นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังจากบมจ.กฟผ. ได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2548 ถึง 2 ประเภท คือรางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่นและรางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ว่า บมจ. กฟผ.ถือเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ผ่านการประเมินผลการดำเนินงาน และเป็นองค์กรที่มีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ มีการพัฒนาองค์กรรวมถึงการสร้างประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนจนเป็นผลสำเร็จ
บมจ.กฟผ. มีความพร้อมเต็มที่ในการพัฒนาและยกระดับองค์กรให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาล ที่ผ่านมาบมจ. กฟผ.ได้เร่งปรับปรุงระบบบริหารจัดการองค์กรโดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในแง่การดำเนินธุรกิจให้บริการไฟฟ้าแก่ประชาชน ตลอดจนการวางแผนงานเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจในการขยายการลงทุน เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการได้รับรางวัลครั้งนี้เป็นส่วนกระตุ้นสำคัญให้ทุกส่วนภายในองค์กรและพนักงานทุกคนได้มีกำลังใจมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานนำพาองค์กรสู่สากลต่อไป
พร้อมกันนี้ บมจ.กฟผ. เตรียมการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และอยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปและการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา บมจ.กฟผ. ได้มีการจัดตั้งกรรมการชุดย่อยต่างๆ เช่น คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการสรรหา และคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน เพื่อช่วยดูแลระบบบริหารและระบบควบคุมภายในให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ รวมทั้งจัดให้มีจรรยาบรรณบมจ.กฟผ. เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติภายในองค์กร รวมทั้งกำหนดให้มีหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“สำหรับการบริหารและพัฒนานั้น บมจ.กฟผ. ได้วางแนวนโยบายเพื่อยกระดับพัฒนาองค์กรในทุกๆด้าน มุ่งเน้นในการปรับปรุงการให้บริการประชาชน และการเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจ มั่นใจว่าภายใน 2 ปี บมจ. กฟผ. จะมีความเข้มแข็ง โปร่งใสและเป็นมืออาชีพในการบริหารงานมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ที่ต้องการสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจพัฒนายกระดับองค์กรสู่สากล” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กฟผ. กล่าว
ทั้งนี้สำหรับโครงการระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจเพิ่มคุณค่ารัฐวิสาหกิจ เสริมคุณภาพชีวิตคนไทย ภาครัฐต้องการผลักดันให้รัฐวิสาหกิจปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ตอบสนองยุทธศาสตร์ของประเทศในด้านต่างๆ หลักการประเมินจึงมุ่งเน้น 3 ด้านด้วยกัน คือ ความสามารถในการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ผลการดำเนินงาน ซึ่งวัดจากผลประกอบการหลักของรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ปัจจัยด้านการเงิน และด้านอื่นๆ เช่น คุณภาพการให้บริการแก่ประชาชน และด้านการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล บทบาทของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ การบริหารความเสี่ยง การควบคุมและการตรวจสอบภายใน การบริหารจัดการสารสนเทศ และการจัดการทรัพยากรบุคคล