บีเอสเอจัดประชุมระดับภูมิภาค ถกปัญหาสำคัญเรื่องการส่งเสริมนวัตกรรมผ่านกลไกการแข่งขัน

กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) จัดการประชุมนวัตกรรมระดับภูมิภาค หรือ Regional Innovation Forum 2005 ซึ่งได้ปิดฉากลงที่เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย

การประชุมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และมัลติมีเดีย และหน่วยงานพัฒนามัลติมีเดียของมาเลเซีย โดยผู้เข้าร่วมการประชุมได้แก่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่เป็นวิทยากร และตัวแทนจากเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรมและอนาคตของอุตสาหกรรมไอที

“การประชุมในครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดียิ่งสำหรับการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญในนโยบายทางด้านเทคโนโลยี” โรเบิร์ต ฮอลลีย์แมน ประธานและประธานกรรมการบริหารของบีเอสเอ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ในนามของกลุ่มพันธมิตร “การพบปะพูดคุยระหว่างบุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องเทคโนโลยีในภูมิภาคนี้ ช่วยให้เราได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถพัฒนานโยบายที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมนวัตกรรมในภูมิภาคนี้”

นอกจากนี้ บีเอสเอได้รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดต่อที่ประชุม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทัศนะของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอทีในเอเชีย ในเรื่องที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ภายในประเทศ

หัวข้อที่ได้รับการอภิปรายในการประชุม:
– การบ่มเพาะขีดความสามารถในการแข่งขันโดยอาศัยนโยบายภาครัฐ การอภิปรายในหัวข้อนี้มุ่งเน้นการสำรวจมุมมองต่างๆ ที่เกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลในการส่งเสริมการแข่งขันและการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี โดย โรเบิร์ต ฮอลลีย์แมน ประธานและประธานกรรมการบริหารของบีเอสเอ ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ

คณะผู้แทนได้กล่าวถึงข้อดีและข้อเสียสำหรับแนวทางการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยยอมรับว่าการแข่งขันนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมในระยะยาว พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความจำเป็นของรัฐบาลในภูมิภาคนี้ที่จะต้องยกเลิกนโยบายสิทธิพิเศษ และหันมามุ่งเน้นผลลัพธ์ที่จะช่วยส่งเสริมนวัตกรรม

“คนเรามักจะคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด” จูเลียน ติง กรรมการผู้จัดการของ First Principles ในมาเลเซีย กล่าว

การอภิปรายจบลงด้วยการเสนอแนวคิดในเรื่องการสรรค์สร้างนวัตกรรม รวมถึงการแข่งขันที่จะเป็นปัจจัยกระตุ้น โดยผู้ร่วมอภิปรายเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ ควรจะวางตัวเป็นกลางในเรื่องเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาตลาดซอฟต์แวร์อย่างยืดหยุ่นและเต็มศักยภาพ

– การส่งเสริมนวัตกรรมโดยอาศัยมาตรฐานทางด้านเทคโนโลยี
วิทยากรรับเชิญ ดร. สแตน เจ ลีโบวิทซ์ ผู้อำนวยการศูนย์การวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์การจัดการของมหาวิทยาลัยเท็กซัสในเมืองดัลลัส ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการอภิปรายในหัวข้อนี้ ซึ่งเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับความสำคัญของมาตรฐานทางด้านเทคโนโลยีที่มีต่อการสรรค์สร้างนวัตกรรม

ดร. ลีโบวิทซ์ เน้นย้ำว่าบทบาทหนึ่งที่สำคัญของรัฐบาลก็คือ การสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงาน โดยจะต้องจัดวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เป็นธรรม โดย ดร. ลีโบวิทซ์ มีความเห็นว่าการสร้างสรรค์นวัตกรรมควรเป็นผลมาจากการทำงานด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่เกิดจากข้อบังคับที่เข้มงวด

ดร. ลีโบวิทซ์ กล่าวว่า “เมื่อคุณจัดวางโครงสร้างพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว และเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมการแข่งขันในตลาด คุณก็จะต้องถอยหลังไปหนึ่งก้าว และปล่อยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง เพราะโดยปกติแล้วตลาดก็ย่อมจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดอยู่แล้ว… ถ้าหากคุณพยายามที่จะเลือก ‘ผู้ชนะ’ เสียเอง มันก็จะกลายเป็นเกมของผู้แพ้ไปโดยปริยาย”

เบนัวต์ มุลเลอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายซอฟต์แวร์ (ยุโรป) ของบีเอสเอ กล่าวเสริมว่า “ในปัจจุบัน โลกของเรามีการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายกันมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้ได้มากที่สุด และเนื่องจากสภาพแวดล้อมมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงเป็นการดีที่สุดที่จะปล่อยให้ตลาดผลักดันมาตรฐานทางด้านเทคโนโลยีซึ่งจะคงอยู่เมื่อเวลาผ่านไป แทนที่จะเลือกผู้ชนะและผู้แพ้ในตลาดเสียตั้งแต่ต้น”

ดร. ยูสเซอรี ยูซอฟ ผู้อำนวยการโครงการซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในภาครัฐของมาเลเซีย กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็คือ การสร้างและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็จะประสบความสำเร็จในตลาดในท้ายที่สุด

– การกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมโดยอาศัยการวิจัยและพัฒนา (R&D)
สำหรับหัวข้อสุดท้ายของการประชุม บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เชี่ยวชาญได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับบทบาทของทรัพย์สินทางปัญญาในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาและรองรับการเติบโต โดยคณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรูปแบบต่างๆ ของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการอนุญาตใช้งาน ซึ่งช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถทำงานร่วมกัน และสรรค์สร้างนวัตกรรมและมาตรฐานทางด้านเทคโนโลยี องค์ประกอบดังกล่าวนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยสร้างแรงจูงใจสำหรับการวิจัยและพัฒนาและการสร้างสรรค์นวัตกรรมในอุตสาหกรรม

โก๊ะ เซียว เฮียง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายซอฟต์แวร์ (เอเชีย) ของบีเอสเอ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทรัพย์สินทางปัญญาจะช่วยปกป้องทั้งบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ทั้งยังช่วยให้บริษัทขนาดเล็กมีอำนาจในการต่อรองกับบริษัทใหญ่ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่สร้างขึ้น บริษัทในเอเชียที่ต้องการก้าวเข้าสู่ตลาดโลกจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรม ไม่ใช่เป็นผู้ตามหรือผู้ใช้เทคโนโลยีเท่านั้น

“หากไม่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ผู้คนก็จะไม่ทุ่มเทเวลา ความพยายาม และทรัพยากรในการสรรค์สร้างนวัตกรรม” โล กก เก็ง หุ้นส่วนของ Rajah and Tann ในสิงคโปร์ กล่าว นอกจากนี้เขายังได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ เพื่อคุ้มครองผลงานการพัฒนาที่ก้าวล้ำในตลาดไอที และสร้างรายได้ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะถูกนำมาใช้ในการลงทุนเพิ่มเติมสำหรับการวิจัยและพัฒนา

– การสำรวจความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอที ซึ่งจัดทำโดยบีเอสเอ
จากผลการสำรวจความคิดเห็น ชี้ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายไอทีในเอเชียเชื่อว่ารัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการฝึกอบรมและการศึกษา

นอกจากนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายไอทีต้องการให้อุตสาหกรรมใช้กลไกการควบคุมดูแลตนเอง แทนที่จะใช้นโยบายที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด และรัฐบาลควรจะดำเนินบทบาทในการส่งเสริมการแข่งขันเสรี เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าร่วมแข่งขันในตลาดอย่างเป็นธรรม

ผลการสำรวจความคิดเห็นนี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของบีเอสเอในการรวบรวมข้อมูลและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหาเฉพาะหรือปัญหาที่มีลักษณะโดดเด่นสำหรับเอเชีย บีเอสเอหวังว่าผลการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายของรัฐได้รับทราบข้อมูลเชิงลึก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณากลยุทธ์และนโยบายระดับประเทศ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Regional Innovation Forum 2005 มีอยู่ที่
www.bsa.org/asia-eng/innovationforum

เกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ (Business Software Alliance; BSA) คือองค์กรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโลกดิจิตอลที่มีความปลอดภัยและถูกกฎหมาย บีเอสเอคือกระบอกเสียงของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ทั่วโลก รวมถึงกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ สมาชิกบีเอสเอคือตัวแทนของการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โครงการต่างๆของบีเอสเอล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์เทคโนโลยีผ่านภาคการศึกษาและนโยบายที่สนับสนุนการปกป้องลิขสิทธิ์, ไซเบอร์ซีเคียวริตี้, การค้า และอีคอมเมิร์ซ สมาชิกกลุ่มบีเอสเอประกอบด้วย อะโดบี (Adobe), แอปเปิล (Apple), ออโต้เดสก์ (Autodesk), เอวิด (Avid), เบนต์เลย์ซิสเต็มส์ (Bentley Systems), บอร์แลนด์ (Borland), คาเดนซ์ดีไซน์ซิสเต็มส์ (Cadence Design Systems), ซิสโก้ซิสเต็มส์ (Cisco Systems), ซีเอ็นซีซอฟต์แวร์มาสเตอร์แคม (CNC Software/Mastercam), เดลล์ (Dell), เอ็นทรัสต์ (Entrust), เอชพี (HP), ไอบีเอ็ม (IBM), อินเทล (Intel), อินเทอร์เน็ตซีเคียวริตี้ซิสเต็มส์ (Internet Security Systems), แมโครมีเดีย (Macromedia), แมคอะฟี (McAfee), ไมโครซอฟท์ (Microsoft), มินิแท็บ (Minitab), พีทีซี (PTC), อาร์เอสเอซีเคียวริตี้ (RSA Security), เอสเอพี (SAP), โซลิดเวิร์คส (SolidWorks), ไซเบส (Sybase), ซิมแมนเทค (Symantec), ซินนอปซิส(Synopsys), เดอะแม็ตช์เวิร์คส (The MathWorks), เทรนด์ไมโคร (Trend Micro) และยูจีเอส (UGS)

ในประเทศไทย บีเอสเอทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย, สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ในการสนับสนุนสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา