เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : สงกรานต์ปีจอ…ตลาดโตร้อยละ 8

ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสำคัญที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวันอย่างเทศกาลสงกรานต์มักจะมีปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงปกติ เนื่องจากเป็นช่วงที่ประชาชนมีการเดินทางท่องเที่ยว รวมทั้งการจัดงานเฉลิมฉลองรื่นเริงกันมากทั้งในส่วนของคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม สำหรับเทศกาลสงกรานต์ปี 2549 นี้คาดว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในส่วนของผู้บริโภคคนไทยช่วงเดือนเมษายนซึ่งมีเทศกาลสงกรานต์เป็นจุดขายสำคัญจะเพิ่มขึ้นจากปกติประมาณร้อยละ 8 ซึ่งชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 จากช่วงปกติ เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนไม่ว่าจะเป็นราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงสถานการณ์ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูงทำให้ประชาชนเป็นจำนวนมากต่างชะลอการใช้จ่ายเงินในส่วนที่ไม่จำเป็นลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำเป็นต้องเร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคคนไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับในส่วนของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จับตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีแนวโน้มดี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเดือนเมษายนซึ่งมีเทศกาลสงกรานต์เป็นจุดขายสำคัญจะมีไม่ต่ำกว่า 1,170 ล้านบาท

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างตั้งเป้าหมายยอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในส่วนของปริมาณความต้องการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยที่เดินทางกลับไปเยี่ยมเยือนญาติมิตรหรือกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวในต่างจังหวัด รวมทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาสัมผัสกับประเพณีไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการจัดงานตามสถานที่ต่างๆ ทั้งนี้ตามสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ยอดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเดือนเมษายนระหว่างปี 2546- 2548 สูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนอื่นๆร้อยละ 7.5 โดยแยกเป็นปริมาณการจำหน่ายสุราในเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 70 ล้านลิตรซึ่งสูงกว่าเดือนอื่นๆที่มีค่าเฉลี่ยการจำหน่ายอยู่ที่ 63.8 ล้านลิตรคิดเป็นร้อยละ 9.7 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายเบียร์ในช่วงเดือนเมษายนจะอยู่ที่ 141.2 ล้านลิตรสูงกว่าเดือนอื่นๆที่มีค่าเฉลี่ยที่ 132.7 ล้านลิตรคิดเป็นร้อยละ 6.4

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณความต้องการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเดือนเมษายนปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ นี้จะเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติประมาณร้อยละ 8 ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติประมาณร้อยละ 12.6 ทั้งนี้เนื่องจากตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มของคนไทยต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงทั้งในส่วนของกำลังซื้อภาคประชาชนที่ชะลอลงภายหลังถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง รวมทั้งปัญหาอัตราดอกเบี้ย ค่าไฟฟ้า ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการปรับขึ้นราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายหลังจากภาครัฐมีการปรับขึ้นภาษีไปเมื่อช่วงปลายปี 2548 ที่ผ่านมา และประการสำคัญคือสถานการณ์ทางการเมืองที่ผันผวนทำให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นและลดการจัดงานฉลองรื่นเริงที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งจากปัจจัยดังที่กล่าวข้างต้นส่งผลให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ต้องการขยายตลาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์จำเป็นต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อให้เข้าถึงและกระตุ้นกลุ่มผู้บริโภคคนไทยมากขึ้นโดยเฉพาะการจัดกิจกรรม ณ จุดขาย (ON PREMISE) ตามร้านอาหารและสถานบันเทิงต่างๆอาทิ การลดราคาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการแจกแถมของรางวัลให้กับผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่กำหนดเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในส่วนของผู้บริโภคคนไทยมีแนวโน้มเติบโตชะลอตัว แต่เมื่อพิจารณาในส่วนของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จับกลุ่มผู้บริโภคชาวต่างชาติในช่วงเทศกาลสงกรานต์กับพบว่ามีทิศทางที่สดใสเมื่อเทียบกับตลาดผู้บริโภคชาวไทย ทั้งนี้เพราะคาดว่า ปริมาณนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2549 จะสูงกว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2548 ที่ผ่านมามีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อปริมาณนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ลดลงไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านการเกิดแผ่นดินไหวในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2548 ซึ่งเป็นจุดบริเวณใกล้เคียงกับที่เคยเกิดแผ่นดินไหวจนก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิมาแล้ว รวมทั้งปัจจัยสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ซึ่งทั้งสองปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกังวลและชะลอการเดินทางมาท่องเที่ยวไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยในเดือนเมษายนปี 2548 ซึ่งอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ลดลงร้อยละ 7.3 สำหรับในปี 2549 นี้เนื่องจากความวิตกกังวลของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทางด้านการเกิดคลื่นยักษ์รอบสองได้บรรเทาลงภายหลังจากภาครัฐของไทยได้แสดงให้เห็นถึงการเตรียมการทางด้านระบบเตือนภัยที่มีความคืบหน้า ประกอบกับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์เริ่มคลายความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคใต้ทำให้ยอดจองโรงแรมที่พักในภาคใต้ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในช่วงเดือนเมษายนจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวไทยซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเข้ามาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 920,000 คนสร้างรายได้ประมาณ 34,430 ล้านบาท ซึ่งโดยทั่วไปค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทางด้านอาหารและเครื่องดื่มจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 17 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในจำนวนนี้แยกเป็นค่าใช้จ่ายด้านเครื่องดื่มอย่างเดียวประมาณร้อยละ 10-30 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือไม่มีแอลกอฮอล์ ดังนั้นในช่วงเดือนเมษายนซึ่งมีเทศกาลสงกรานต์เป็นจุดขายสำคัญนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะมีค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทเครื่องดื่มประมาณไม่ต่ำกว่า 1,170 ล้านบาท โดยเฉพาะเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์จะมีมูลค่าการจำหน่ายที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสังสรรค์รื่นเริงในระหว่างเดินทางท่องเที่ยว รวมทั้งราคาสินค้าต่อหน่วยของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นั้นก็ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มประเภทอื่นๆที่ไม่มีแอลกอฮอล์อาทิ น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำแร่ น้ำอัดลม เป็นต้น

สถานการณ์ของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปี 2549 ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อปริมาณความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้ดื่มคนไทยที่ประสบปัญหาทางด้านกำลังซื้อที่ชะลอลง แต่เมื่อพิจารณาทางด้านสถิติอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากผู้ขับขี่เมาสุราก็คาดว่ายังคงมีจำนวนที่สูง ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพบว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 8-17 เมษายน 2548 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 522 ราย สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2549 นี้ มีการประมาณการว่าจะมีผู้เสียชีวิตในเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 595 ราย แต่ทางภาครัฐได้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะรณรงค์ให้มีการลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงให้ได้ร้อยละ 15 ของประมาณการหรือมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 506 ราย ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวค่อนท้าทายเมื่อพิจารณาจากจำนวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ในปี 2548 ที่มีเพิ่มขึ้นประมาณ 2.75 ล้านคันทำให้แนวโน้มของการเกิดอุบัติเหตุในปี 2549 มีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการป้องกันและลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์จึงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ควบคุมและรักษากฎเกี่ยวกับการจราจรอย่างเข้มงวด อาทิ การรณรงค์โครงการเมาไม่ขับ หรือการตั้งด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่รถยนต์อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้รถใช้ถนนเองก็ควรมีส่วนร่วมป้องกันโดยตรง โดยต้องไม่ขับขี่รถในขณะที่เมาสุราด้วย

กล่าวโดยสรุปแล้ว ในปี 2549 ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คงต้องใช้ความพยายามในการกระตุ้นยอดจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้เพิ่มขึ้นภายใต้ปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่รุมเร้าเข้ามาที่สำคัญได้แก่ปัจจัยทางด้านภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่ผันผวนซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของภาคประชาชน โดยเฉพาะในส่วนของตลาดกลุ่มผู้บริโภคคนไทยที่มีแนวโน้มชะลอการตัดสินใจใช้จ่ายงบประมาณด้านการเลี้ยงสังสรรค์และบันเทิงซึ่งเป็นงบฟุ่มเฟือยประเภทหนึ่ง แต่สำหรับในส่วนของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีแนวโน้มที่ดีเมื่อเทียบกับปีก่อน อันเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อการท่องเที่ยวที่มีในปี 2548 เริ่มบรรเทาลงทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเริ่มเข้ามาท่องเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ช่วยปลุกตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความคึกคักขึ้นมาได้