ในภาพ : ประจวบ ตันตินนท์ (ที่สองจากขวา) กรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมด้วย สุรช ล่ำซำ (ขวา) ผู้อำนวยการ สายงานการตลาดและบริการ ประสิทธชัย กฤษณยรรยง (ที่สองจากซ้าย) ผู้อำนวยการสายงานการเงิน บมจ. ทีทีแอนด์ที และไพศาล กวียานันท์ (ซ้าย) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทีทีแอนด์ที เอสเอส จำกัด ร่วมกันแถลงผลการดำเนินงานประจำปี 2548 และทิศทางการดำเนินงานปี 2549 ณ ห้องธนาวงศ์ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา จังหวัดตรัง เมื่อเร็วๆ นี้
ทีทีแอนด์ที แถลงผลงานปี 2548 และทิศทางการดำเนินงานปี 2549 เน้นลงทุนสร้างเครือข่ายลูกค้าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงผ่านเทคโนโลยีเอดีเอสแอล (ADSL) พร้อมจัดแคมเปญโปรโมต “Maxnet” นำขบวน “Maxnet Kool Gang” ออกโรดโชว์เจาะตลาดนักท่องไซเบอร์ทั่วประเทศ
นายประจวบ ตันตินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทีทีแอนด์ที ยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมชั้นนำในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์องค์กรให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับการพัฒนาบริการใหม่ๆและขยายฐานธุรกิจสู่การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านเทคโนโลยีเอดีเอสแอล (ADSL) ในนาม “Maxnet” ตลอดจนรุกทำการตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความนิยมในแบรนด์ โดยเน้นการเข้าถึงลูกค้าโดยอาศัยกิจกรรมด้านบันเทิง และยังได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของภาครัฐและการจัดงานระดับประเทศอีกมากมาย”
กิจกรรมที่ ทีทีแอนด์ที ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในรอบปีที่ผ่านมา ได้แก่ การร่วมสนับสนุนการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2005 ในฐานะผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชนในการรายงานข่าว การเป็นผู้สนับสนุนหลักของภาพยนตร์ “เสือคาบดาบ” จากค่ายโมโนฟิล์ม รวมถึงอัลบั้มเพลงของศิลปินค่ายอาร์.เอส.โปรโมชั่น นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการรายงานผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านทางเว็บไซต์ต่างๆ และร่วมกิจกรรมสัมมนาด้านการท่องเที่ยวและการประชุมประชาคมไอทีระดับโลกอีกด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานของ ทีทีแอนด์ที ในปีนี้ แม้จะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2548 เป็นต้นมา ทำให้รายได้จากโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์สาธารณะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทฯ ยังมั่นใจในทิศทางการลงทุนในปีหน้า โดยนายประสิทธชัย กฤษณยรรยง ผู้อำนวยการสายงานการเงิน บมจ. ทีทีแอนด์ที กล่าวว่า ทีทีแอนด์ทีมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 3,000-3,500 ล้านบาท โดยเน้นที่การขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้บริษัทฯตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนลูกค้าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ให้ได้ 80,000 รายภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2-3 แสนรายในปีหน้า ในการนี้ บริษัทฯ พร้อมร่วมมือกับผู้ให้บริการข้อมูล (Content Provider) รวมถึงพันธมิตรต่างประเทศที่จะสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์บริการที่เป็นเลิศแก่ประชาชน
“ทีทีแอนด์ที มีแผนที่จะขยายฐานลูกค้าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อปรับโครงสร้างรายได้ใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพตลาด จากที่ปัจจุบันรายได้หลักมาจากโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์สาธารณะ แต่ภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ รายได้หลักของ ทีทีแอนด์ที จะมาจากธุรกิจบรอดแบนด์ โดยจะให้มีสัดส่วนกว่า 50% นอกจากนี้ บริษัท ทริปเปิล ที บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ทีทีแอนด์ที ได้ดำเนินการยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์พื้นฐานประเภท 3 แบบมีโครงข่าย ตามหลักเกณฑ์และประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แล้วในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะได้รับการพิจารณาแล้วเสร็จในต้นปีหน้า และจะเริ่มลงทุนได้ทันที โดยบริษัทฯ จะลงทุนสร้างโครงข่ายเองบางส่วนและเช่าโครงข่ายบางส่วน นอกจากนี้ล่าสุด ทีทีแอนด์ที ได้จัดตั้งบริษัท ทริปเปิล ที โกลบอล เน็ต จำกัด เพื่อเตรียมยื่นขอรับใบอนุญาตลงทุนเป็นเจ้าของโครงข่าย International Gateway รองรับ การให้บริการ Voice Over IP และบรอดแบนด์ได้อย่างเต็มรูปแบบภายในปีหน้า” นายประสิทธชัย กล่าวเสริม
พร้อมกันนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมความนิยมในผลิตภัณฑ์อินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง ทีทีแอนด์ทีจึงได้จัดแคมเปญ “Maxnet Kool Gang” ขึ้นทั่วประเทศเพื่อแนะนำแพ็คเกจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรายเดือน “Maxnet” ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์แก่เยาวชนและประชาชนที่สนใจทั่วประเทศ โดยมี “Maxnet Kool Gang” ที่จะไปจัดกิจกรรม สร้างสีสันเพื่อให้ความรู้และประชาสัมพันธ์สินค้าของทีทีแอนด์ที และในการแถลงผลการดำเนินงานครั้งนี้ ทีทีแอนด์ที ยังได้นำสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมแม็กซ์เน็ต โรดโชว์ที่โรงเรียนจินตรังษี อำเภอเมือง จังหวัดตรัง อีกด้วย
นายสุรช ล่ำซำ ผู้อำนวยการสายงานการตลาดและบริการ บมจ.ทีทีแอนด์ที กล่าวว่า “Maxnet Kool Gang” เป็นโครงการที่มุ่งเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่สถาบันการศึกษา หน่วยงาน และประชาชนทั่วไปในชุมชนจังหวัดต่างๆ โดยกลุ่มเป้าหมายของเรามีทั้งนักเรียนนักศึกษา หน่วยงานราชการ ธุรกิจต่างๆ รวมถึงบุคคลทั่วไป เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน ส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างแพร่หลาย รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของชาติในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่อไปในอนาคต”
“ทีทีแอนด์ทีได้เริ่มให้บริการแพ็คเกจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรายเดือน “Maxnet” มาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา และจากกระแสตอบรับที่ดี ทำให้บริษัทฯ มุ่งมั่นขยายบริการอินเตอร์เน็ตไปยังลูกค้าในเขตภูมิภาคให้ทั่วถึงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดและสร้างฐานลูกค้าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง บริษัทจึงได้เปิดบริการ T-net 1626 ซึ่งเป็นแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตแบบ Dial Up ในราคาสุดประหยัด ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งลูกค้าของทีทีแอนด์ทีและผู้ที่ไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ของทีทีแอนด์ทีก็สามารถใช้ได้เช่นกัน” นายสุรช กล่าวเสริม
T-net 1626 เป็นบริการอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อผ่านสายโทรศัพท์พื้นฐาน (Dial-Up Internet) ด้วยความเร็วในการรับส่งข้อมูลอยู่ที่ 56 กิโลบิต/วินาที และค่าบริการเพียง 590 บาท ใช้บริการได้นานถึง 3 เดือนโดยไม่จำกัดชั่วโมงการใช้งาน ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเล่นอินเทอร์เน็ตได้นานต่อเนื่องเท่าที่ต้องการ
“ทีทีแอนด์ที เชื่อมั่นว่าจะสามารถให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมออนไลน์แก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ด้วยฐานลูกค้าที่มีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านเลขหมาย เพื่อให้คนไทยทั่วประเทศได้รับประโยชน์จากการเปิดโลกทัศน์สู่ข้อมูลข่าวสารและสาระบันเทิงที่ทันสมัยจากทุกมุมโลก และเป็นช่องทางใหม่ในการเรียนรู้สำหรับผู้ที่แสวงหาความก้าวหน้าได้อย่างไร้ขีดจำกัด” นายประจวบ กล่าวทิ้งท้าย
เกี่ยวกับทีทีแอนด์ที
บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทของคนไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2535ด้วยทุน มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในปัจจุบันจำนวน 32,255 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้ร่วมลงนามในสัญญาขยายโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานในเขตภูมิภาค จำนวน 1 ล้านเลขหมาย โดยบริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการและบำรุงรักษาอุปกรณ์ในระบบ โดยมีอายุสัมปทาน 25 ปี นับจากวันเริ่มส่งมอบอุปกรณ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2536 จนถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2561 และในวันที่ 21 กันยายน 2538 บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจาก ทศทฯ. ให้ติดตั้งโทรศัพท์เพิ่มขึ้นอีก 5 แสนเลขหมาย รวมเป็น 1.5 ล้านเลขหมายในเขตภูมิภาคในปัจจุบัน