เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทย : ต้องเร่งรุกบุกตลาดใหม่…เพื่อกระตุ้นยอดส่งออก

อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีนโยบายปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทและมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนที่เป็นอุตสาหกรรมซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก และเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี 2544-2547 การส่งออกอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็กได้ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 100,000 คน และสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย และตามรายงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศล่าสุด พบว่าในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548 ไทยส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระดับร้อยละ 9.41 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2547 หรือคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 960.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยในปี 2548 น่าจะเติบโตต่อเนื่องในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 12 โดยมีปัจจัยบวกมาจากการส่งออกเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ กก ผักตบชวา ที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างเช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น กระเตื้องขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้อุปสงค์สินค้าเฟอร์นิเจอร์ในตลาดใหม่ของไทยก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตามโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการบูรณะอาคารสถานที่ที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มประเทศตลาดใหม่แต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ หรือตะวันออกกลาง อีกทั้งผลจากการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียที่มีการลดอัตราภาษีนำเข้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนเหลือร้อยละ 5 จากเดิมร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 และจะเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 หรือในตลาดนิวซีแลนด์ที่มีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนเช่นกันโดยมีการปรับลดจากอัตราร้อยละ 7 เหลือร้อยละ 5.5 ในปี 2548 และเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 (ทั้งนี้เฉพาะเฟอร์นิเจอร์สำนักงานที่ทำด้วยไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ในห้องนอน และในห้องครัว จะมีการปรับลดอัตราภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2551) ซึ่งการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าดังกล่าวต่างกระตุ้นให้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2548

แม้ว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดใหม่ทั้ง จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ ตะวันออกกลาง ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมถึงตลาดใหม่อื่นๆที่ภาครัฐกำลังเร่งรณรงค์ทำการบุกตลาดอย่างจริงจังอย่าง ตลาดรัสเซีย ตลาดละตินอเมริกา รวมถึงประเทศอื่นๆในตลาดเอเชียใต้ และตลาดแอฟริกาด้วยจะมีสัดส่วนการส่งออกรวมกันไม่ถึงร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยโดยรวมในแต่ละปี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการส่งออกไปตลาดดังกล่าวกลับมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548 การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยไปตลาดใหม่ดังกล่าวมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 8.31 ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนโดยรวมของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว แต่เป็นสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2547 ขณะที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 80.84 ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนโดยรวมของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว กลับเติบโตเพียงร้อยละ 7.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งในภาวะที่สถานการณ์การแข่งขันโดยเฉพาะในตลาดหลักดังกล่าวทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการไทยควรจะเร่งเปิดเกมรุกบุกตลาดใหม่ดังกล่าวอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะนอกจากผู้ประกอบการจะสามารถกระจายความเสี่ยงจากการที่ต้องพึ่งพิงตลาดหลักมากจนเกินไปท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรงแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสในการสร้างเสริมรายได้จากการส่งออกในโลกการค้าเสรีเช่นปัจจุบัน และในอนาคตที่หลายประเทศมีโอกาสจะเจรจาการค้าเสรีระหว่างกันในระดับ 2 ประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าปี 2548 การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยโดยภาพรวมในตลาดใหม่ที่ภาครัฐเร่งรณรงค์ทำการบุกตลาดทั้ง จีน ตลาดเอเชียใต้ ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดรัสเซีย ตลาดละตินอเมริกา ตลาดแอฟริกา รวมถึงตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ น่าจะสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 27 ทั้งนี้เพราะความต้องการยังมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีโดยเฉพาะตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ต้องการสินค้าคุณภาพสูงและมีการออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็ให้การตอบรับสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนจากไทยมากขึ้น โดยผู้ประกอบการไทยหลายรายต่างพยายามยกระดับสินค้าตนเองด้วยการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยขึ้นเพื่อสร้างโอกาสในการถือครองส่วนแบ่งตลาดระดับกลางถึงบนในตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มากขึ้น รวมถึงตลาดตะวันออกกลางซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นมากเพราะหลายประเทศได้กำไรมากจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงก็นับเป็นตลาดที่มีความต้องการบริโภคสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้ และนับวันจะมีแนวโน้มต้องการสินค้าที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จึงทำให้สินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยน่าจะมีโอกาสที่ดีในตลาดนี้

ส่วนตลาดละตินอเมริกาซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลัก 4 ประเทศคือ บราซิล ชิลี อาร์เจนตินา และอุรุกวัย ตลาดเอเชียใต้ซึ่งประกอบด้วย 8 ประเทศได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา ภูฐาน เนปาล สิกขิม ปากีสถาน และมัลดีฟท์ รวมถึงตลาดแอฟริกาซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหม่ที่น่าจะก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นต่อการค้าระหว่างประเทศโดยภาพรวมของไทยไม่เฉพาะแต่สินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนเท่านั้น โดยประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงที่จะนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และในขณะเดียวกันไทยยังสามารถใช้แอฟริกาใต้เป็นฐานในการขยายการค้าไปสู่ภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้อื่นๆ เช่น นามีเบีย โมซัมบิก สวาซิแลนด์ ด้วย รวมถึงตลาดยุโรปที่แอฟริกาใต้ได้รับสิทธิพิเศษทางศุลกากรในการส่งออกสินค้าไปยังประชาคมยุโรปตามข้อตกลง COTONOU อีกด้วย

ดังนั้นตลาดใหม่อย่างตลาดละตินอเมริกา ตลาดเอเชียใต้ และตลาดแอฟริกาจึงนับเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรพลาดโอกาสในการเข้าไปเจาะตลาด เพราะนอกจากบางประเทศในภูมิภาคดังกล่าวจะเป็นประตูการค้าสำหรับการขยายตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตของการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับค่อนข้างสูงด้วย โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2548 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังตลาดละตินอเมริกาเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 642.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดละตินอเมริกาส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 88.46 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนโดยรวมจากไทยไปละตินอเมริกา

ขณะที่ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังตลาดเอเชียใต้คิดเป็นมูลค่า 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 71.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดเอเชียใต้ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนโดยรวมจากไทยไปเอเชียใต้ ส่วนตลาดแอฟริกา พบว่าไทยสามารถส่งออกไปยังตลาดนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 155.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่คือชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ และเฟอร์นิเจอร์ประเภทที่นั่งรูปแบบต่างๆ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยในการส่งออกไปยังตลาดใหม่ดังกล่าวข้างต้น ได้แก่

? นักธุรกิจ/ผู้ส่งออกไทยยังให้ความสนใจไม่มากนักที่จะเข้าไปสำรวจและขยายการค้าในตลาดใหม่อย่างตลาดแอฟริกา ตลาดเอเชียใต้ และตลาดละตินอเมริกา เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายมีความเชื่อว่าตลาดดังกล่าวเป็นตลาดที่มีกำลังการซื้อต่ำและมีความเสี่ยงทางการค้าสูง

? ปัญหาทางเสถียรภาพทางการเมือง สังคม แรงงาน ในบางภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นตลาดแอฟริกา หรือตลาดเอเชียใต้ ทำให้การดำเนินธุรกิจจึงยังมีภาวะความเสี่ยงค่อนข้างสูง

? การแข่งขันที่ค่อนข้างสูงกับประเทศอื่นที่แสวงหาตลาดใหม่ในลักษณะเช่นเดียวกับไทย ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งจากจีน ไต้หวัน หรืออินเดีย เป็นต้น ซึ่งทำให้สินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยบางรายการอาจจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาจากประเทศคู่แข่งขัน

? ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปตลาดแอฟริกา รวมถึงตลาดละตินอเมริกา ยังมีอัตราค่าระวางสูง ทำให้สินค้าจากไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันพอสมควร

? ผู้ผลิตภายในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เองซึ่งเป็นตลาดกำลังซื้อสูงต่างก็เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับสถานการณ์การแข่งขันจากสินค้าที่ทยอยเข้าไปในประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างเข้มข้น โดยอาศัยความได้เปรียบในการคุ้นเคยกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศ จึงทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศมีโอกาสที่จะผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้ารายใหม่ๆที่เพิ่งเข้าไปเจาะตลาดอย่างไทย

ดังนั้นผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมมือกันเพื่อเตรียมความพร้อมด้านธุรกิจและการเข้าสู่ตลาดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ด้วยการศึกษารูปแบบตลาด เนื่องจากแต่ละตลาดไม่ว่าจะเป็นตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดเอเชียใต้ ตลาดละตินอเมริกา และตลาดแอฟริกาต่างเป็นตลาดใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทย จึงยังไม่เป็นที่รู้จักนักสำหรับนักธุรกิจส่งออกของไทย โดยเฉพาะตลาดเอเชียใต้ ตลาดละตินอเมริกา และตลาดแอฟริกา ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมีความเข้าใจว่าตลาดดังกล่าวเป็นตลาดที่มีกำลังการซื้อต่ำ และมีความเสี่ยงสูง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศบางประเทศในภูมิภาคดังกล่าวเป็นตลาดที่มีความต้องการสินค้าที่หลากหลายทั้งที่เป็นสินค้าคุณภาพเช่นเดียวกับตลาดในยุโรปและอเมริกา และสินค้าจำเป็นที่มีราคาไม่สูงนักสำหรับกลุ่มผู้บริโภคภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย หรือแอฟริกาใต้ ดังนั้นการเจาะตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายแต่ละแห่ง ผู้ประกอบการจึงต้องคำนึงถึงความต้องการสินค้าของผู้บริโภค ความเหมาะสมของราคา และคุณภาพประกอบกันไป เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้าที่มาจากแหล่งอื่นได้ และหากเป็นไปได้ควรที่จะเดินทางเข้าไปสำรวจรูปแบบ และสีสันที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภคอย่างละเอียด พร้อมทั้งศึกษาลู่ทางการตลาดให้ชัดเจนก่อนการตัดสินใจเข้าสู่ตลาด

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยที่ประสงค์จะขยายตลาดเข้าไปสู่ตลาดใหม่ดังกล่าวก็ควรจะได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศนั้นๆ ซึ่งมักจะมีการจัดเป็นระยะๆตลอดปี ทั้งงานแสดงสินค้าประเภททั่วไปและรายประเภทสินค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการที่ภาครัฐส่งเสริมการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนในตลาดใหม่อย่างจริงจังทั้งการสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศเป้าหมายในตลาดใหม่ด้วยความถี่เพิ่มขึ้น จึงเป็นแนวทางที่น่าจะกระตุ้นให้เกิดโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรจะต้องจัดหาบุคลากรที่สามารถสื่อภาษาอังกฤษได้ดีสำหรับการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเจรจาติดต่อการค้า หรือลดปัญหาอันเกิดมาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายที่อาจจะทำให้กิจการพลาดโอกาสและเสียลูกค้าไปในที่สุด

บทสรุป

ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในตลาดเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน โดยเฉพาะในตลาดหลักของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดสินค้าของไทยในตลาดโลก ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่ากลยุทธ์สำหรับกระตุ้นตลาดส่งออกอันจะมาซึ่งรายได้เข้าสู่ประเทศที่เพิ่มขึ้น และสามารถรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นนั้น นอกเหนือจากการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพสินค้า การเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์ หรือไม่ใช่เป็นเพียงการรับจ้างผลิตเท่านั้น หรือการสร้างแบรนด์สินค้าของตนเอง เป็นต้นแล้ว การเปิดเกมรุกบุกตลาดใหม่ๆทั้งตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดเอเชียใต้ ตลาดละตินอเมริกา และตลาดแอฟริกา เป็นต้น จึงน่าจะเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสให้สินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยเป็นที่รู้จักในตลาดใหม่ดังกล่าวก่อนคู่แข่งให้เร็วมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องสำรวจและศึกษาลู่ทางการตลาดอย่างละเอียดและชัดเจนเป็นรายประเทศก่อนการตัดสินใจเข้าสู่ตลาด เพื่อให้การเจาะตลาดใหม่ๆของสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยมีประสิทธิภาพมากที่สุด