อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีการเติบโตที่ชะลอลงในช่วงปี 2548 โดยความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวสูงในครึ่งปีแรก แต่ชะลอลงเรื่อยมาในช่วงครึ่งหลังของปี โดยตัวเลขในเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2548 ยอดขายปูนซีเมนต์ในประเทศหดตัวต่อเนื่องสองเดือนติดต่อกัน สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศที่มีฝนตกมากในระยะเวลาดังกล่าว แต่ปัจจัยในด้านอุปสงค์ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญ โดยเฉพาะการก่อสร้างของภาครัฐหดตัวลงในช่วงไตรมาส 3 ปี 2548 โดยแม้ว่ามูลค่าการก่อสร้างจะสูงขึ้นกว่าในช่วงสองไตรมาสแรก แต่ในด้านปริมาณงานก่อสร้างลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ การก่อสร้างของภาคเอกชนมีการชะลอตัวลง ตามการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัย
ปี 2548 … ตลาดในประเทศชะลอลง แต่ตลาดส่งออกเติบโตสูง
ภาพรวมในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2548 ภาวะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีปริมาณการผลิตทั้งสิ้น 31.9 ล้านตัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการผลิตปูนเม็ดมีปริมาณ 32.5 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 11.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
• ตลาดภายในประเทศ ในช่วง 10 เดือนแรก ปี 2548 ยอดขายปูนซีเมนต์ในประเทศมีปริมาณ 24.6 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดขายปูนซีเมนต์ชะลอตัวลงมากในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1 เทียบกับที่มีการเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 13 ในครึ่งปีแรก แต่คาดว่าในไตรมาสสุดท้ายความต้องการน่าจะกระเตื้องขึ้นจากปริมาณฝนตกน้อยลง และเครื่องชี้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ายอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศตลอดทั้งปี 2548 อาจมีระดับประมาณ 29.7 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับ 27.2 ล้านตันในปี 2547 ตลาดในประเทศเติบโตชะลอลงจากที่ขยายตัวสูงร้อยละ 12.2 ในปี 2547 โดยเป็นไปตามทิศทางในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่การลงทุนของภาครัฐชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี
• ภาวะราคา ภาวะตลาดที่เติบโตได้ไม่สูงเท่ากับปีก่อน ได้ส่งผลให้ราคาปูนซีเมนต์ยังมีทิศทางปรับตัวลดลงในปีนี้ ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2548 ราคาปูนซีเมนต์ลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 7 สำหรับราคาขายปลีกปูนซีเมนต์ผสมในท้องตลาด (บรรจุ 50 ก.ก.) ณ เดือนตุลาคม 2547 มีราคาถุงละ 108.71 บาท ลดลงร้อยละ 5.6 เทียบกับราคาถุงละ 115.14 บาท ในเดือนเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางภาวะอุปสงค์ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นในระยะข้างหน้า
• ตลาดต่างประเทศ ความต้องการปูนซีเมนต์ในตลาดต่างประเทศขยายตัวสูง โดยมูลค่าการส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2548 ไทยจะมีการส่งออกปูนซีเมนต์ประมาณ 15 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 และร้อยละ 41 จากปริมาณ 11.9 ล้านตัน และมูลค่า 312.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2547 ตามลำดับขณะที่ราคาส่งออกก็ปรับตัวสูงขึ้นมามีระดับโดยเฉลี่ย 29 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จาก 26 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2547 การเติบโตสูงของการส่งออกเป็นผลมาความต้องการในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐ และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและแถบเอเชียใต้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งมีการขยายตลาดใหม่ๆ เช่น ในตะวันออกกลางและละตินอเมริกา ตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ตามมาด้วย เวียดนาม บังคลาเทศ กัมพูชา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งนี้ ปัจจุบัน การส่งออกปูนซีเมนต์มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 35 ของตลาดปูนซีเมนต์โดยรวม
• การผลิตโดยรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการผลิตของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2548 อาจมีปริมาณทั้งสิ้นประมาณ 38.5 ล้านตัน เทียบกับ 35.6 ล้านตันในปี 2547 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่ำกว่าในปีก่อนหน้าเนื่องจากยอดขายภายในประเทศชะลอตัวลง ส่วนปูนเม็ดคาดว่าจะมีการผลิต 38.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จากปี 2547 อัตราการใช้กำลังผลิตปูนซีเมนต์ในปี 2548 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 67.5 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับร้อยละ 62.8 ในปี 2547
แนวโน้ม ปี 2549 … มีโอกาสเติบโตสูงขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากโครงการลงทุนของรัฐ
แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2549 คาดว่าจะมีตัวแปรสำคัญอยู่ที่การดำเนินการโครงการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญต่อภาคการก่อสร้าง อันจะส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนความต้องการก่อสร้างของภาคเอกชนอาจชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากภาวะธุรกิจที่อยู่อาศัยอาจยังคงเผชิญปัจจัยลบจากอุปสงค์ที่อ่อนตัวลง
