ประมาณการผลประกอบการแบงก์ไทยไตรมาส 1/49:ดีขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำประมาณการผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 11 แห่ง (ยังไม่รวมธนาคารพาณิชย์รายใหม่ที่เพิ่งปรับสถานะมาจากบริษัทเงินทุนจำนวน 3 แห่ง) โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธนาคาร ตามขนาดของสินทรัพย์ ได้แก่

– กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนสินทรัพย์มากกว่า 10% ของระบบธนาคาร (ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และทหารไทย)

– กลุ่มธนาคารขนาดกลางที่มีขนาดสินทรัพย์อยู่ระหว่าง 3-10% ของสินทรัพย์รวมของระบบธนาคาร (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา นครหลวงไทย และไทยธนาคาร)

– และกลุ่มธนาคารขนาดเล็กที่มีขนาดสินทรัพย์ต่ำกว่า 3% ของระบบธนาคาร (ธนาคารธนชาต สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) และยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ (ไทย))

ซึ่งการประมาณการจะอ้างอิงจากข้อมูลตามงบการเงินรวม และข้อมูลรายธนาคารที่เกี่ยวข้อง สำหรับในไตรมาส 1/49 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีกำไรสุทธิ (หลังภาษี) จำนวนประมาณ 2.43 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/48 ร้อยละ 37.90 โดยมีรายการเปลี่ยนแปลงทางการเงินที่สำคัญ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาสที่ 1/49 (หลังภาษี)

กลุ่มธนาคาร
(พันล้านบาท) ไตรมาส 1/48 ไตรมาส 4/48 ไตรมาส 1/49 E % การเปลี่ยนแปลงของไตรมาส 1/49 เทียบกับไตรมาส 1/48 % การเปลี่ยนแปลงของไตรมาส 1/49 เทียบกับไตรมาส 4/48
ขนาดใหญ่ 1/ 21.19 13.37 19.35 -8.67% 44.79%
ขนาดกลาง 2/ 3.40 3.12 3.64 7.08% 16.94%
ขนาดเล็ก 3/ 0.64 1.13 1.29 102.21% 14.26%
ระบบธนาคารไทย 25.23 17.61 24.29 -3.73% 37.90%

ประมาณการโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
หมายเหตุ: 1/ BBL, KTB, KBANK, SCB และ TMB 2/ BAY, SCIB, และ BT 3/ NBANK, SCBT และ UOBT

? รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังคงปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ถึงแม้ว่าในไตรมาส 1/49 จะเป็นที่คาดหมายว่าเงินฝากจะขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าเงินให้สินเชื่อค่อนข้างมากก็ตาม ทั้งนี้ การการเติบโตของเงินฝากในระดับสูง สะท้อนผลจากการแข่งขันขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระหว่างธนาคารพาณิชย์ไทย และเงินฝากไหลที่เข้ามายังธนาคารขนาดใหญ่จำนวนกว่า 7 หมื่นล้านบาทจากการเข้าซื้อกิจการบมจ.ชินคอปอเรชันโดยบริษัทจากสิงคโปร์ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 โดยจากแบบรายงาน ธ.พ.1.1 เงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากสิ้นปี 2548 (คิดเป็นมูลค่า 1.88 แสนล้านบาท) เทียบกับการเติบโตของสินเชื่อประมาณร้อยละ 0.8 (คิดเป็นมูลค่า 3.56 หมื่นล้านบาท)

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ณ สิ้นไตรมาส 1/49 เงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจเติบโตประมาณร้อยละ 4 จากสิ้นไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าสินเชื่อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 1-2 และบ่งชี้ถึงการปรับตัวสูงขึ้นของปริมาณสภาพคล่อง

อย่างไรก็ตาม คาดว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 1/49 น่าจะได้รับปัจจัยบวกหลายประการ ซึ่งทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ยังไม่ต้องพะวงมากนักกับการเติบโตของเงินฝากที่เหนือกว่าสินเชื่อ กล่าวคือ

? การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งสองขายังช่วยรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ในระดับหนึ่ง โดยในเดือนมกราคมและมีนาคม มีรอบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ไทยรวม 2-3 รอบ ซึ่งมักจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ พร้อมๆ กับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยที่ไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ทำให้ในภาพรวมแล้ว ยังถือเป็นผลดีต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคาร ส่วนการแข่งขันเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากราคาแพง (ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของธนาคารพาณิชย์เป็นรายเดือนตามข้อตกลงในการจ่ายอัตราดอกเบี้ย) นั้น เพิ่งจะเข้มข้นขึ้นในช่วงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม จึงทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ต้องรับรู้ผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในไตรมาสแรกของปีนี้

การเปลี่ยนแปลงของยอดสินเชื่อ-เงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เทียบกับสิ้นไตรมาส 4/48

ระบบธนาคารไทย ขนาดใหญ่ 1/ ขนาดกลาง 2/ ขนาดเล็ก 3/
เงินฝาก (ล้านบาท) 187,787 138,118 26,749 22,919
อัตราการเปลี่ยนแปลงเทียบกับสิ้นไตรมาส 4/48 3.5% 3.5% 2.4% 7.7%
เงินให้สินเชื่อ (ล้านบาท) 35,625 32,192 (17,371) 4/ 20,804
อัตราการเปลี่ยนแปลงเทียบกับสิ้นไตรมาส 4/48 0.8% 0.9% -2.0% 7.5%
เงินฝาก ลบ เงินให้สินเชื่อ (ล้านบาท)
ขนาดการเปลี่ยนแปลงเทียบกับสิ้นไตรมาส 4/48 152,162 105,926 44,121 2,115

ที่มา: ธ.พ.1.1 และบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
หมายเหตุ: 1/ BBL, KTB, KBANK, SCB และ TMB 2/ BAY, SCIB, และ BT 3/ NBANK, SCBT และ UOBT 4/ มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการชำระบัญชีหลังครบกำหนดสัญญาการบริหารและชดเชยสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Covered Asset Pool / “CAP”) ที่ธนาคารไทยธนาคารทำกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

? ธนาคารพาณิชย์ไทยยังสามารถนำสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของเงินฝากที่มากกว่าการขยายตัวของสินเชื่อดังกล่าว ไปลงทุนในตลาดเงินระยะสั้น เพื่อรับอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งของไทยและต่างประเทศได้อีกด้วย โดยในไตรมาส 1/49 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ มีค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณร้อยละ 0.48-0.57 ซึ่งน่าจะช่วยให้พอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องให้อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ จากข้อมูลตามแบบรายงาน ธ.พ.1.1 สินทรัพย์สภาพคล่อง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เฉพาะที่อยู่ในรูปเงินลงทุนในตลาดอินเตอร์แบงก์ ตลาดซื้อคืนพันธบัตร และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ มีมูลค่ารวมกันสูงถึงประมาณ 1.5 แสนล้านบาท

? กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ประกาศจ่ายเงินปันผล โดยในไตรมาส 1/49 คาดว่าธนาคารพาณิชย์ราว 5 แห่งในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลาง จะได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ในอัตราร้อยละ 3.5 ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินรวมประมาณ 1.5-2.0 พันล้านบาท

ด้วยสาเหตุนี้ จึงทำให้คาดว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 1/49 จำนวนประมาณ 5.46 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/48 เล็กน้อยประมาณร้อยละ 1.60 อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin : NIM) ของระบบธนาคารในไตรมาส 1/49 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.26 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.31 ในไตรมาส 4/48 ซึ่งน่าจะสะท้อนปรากฏการณ์ที่สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ย (Earning assets) ขยายตัวในอัตราที่เร็วกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ อันน่าจะมีสาเหตุจากการที่ต้นทุนเงินฝากจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 3 เดือนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 6 เดือนในช่วงไตรมาส 3/48 ทยอยเพิ่มขึ้นไล่หลังมาและมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรในไตรมาสนี้

อีกทั้ง ยังมีต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มเติมจากฐานเงินฝากที่ไหลเข้ามาในไตรมาส 1/49 ในขณะที่การชดเชยค่าใช้จ่ายดังกล่าว จะเอียงไปทางอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องที่ให้อัตราผลตอบแทนสู้สินเชื่อไม่ได้ ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว การขึ้นอัตราดอกเบี้ยสองขา อาจสามารถช่วยรักษาความสามารถในการทำกำไรที่วัดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในเชิงมูลค่าให้ยังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าได้ แต่ก็อาจไม่มีน้ำหนักมากพอในการชดเชยผลของการแข่งขันด้านราคา และการหลั่งไหลเข้ามาของเงินฝาก หากไม่ได้รับความช่วยเหลือมากขึ้นจากการขยายสินเชื่อ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มธนาคารนั้น คาดว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จะมีจำนวนประมาณ 4.08 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.99) ของกลุ่มธนาคารขนาดกลางจะมีจำนวนประมาณ 9.03 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.52) ส่วนของกลุ่มธนาคารขนาดเล็กนั้น คาดว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะมีจำนวนประมาณ 4.76 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.45) โดยแม้ว่าธนาคารกลุ่มนี้ จะเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระดับสูงและมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ขั้นสูง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยลบต่อต้นทุนดอกเบี้ยในภาพรวม แต่ธนาคารกลุ่มนี้ น่าจะมีการเติบโตของสินเชื่อในอัตราที่โดดเด่นที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารอื่นๆ และพอร์ตสินเชื่อที่ประกอบด้วยสินเชื่อรายย่อย (ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูง) ในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก คงจะทำให้สามารถชดเชยต้นทุนส่วนเพิ่มในรูปมูลค่าจากการเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากราคาแพงนี้ได้พอสมควร

? รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยสำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยนั้น แม้ว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการรับ น่าจะปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปี (เนื่องจากเป็นช่วงที่สินเชื่อยังขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจมีส่วนทำให้ค่าธรรมเนียมสืบเนื่องจากผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ชะลอลงจากช่วงปลายปีที่มักจะมีการเร่งขยายสินเชื่อ) และเป็นปัจจัยด้านฤดูกาลที่รายได้จากการปริวรรตจะชะลอลงในไตรมาสแรกของปี แต่คาดว่าธนาคารขนาดใหญ่และธนาคารขนาดกลางหลายแห่ง จะบันทึกกำไรจากการขายเงินลงทุน และการขายหุ้นของบริษัทเอกชนในพอร์ตเป็นพิเศษในไตรมาส 1/49 นี้ เพื่อช่วยรักษาระดับรายได้ในภาพรวม

ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 1/49 น่าจะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะในรายการที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์ ภาษีอากร ค่าธรรมเนียมและบริการจ่าย ตลอดจนค่าตอบแทนกรรมการ ส่วนค่าใช้จ่ายด้านพนักงานนั้น อาจไม่ได้ลดลงมากนัก เนื่องจากคาดว่าธนาคารหลายแห่งจะต้องกันค่าใช้จ่ายพิเศษสำหรับโบนัสพนักงานในไตรมาส 1/49 นี้ ดังนั้น จึงทำให้ภาพรวมแล้ว ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย คงจะมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 24.74 จากไตรมาส 4/48 มาที่ -1.68 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/49 โดยคงจะสามารถเห็นการฟื้นตัวของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิดังกล่าวในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และธนาคารขนาดเล็ก ส่วนธนาคารขนาดกลางนั้น คาดว่าจะมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยดังกล่าวที่ทรงตัว หลังจากที่ธนาคารสมาชิกในกลุ่มนี้ บันทึกกำไรจากเงินลงทุนก้อนใหญ่ในไตรมาส 4/48

? ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองคาดว่าจะลดลง โดยคาดว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองประมาณ 6.1 พันล้านบาทในไตรมาส 1/49 ลดลงประมาณร้อยละ 28 จากในไตรมาส 4/48 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารขนาดใหญ่และธนาคารขนาดกลางหลายแห่งมีการตั้งสำรองเป็นพิเศษ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาก หรือจากเพียง 5.95 พันล้านบาทในไตรมาส 3/48 มาที่ 8.47 พันล้านบาทในไตรมาส 4/48 ขณะที่ เอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ ที่น่าจะมีแนวโน้มที่ลดลงเล็กน้อยในไตรมาส 1/49 นี้ (โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการขายหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งมูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท) คงจะช่วยคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้เสีย และบรรเทาความจำเป็นในการตั้งสำรองเชิงรุกไว้ได้ อย่างน้อยก็ในระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มธนาคาร คาดว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองประมาณ 4.0 พันล้านบาทในไตรมาส 1/49 ลดลงจาก 6.47 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับกลุ่มธนาคารขนาดกลางที่น่าจะมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวประมาณ 1.45 พันล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 2.43 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ กลุ่มธนาคารขนาดเล็ก คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวประมาณ 0.65 พันล้านบาทในไตรมาส 1/49 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ติดลบ 0.44 พันล้านบาทในไตรมาส 4/48 เนื่องจากธนาคารสมาชิกแห่งหนึ่งในกลุ่มบันทึกกลับรายการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญในไตรมาส 4/48 ดังกล่าว

โดยสรุปแล้ว เมื่อรวมผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่ลดลง และภาระค่าใช้จ่ายจากภาษีเงินได้นิติบุคคลในไตรมาส 1/49 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณร้อยละ 40 (โดยคงจะมีธนาคารอีก 1 แห่งต้องเริ่มเสียภาษีในไตรมาส 1/49 นี้) แล้ว ทำให้คาดว่ากำไรสุทธิ (หลังภาษี) จะอยู่ที่ประมาณ 2.43 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณร้อยละ 37.90

