คลื่นกระแสการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่น กับการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมในภูมิภาคของไทย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ลงทุนรายสำคัญที่สุดในประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาในไทยทั้งหมด ในช่วงปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าการลงทุนของญี่ปุ่นที่เข้ามายังประเทศไทยกลับมาสู่ยุคของความรุ่งเรืองอีกครั้ง ผลการสำรวจของหน่วยงานของญี่ปุ่นหลายแห่ง บ่งชี้ถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนญี่ปุ่นต่อการลงทุนในไทย ทั้งที่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และบริษัทธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยนักลงทุนมองว่าไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก รองจากประเทศจีน และยังระบุว่ามีแผนการจะขยายการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขสถิติด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ศึกษาวิเคราะห์ถึงทิศทางและแนวโน้มของการลงทุนโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่น และแนวทางที่ประเทศไทยจะดำเนินยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน ที่สอดรับกับเป้าหมายและกลยุทธการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่นนี้

การลงทุนของญี่ปุ่นในต่างประเทศทั่วโลกลดลง แต่เพิ่มขึ้นในเอเชีย รวมทั้งไทย

ในปีงบประมาณ 2547 สิ้นสุด ณ เดือนมีนาคม 2548 การลงทุนของญี่ปุ่นไปยังทั่วโลก มีมูลค่า 35,546 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.6 จากมูลค่า 36,111 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2546 โดยการลงทุนในภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือลดลง แต่การลงทุนในเอเชียเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ที่สำคัญเป็นการลงทุนเพิ่มขึ้นในประเทศจีน มีมูลค่า 4,567 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 45.2 เทียบกับมูลค่า 3,145 ในปีก่อนหน้า

สำหรับในกลุ่มอาเซียน ในปีงบประมาณ 2547 นับเป็นปีที่สองที่การลงทุนของญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมดรวมกัน มีมูลค่าต่ำกว่าการลงทุนของญี่ปุ่นที่ไปยังประเทศจีนแห่งเดียว แต่โดยรวมแล้วการลงทุนในอาเซียนปรับตัวสูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นในประเทศไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม แต่ลดลงในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ประเทศไทยมีการลงทุนจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงมาก และสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีมูลค่า 1,184 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 50,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 88.2 เทียบกับมูลค่า 629 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 25,000 ล้านบาทในปีก่อนหน้า สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2542 สำหรับการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศอื่นๆในภูมิภาค การลงทุนในสิงคโปร์มีมูลค่า 715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฟิลิปปินส์ 317 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อินโดนีเซีย 311 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเลเซีย 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม 109 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอินเดีย 97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ถ้าพิจารณาในรายละเอียด พบว่า มีการลงทุนจัดตั้งสำนักงานสาขา (Branch offices) เป็นมูลค่าสูงถึง 426 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่า 561 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากปีก่อนหน้า และในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ มูลค่า 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 88 จากปีก่อนหน้า อุตสาหกรรมอื่นๆที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เหล็กและโลหะ เครื่องจักร ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนลดลงได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร และสิ่งทอ

แนวโน้มความสนใจของบริษัทญี่ปุ่นต่อการลงทุนในไทย

การลงทุนของธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยภาพรวมน่าจะยังมีแนวโน้มสดใส ข้อมูลสถิติและข้อมูลการสำรวจจากหน่วยงานหลายแห่งสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางความสนใจของนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยยังคงมีสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบรรลุข้อตกลงการค้าเสรี อาจเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการลงทุนในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร

• โครงการลงทุนจากญี่ปุ่นที่เข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2548 มีมูลค่า 123,808 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 120 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่มูลค่า 56,355 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 ของโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด โครงการลงทุนจากญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนี้ ประมาณร้อยละ 80 เป็นโครงการในอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2548 นี้ โครงการลงทุนจากญี่ปุ่นที่เข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนในไทย อาจมีมูลค่าโครงการโดยรวมประมาณ 170,000 ล้านบาท สูงใกล้เคียงกับระดับที่เคยสูงสุดในอดีตคือในปี 2538 ที่เคยมีมูลค่าโครงการลงทุนสูงถึง 177,900 ล้านบาท

