ค่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อม“เยี่ยมบ้านปลา ธนาคารปู ดูป่าเลน” ครั้งนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องความร่วมมือระหว่างสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการ “การจัดทำเวบไซต์แหล่งเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับครูและนักเรียน” มีความมุ่งหวังว่ากิจกรรมค่ายฯ จะเสริมสร้างให้เยาวชนมีการเรียนรู้ ปลูกจิตสำนึกที่ดีให้กับอนาคตของชาติเป็นพลังในการสร้างสรรค์ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้ดีขึ้นตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้ในการเชื่อมโยงประยุกต์ใช้กับสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยประเภทอินเตอร์เน็ตให้เกิดการเรียนรู้ต่อไป
ค่ายฯ “เยี่ยมบ้านปลา ธนาคารปู ดูป่าเลน” เป็นค่ายเยาวชนประเภทศึกษาธรรมชาติ ด้วยการประยุกต์องค์ความรู้ด้านวิชาการและสภาพแวดล้อมของชุมชนเป็นกรณีศึกษา เยี่ยมวิถีชีวิตของชุมชนและกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนชาวประมงท้องถิ่น ฐานการเรียนรู้เป็นสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ตลอดจนการรู้ใช้สื่อทันสมัยเป็นแหล่งค้นคว้าหาข้อมูลและประชาสัมพันธ์ข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักการคือ การเรียนรู้ จากการสัมผัสตรง เรียนรู้ทำความเข้าใจจากสิ่งที่ได้เห็นจากรณีศึกษาและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ การปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วมจากกระบวนการทำงานกลุ่ม การพัฒนาองค์ความรู้ จากการฟังเรื่องเล่าจากชุมชนถึงวิถีชีวิตและการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง บันทึกข่าวและถ่ายทอดนำเสนอในรูปแบบของกลุ่มที่สนใจ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ระหว่างครูจากสถานศึกษาระหว่างพื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อม
การดำเนินกิจกรรม กิจกรรมค่ายฯ “เยี่ยมบ้านปลา ธนาคารปู ดูป่าเลน” กำหนดจัดในวันที่ 26-28 ตุลาคม 2548 ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักเรียนมัธยมปลาย และครูในเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ และครูพี่เลี้ยงจาก 13 โรงเรียน ดังนี้
โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายในเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชุมพร เขต 1
1. โรงเรียนท่าข้ามวิทยา
2. โรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา
3. โรงเรียนหงษ์เจริญวิทยา
4. โรงเรียนท่าแซะรัชดาภิเษก
5. โรงเรียนทุ่งคาวิทยาคาร
6. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 20
7. โรงเรียนมาบอำมฤต
8. โรงเรียนปะทิววิทยา
9. โรงเรียนปากน้ำชุมพรวิทยา
10.โรงเรียนปากคลอง
โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายในเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขต 1
1. โรงเรียนธงชัยวิทยา
2. โรงเรียนชัยเกษมวิทยา
3. โรงเรียนบางสะพานน้อยวิทยาคม
และ กลุ่มเป้าหมายรอง ได้แก่ วิทยากรและพี่เลี้ยง ตัวแทนและผู้นำชุมชน สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่โครงการฯ จำนวนผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น จำนวน 140 คน
สถานที่จัดกิจกรรมค่ายฯ โครงการพัฒนาส่วนพระองค์จังหวัดชุมพร ซึ่งมีสภาพเป็นสันทรายป่าชายหาด พัฒนาพื้นที่เพื่อการเกษตรปรับปรุงดินตามความเหมาะสม เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยและพัฒนาส่งเสริมอาชีพ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดชุมพร เป็นสื่อเรียนรู้ เรื่องระบบนิเวศป่าชายเลน และใช้พื้นที่บริเวณอ่าวทุ่งมหาตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว ก็ได้ชื่อว่ามีพื้นที่ป่าชายเลน เป็นอันดับ 2 รองจากอ่าวทุ่งคา-สวี และมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นแหล่งเรียนรู้กิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนตำบลปากคลอง เช่น กิจกรรมบ้านปลา กิจกรรมธนาคารปู และอนุรักษ์ป่าชายเลน เป็นต้น
นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องระหว่างกลุ่มครูที่เข้าร่วม เช่น การบูรณาการกิจกรรมสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การสอน กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และการผสานกิจกรรมกับชุมชน เพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางในการพัฒนากิจกรรมของโครงการฯ
ผลการจัดกิจกรรม จากการนำเสนอผลการทำงานกิจกรรมกลุ่มและการสัมภาษณ์เยาวชนในค่ายฯ (วันที่ 28 ตุลาคม 2548) โดยสังเขป ดังนี้
นายนเรศ นพรัตน์ (น้องจั้ว) ตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียนบางสะพานน้อยวิทยาคม สรุปผลจากการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายและกิจกรรมทำงานกลุ่มที่ 4 พิทักษ์ป่าชายเลน กล่าวว่า “ป่าชายเลน เป็นระบบที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้หลากหลาย สิ่งมีชีวิตจำนวนมาก ชุมชนที่ตำบลปากคลองหากมีการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน มีเงื่อนไขว่าหากตัด 1 ต้น จะต้องปลูกทดแทน 5 ต้น การเรียนรู้ฐานธนาคารปู เป็นเรื่องที่ดีเพราะจะเพิ่มจำนวนปูให้มากขึ้น ปู 1 ตัวสามารถออกลูกได้ถึง 2 แสนตัว และไม่แค่เพิ่มจำนวนลูกปูอย่างเดียวแต่งยังมีการปรับปรุงปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมง เช่น ลอบปู โดยเพิ่มความห่างของตาข่ายกิจกรรมบ้านปลา เมื่อทำแล้วจะทำให้เพิ่มจำนวนปลา เพิ่มความหลากหลายของสัตว์น้ำด้วย ส่วนกิจกรรมศึกษาวิถีชีวิตชุมชนที่นี่โดยส่วนใหญ่ทำอาชีพทำการประมง หลายคนมีแนวคิดอยากจะทำประมงที่ได้ช่วยอนุรักษ์และเกิดความยั่งยืน”
นายธนากร กีรติกิตติ สมาชิกลุ่ม 2 หอยหวาน ตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียนท่าแซะรัชดาภิเษก ได้กล่าวรายงานข้อมูลกลุ่มการทำงานของตนว่า “กิจกรรมค่ายนี้ กลุ่มได้เรียนรู้อุปกรณ์ เครื่องมือ และวิธีการดูนกและรู้จักชื่อนกที่พบในโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ ด้านทรัพยากรป่าชายเลนทำให้ได้รู้จักพันธุ์ไม้และการจัดการป่าชุมชนเพื่อเป็นประโยชน์กับชุมชน และเห็นความสำคัญของป่าชายเลนว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่างๆ และเป็นแหล่งยาสมุนไพร ธนาคารปูได้รู้จักที่มาที่ไปของการก่อตั้งการรวมกลุ่มกับชาวบ้านอย่างมีรูปแบบ บ้านปลาทำเพื่อเพิ่มจำนวนพันธุ์ปลา โดยนำเอายางรถยนต์มาทำเป็นที่อยู่อาศัยของปลา ได้รู้ทรัพยากรชายฝั่งในด้านป่าชายเลนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเป็นแหล่งยาสมุนไพรเป็นแนวเขตป้องกันการพังทลายของชาย ด้านสิ่งแวดล้อม ได้รู้เรื่องสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และทางชีวภาพ รู้เรื่องวิถีชีวิตชาวประมงที่มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย”
เด็กหญิง อลิศา โชติคุต สมาชิกกลุ่มที่ 5 ทะเลแสนงาม ตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียนปากคลอง ได้เล่าถึงการเรียนรู้ความรู้ป่าชายเลนอ่าวทุ่งมหาในฐานะที่เป็นเยาวชนในพื้นที่ให้กับพี่ๆ และเพื่อนที่มาร่วมในกิจกรรมค่ายฯ “ในอดีตเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่ถูกบุกรุกจากนายทุน จากนั้นจึงมาตั้งเป็นป่าชมชนเพื่อเป็นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ธนาคารปู จัดทำเพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปู สาเหตุเกิดจากจำนวนประชากรปูลดลง หายาก แกนนำผู้ก่อตั้ง คือ ลุงจาง ฟุ่งเฟือง และสมาชิกธนาคารจึงวางแผนการอนุรักษ์ คือ อนุรักษ์แม่พันธุ์ปู และทำเครื่องมือจับปูลอบตาห่าง 2.5นิ้ว ผลที่ได้พบว่าจำนวนปูเพิ่มขึ้น ชาวประมงจับปูได้มากขึ้น บ้านปลา วิธีการคือการเอายางรถและท่อซีเมนต์ มัดด้วยเส้นลวดแล้วนำไปไว้ใต้น้ำเพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาและเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำ”