“ออราเคิล” แนะสถาบันการเงินไทยปรับระบบไอทีรองรับ Basel II

กรุงเทพฯ -26 สิงหาคม 2548 – ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย แปซิฟิก ประกาศเปิดตัวโซลูชั่นการเงิน Oracle Compliance Architecture ซึ่งช่วยให้สถาบันการเงินสามารถปรับระบบไอทีให้รองรับกับมาตรฐานการควบคุมด้านการเงิน (Basel II) ได้ในอนาคต

โซลูชั่นการเงิน Oracle Compliance Architecture คือ การผนวกรวมซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นต่างๆ ระบบฐานข้อมูล และมิดเดิลแวร์ของออราเคิลเข้าไว้ด้วยกันเป็นโซลูชั่นเดียว เพื่อให้สถาบันการเงินมีความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ด้านการเงินและการคลังในปัจจุบันและอนาคต ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน และสร้างผลกำไรได้มากขึ้น สำหรับประเทศไทย นอกจากประโยชน์ด้านการลดต้นทุนการดำเนินงานแล้ว ธนาคารและสถาบันการเงินไทยจะมีขีดความสามารถในการสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น โซลูชั่น Oracle Compliance Architecture ยังช่วยเสริมความมั่นใจให้กับภาคการธนาคารของไทยในการปฏิบัติตามระเบียบมาตรฐานด้านการเงิน Basel II ซึ่งเป็นข้อบังคับการธนาคารสากลฉบับใหม่ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเอื้อให้ธนาคารสามารถมองเห็นภาพรวม
ในการดำเนินงาน ทั้งด้านการวิเคราะห์และคาดการณ์ภาวะทางการเงินได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

คาดอุตสาหกรรมการธนาคารในเอเชียใช้งบประมาณด้านไอทีสูงถึง 11% ในการปรับปรุงระบบตามมาตรฐานว่าด้วยเรื่องระเบียบข้อบังคับด้านการเงิน ขณะนี้ ธนาคารในภูมิภาคเอเชียกำลังได้รับความกดดันให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับหลากหลายประเภท อาทิ Basel II พระราชบัญญัติซาร์เบนส์ – อ็อกซ์เลย์ ระบบรายงานการเงินระหว่างประเทศฉบับใหม่ (International Financial Reporting Standard: IFRS) โดยในประเทศไทย สถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีแห่งประเทศไทย (Thai Accounting Standard: TAS) ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

นายอลัน จี เพย์น รองประธาน กลุ่มธุรกิจบริการด้านการเงิน ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย แปซิฟิก เปิดเผยว่า “แม้ว่าการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นจะเป็นเรื่องที่ไม่น่ารื่นรมย์เท่าใดนัก แต่ปัญหาที่แท้จริงก็คือ หน่วยงานต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมในการปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ๆ ตามแต่ละประเภทที่เกิดขึ้น ซึ่งล้วนก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและเงินทุน เพื่อการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเหล่านั้น การใช้ระบบใดเพียงระบบหนึ่งอาจจะไม่ใช่คำตอบที่เพียงพอในการดำเนินการ”

จากผลการศึกษาวิจัยของธนาคารอินเตอร์เนชั่นแนล เซ็ทเทลเม้นท์ (เดือนกันยายน 2545) ประเมินว่า ในอีก 4-6 ปีข้างหน้าภาคการธนาคารจะใช้งบประมาณ 6%-11% ของงบประมาณไอทีทั้งหมด ในการติดตั้งและวางระบบที่ช่วยให้ธนาคารสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ได้ ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่เคยประเมินไว้เดิมที่ระดับ 4.5% – 6.5%

ไซรัส ดารูวาลา ผู้อำนวยการ ฝ่ายที่ปรึกษาและวิจัยภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิก บริษัท ไฟแนนเชียล อินไซท์ (บริษัทในเครือไอดีซี) ระบุว่า “ธนาคารและสถาบันการเงินไทย จะมีการลงทุนทางด้านไอทีมูลค่า 665 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 26,000 ล้านบาท) ภายในปี 2551 โดยในจำนวนนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการในสาขาต่างๆ เช่น ระบบเอทีเอ็ม อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และระบบคอลล์เซ็นเตอร์”

“ธนาคารในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลว่า การไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับต่างๆ อาจทำให้ตนถูกมองว่า มีความล้าหลังในการบริหารจัดการความเสี่ยง และประสบความล้มเหลวในการประหยัดต้นทุนในการดำเนินงาน ทั้งนี้ ธนาคารต่างๆ ไม่ต้องการให้นักลงทุนมองว่า เป็นองค์กรที่ขาดการบริหารจัดการความเสี่ยง หรือเป็นเป้าของการถูกวิพากษ์วิจารณ์ทางด้านการไม่ปฏิบัติกฎระเบียบต่างๆ” เพย์น กล่าวเสริม

การศึกษาของสำนักงาน Economist Intelligence Unit ระบุว่า อุปสรรคสำคัญสำหรับสถาบันการเงินในการปฏิบัติตามมาตรฐาน Basel II คือ การบริหารจัดการต้นทุน และการขาดแคลนข้อมูลที่มีมาตรฐานภายในองค์กร

“สถาบันการเงินต้องการโซลูชั่นแบบครบวงจรที่สนับสนุนการทำงานทั้งหมดขององค์กร เพื่อลดความเสี่ยงจากการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างระบบเพื่อรองรับการปฎิบัติงานประจำวันของธนาคาร ให้มีความถูกต้องและตรงตามระเบียบข้อบังคับต่างๆ ทั้งนี้ การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ถือเป็นข้อปฏิบัติทางด้านการธนาคารที่ดี และสามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจการเงินในระยะยาว ที่ผ่านมา สถาบันการเงินส่วนใหญ่ได้พิจารณาเลือกใช้โซลูชั่นสนับสนุนมาตรฐานการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีราคาย่อมเยาเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตาม ในภายหลังมักปรากฏว่า องค์กร มีต้นทุนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการต้องติดตั้งระบบใหม่ๆ เพิ่มเติม รวมทั้ง การเชื่อมโยงระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน ส่งผลให้การรับรู้ผลตอบแทนเชิงธุรกิจที่จะได้รับจากการปฏิบัติตามระเบียบต่างๆ เป็นไปได้ยากขึ้น”

โซลูชั่น Oracle Compliance Architecture ตอบสนองบัญญัติ 7 ประการในการปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในของสถาบันการเงินการธนาคารของภาครัฐโซลูชั่น Oracle Compliance Architecture ประกอบด้วยแอพพลิเคชั่นและเทคโนโลยีของออราเคิล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนบัญญัติ 7 ประการในการปฏิบัติตามมาตรฐานระบบการควบคุมภายในของสถาบันการเงิน ได้แก่

– การบริหารจัดการข้อมูล (Data Management)
องค์กรหลายแห่งมีข้อมูลและแอพพลิเคชั่นจำนวนมาก ซึ่งเพิ่มความสับสนในการกำหนดขอบเขตการปฏิบัติตามระบบควบคุมภายในขององค์กร ด้วยเหตุนี้ ออราเคิล จึงได้จัดทำโซลูชั่นไฟแนนเชียล คอนโซลิเดชั่น ฮับ (Financial Consolidation Hub) เพื่อสนับสนุนการจัดทำแฟ้มข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ให้เป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งมีโซลูชั่นบริหารจัดการข้อมูลที่สำคัญอีก 2 ระบบได้แก่ ระบบศูนย์ข้อมูลลูกค้า (Oracle Customer Data Hub) และระบบคลังข้อมูลลูกค้า (Oracle DataWarehouse)

– การจัดการความปลอดภัยและเอกลักษณ์ของข้อมูล (Security and Identity Management)
บัญญัติในการปฏิบัติตามมาตรฐานระบบการควบคุมภายในขององค์กรอีกประการหนึ่ง คือ การมีข้อมูลที่เป็นเอกภาพ การใช้ระบบฐานข้อมูล ร่วมกับแอพพลิเคชั่นเซิร์ฟเวอร์ ระบบการจัดการเอกลักษณ์ของข้อมูล (Identity management) และโซลูชั่นโอบลิกซ์ (Oblix) ของออราเคิลจะช่วยปกป้องข้อมูลได้อย่างดียิ่ง นอกจากนี้ การติดตั้งระบบการเข้ารหัส (encryption) ไว้บนเครือข่ายจะช่วยป้องกันการลักลอบเข้ามาอ่านและใช้ข้อมูล ทั้งยังทำให้การบริหารจัดการข้อมูลมีความสะดวกและง่ายดาย เนื่องจากข้อมูลจะถูกจัดเก็บรวมในศูนย์ข้อมูลกลาง