• บริษัทญี่ปุ่นมองว่าไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับสองในโลกรองจากจีน ติดต่อกันเป็นปีที่สาม การสำรวจการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่น โดยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC (Japan Bank of International Cooperation) ประจำปี 2547 สอบถามความคิดเห็นของบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่นถึงประเทศที่สนใจเข้าไปลงทุนในระยะ 3 ปีข้างหน้า พบว่าบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองว่าจีนเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากเป็นอันดับที่หนึ่ง และมองว่าไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากเป็นอันดับที่สอง ตามมาด้วยอินเดีย เวียดนามและสหรัฐ โดยผลสำรวจที่จำแนกรายอุตสาหกรรม พบว่าในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยเป็นประเทศที่บริษัทญี่ปุ่นมีเป้าหมายขยายการลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยสหรัฐและจีน

• บริษัทในเครือของธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทยมีแผนการที่จะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น การสำรวจสถานการณ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทในเครือของธุรกิจญี่ปุ่นในอาเซียนและอินเดีย โดย JETRO ประจำปี 2547 พบว่าบริษัทลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72 ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม มีแผนการขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับผลสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ หรือ JCCB ที่พบว่าบริษัทญี่ปุ่น (ที่เป็นสมาชิก JCCB) มีแผนการที่จะขยายลงทุนเพิ่มในปี 2548 ในมูลค่าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับในรอบปี 2547

• การบรรลุข้อตกลงความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Closer Economic Partnership) หรือความตกลง FTA อาจส่งผลสนับสนุนให้มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่ออาศัยประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลง ดำเนินการผลิตและการส่งออกกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยในบางอุตสาหกรรมอาจมีความกังวลว่า FTA อาจมีผลในทางตรงกันข้าม เช่นกรณีของชิ้นส่วนยานยนต์ การลดภาษีลงอาจจะทำให้ผู้ผลิตญี่ปุ่นหันไปนำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นโดยตรง แทนที่จะเข้ามาลงทุนผลิตในไทย หรือจัดซื้อจากผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตรถยนต์รายสำคัญ เช่น โตโยต้า เคยประกาศแผนที่จะเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศไทยขึ้นมาเป็น 100% สำหรับรถที่ผลิตในโครงการ IMV นอกจากนี้ จากการสำรวจของ JBIC ชี้ว่าบริษัทญี่ปุ่นร้อยละ 75 มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนภายในประเทศขึ้น นอกจากนี้ บริษัทญี่ปุ่น 3 ใน 4 เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนภายใต้ FTA ซึ่งคาดว่าแม้จะมีการลดภาษีศุลกากรลง แต่บริษัทญี่ปุ่นก็ยังมีแนวโน้มที่จะอาศัยประโยชน์จากความได้เปรียบของการเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อรักษาต้นทุนการผลิตสินค้าให้มีระดับที่ต่ำ จากต้นทุนแรงงาน ค่าขนส่ง ระยะเวลาในการสั่งซื้อ การรักษาสินค้าคงคลังในระดับต่ำ ซึ่งจะทำให้บริษัทได้ประโยชน์จากระบบการผลิตแบบ Just in time

• ภายใต้ยุทธศาสตร์การขยายศักยภาพทางธุรกิจของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชีย ไทยยังเป็นแหล่งลงทุนที่เหมาะสมแห่งหนึ่ง ตลาดภายในประเทศของญี่ปุ่นมีข้อจำกัดในด้านการเติบโตเนื่องจากอัตราการเพิ่มของประชากรที่ต่ำลง ตลาดสินค้าถึงจุดอิ่มตัว และเศรษฐกิจเป็นสังคมผู้สูงอายุ การเติบโตของธุรกิจญี่ปุ่นจึงอาศัยยุทธศาสตร์ที่มองออกไปนอกประเทศ ขณะที่ต้นทุนการผลิตที่สูงในญี่ปุ่นก็ทำให้บริษัทญี่ปุ่นขยายการผลิตออกสู่นอกประเทศเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด JBIC ประเมินว่าสัดส่วนการผลิตในต่างประเทศของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33.2 ในปี 2550 จากร้อยละ 25.9 ในปี 2546 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญที่มีแผนขยายการผลิตในต่างประเทศสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ มีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนการผลิตในต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35.5 จาก 26.8 ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นเป็น 45.5 จากร้อยละ 38.8 เครื่องจักร เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.8 จากร้อยละ 18.4 เคมีภัณฑ์ เพิ่มขึ้นเป็นรัอยละ 24.1 จากร้อยละ 16.9