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย จะได้ว่า กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ คาดว่าจะรายงานกำไรสุทธิ (หลังภาษี) ประมาณ 1.94 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/49 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณร้อยละ 44.79 โดยแม้ว่าอาจต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า แต่การลดลงของค่าใช้จ่ายในการกันสำรอง ผนวกกับการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิ (อันเป็นผลจากกำไรจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ) น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อฐานะทางการเงิน สำหรับกลุ่มธนาคารขนาดกลาง คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ (หลังภาษี) จำนวนประมาณ 3.64 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณร้อยละ 16.94 จากไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับ กลุ่มธนาคารขนาดเล็ก ที่คาดว่าจะรายงานกำไรสุทธิ (หลังภาษี) ประมาณ 1.29 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.26 จากไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนนั้น คาดว่ากำไรสุทธิ (หลังภาษี) ของไตรมาส 1/49 อาจลดลงประมาณร้อยละ 3.73 จากที่เคยมีกำไรสุทธิ 2.52 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/48 ซึ่งสาเหตุหลัก มาจากการที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นจำนวนกว่าสามเท่าตัวจากไตรมาส 1/48 โดยประมาณว่าจำนวนธนาคาร ซึ่งการยกเว้นทางภาษี (Tax Shield) หมดลง ทำให้จะต้องเริ่มเสียภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้น จะเพิ่มขึ้นจากเพียง 2 แห่งในไตรมาสแรกของปีก่อน มาเป็นประมาณ 6-7 แห่งในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่มากที่สุด ดังนั้น จึงทำให้กำไรสุทธิของธนาคารกลุ่มนี้ น่าจะต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ อีกสองกลุ่มธนาคารที่เหลือที่ได้รับผลกระทบจากภาระด้านภาษีไม่มากนัก น่าจะมีแนวโน้มกำไรสุทธิของไตรมาส 1/49 ที่ยังเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/48 ได้

แต่ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงผลการดำเนินงานหลักโดยไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายด้านภาษีแล้ว จะได้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจมีกำไรจากการดำเนินงานสุทธิ จำนวนประมาณ 3.17 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโตจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 14.96 และเป็นการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการดำเนินงานสุทธิดังกล่าวจากธนาคารทุกกลุ่ม โดยน่าจะมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากพัฒนาการของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 19.80 หรือจากจำนวน 4.55 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/48 มาที่ประมาณ 5.46 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/49 เช่นเดียวกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่ขยับขึ้นจากร้อยละ 2.82 ในไตรมาส 1/48 มาที่ร้อยละ 3.26 โดยทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้นนี้ น่าจะเป็นเพราะการดำเนินกลยุทธ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งสองขาอย่างต่อเนื่อง การที่อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่องเพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และผลของการรุกตลาดสินเชื่อตลอดปี 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยเพิ่มฐานสินเชื่อและสั่งสมความแข็งแกร่งให้กับความสามารถในการทำกำไร

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่เหลือของปี 2549 นั้น ถึงแม้ในภาพรวมแล้ว ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจยังสามารถรายงานผลประกอบการที่มีกำไรอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1/49 แต่ปัจจัยเสี่ยงในที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้ คือ การแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงรุนแรง ซึ่งย่อมจะกดดันความสามารถในการทำกำไรในระยะต่อไป โดยเฉพาะเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายเคลื่อนเข้าหาจุดสูงสุด อันจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ขาดแหล่งรายได้มาช่วยชดเชยต้นทุนเงินฝากที่ทยอยเร่งตัวขึ้น ขณะที่ การขยายสินเชื่อเชิงปริมาณอาจกระทำได้ยากขึ้น ในจังหวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และภายใต้สภาวะการแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อที่ยังคงเข้มข้น (โดยทุกธนาคารคงตระหนักดีว่าการรับมือกับผลกระทบจากการสู้ราคาเงินฝากอย่างมีประสิทธิภาพนั้น คงจะต้องอาศัยการเพิ่มอัตราผลตอบแทนของพอร์ตสินทรัพย์รวม ด้วยการระบายสภาพคล่องที่เริ่มจะให้อัตราผลตอบแทนคงที่เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายผ่านพ้นจุดสูงสุดแล้ว ไปเป็นเงินให้สินเชื่อที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่ามาก) นอกจากนี้ ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแรง

อีกปัจจัยเสี่ยงที่จะตามมา คือ การชะลอตัวของความต้องการสินเชื่อ และปัญหาหนี้เสีย โดยเฉพาะจากหนี้เอ็นพีแอลรายใหม่ ซึ่งการเตรียมรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว ถือเป็นโจทย์ด้านการดำเนินงานในระยะสั้นที่ท้าทายอย่างยิ่ง ในขณะที่ ธนาคารพาณิชย์เอง ก็กำลังอยู่ระหว่างการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันระยะยาวด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจ ระบบเทคโนโลยี ระบบการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนทรัพยากรบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับการบังคับใช้โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ๆ ในอนาคต อาทิ มาตรฐานบัญชีการบัญชีระหว่างประเทศฉบับใหม่ที่ 39 (IAS 39) หลักเกณฑ์เงินกองทุนใหม่ (Basel II) หลักเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision) ตลอดจน ผลกระทบสืบเนื่องจากการเตรียมเปิดเสรีภาคบริการของทางการในอนาคต ทำให้ในภาพรวมแล้ว ปี 2549 น่าจะเป็นปีที่ค่อนข้างหนักสำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย