เฮอริเคนแคทรีนานอกจากจะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนอเมริกาในเขตภาคใต้ของสหรัฐฯ แล้ว ยังมีผลอย่างกว้างขวางต่ออนาคตของเศรษฐกิจโลกผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และราคาน้ำมัน ในกรณีราคาน้ำมันนั้นปรากฏว่า ได้ปรับตัวสูงขึ้นทันที โดยราคาน้ำมันเวสต์ เทกซัส อินเทอร์มิเดียทปรับขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงกว่า 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความต้องการของโลกที่เพิ่มขึ้นในระดับสูงกว่าการผลิต แต่ในกรณีภัยธรรมชาติจากพายุแคทรีนานี้เป็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนว่าราคาน้ำมันสามารถดีดตัวสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วจากสถานการณ์ด้านการผลิตหรืออุปทาน
แม้ในขณะนี้ยังคาดไม่ได้ว่าผลกระทบจากเฮอริเคนแคทรีนาจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันเป็นเวลานานเพียงใด แต่ความเสียหายต่อพื้นที่ทางภาคใต้และโรงกลั่นในสหรัฐฯ นั้นคาดกันว่าต้องอาศัยเวลานานหลายเดือนจึงจะสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ราคาน้ำมัน เวสต์ เทกซัส จะยังคงอยู่ในระดับสูงจนถึงปลายปี 2548 และทำให้ราคาเฉลี่ยในระยะครึ่งหลังของปีอาจสูงขึ้นเป็น 68 – 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เทียบกับราคาเฉลี่ยในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2548 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเวสต์ เทกซัส ในระดับดังกล่าว จะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 60 – 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในครึ่งหลังของปี 2548 ซึ่งจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะครึ่งหลังของปี 2548 จากการประมาณการของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ปรากฏว่า ในกรณีที่ประเทศไทยยังไม่ลดการใช้น้ำมันลง และสมมติให้ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลง การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบดูไบทุกๆ 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงประมาณร้อยละ 0.1 การนำเข้าน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.07 – 0.1
ดังนั้นหากราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในครึ่งหลังของปี 2548 สูงถึง 60 – 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงจากที่ประมาณการไว้ร้อยละ 0.6 – 0.8 การนำเข้าน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1,800 – 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 0.5- 0.8 ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีสูงถึงร้อยละ 6 – 7
นอกจากนั้น ในกรณีที่รัฐบาลมีการใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการที่จะสนับสนุนให้ประชาชนมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จะมีผลทำให้การใช้น้ำมันไม่ชะลอตัวลงเท่าที่ควร นอกจากนั้น หากผู้บริโภคและภาคธุรกิจของไทยยังขาดจิตสำนึกเกี่ยวกับการประหยัด จนกระทั่งไม่สามารถปรับตัวให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็จะมีผลทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคตถดถอยลงด้วย
ในกรณีดังกล่าวข้างต้น สินค้าส่งออกของไทยจะสามารถแข่งขันกับประเทศที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าได้น้อยลง การส่งออกของไทยก็จะเติบโตในอัตราต่ำอย่างต่อเนื่องซึ่งจะมีผลทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2549 เติบโตในอัตราต่ำกว่าร้อยละ 4 ต่อเนื่องไปอีกด้วย นอกจากนั้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและความเสื่อมถอยของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะกลายเป็นปัญหาสำคัญยืดเยื้อต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2549
ในทางตรงกันข้าม หากประชาชนในประเทศหันมาตระหนักถึงความจำเป็นในการประหยัดน้ำมันและภาคธุรกิจสามารถปรับตัวให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ภาครัฐบาลชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจลงและหันมาส่งเสริมการประหยัดในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่การประหยัดการใช้น้ำมันจนถึงการกระตุ้นให้คนไทยลดการใช้จ่าย ปริมาณการใช้น้ำมันจะสามารถลดลงได้ จากการคำนวณของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ พบว่าหากในครึ่งหลังของปี 2548 หากประเทศไทยลดการใช้น้ำมันลงได้ร้อยละ 10 จากในครึ่งแรกของปี จะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบลงได้ประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) ดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับตัวดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อจะลดลงได้จากระดับที่ประมาณการไว้ ส่วนในระยะยาวนั้น ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยจะมีระดับสูงขึ้นและ ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลก เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะเติบโตในอัตราที่สูงขึ้น ในขณะที่ปัญหาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะบรรเทาลงได้ในระยะหลังจากปี 2549 เป็นต้นไป