ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (“MBK”) ที่ระดับ ‘A-(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ ขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ของ MBK ที่ระดับ “A-(tha)” แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่ MBK มีสถานะและชื่อเสียงทางการตลาดที่มั่นคงในธุรกิจศูนย์การค้าและธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพฯ รวมถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพจากการดำเนินธุรกิจศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการฟื้นตัวของโรงแรม เชอราตัน กระบี่ บีช รีสอร์ท รวมถึงกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการลงทุนใหม่และผลประโยชน์จากการถือหุ้นในบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกทอนลงด้วยสภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นในธุรกิจศูนย์การค้า อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้เช่าค้าปลีกและการปรับปรุงพื้นที่ของผู้ประกอบการรายเดิม ถึงแม้ว่าทำเลที่ตั้งและชื่อเสียงที่ดีของศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ประกอบกับการปรับปรุงตกแต่งอาคารอย่างต่อเนื่อง น่าจะทำให้ความกังวลในประเด็นการแข่งขันดังกล่าวปรับลดลงได้ นอกจากนี้ สัญญาเช่าที่ดินระยะเวลา 30 ปีของศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ใกล้จะครบกำหนดอายุสัญญาในปี 2556 อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อการดำเนินงานของธุรกิจศูนย์การค้าของ MBK ได้หากการต่อสัญญาดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จหรือเงื่อนไขในสัญญาเช่าใหม่ไม่เป็นผลดีต่อ MBK อย่างไรก็ตาม การที่ MBK ได้รับสิทธิในการพิจารณาต่อสัญญาเช่าที่ดินเป็นรายแรกอาจช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยดังกล่าวได้บ้าง

อันดับเครดิตของ MBK ยังพิจารณาถึงความเสี่ยงของกลุ่มที่สูงขึ้นดังจะเห็นได้จากระดับเงินลงทุนในการลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักที่สูงอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนเพิ่มในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย ถึงแม้ว่า MBK ได้มีนโยบายเมื่อต้นปี 2548 ที่จะจำกัดการลงทุนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักตลอดจนจำกัดกิจกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ MBK ในช่วง 2 ถึง 3 เดือนที่ผ่านมาได้เพิ่มการถือครองหุ้นในบริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) (“NFS”) ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการในเดือนธันวาคม 2548 ที่อนุมัติการเพิ่มการถือครองหุ้นใน NFS จนถึง 10% ฟิทช์กล่าวว่า แม้ว่าเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้จะเป็นจำนวนไม่มากนัก แต่ความเสี่ยงโดยรวมจากการที่บริษัทถือหุ้น NFS ในระดับที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ความเสี่ยงของกลุ่มปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การลงทุนเพิ่มขึ้นในหลักทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักในอนาคตอาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของ MBK ได้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2548 เงินลงทุนรวมในหุ้น NFS ของ MBK มีมูลค่าประมาณ 1.7 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของเงินลงทุนชั่วคราวทั้งหมด หรือประมาณ 11% ของสินทรัพย์รวม

จากการที่บริษัทมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ย้อนหลัง 12 เดือน (Net Debt/ LTM EBITDAR) คงอยู่ในระดับใกล้เคียง 3 เท่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวได้ปรับลดลงเป็น 2.6 เท่า ในงวดหกเดือนแรกของปีงบการเงิน 2548/49 ในขณะที่ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDAR/ Gross Interest Expense) อยู่ในระดับสูงที่ 13.7 เท่า ในงวดหกเดือนแรกของปีงบการเงิน 2548/49 จากการคาดการณ์การเติบโตในระดับปานกลางของ EBITDAR และแผนการลงทุนประมาณ 1.6 พันล้านบาท ในช่วงปีงบการเงิน 2548/49 ถึง 2550/51 อัตราส่วน Net Debt/ EBITDAR ของบริษัทน่าจะปรับลดลงมาที่ระดับประมาณ 2.2 เท่า ถึง 2.6 เท่า ในปีงบการเงิน 2548/49 และ 2549/50 นอกจากนี้ MBK ยังมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนสัญญาเช่าระยะยาวของศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ในไตรมาสที่ 4 ของปีงบการเงิน 2548/49 (งวด 3 เดือน สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2549) ซึ่งหากเป็นผลสำเร็จ อาจทำให้อัตราส่วน Net Debt/ EBITDAR ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2 เท่า อย่างไรก็ดี ระดับหนี้สินของ MBK อาจเพิ่มสูงขึ้นหากกลุ่มบริษัทมีการลงทุนในโครงการใหม่เพิ่มขึ้น ณ ปัจจุบัน MBK วางแผนที่จะพัฒนาโรงแรมระดับ 5 ดาว แห่งใหม่ภายใต้การจัดการในเครือโรงแรมระดับสากลบนเกาะสมุย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2551 โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 900 ล้านบาท ในช่วงปีงบการเงิน 2549/50 ถึง 2550/51 นอกจากนี้ MBK ยังมีแผนที่จะพัฒนาสนามกอล์ฟแห่งที่สองในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2549 โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท แม้ว่า MBK จะมีหนี้สินระยะสั้นอยู่ในระดับสูง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 63% ของหนี้สินรวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2548 (สิ้นงวดปีงบการเงิน 2546/47: 43%) ซึ่งเป็นผลมาจากเงินกู้ยืมระยะสั้นเพื่อนำไปใช้ในการซื้อหุ้น NFS ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบการเงิน 2547/48 (งวด 3 เดือน สิ้นสุดเดือนกันยายน 2547) และการทยอยชำระคืนหุ้นกู้ กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพจากการดำเนินงานของศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส รวมถึงวงเงินสินเชื่อของกลุ่มที่ยังไม่ได้ใช้อีกประมาณ 1 พันล้านบาท น่าจะช่วยรักษาสภาพคล่องของ MBK ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้