ธุรกิจการค้าปลาทะเลสวยงามนับว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะและมีแนวประการัง อย่างไรก็ตามปัจจุบันธุรกิจการค้าปลาทะเลสวยงามกำลังเผชิญกับปัญหาการต่อต้านจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากการจับปลาทะเลสวยงามจากธรรมชาติเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างปัญหาสภาพแวดล้อมทางทะเล ดังนั้นในปัจจุบันทางรอดของธุรกิจปลาทะเลสวยงามคือ การลงทุนวิจัยเพื่อเพาะพันธุ์และเลี้ยงปลาทะเลสวยงามในเชิงพาณิชย์
สำหรับประเทศไทยธุรกิจการค้าปลาทะเลสวยงามนั้นมีเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น เนื่องจากไม่อนุญาตให้มีการส่งออกปลาทะเลสวยงาม อย่างไรก็ตามปัจจุบันเริ่มมีแรงผลักดันเพื่อให้มีการพิจารณาอนุมัติให้สามารถส่งออกปลาทะเลสวยงาม เฉพาะปลาทะเลสวยงามที่ได้จากการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์และจากฟาร์มที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องเท่านั้น ซึ่งจะทำให้มีเกษตรกรเข้ามาลงทุนเพาะเลี้ยงปลาทะเลสวยงามในเชิงพาณิชย์ และประเทศไทยก็จะมีโอกาสในการสร้างชื่อในการส่งออกปลาทะเลสวยงามเช่นเดียวกับที่ไทยมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศอันดับต้นๆในการส่งออกปลาสวยงามที่เป็นปลาน้ำจืด
มูลค่าของธุรกิจปลาทะเลสวยงามในตลาดโลกในแต่ละปีคาดว่าสูงถึง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าธุรกิจการค้าสัตว์ทะเลทั้งหมด โดยร้อยละ 50 ของมูลค่าธุรกิจปลาทะเลสวยงามนั้นอยู่ในตลาดสหรัฐฯ และคาดว่าจำนวนผู้เลี้ยงปลาทะเลสวยงามทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน โดยอยู่ในสหรัฐฯประมาณ 600,000 คน ในตลาดโลกมีการค้าปลาทะเลสวยงาม 1,471 ชนิด แยกเป็นตระกูลได้ประมาณ 10 ตระกูล โดยตระกูลของปลาทะเลสวยงามที่เป็นที่นิยมเลี้ยงมากที่สุดคือ ตระกูลPomacentridae เช่น ปลาสลิดหิน(Damselfish) ปลาการ์ตูน(Anemonefish) เป็นต้น ซึ่งปลาทะเลสวยงามตระกูลนี้มีส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 50 ของปลาทะเลสวยงามที่เลี้ยงกันทั่วโลก
ประเทศที่ส่งออกปลาทะเลสวยงามมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกคือ ฟิลิปปินส์ โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 43 ของการส่งออกปลาทะเลสวยงามทั้งหมด รองลงมาคือ อินโดนีเซียร้อยละ 26 หมู่เกาะโซโลมอนร้อยละ 12 ศรีลังการ้อยละ 5 ออสเตรเลียร้อยละ 5 ฟิจิร้อยละ 4 และมัลดีฟร้อยละ 2 ส่วนประเทศผู้นำเข้าปลาทะเลสวยงามที่สำคัญในตลาดโลก คือ สหรัฐฯมีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 41 ของการนำเข้าปลาสวยงามทั้งหมด รองลงมาคือ อังกฤษร้อยละ 20 เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 6 ญี่ปุ่นร้อยละ 6 ฝรั่งเศสร้อยละ 2 และเยอรมนีร้อยละ 2
ปัจจุบันคาดการณ์กันว่าปลาทะเลสวยงามที่ค้าขายกันในตลาดโลกนั้นเกือบทั้งหมดนั้นเป็นปลาที่จับได้จากธรรมชาติ โดยมีเพียงร้อยละ 1-2 ของปลาทะเลสวยงามทั้งหมดเท่านั้นที่ได้จากการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้ธุรกิจการค้าปลาทะเลสวยงามนั้นจะได้รับการต่อต้านจากนักอนุรักษ์นิยม ซึ่งมองว่าธุรกิจการค้าปลาทะเลสวยงามเป็นการส่งเสริมให้มีการทำลายสภาพแวดล้อมในทะเล เนื่องจากปลาทะเลเกือบทั้งหมดเป็นปลาที่จับได้จากธรรมชาติ และยังต้องมีการจับสัตว์ทะเลประเภทอื่นๆ เช่น ปะการัง ดอกไม้น้ำ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อนำมาตกแต่งตู้ปลาทะเลสวยงามอีกด้วย นอกจากนี้การจับปลาทะเลสวยงามของบางประเทศมีการใช้ยาไซยาไนด์ ซึ่งส่งผลให้ปลาที่ได้ไม่มีคุณภาพ โดยมักจะตายระหว่างการขนส่งหรือเมื่อนำมาเลี้ยงได้ในระยะเวลาสั้นๆแล้วก็ตาย ซึ่งมีรายงานประมาณกันว่าปลาทะเลสวยงามที่จับจากธรรมชาติเกือบร้อยละ 80 ตายในระหว่างขั้นตอนการจับจากแนวประการัง การขนส่งมายังชายฝั่งและการขนส่งไปยังร้านค้าปลีก เนื่องจากการจับที่ผิดวิธี และความไม่พร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ในการขนส่ง นอกจากนี้การจับปลาด้วยวิธีนี้ยังสร้างความเสียหายให้กับแนวประการังอีกด้วย
ปัจจุบันมีองค์กรระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นศูนย์กลางในการควบคุม รณรงค์ หรือดำเนินกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับปลาทะเลสวยงาม The United Nations Environment Programme World Conservation Monitering Centre: UNDP-WCMC และ The Marine Aquarium Council : MAC โดยองค์กรนี้จะเข้าไปดูแลการจับปลาเพื่อให้มีวิธีการจับปลาอย่างถูกต้องและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์กลางเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจการค้าปลาทะเลสวยงามและสัตว์ทะเลสวยงามประเภทอื่นๆ(The Global Marine Aquarium Database : GMAD) โดยมีการจัดตั้งขึ้นในปี 2543 เพื่อรวบรวมข้อมูลการนำเข้าและส่งออกปลาทะเลสวยงามจากผู้ค้าส่งในประเทศต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงมูลค่าการค้าปลาทะเลสวยงามรวมทั้งการค้าสัตว์ทะเลต่างๆด้วย ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในทะเล นอกจากนี้ในตลาดโลกก็เริ่มมีการค้นคว้าวิจัยเพื่อเพาะเลี้ยงปลาทะเลสวยงามในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจังเช่นกัน โดยปลาทะเลสวยงามที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในเชิงพาณิชย์ในตลาดโลก เช่น ปลาการ์ตูน ปลาบู่ ปลาสินสมุทร เป็นต้น
สำหรับตลาดปลาทะเลสวยงามในประเทศไทย ปัจจุบันมีร้านค้าที่จำหน่ายปลาทะเลสวยงามและสัตว์ทะเลอื่นๆประมาณ 60 ร้าน มูลค่าจำหน่ายเฉลี่ยปีละประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งเกือบทั้งหมดนั้นจับมาจากธรรมชาติ และมีการนำเข้าบางส่วนเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ คาดว่ามูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยปีละประมาณ 25 ล้านบาท(มูลค่ารวมของปลาและสัตว์น้ำทะเลอื่นๆ) ปัจจุบันมีผู้นำเข้า 15 ราย แต่ละรายมีมูลค่าการนำเข้าเกือบ 500,000 บาทต่อปี
มูลค่าการค้าปลาทะเลสวยงามทั้งหมดในไทยคาดว่าเป็นมูลค่าของการค้าปลาการ์ตูนประมาณ 12 ล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 24 ของมูลค่าจำหน่ายทั้งหมด คาดว่าความต้องการปลาการ์ตูนในประเทศไทยสูงถึงประมาณ 240,000 ตัวต่อปี ซึ่งในปัจจุบันปริมาณปลาการ์ตูนยังไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ ทำให้ต้องมีการนำเข้ามูลค่าประมาณ 2-3 ล้านบาท ดังนั้นศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่เริ่มศึกษาการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนมาตั้งแต่ปี 2544 และในปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนได้ 9 ชนิด 10 สายพันธุ์ โดยแยกเป็นปลาการ์ตูนพันธุ์ไทยได้แก่ ปลาการ์ตูนส้มขาว(Clown Anemonefish) ปลาการ์ตูนลายปล้อง(Clark’s Anemonefish) ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง(Sebae Anemonefish) ปลาการ์ตูนอานม้า(Saddleback Anemonefish) ปลาการ์ตูนแดงดำ(Red Saddleback Anemonefish) ปลาการ์ตูนอินเดีย(Yellow Skunk