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก จึงเป็นเวทีที่ญี่ปุ่นต้องการเข้ามามีส่วนร่วม และยังต้องการคงบทบาทการเป็นผู้นำในภูมิภาค การลงทุนในจีนนับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขยายฐานตลาดสินค้าของญี่ปุ่นในตลาดจีน ขณะที่ยุทธศาสตร์ในด้านฐานการผลิต บริษัทญี่ปุ่นมีแนวทางที่จะรักษาความสมดุลระหว่างการลงทุนในจีนกับการลงทุนในอาเซียน ทั้งนี้เนื่องจากแม้ว่าจีนจะเป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ และมีทรัพยากรมนุษย์ที่คุณภาพอย่างเหลือเฟือ แต่จีนก็ยังมีปัญหาหลายประการที่นักลงทุนมองว่าเป็นความเสี่ยง เช่น การแข่งขันกับบริษัทท้องถิ่นที่มีความรุนแรง ความไม่ชัดเจนของกฎหมายและกฎระเบียบของรัฐบาลส่วนท้องถิ่น การรักษาสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การขาดแคลนไฟฟ้าและพลังงาน นอกจากนี้ ทิศทางค่าเงินหยวนที่มีโอกาสแข็งค่าขึ้นในอนาคต อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ช่องว่างความแตกต่างของต้นทุนการผลิตระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านลดลง ประเด็นที่สำคัญสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นอีกประการหนึ่งคือ ความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่นเกี่ยวกับการรับรู้ถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ถือเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน เพราะอาจนำไปสู่การต่อต้านสินค้าหรือบริษัทญี่ปุ่นได้

สำหรับประเทศไทย บริษัทญี่ปุ่นยังมองว่าปัจจัยที่สนับสนุนการลงทุนในไทย ได้แก่ การมีต้นทุนแรงงานค่อนข้างต่ำ ตลาดภายในประเทศมีศักยภาพการขยายตัวดี มีฐานเครือข่ายอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ดี เหมาะสมต่อการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคอยู่ในเกณฑ์ดี และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เอื้ออำนวย ส่วนในด้านปัญหาสำคัญที่บริษัทญี่ปุ่นในไทยมักกล่าวถึงคือ ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น การขาดแคลนวิศวกรและช่างเทคนิค การต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานผู้เชี่ยวชาญและระดับบริหารในอัตราสูงแต่ก็ยังคงมีการเปลี่ยนงานบ่อย ทำให้สูญเสียบุคลากรที่ผ่านการอบรมจนมีความชำนาญแล้ว

แนวทางดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่น กับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย

จากการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในระยะสั้น การขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่ดี โดยคาดว่ามูลค่าการลงทุนของธุรกิจญี่ปุ่นในไทยในปี 2548-2549 จะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเป็นหัวขบวนหลักของคลื่นกระแสการลงทุนจากญี่ปุ่นครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม จะสังเกตได้ว่านอกเหนือจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ยังไม่มีภาพที่ชัดเจนของอุตสาหกรรมอื่นๆที่จะเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนต่อ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ในระยะปานกลาง (ประมาณ 2-3 ปีข้างหน้า) หลังจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้ขยายการลงทุนเต็มรูปแบบแล้ว กระแสการลงทุนจากญี่ปุ่นอาจค่อยๆเบาบางลง

ขณะเดียวกัน ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความสำคัญคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย มีการลงทุนใหม่เข้ามาลดลง สะท้อนแนวโน้มการเติบโตของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะชะลอลงในระยะข้างหน้า ขณะเดียวกันการโยกย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมนี้สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น จากการที่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีขนาดความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยคิดเป็นมูลค่าสูง มีการจ้างงานจำนวนมาก แม้อุตสาหกรรมยานยนต์จะมีบทบาทเพิ่มสูงขึ้น แต่กว่าที่จะพัฒนาให้เติบโตขึ้นมาเทียบเท่ากับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะต้องใช้ระยะเวลานาน จึงน่าที่จะต้องมีแนวทางที่จะดึงให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังคงใช้ไทยเป็นฐานผลิตในภูมิภาคต่อไป

