ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในการประชุมรอบแรกของปีวันที่ 18 มกราคม 2549 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee: MPC) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันอีก 0.25% จาก 4.00% มาเป็น 4.25% ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 10 ใน 12 รอบการประชุมนับจากที่ธปท.ได้เริ่มต้นวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 และส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ขยับขึ้นรวม 3.00% (รวมการประชุมรอบวันที่ 18 มกราคม) ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์ข้างต้น ตลอดจนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระยะต่อไป สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้ :-
•แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่ยังคงมีอยู่ แม้อาจผ่อนคลายลงบ้าง
โดยแม้ว่าทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะปรับลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ 6.2% ในเดือนตุลาคม 2548 มาอยู่ที่ 5.9% และ 5.8% ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ตามลำดับ ประกอบกับ เงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯประมาณ 3.9% ในช่วงสองสัปดาห์แรกของปี 2549 อาจช่วยผ่อนคลายความกังวลที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อลงไปได้บ้าง แต่ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูงต่อเนื่อง (ล่าสุดวันที่ 13 มกราคม ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ระดับ 61.91 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล เทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งปี 2548 ที่ 54.63 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล) ตลอดจน การทยอยปรับขึ้นของราคาสินค้าเป็นการทั่วไปตามการแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีแนวโน้มที่จะยืนสูงใกล้เคียงระดับประมาณ 4.5-5.5% ในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2549 นี้ ก่อนที่จะปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีจากการที่ต้องเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน และจากความคาดหวังว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะปรับลดลงหลังผ่านพ้นฤดูหนาวทางซีกโลกตะวันตก ทั้งนี้ จากแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อในประเทศที่ยังคงมีอยู่ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การเดินหน้านโยบายอัตราดอกเบี้ยที่มีความเข้มงวดมากขึ้นของธปท.จึงน่าจะเป็นการดำเนินการที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Targeting)
•กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น่าจะยังมีแนวโน้มขยายตัวในระยะข้างหน้า
แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจในประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2548 จะมีทิศทางที่ไม่สดใส อาทิ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Index) ที่หดตัว 0.2% จากเดือนเดียวกันปีก่อน (y-o-y) และดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (Private Investment Index) ที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง 1.3% (y-o-y) เทียบกับอัตราการขยายตัวที่ 6.3% ในเดือนตุลาคม แต่การปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกันของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม และการปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สามติดต่อกันของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคเอกชนได้ซึมซับหรือรับรู้ข่าวในเชิงลบในช่วงที่ผ่านมาไปแล้ว ประกอบกับ การลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะจากมูลค่าเงินลงทุนจำนวน 2.9 แสนล้านบาทในปี 2549 ในโครงการขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์ และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ที่น่าจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในระยะข้างหน้า คาดว่าน่าจะช่วยผลักดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อไป โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 2549 เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวประมาณ 4.5-5.0% เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4.5% ในปี 2548 ซึ่งแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นดังกล่าว ก็คาดว่าจะสามารถรองรับทิศทางขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินไทยได้โดยไม่ลำบากนัก
•เป้าหมายของธปท.ในการกระตุ้นการออมและดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ของธปท.ในการประชุมวันที่ 18 มกราคม ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง และช่วยรักษาค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯกับไทยไม่ให้เพิ่มขึ้น น่าจะเป็นการดำเนินการที่มีความสอดคล้องกับความมุ่งหวังของธปท.ที่อยากจะเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการออมภายในประเทศ รวมทั้งสอดรับกับเป้าหมายที่จะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อมาชดเชยฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าอาจมีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่องเป็นปีที่สองติดต่อกันในปี 2549 (โดยจากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคมที่ 5.8% อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้นจาก -1.8% มาเป็น -1.55% ในขณะที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% มาที่ 4.50% ในการประชุมรอบแรกของปีวันที่ 31 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2549 เช่นกัน)
โดยสรุป จากแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของไทยที่ยังคงมีอยู่ และแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น่าจะขยายตัวดีขึ้น ตลอดจนความมุ่งหวังของธปท.ที่ต้องการเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการออมภายในประเทศ และการไหลเข้าสุทธิของเงินลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อมาชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธปท.คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันอีก 0.25% จาก 4.00% มาที่ 4.25% ในการประชุมรอบแรกของปีวันที่ 18 มกราคม 2549 นี้ ซึ่งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับแนวโน้มการขยายสินเชื่อที่มีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ความเข้มข้นของภาวะการแข่งขันกับธนาคารคู่แข่งและตลาดทุนในการรักษาฐานลูกค้า ก็คาดว่าจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ยังคงเป็นทิศทางขาขึ้นต่อเนื่องในปี 2549
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ในระยะข้างหน้านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธปท.คงจะมีการให้น้ำหนักกับปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจรอบด้านโดยพิจารณาจากทิศทางการปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในระยะต่อไปเป็นหลัก ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจยังมีความเอื้ออำนวย ธปท.ก็คงจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อและผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมามีค่าเป็นบวก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันอาจขยับเข้าสู่ระดับสูงสุดในช่วงประมาณ 4.50-5.00% ภายในครึ่งแรกของปี 2549 ในขณะที่ความเป็นไปได้ของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed Funds ที่อาจยุติลงในเวลาไม่นานต่อจากนี้ รวมทั้งแนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค อาจช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท.ในระยะถัดไปด้วย ทั้งนี้ สิ่งที่น่าติดตามนอกเหนือจากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะเข้าสู่จุดสูงสุดภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 คงจะอยู่ที่การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท.ในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่น่าจะชะลอลงมาต่ำกว่า 4.00% แล้ว ว่าธปท.จะรักษาส่วนต่างที่เป็นบวกมากขึ้นดังกล่าวไว้นานเพียงใด
นอกจากนั้นแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ยังคงต้องจับตาประเด็นสำคัญๆ ที่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจและอาจส่งผลตามมาต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท. อันได้แก่ ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันตลาดโลก โดยคงจะต้องติดตามว่าราคาน้ำมันจะชะลอตัวลงหลังผ่านพ้นฤดูหนาวทางซีกโลกตะวันตกตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ สถานะทางการคลัง ซึ่งยังต้องติดตามว่าประเด็นการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2549 (ตุลาคม-ธันวาคม 2548) ที่ขยายตัวเพียง 2.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงค่อนข้างมากจากการขยายตัวทั้งปีงบประมาณ 2548 ที่ 13.3% ว่าจะมีความต่อเนื่องหรือเป็นเพียงภาวะชั่วคราว เพราะตัวแปรนี้จะมีอิทธิพลต่อการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐซึ่งนับเป็นความหวังสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ตลอดจน การชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมากกว่าที่คาดหรือมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลง ซึ่งก็คงจะมีผลกระทบตามมาที่แนวโน้มการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท.ที่อาจจะหลีกไม่พ้นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นเดียวกัน