Anemonefish) ปลาการ์ตูนอินเดียแดง(Pink Skunk Anemonefish) และปลาการ์ตูนพันธุ์ต่างประเทศได้แก่ ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ(Tomato Anemonefish) และปลาการ์ตูนแก้มหนาม(Spine-cheek Anemonefish) โดยปลาการ์ตูนแก้มหนามนั้นแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ ปลาการ์ตูนทองและปลาการ์ตูนแดง ในส่วนของภาคเอกชนสามารถเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนที่นำเข้าจากต่างประเทศ 1 สายพันธุ์คือ ปลาการ์ตูนเพอร์คูลา(Percula Anemonefish)
หลังจากประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนมีการจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาการ์ตูนตั้งแต่ปี 2545 โดยกรมประมงกำหนดราคาจำหน่ายปลาการ์ตูนดังนี้ ปลาการ์ตูนส้มขาวและปลาการ์ตูนอินเดียเซนติเมตรละ 5 บาท ส่วนปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง ปลาการ์ตูนลายปล้องและปลาการ์ตูนอานม้าเซนติเมตรละ 10 บาท
แม้ว่าในปัจจุบันกรมประมงจะประสบความสำเร็จในการศึกษาและเพาะพันธุ์ปลาทะเลสวยงาม โดยเฉพาะปลาการ์ตูน และสามารถจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาการ์ตูนได้แล้ว รวมทั้งยังสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงให้กับเกษตรกร จนกระทั่งเกษตรกรสามารถเพาะพันธุ์จำหน่ายได้แล้ว แต่ในปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้มีการส่งออกปลาทะเลสวยงาม ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญของเกษตรกรที่จะเข้ามาลงทุนเพาะเลี้ยงปลาทะเลสวยงามในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากตลาดจำกัดอยู่เฉพาะในประเทศเท่านั้น ดังนั้นการส่งเสริมธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามในเชิงพาณิชย์นั้นต้องเริ่มจากการที่หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาอนุญาตให้ส่งออกปลาทะเลสวยงามเฉพาะที่ได้จากการเพาะพันธุ์และมาจากฟาร์มที่จดทะเบียนฟาร์มอย่างถูกต้อง ซึ่งถ้าหน่วยงานของรัฐบาลเข้ามาแก้ไขอุปสรรคในประเด็นนี้จะเป็นการส่งเสริมธุรกิจปลาทะเลสวยงามของไทย เนื่องจากในปัจจุบันปลาทะเลสวยงามที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์นั้นเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากกว่าปลาทะเลสวยงามที่จับได้จากธรรมชาติ
ไทยมีโอกาสที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกปลาทะเลสวยงามที่สำคัญในตลาดโลกได้เช่นเดียวกับที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกปลาสวยงามประเภทปลาน้ำจืด เนื่องจากไทยประสบความสำเร็จในการวิจัยเพื่อเพาะเลี้ยงปลาทะเลสวยงามในเชิงพาณิชย์ และปัจจุบันโอกาสทางการตลาดค้าปลาทะเลสวยงามต่างมุ่งมาที่ปลาทะเลสวยงามที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ เนื่องจากธุรกิจการค้าปลาทะเลสวยงามในระยะที่ผ่านมาเป็นการค้าปลาที่จับได้จากธรรมชาติ ซึ่งได้รับแรงต่อต้านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากบรรดาองค์กรและนักอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการส่งเสริมการวิจัยเพื่อเพาะพันธุ์ปลาทะเลสวยงามประเภทอื่นๆหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูน และแก้ไขอุปสรรคในเรื่องการส่งออก โดยอนุญาตให้มีการส่งออกปลาทะเลสวยงามที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์และจากฟาร์มที่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจการค้าและการส่งออกปลาทะเลสวยงามเป็นธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจอย่างมาก