เศรษฐกิจจีนปี 2548-49 : แรงหนุนส่งออกไทย

จีนได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกเมื่อสิ้นปี 2548 อันเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 9 กอปรกับเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เป็นเงินสกุลดอลลาร์ของจีนเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวเลขมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของจีนย้อนหลังสำหรับปี 2547 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 16.8 (เนื่องมาจากการจัดทำตัวเลขสถิติของทางการจีนใหม่ โดยปรับเพิ่มขนาดและสัดส่วนภาคบริการจากร้อยละ 31.9 ของ GDP เป็นร้อยละ 40.7) ทำให้ขนาด GDP ของจีนเพิ่มขึ้นอีก 284 พันล้านดอลลาร์เป็นจำนวนรวมถึง 2.144 ล้านล้านดอลลาร์ สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและขนาดทางเศรษฐกิจของจีนที่กำลังทวีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ

พลังทางเศรษฐกิจของจีนส่งผลอย่างมากต่อภาวะการค้าระหว่างประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากการค้าไทย-จีนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนทำให้จีนขยับขึ้นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 และแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของไทยในปัจจุบัน ดังนั้น การเข้าใจแนวโน้มทางเศรษฐกิจตลอดจนทิศทางการค้าระหว่างประเทศของจีน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประเมินลู่ทางการค้าระหว่างไทย-จีน รวมทั้งผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2549

เศรษฐกิจจีนปี 2548-49

เศรษฐกิจจีนในปี 2548 มีการเติบโตอย่างสมดุลและไม่ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ หลังจากที่ทางการจีนใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจในปี 2547 จนทำให้การขยายตัวของ GDP ในครึ่งปีหลังของปี 2547 ชะลอตัวจนเศรษฐกิจมหภาคคืนสู่เสถียรภาพมากขึ้น แม้ว่าราคาพลังงานได้เพิ่มสูงขึ้นมากก็ตาม โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2548 เศรษฐกิจจีนเติบโตร้อยละ 9.4 ลดลงเล็กน้อยจากอัตราร้อยละ 9.5 ในปี 2547 แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.9 เท่านั้น (เทียบกับร้อยละ 3.9 ในปี 2547) โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2548 ได้รับแรงผลักดันจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการลงทุน การบริโภคในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ คาดว่า GDP ในปี 2548 จะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยตลอดทั้งปีที่ร้อยละ 9.4

ในรอบ 10 เดือนแรกของปี 2548 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับในปี 2547 ขณะเดียวกันมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 16.3 และยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อการบริโภค การประกาศวันหยุดยาวต่อเนื่องของรัฐบาลทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น รวมทั้งรายได้ต่อหัวของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในเมืองและชนบท ทำให้การบริโภคสินค้าหลายประเภทมีการขยายตัวสูง อาทิ อุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ในทางตรงข้ามดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.9 โดยมีการปรับขึ้นของราคาบ้าน และบริการด้านบันเทิง ส่วนราคาอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 แต่ราคาเสื้อผ้า เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ขนส่งและโทรคมนาคมกลับปรับตัวลดลงจากการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นและประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น

แม้จีนจะเพิ่มค่าเงินหยวนจาก 8.28 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์มาเป็น 8.11 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม 2548 พร้อมทั้งปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นระบบตะกร้าเงิน ทำให้ค่าเงินหยวนค่อย ๆ แข็งขึ้นตามลำดับจนมาอยู่ที่อัตรา 8.08 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2548 แต่ไม่ได้ส่งผลลบต่อความสามารถในการแข่งขันของจีน เนื่องจากการส่งออกของจีนยังสามารถขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 32.8 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2548 ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 17.8 เป็นมูลค่าการส่งออก 354.2 พันล้านดอลลาร์และการนำเข้า 310.9 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ ทำให้จีนเกินดุลการค้ากว่า 40 พันล้านดอลลาร์ โดยกลุ่มสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของจีนขยายตัวในอัตราสูงทั้งสิ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์โลหะ (ร้อยละ 105) น้ำมันสำเร็จรูป (ร้อยละ 85) เครื่องรับโทรทัศน์ (ร้อยละ 58) เครื่องโทรศัพท์ (ร้อยละ 42) เฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ 35) แผงวงจรไฟฟ้าและวงจรประดิษฐ์ (ร้อยละ 33) เครื่องคอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 29) และรองเท้า (ร้อยละ 26) เป็นต้น สินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นและสินค้าขั้นปลายน้ำที่จีนมีขีดความสามรถในการแข่งขันสูงมาก

สำหรับสินค้านำเข้า 10 อันดับแรก สินค้าที่จีนนำเข้าเพิ่มขึ้นมากได้แก่สินค้าทุนและวัตถุดิบอุตสาหกรรม อาทิ น้ำมันดิบ (ร้อยละ 45) สินแร่เหล็ก (ร้อยละ 42) แผงวงจรไฟฟ้า (ร้อยละ 34) อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 23) และเม็ดพลาสติก (ร้อยละ 22) เป็นต้น ส่วนสินค้าประเภทชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์สำเร็จรูปมีการนำเข้าลดลงในอัตราร้อยละ 18 และร้อยละ 15 ตามลำดับ เนื่องจากยอดขายรถยนต์ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ขณะเดียวกันอุปสงค์ในปี 2548 ไม่สามารถเติบโตทันอุปทานรถยนต์จำนวนมากที่เกิดจากการขยายกำลังการผลิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีรถยนต์ที่รอการจำหน่ายคงค้างอยู่มาก

