เทคโนโลยีเวอร์ช่วล ช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เมื่อเร็วๆ นี้ มร. จอห์น แชมเบอร์ส ประธานและซีอีโอ ของบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ เมอร์คิวรี่ นิวส์ สหรัฐอเมริกา เรื่องกุญแจสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถรักษาความเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งที่สุดในโลก ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือความสามารถในการจัดการและควบคุมแง่มุมสำคัญๆ ของชีวิตในรูปแบบเสมือนจริงหรือเวอร์ช่วล (Virtual) จะส่งผลกระทบต่อทุกแง่มุมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมและเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของคนเรา

ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน การเข้าเรียนในห้องเรียนออนไลน์ การใช้แบบจำลองเพื่อเล่นสนุก การปรับปรุงทักษะด้านวิชาชีพ หรือการทำงานสำคัญๆ ให้เสร็จสิ้น ทุกวันนี้พวกเราหลายคนได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเสมือนจริง ซึ่งที่จริงแล้ว โลกเสมือนจริงนับเป็นการพัฒนาต่อยอดจากโลกเครือข่าย ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตและขยายขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยทั่วไปแล้วชาวอเมริกันมักจะมีศักยภาพในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง โลกเสมือนจริงก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาด เพราะนอกจากจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้พัฒนาตนเองโดยอาศัยการศึกษาและการฝึกอบรม และทำให้รัฐบาลสามารถจัดหาบริการที่ดีกว่าให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง

เห็นได้ชัดว่าสังคมในปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่โลกเสมือนจริง ทั้งในแง่ของการทำงานและการใช้ชีวิต ตัวอย่างเช่น นักศึกษากว่า 2 ล้านคนต่อปีลงทะเบียนในหลักสูตรออนไลน์ โดยมหาวิทยาลัยฟีนิกซ์ได้มอบปริญญาบัตรแก่นักศึกษากว่า 170,000 คนที่จบหลักสูตรการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นห้องเรียนเสมือนจริง นอกจากนั้นระบบเสมือนจริงยังเปลี่ยนแปลงรูปการการรักษาพยาบาล โดยทุกวันนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจสามารถตรวจสอบสภาพร่างกายของตนเองผ่านระบบเครือข่ายความเร็วสูงเชื่อมต่อระยะไกล

ระบบเสมือนจริงยังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการฝึกทหารซึ่งในปัจจุบันมีการใช้สนามรบจำลองหรือซิมูเลชั่น (Simulation) เพื่อเตรียมกำลังพลให้พร้อมสำหรับการออกรบในสนามรบที่แท้จริง และนอกจากนี้ ระบบเสมือนจริงยังเปิดโอกาศให้ชาวอเมริกันกว่า 1 ล้านคน ร่วมเล่นเกมออนไลน์ในปัจจุบัน

ในอุตสาหกรรมต่าง การทำระบบเสมือนจริงกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต ตัวอย่างเช่น บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ได้ใช้แบบจำลองในคอมพิวเตอร์ แทนการสร้างโมเดลของจริง เพื่อทดสอบและทดลองเทคนิคต่างๆ ทางด้านการผลิต ทั้งนี้ เจเนอรัล มอเตอร์ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายถึง 75 ล้านดอลลาร์ในช่วงปีแรกที่เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่เป็นดิจิตอล

ถึงแม้ว่าโลกเสมือนจริงได้ส่งผลกระทบเชิงลึกต่อชีวิตของเรา ตั้งแต่รูปแบบการทำงาน ไปจนถึงวิธีการ เล่นเกม แต่สิ่งเหล่านี้เพิ่งจะอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น ระบบการผลิตเสมือนจริงกำลังจะพัฒนาสู่อีกระดับ ด้วยการปรับใช้เทคโนโลยี RFID (ย่อมาจาก Radio Frequency Identification) ซึ่งจะแทนที่ระบบบาร์โค้ดในสินค้าต่างๆ RFID จะช่วยให้ผู้ค้าปลีกและผู้ผลิตสามารถตรวจสอบและติดตามตำแหน่งสินค้าตลอดเส้นทางของระบบซัพพลายเชน แนวทางนี้จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรม

แต่อุตสาหกรรมที่ดูเหมือนว่าจะได้รับประโยชน์จากระบบเสมือนจริงอย่างเต็มที่ก็คือ อุตสาหกรรมการรักษาพยาบาล โดยกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบสุขภาพที่ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยโดยผ่านการเชื่อมต่อระยะไกลตามความเหมาะสม แม้กระทั่งในกรณีที่ผู้ป่วยพักฟื้นอยู่ที่บ้าน สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้ไปหาหมอบ่อยครั้งนัก เรื่องนี้อาจดูเหมือนไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด แต่ถ้าคุณมีอาการป่วยเรื้อรัง เทคโนโลยีแบบใหม่นี้ก็อาจทำให้ชีวิตของคุณเปลี่ยนไป กล่าวคือ แทนที่จะต้องไปพบแพทย์อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อเข้ารับการตรวจ ผู้ป่วยก็สามารถทำการตรวจด้วยตนเองที่บ้าน และส่งข้อมูลไปให้แพทย์ผ่านเครือข่ายความเร็วสูงเพื่อทำการวินิจฉัยที่โรงพยาบาล

เพื่อให้วิสัยทัศน์นี้เป็นรูปธรรมขึ้นมา จำเป็นต้องมีการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับ และจะต้องพัฒนาเครือข่ายบรอดแบนด์ความเร็วสูงที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุดในโลก ทั้งนี้สหรัฐฯเองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาไปข้างหน้า ทั้งในส่วนของธุรกิจ อุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพ และระบบการศึกษา นอกจากนี้ในระดับผู้กำหนดนโยบายจะต้องมองไปข้างหน้าในเรื่องการสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ๆ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น VoIP หรือ Voice over Internet Protocol ก็จะก่อให้เกิดบริการใหม่ๆ รวมถึงความสามารถในการเชื่อมต่อระยะไกลกับสำนักงานของคุณ การบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดนับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และปิดกั้นโอกาสของสหรัฐฯ ในการรั้งตำแหน่งผู้นำทางด้านเทคโนโลยี

เมื่อทศวรรษที่แล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มากมาย ซึ่งทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการทำงานการปรับปรุงทักษะ หรือการใช้เวลาว่างเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ถ้าหากเรามองปัญหานี้ในระดับประเทศ เราก็จะสามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

สำหรับประเทศไทยสามารถนำกรณีที่ มร. จอห์น แชมเบอร์ส เขียนเตือนสหรัฐฯ มาศึกษาเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งการก้าวตามเทคโนโลยีทีละก้าวอาจไม่เพียงพอสำหรับประเทศไทย แต่จะต้องมีวิสัยทัศน์และกล้าลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นแนวทางของอนาคตอย่าแท้จริง เหมือนที่หลายคนมองว่าระบบเครือข่ายในอนาคตจะเป็นยุคของไอพีเน็ตเวิร์ค (IP Network) นั่นเอง