– การบริหารจัดการคอนเท้นท์ภายในองค์กร (Enterprise Content Management)
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีการกำหนดระเบียบการตรวจสอบและเก็บรักษาคอนเท้นท์ อย่างรวดเร็วและแพร่หลาย ปัจจุบัน ระเบียบข้อบังคับระบุให้บริษัทต่างๆ เก็บรักษาและดูแลคอนเท้นท์อิเล็กทรอนิกส์ และเพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว ออราเคิลได้พัฒนาโซลูชั่นออราเคิล คอลลาบอเรชั่น สวีท (Oracle Collaboration Suite) และโซลูชั่นบริหารจัดการคอนเท้นท์ (Content Management Services) เพื่อให้บริษัทต่างๆ สามารถจัดเก็บคอนเท้นท์ทั้งหมดไว้ในระบบเดียว ทั้งยังทำให้ผู้บริหารสามารถดูแล บริหาร และบันทึกเอกสารข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว ง่ายดาย และคุ้มค่า

– การควบคุมการดำเนินงาน (Business Process and Controls) การประเมินผลระบบควบคุมภายในองค์กรอย่างต่อเนื่องทำให้บริษัทต่างๆ สามารถปฏิบัติตามระเบียบ

ซาร์เบนส์-อ็อกซ์เลย์ และมีธรรมาภิบาลในระดับที่สูงขึ้น และเพื่อช่วยให้สถาบันการเงินสามารถปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในระดับโลกได้อย่างราบรื่น ออราเคิลได้พัฒนาชุดโซลูชั่นที่ผนวกรวมแอพพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์ตรวจสอบและติดตามผลการทำธุรกิจ (Business Activity Monitoring หรือ BAM) และซอฟต์แวร์บีเพิล โพรเซส เมเนเจอร์ (BPEL Process Manager) เข้าไว้ด้วยกัน

– การบริหารการเรียนรู้ (Learning Management)
การจัดการเรียนการสอนและฝึกอบรมบนระบบออนไลน์ช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงกำหนดนโยบายและวิธีการทำงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งองค์กร ทั้งยังสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้อย่างทั่วถึง และด้วยซอฟต์แวร์บริหารการเรียนการสอน (Learning Management and Tutor software) ของออราเคิล จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ทั่วทั้งองค์กรได้อย่างเต็ม
ประสิทธิภาพ

– การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) มาตรฐาน Basel II จะช่วยกระตุ้นให้ธนาคารมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารความเสี่ยง และจัดสรรระดับเงินทุนสำรองให้ครอบคลุมความเสี่ยงด้วย สำหรับโซลูชั่นออราเคิล เรกูลาทอรี แคปิตอล เมเนเจอร์ (Oracle Regulatory Capital Manager) เป็นระบบตรวจสอบที่ใช้งานง่ายและมีความยืดหยุ่นสูง สามารถตอบสนองความต้องการในการปฏิบัติตามมาตรฐาน Basel II ครอบคลุมด้านการจัดการให้สินเชื่อ การตลาด และบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงาน นอกจากนี้ ออราเคิลยังจัดทำโซลูชั่นออราเคิล อินเทอร์นัล คอนโทรล เมเนเจอร์ (Oracle Internal Control Manager) สำหรับใช้ติดตามขั้นตอนการทำธุรกิจ ธุรกรรมเฉพาะ การจัดการความเสี่ยงเฉพาะด้าน การควบคุมความเสี่ยงทั้งหมด รวมถึงการดูแลระบบ ตรวจสอบและประเมินผลระบบควบคุมต่างๆ ตามระเบียบข้อกำหนดซาร์เบนส์ อ็อกซ์เลย์ และ Basel II ฉบับที่ 2