โดยภาพรวมแล้ว ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีโอกาสที่จะขยายตัวสูงขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่โครงการลงทุนของภาครัฐสามารถคืบหน้าได้ตามเป้าหมาย โดยในกรณีพื้นฐาน ที่การลงทุนในด้านการก่อสร้างภาครัฐดำเนินการได้ตามแผน ภายใต้กรอบงบประมาณลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศในปี 2549 อาจมีระดับประมาณ 34.1 ล้านตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 15 สูงขึ้นกว่าปี 2548 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 9.2 อย่างไรก็ดี ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยสูง 37 ล้านตันในปี 2539
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลในกรณีที่ถ้าหากการดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐอาจมีความล่าช้าออกไป โดยพิจารณาจากปัจจัยสำคัญสองประการคือ โครงการลงทุนระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอาจล่าช้าออกไป และการลงทุนของรัฐอาจถูกตัดทอนลงหากรายได้ของรัฐบาลจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขาดหายไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การลงทุนด้านการก่อสร้างของภาครัฐที่อาจลดลงไปจากปัจจัยในส่วนนี้ อาจทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศในปี 2549 มีระดับต่ำลงมาเป็นประมาณ 32.7 ล้านตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 10 ซึ่งก็ยังเป็นอัตราที่สูงขึ้นกว่าปี 2548
การส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2549 คาดว่าอาจจะไม่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับฐานที่สูงค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา ขณะที่ถ้าหากตลาดในประเทศเติบโตได้ดี ผู้ประกอบการอาจลดน้ำหนักการส่งออกลง ตลาดส่งออกคงจะยังเน้นไปที่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านในแถบอินโดจีนและเอเชียใต้เป็นหลัก
โดยรวมแล้ว คาดว่าการผลิตในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2549 จะเพิ่มขึ้นมาที่ระดับประมาณ 42.4-43.6 ล้านตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 10-13 อันเป็นผลมาจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังผลิตปูนซีเมนต์ในปี 2549 อาจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 75% จากระดับประมาณ 67.5% ในปี 2548 ขณะที่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีกำลังการผลิตเต็มที่ประมาณ 54 ล้านตัน
สถานการณ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (หน่วย : พันตัน)
เครื่องชี้ภาวะอุตสาหกรรม ปี 2539 2545 2546 2547 2548e 2549e
การผลิต
ปูนซีเมนต์ 38,749 31,679 32,530 35,626 38,500 43,560
(13.5) (2.7) (9.5) (8.2) (13.0)
อัตราการใช้กำลังผลิต (%) 79.0 56.8 57.4 62.8 67.5 75.0
การตลาด
ยอดขายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ 37,082 23,020 24,227 27,191 29,700 34,100
(20.9) (5.2) (12.2) (9.2) (15.0)
ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ 3,945 16,235 12,232 11,870 15,000 15,000
(16.3) (-7.9) (-3.0) (26.0) (0.0)
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงพาณิชย์
e = ประมาณการโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตัวเลขในวงเล็บแสดงอัตราเปลี่ยนแปลง (%) เทียบกับปีก่อนหน้า
แนวโน้มในปี 2549 แม้ว่าธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้ในระดับสูง แต่ภาวะอุปสงค์ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ผู้ประกอบการอาจเผชิญความยากลำบากในวางแผนการผลิต ซึ่งถ้าโครงการก่อสร้างของภาครัฐมีการเร่งตัวสูงในบางช่วง ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างมีระดับที่สูงกว่าอุปทาน ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะอุปทานเพิ่มขึ้นตามได้ไม่ทัน ข้อจำกัดในด้านอุปทานอาจส่งผลให้โครงการก่อสร้างมีความล่าช้าทำให้การเติบโตอาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกัน หากตลาดมีการสต็อกสินค้าของผู้ค้า ก็อาจทำให้เกิดความผันผวนของราคาได้ ทั้งนี้ สำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เอง ถึงแม้ว่ากำลังการผลิตของปูนซีเมนต์ทั้งหมดจะมีประมาณ 54 ล้านตัน แต่การปรับเครื่องจักรให้สามารถเพิ่มกำลังผลิตในปริมาณมากๆอาจต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ปัจจัยด้านต้นทุนอาจส่งผลต่อการปรับขึ้นราคาในช่วงปีข้างหน้า เนื่องจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีต้นทุนพลังงานคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย
ดังนั้น การปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงาน เช่น น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ หรือค่าไฟฟ้า อาจมีผลต่อต้นทุนการผลิตปูนซีเมนต์อีกทางหนึ่งด้วย ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้มีการพิจารณาที่จะขอปรับราคาต่อกระทรวงพาณิชย์ แต่ภาวะตลาดชะลอตัวลง ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องยืนราคาเพื่อรักษาสถานะการแข่งขัน ทั้งนี้ ราคาปูนซีเมนต์มีการปรับขึ้นไปสูงสุดเมื่อปี 2546 โดยราคาขายปลีกปูนซีเมนต์ผสมในท้องตลาดมีราคา 120 บาทต่อถุง ขณะที่ปัจจุบันราคาต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณ 109 บาท