สำหรับในปี 2549 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปี 2548 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.0-9.5 เนื่องจากการส่งออกอาจขยายตัวลดลงสวนทางกับการเติบโตของการนำเข้า จากผลของค่าเงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจาก 8.03 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี 2548 เป็น 7.85 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์ในปลายปี 2549 กอปรกับรายได้ต่อหัวของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้การบริโภคสินค้านำเข้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่ายอดส่งออกจะขยายตัวลดลงจากร้อยละ 28.0 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 20.0-25.0 ในปี 2549 ส่วนการนำเข้าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.0 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 20.0-25.0 ในปี 2549 ทำให้จีนได้เปรียบดุลการค้าลดลง อย่างไรก็ตาม เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนจะยังคงเพิ่มขึ้นแม้จะในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 38.0 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 25.0 ในปี 2549 หรือเพิ่มขึ้นจากประมาณ 840 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี 2548 เป็น 1,050 พันล้านดอลลาร์ในปลายปี 2549 เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนยังคงเกินดุลจากการได้เปรียบดุลการค้า รายได้จากการท่องเที่ยว และการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศ

แนวโน้มการค้าไทย-จีน

การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของจีน ทำให้จีนนำเข้าสินค้าประเภททุนและวัตถุดิบจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งรวมถึงไทยเพิ่มขึ้นมากเป็นเงาตามตัว และในทางกลับกันจีนก็ก็ได้ส่งออกสินค้าหลายประเภทโดยเฉพาะเครื่องจักรกลและสินค้าขั้นปลายน้ำให้กับประเทศคู่ค้าของตน รูปแบบการค้าดังกล่าวซึ่งเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนในทศวรรษที่ ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา ทำให้จีนเติบโตขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่สามของไทยในปัจจุบันรองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แต่เป็นตลาดส่งออกที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับตลาดส่งออก 5 อันดับแรกของไทย โดยตลาดจีนขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 20 ทุกปีในช่วงปี 2545-47 แต่ในปี 2546 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 60

สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2548 ไทยส่งออกไปจีนเพิ่มร้อยละ 28.99 ส่วนตลาดอันดับ 1 และ 2 คือสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ยอดส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.06 และ 18.78 ในปี 2547 ตามลำดับ และเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 10.45 และร้อยละ 13.62 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2548 ดังนั้น การส่งออกไปจีนที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตในภาพรวมของไทย เนื่องจากตลาดประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มการเติบโตที่ช้ากว่า อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนยังมีขนาดเพียงร้อยละ 50 ของการส่งออกไปสหรัฐฯ และคิดเป็นร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่น ดังนั้น คงกินเวลาอีกหลายปีกว่าที่ตลาดจีนจะเติบโตขึ้นมาในระดับเดียวกับตลาดส่งออกทั้งสอง

เมื่อพิจารณาดุลการค้าไทย-จีนจะพบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด โดยในปี 2547 ไทยส่งออกไปจีน 7,115 พันล้านดอลลาร์ แต่นำเข้าจากจีนถึง 8,144 พันล้านดอลลาร์ ขาดดุลการค้ากับจีน 1,029 พันล้านดอลลาร์ และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2548 ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มเป็น 1,754 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากยอดนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.84 เป็นจำนวน 9,167 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 28.99 เป็นมูลค่า 7,412.90 พันล้านดอลลาร์ คาดว่าในปี 2548 ยอดขาดดุลการค้าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2.0 พันล้านดอลลาร์

ในแง่โครงสร้างการส่งออกของไทยไปจีน เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการกระจุกตัวของสินค้าส่งออกที่ 10 อันดับแรกถึงกว่าร้อยละ 70 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เม็ดพลาสติก น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เหล็กและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ซึ่งทั้งหมดเป็นสินค้าทุน วัตถุดิบและชิ้นส่วนสำหรับการผลิตสินค้าขั้นกลางน้ำและปลายน้ำของภาคอุตสาหกรรมจีน ทั้งนี้ สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งคืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบโดยเฉพาะ Hard Disk Drives (HDD) เป็นสินค้าส่งออกหลักที่มีสัดส่วนการส่งออกมากถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกไปจีนทั้งหมด และเป็นสินค้าส่งออกที่มีการขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 32.31 ในปี 2547 และร้อยละ 71.94 ในช่วง ม.ค.-ต.ค. 2548 คิดเป็นมูลค่า 2,010 ล้านดอลลาร์ เนื่องมาจากการขยายกำลังการผลิต HDD ในเมืองไทยของผู้ผลิตข้ามชาติจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตของสินค้าส่งออกประเภทนี้ขึ้นกับอุปสงค์เครื่องคอมพิวเตอร์และสินค้า IT ในตลาดโลกซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ดังนั้น การพึ่งสินค้าส่งออกประเภทนี้มากเกินไปจึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในอนาคต

สินค้าส่งออกหลักอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องคือเม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ไม้ยาง ก๊าซปิโตรเลียมเหลว เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยางและผลไม้ โดยเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 มีการขยายตัวอย่างโดดเด่นถึงร้อยละ 45.88 และร้อยละ 39.68 ในปี 2547 และปี 2548 (ม.ค.-ต.ค.) ตามลำดับ จนมีมูลค่า 624.5 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังก็มีการขยายตัวของการส่งออกถึงร้อยละ 66.35 และร้อยละ 32.27 ในช่วงเดียวกัน

ในทางตรงกันข้าม สินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มการส่งออกชะลอตัวลงชัดเจนคือยางพาราและข้าว โดยยอดส่งออกยางพาราซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 ไปจีน ลดลงจากร้อยละ 9.7 ในปี 2547 เป็นร้อยละ -0.05 ในปี 2548 (ม.ค.-ต.ค.) ด้วยมูลค่าส่งออก 626.4 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์จีนที่มีการชะลอตัว คาดว่า ยางพาราจะถูกเม็ดพลาสติกแซงขึ้นมาเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 ในปี 2549 ส่วนสินค้าข้าวมีมูลค่าการส่งออกลดลงถึงร้อยละ 30.87 ในปี 2548 (ม.ค.-ต.ค.) เหลือ 115.8 ล้านดอลลาร์ จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 130.19 ในปี 2547 ด้วยมูลค่าส่งออก 224.9 ล้านดอลลาร์ หากไทยต้องการขยายตลาดส่งออกข้าวไปจีน จำเป็นต้องเน้นข้าวคุณภาพสูงและแก้ปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิรวมทั้งเครื่องหมายการค้าอย่างจริงจัง

ในด้านการนำเข้า กว่าร้อยละ 80 ของสินค้านำเข้าจากจีนเป็นสินค้าอุตสาหกรรมประเภทสินค้าทุน วัตถุดิบการผลิตและสินค้าอุปโภคบริโภค โดยสินค้านำเข้า 5 รายการแรก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ เหล็ก เครื่องจักรกลและเคมีภัณฑ์มีมูลค่าการนำเข้ารวมกันเกือบร้อยละ 60 ของมูลค่าการนำเข้าจากจีนทั้งหมด และเป็นสินค้าที่มีการขยายตัวของการนำเข้าสูง เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญของภาคอุตสาหกรรมของไทยที่กำลังเพิ่มกำลังการผลิตในปัจจุบัน ส่วนสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคที่สำคัญที่ไทยนำเข้าจากจีนคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด อัญมณี/ทองคำและผลิตภัณฑ์พลาสติก

สินค้าที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ซึ่งนำเข้าเพิ่มร้อยละ 485 ในปี 2547 และร้อยละ 167 ในปี 2548 (ม.ค.-ต.ค.) แผงวงจรไฟฟ้า (ร้อยละ 59 และร้อยละ 58 ตามลำดับ) และผลิตภัณฑ์โลหะ (ร้อยละ 47 และร้อยละ 95 ตามลำดับ) ส่วนสินค้าที่ยอดนำเข้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงคือเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด อัญมณี/ทองคำ ผลิตภัณฑ์พลาสติก หลอดภาพโทรทัศน์และปุ๋ย/ยากำจัดศัตรูพืช เมื่อรวมสินค้านำเข้า 15 รายการหลักในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2548 ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.19 เทียบกับมูลค่าการนำเข้ารวมสินค้าทุกชนิดจากจีนที่ขยายตัวร้อยละ 38.84 ดังนั้น หากไทยสามารถบริหารการนำเข้าสินค้า 15 รายการแรกซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดได้ก็จะช่วยลดการขาดดุลการค้ากับจีนได้อย่างมาก

สรุป

แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงอย่างมีเสถียรภาพและต่อเนื่องของจีนที่ร้อยละ 9.0-9.5 ในปี 2548-49 กอปรกับค่าเงินหยวนที่แข็งขึ้นจะส่งผลให้การนำเข้าของจีนในปี 2549 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภททุน วัตถุดิบและชิ้นส่วนอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยมีโครงสร้างสินค้าส่งออกหลายชนิดที่สามารถขยายการส่งออกไปจีนเพื่อป้อนภาคอุตสาหกรรมการผลิตขั้นกลางน้ำและปลายน้ำได้ อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกของไทยมีการกระจุกตัวที่สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกในอัตราสูง ทำให้จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงและเพิ่มน้ำหนักการส่งออกไปยังสินค้าประเภทอื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มในประเทศและการจ้างงานสูง ในขณะเดียวกัน ไทยมีแนวโน้มพึ่งพาสินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนในอัตราสูงเช่นกัน ทำให้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร่งทุกปี และส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากไทยสามารถบริหารการนำเข้าสินค้าจากจีน โดยเฉพาะสินค้า 15 รายการแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลอย่างมากต่อภาวะดุลการค้าระหว่างสองประเทศ