้ามแดน การผ่อนคลายกฎระเบียบในการเดินทางข้ามแดนระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม นอกจากจะช่วยให้การค้าขายสินค้าชายแดนคล่องตัวแล้ว ยังกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวผ่านทางชายแดนระหว่าง 3 ประเทศให้เฟื่องฟูขึ้นด้วย คาดว่าทางการไทยและรัฐบาลเวียดนามจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถขับรถข้ามแดนไปมาหาสู่ระหว่างกันได้ในเร็วๆ นี้ โดยรถยนต์พวงมาลัยขวาที่บรรทุกนักท่องเที่ยวจากไทยได้รับอนุญาตให้เดินทางไปยังเมืองในภาคกลางของเวียดนามได้ ในทางกลับกัน รถยนต์พวงมาลัยซ้ายจากเวียดนามก็จะได้รับอนุญาตให้ข้ามพรมแดนเข้ามาบางจังหวัดของประเทศไทยเช่นกัน

ชาวญวนเป็นนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านที่เดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จำนวนนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามที่เดินทางมาไทยพุ่งขึ้นเกือบ 1 เท่าตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จากจำนวนนักท่องเที่ยว 80,071 คนในปี 2544 เพิ่มขึ้นเป็น 155,801 คนในปี 2547 นับเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนที่เดินทางมาเที่ยวไทยมากเป็นอันดับ 5 รองจากมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ประมาณว่านักท่องเที่ยวชาวเวียดนามทำรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ไทยมากกว่า 3,000 ล้านบาทในปี 2547

ดังนั้น หากโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางถนนระหว่างประเทศไทย-ลาว-เวียดนามเสร็จสมบูรณ์ รวมทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการเดินทางข้ามแดนระหว่างกันให้ลดความซับซ้อนลง จะช่วยกระตุ้นให้การเดินทางข้ามประเทศคล่องตัวยิ่งขึ้นและสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวได้อีกด้วย

4.ร่วมลงทุนกับเวียดนาม เวียดนามเป็นแหล่งลงทุนเปิดใหม่ที่น่าสนใจ ปัจจุบันยอดเงินลงทุนสะสมของไทยในเวียดนามมีมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามมากเป็นอันดับ 10 รองจากสิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย ก่อนหน้านี้ เวียดนามเคยเป็นแหล่งลงทุนลำดับต้นๆ ของบริษัทไทยที่ต้องการลงทุนในต่างแดน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าการลงทุนของไทยในเวียดนามชะลอลงหลังวิกฤตเศรษฐกิจของไทยปี 2540

อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังคงเป็นทำเลลงทุนที่มีศักยภาพสูง และมีที่ตั้งไม่ห่างไกลจากไทยนัก ประกอบกับทางการเวียดนามมีมาตรการจูงใจด้านภาษี ได้แก่ จัดเก็บภาษีขาเข้าวัตถุดิบที่นำเข้าจากจีนในอัตราที่ต่ำ เมื่อเทียบกับอัตราภาษีขาเข้าของไทยที่นำเข้าวัตถุดิบจากจีน รวมทั้งค่าจ้างแรงงานของเวียดนามค่อนข้างถูก หากนักธุรกิจไทยสามารถปรับตัว เรียนรู้และเข้าใจสภาพตลาดของเวียดนาม ก็น่าจะทำให้ธุรกิจไทยประสบความสำเร็จในการขยายการลงทุนในเวียดนามต่อไป

นอกเหนือจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเวียดนามที่มีแนวโน้มพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ประเทศไทยและเวียดนามน่าจะสนับสนุนโครงการความร่วมมือทางสังคมระหว่างกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการศึกษาแก่นักศึกษาชาวเวียดนามที่สนใจเข้ามาศึกษาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ควรแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทยให้เดินทางไปเวียดนาม เพื่อเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมของเวียดนาม ทำให้ไทยและเวียดนามมีความเข้าใจในวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน นับเป็นพื้นฐานสำคัญในการประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นต่อไป