– การบริหารการดำเนินงานและการรายงาน (Performance Management and Reporting)
เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระดับสากลฉบับใหม่ (IFRS) ผู้บริหารทางการเงิน ผู้เชี่ยวชาญทางไอที และผู้ควบคุมการปฏิบัติตามกฎระเบียบจำเป็นต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถบริหารการดำเนินงานตามกฎระเบียบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถกำจัดความเสี่ยงได้มากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการปฏิบัติการและการเงิน ด้วยเหตุนี้ ออราเคิลจึงได้พัฒนาโซลูชั่นการบริหารการดำเนินงานขององค์กร (Corporate Performance Management) ซึ่งรวมแอพพลิเคชั่นสำคัญต่างๆ ได้แก่ บาลานซ์ สคอร์การ์ด (Balanced Scorecard) สำหรับการบันทึกคะแนนวัดผล แอพพลิเคชั่นการวางแผนธุรกิจและงบประมาณ (Business Planning and Budgeting) และแอพพลิเคชั่นเดลี่บิสิเนส อินเทลิเจนซ์ (Daily Business Intelligence) เพื่อความเป็นเลิศในการทำธุรกิจประจำวัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยสถาบันการเงินในการจัดทำ รวบรวม ประเมิน และรายงาน มาตรฐานการทำธุรกิจต่างๆ ได้ตามต้องการ

สถาบันการเงินในเอเชีย แปซิฟิก เลือกใช้โซลูชั่นของออราเคิล ปัจจุบัน ออราเคิล เป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ระดับเอ็นเตอร์ไพรส์ชั้นนำแก่ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน โดยในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก มีธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 190 แห่ง จากธนาคารชั้นนำ 300 รายแรกในภูมิภาค เลือกใช้โซลูชั่นของออราเคิล ขณะที่ 17 ธนาคารชั้นนำที่อยู่ในกลุ่มธนาคาร 30 อันดับแรกในเอเชีย แปซิฟิกต่างเลือกใช้แอพพลิเคชั่นของออราเคิลทั้งสิ้น

ลูกค้าของออราเคิลที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงินในเอเชีย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ไทย) ธนาคารการสื่อสาร (ฮ่องกง) ธนาคารกลางอินเดีย (อินเดีย) ธนาคารโชฮุง (เกาหลี) ธนาคารซิติค ควาห์ จำกัด (ฮ่องกง) ธนาคารดีเอฟซีซี (ศรีลังกา) บริษัท ดองบู
อินชัวรันส์ (เกาหลี) ธนาคารเฟิร์สท์ (ไต้หวัน) บริษัท เกรทอีสเทิร์นไลฟ์ (สิงคโปร์)

บริษัท กัวะ หมินไลฟ์ อินชัวรันส์ (จีน) ธนาคารฮานา (เกาหลี) ธนาคารเอชดีเอฟซี (อินเดีย) บริษัท เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ฮ่องกง) ธนาคารไอซีไอซีไอ (อินเดีย) ธนาคารอุตสาหกรรมแห่งเกาหลี (เกาหลี) ธนาคารเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอินเดีย จำกัด (อินเดีย) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (ไทย) ธนาคารเมย์แบงก์ (มาเลเซีย) ธนาคารโอซีบีซี (สิงคโปร์) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (ไทย) บริษัท ซันไชน์ อากริคัลเจอร์ มิวชวล อินชัวรันส์ จำกัด (จีน) ธนาคารยูทีไอ (อินเดีย) และธนาคารหวิงหลุง (ฮ่องกง)

เกี่ยวกับออราเคิล

ออราเคิล (ชื่อย่อในตลาดหุ้นแนสแด็ก: ORCL) เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายซอฟต์แวร์ระดับองค์กรรายใหญ่ที่สุดของโลก ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับออราเคิล สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.oracle.com

เครื่องหมายการค้า

ออราเคิล เจดีเอ็ดเวิร์ดส์ พีเพิลซอฟท์ และรีเท็ค เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น และ/หรือบริษัทในเครือ บริษัทอื่นๆ เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทนั้นๆ