นอกจากนี้ แนวทางดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นควรจะมีเป้าหมายแสวงหาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์กลุ่มใหม่อื่นๆที่มีศักยภาพในอนาคต ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เป็นแรงขับเคลื่อนและรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของประเทศในระยะข้างหน้า สำหรับตัวอย่างของอุตสาหกรรมที่คาดว่าน่าจะยังมีแนวโน้มชักจูงให้บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาขยายการลงทุนในไทย นอกเหนือจากอุตสาหกรรมยานยนต์ มีดังนี้

• อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ถ้าข้อตกลงการค้าเสรีสามารถขจัดอุปสรรคทางการค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรและผลิตผลทางเกษตรได้ จากการลดภาษีศุลกากร รวมทั้งการผ่อนปรนเงื่อนไขของญี่ปุ่นเกี่ยวกับกฎแหล่งกำเนิดสินค้าและมาตรการด้านสุขอนามัยลง จะทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารแปรรูป เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง ผักและผลไม้ ที่ผลิตและส่งออกจากประเทศไทยสามารถขายในตลาดญี่ปุ่นได้ในราคาที่ต่ำลง

• เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน (White goods) ซึ่งมีรากฐานการลงทุนของผู้ผลิตรายสำคัญของโลก (ทั้งบริษัทญี่ปุ่น เกาหลีและยุโรป) และเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยค่อนข้างดี ประกอบกับผลของการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆ จะเอื้อประโยชน์ให้สินค้าญี่ปุ่นที่ผลิตในไทยสามารถส่งออกไปขายในตลาดประเทศที่สามซึ่งมีข้อตกลงกับไทย ภายใต้อุปสรรคทางภาษีที่ลดลง (เช่น อาเซียน จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐ)

• อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรักษาสถานะในการเป็นฐานการผลิตของภูมิภาคในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมการลงทุนควรมุ่งไปที่การสนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น มีเทคโนโลยีเฉพาะที่สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการพัฒนาในอนาคต เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์ที่ใช้กับ Consumer electronics และเทคโนโลยี RFID (Radio frequency identification) เป็นต้น โดยแนวทางการส่งเสริมอาจสนับสนุนการเข้ามาลงทุนเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับที่ดึงให้ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟเข้ามาขยายการลงทุน จนทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อันดับหนึ่งในโลก

• เครื่องจักรและอุปกรณ์การลงทุน ความต้องการสินค้าประเภททุน เช่น เครื่องมือเครื่องจักรอุตสาหกรรม อุปกรณ์โลหะ อุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์การขนส่ง ในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการลงทุนของประเทศที่จะเพิ่มขึ้น รวมทั้งไทยมีฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนด้านอุปกรณ์โลหะค่อนข้างดี เพียงแต่ยังขาดเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ปัจจุบัน การส่งออกเครื่องจักรกลและส่วนประกอบเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 16 ของไทย มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 25 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการส่งออก 1,672 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2547

• เคมีภัณฑ์ ตามแผนการลงทุนปิโตรเคมีขั้นที่ 3 ไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตปิโตรเคมีครบวงจรในภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยยังเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรที่สามารถนำไปใช้กับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ได้ ขณะที่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ญี่ปุ่นเองก็มีแผนขยายการลงทุนนอกประเทศมากขึ้น ประกอบกับญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้า มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกและเคมีภัณฑ์ขั้นสูง ไทยจึงน่าที่จะหาแนวทางชักจูงให้ธุรกิจญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนทั้งในระดับต้นน้ำที่ผลิตวัตถุดิบปิโตรเคมี และระดับปลายน้ำที่ใช้เคมีภัณฑ์ เพื่อขยายศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศให้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ

สรุปและข้อคิดเห็น

ในระยะปีที่ผ่านมา การลงทุนของญี่ปุ่นที่เข้ามายังประเทศไทยมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ผลการสำรวจของหน่วยงานของญี่ปุ่นหลายแห่งสะท้อนว่านักลงทุนญี่ปุ่นมีแผนการที่จะลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยบริษัทญี่ปุ่นมองว่าไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนเป็นอันดับสองในโลก รองจากประเทศจีน

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง ประเทศญี่ปุ่น พบว่า ในปีงบประมาณ 2547 สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2548 การลงทุนของญี่ปุ่นที่เข้ามายังประเทศไทยมีมูลค่า 1,184 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 50,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 88.2 เทียบกับมูลค่า 629 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 25,000 ล้านบาทในปีก่อนหน้า สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2542 และมูลค่าสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชีย รองจากจีนที่มีการลงทุนมูลค่า 4,567 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 45.2 เทียบกับมูลค่า 3,145 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยเพิ่มสูงขึ้นมากนี้ ส่วนสำคัญมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 88 เทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเหล็กและโลหะ และอุตสาหกรรมเครื่องจักร มีการลงทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร และสิ่งทอที่มีการลงทุนลดลง

ในด้านโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นที่เข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในช่วงปี 2548 นี้ คาดว่าจะมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 9 ปี โดยอาจมีมูลค่าโครงการโดยรวมประมาณ 170,000 ล้านบาท สูงใกล้เคียงกับระดับที่เคยสูงสุดในอดีตคือในปี 2538 ที่มีมูลค่าโครงการลงทุนสูงถึง 177,900 ล้านบาท สำหรับสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2548 มีมูลค่า 123,808 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 120 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่มีมูลค่า 56,355 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนี้ ประมาณร้อยละ 80 เป็นโครงการในกิจการประเภทยานยนต์ ชิ้นส่วนและประกอบ

การลงทุนของญี่ปุ่นที่หลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นในระยะนี้ กล่าวได้ว่าเป็นคลื่นกระแสการลงทุนที่เกิดจากการปรับแผนกลยุทธและการจัดสรรโครงสร้างการผลิตภายในภูมิภาคครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น ทำให้มีการโยกย้ายฐานการผลิตรถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ของค่ายรถญี่ปุ่นเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังทั่วโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อุตสาหกรรมที่ไทยน่าจะมีศักยภาพสูงในการดึงดูดการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมที่สนับสนุนซัพพลายเชนของกระบวนการผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักร เนื่องจากไทยมีเครือข่ายผู้ประกอบการและทรัพยากรภายในประเทศเป็นพื้นฐานรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมได้ค่อนข้างดี สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แม้มีแนวโน้มการลงทุนลดลง แต่เป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ มีความสำคัญต่อภาคการส่งออกและการจ้างงานของประเทศ แนวทางที่จะรักษาสถานะในการเป็นฐานการผลิตของภูมิภาคในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ควรมุ่งไปที่การส่งเสริมการลงทุนในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น หรือมีเทคโนโลยีเฉพาะที่สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมมีมีศักยภาพของไทย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือ Consumer electronics เป็นต้น

ภายใต้ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการขยายการลงทุนของบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่นนี้ นโยบายส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่น (หรือการลงทุนจากต่างประเทศโดยภาพรวมก็เช่นเดียวกัน) ควรต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์การลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของประเทศที่มุ่งหมายที่จะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมในภูมิภาค โดยภาครัฐจะต้องเป็นแกนหลักในด้านนโยบาย และประสานกับภาคเอกชนในการพัฒนาความพร้อมของโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และโครงสร้างบุคลากรที่มีทักษะ ความรู้และความชำนาญ เนื่องจากการเป็นศูนย์กลางธุรกิจอุตสาหกรรมในภูมิภาค จะต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ มีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำ มีความคล่องตัวและสะดวกรวดเร็วของการขนส่งขนถ่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งต้องอาศัยระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ในด้านบุคลากรจะต้องมีความสมดุลระหว่างทักษะแรงงานที่มีคุณภาพและต้นทุนแรงงานที่ไม่สูงจนเกินไป การพัฒนาพื้นฐานความรู้ความชำนาญของบุคลากรในสาขาที่รองรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