BSA ผุดโครงการเสริมภูมิคุ้มกันผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ป้องกันตัวเองขณะท่องไซเบอร์สเปซ

ในภาพ : จากซ้าย : คุณมรกต กุลธรรมโยธิน นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย, พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม, มร. ทารุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปามการละเมิดลิขสิทธิ์ ประจำภูมิภาคเอเชีย (บีเอสเอ) และคุณศรีดา ตันทะอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ร่วมแถลงข่าว

กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ (Business Software Alliance; BSA) ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (Department of Special Investigation), สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (Thai Internet Service Provider Association; TISPA) และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย (Internet Foundation for the Development of Thailand) เปิดตัวโครงการ “Right Click ” อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองขณะออนไลน์ ผู้บริโภคและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะได้รับความรู้ว่าขั้นตอนไหนหรือเมื่อไหร่ที่ควรระวังตัวขณะออนไลน์บนไซเบอร์สเปซ เพื่อให้เล่นอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีความสุขและถูกกฎหมาย Right Click ไมโครไซต์ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยบรรลุวัตถุประสงค์ในครั้งนี้ โดยจะใช้เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าถึงเคล็ดลับและลิงค์ที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ได้ เพื่อให้สามารถเล่นอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัยและไม่ถูกหลอกให้ซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่รู้ตัว

มร. ทารุน ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ประจำภูมิภาคเอเชีย (บีเอสเอ) กล่าวว่า “ต้องขอขอบคุณกรมสอบสวนคดีพิเศษ, สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สำหรับความร่วมมือในด้านต่างๆ และเว็บไซต์ www.tarad.com, www.thaisecondhand.com และ www.pramool.com สำหรับลิงค์ที่เชื่อมมายังไมโครไซต์ Right Click”

มร.ทารุน ซอร์เนย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตช่วยให้เราค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น สื่อสารได้สะดวกขึ้น และเป็นช่องทางใหม่สำหรับการค้าขาย (e-commerce) ในทางกลับกันมันก็เป็นช่องทางที่เหล่ามิจฉาชีพใช้ทำร้ายหรือสร้างความเสียหายให้คนอื่นด้วย นอกเหนือจากการล่อลวง ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์แล้ว อินเทอร์เน็ตยังเป็นทางที่เปิดช่องให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเจาะระบบเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์และขโมยข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลสำคัญอื่นๆ ด้วย ด้วยเหตุนี้ Right Click ของบีเอสเอจึงเกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ให้สามารถท่องอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย

“เรา ต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในการป้องกันตัวเองจาก การคุกคามออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ที่ไม่น่าไว้ใจและสแปมเมลที่หลอกขายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ บ่อยครั้งที่ผู้ใช้หลงเชื่อและซื้อของผิดกฎหมายเหล่านั้นเพราะคิดว่าเป็นของ ถูกกฎหมายถูกลิขสิทธิ์ เคล็ดลับในเว็บไซต์ Right Click (www.bsa.org/thailand) จะทำให้เรารู้ว่าสินค้าถูกลิขสิทธิ์กับสินค้าผิดกฎหมายแตกต่างกันอย่างไร หรือมีจุดสังเกตตรงไหน”

เกี่ยวกับภัยจากอินเทอร์เน็ต มร. ทารุน ซอร์เนย์ กล่าวว่า ปัจจุบันภัยออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบ และเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจและเตรียมมาตรการแก้ไขก่อนกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า “บีเอสเอได้ทำการสืบค้นบนอินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาเว็บไซต์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เมื่อตรวจพบ บีเอสเอจะกำหนดคำที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์นั้น ส่งต่อให้ไอเอสพี เพื่อปรับแก้คอนเทนต์หรือบล็อกเว็บไซต์เหล่านั้นต่อไป เราได้รับความร่วมมือจากไอเอสพีเป็นอย่างดี เพราะไม่มีใครอยากถูกดำเนินคดีทางกฎหมายจากพฤติกรรมของลูกค้า ปี 2548 บีเอสเอตรวจพบเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมเป็นจำนวนเกือบ 8,000 เว็บไซต์ และได้กำหนดคำศัพท์เป็นจำนวนมากกว่า 2,500 คำเพื่อให้ไอเอสพีทำการบล็อกเว็บไซต์เหล่านั้น”

งานเดียวกันนี้ มีตัวแทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ, สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้รับเกียรติให้ขึ้นกล่าวบนเวที เกี่ยวกับปัญหาการจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์บนออนไลน์, การคุกคามออนไลน์ประเภทต่างๆ และข้อควรปฏิบัติเพื่อให้เล่นอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย

“กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบคดีร้ายแรง ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ, สังคม, ความมั่นคงภายใน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หนึ่งในงานที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบอยู่ก็คือการขจัดปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและผู้ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เป็นตัวอย่างคลาสสิคสำหรับผู้ที่มีความรู้จำกัดหรือไม่รู้ว่าการละเมิดลิขสิทธิ์คืออะไร กรมสอบสวนคดีพิเศษสนับสนุนโครงการ Right Click ของบีเอสเอ ด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ผลตอบรับที่ดีในวงกว้าง” พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม กล่าว

นางมรกต กุลธรรมโยธิน นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (TISPA) และ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการให้การสนับสนุนโครงการฯ ว่า “เนื่องจากปัจจุบันมีการหลอกลวงบนอินเทอร์เน็ต การแฝงไวรัส และโปรแกรมที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ติดมากับอีเมล์ ดังนั้นการให้ความรู้

เรื่องการใช้ซอฟท์แวร์อย่างปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตและคำแนะนำเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ สมาคมฯ เห็นประโยชน์ และความสำคัญที่ต้องการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต จึงเข้าร่วม
โครงการ “Right Click” โดยจะแปะไมโครไซต์โครงการฯ ที่เว็บไซต์ของสมาคม นอกจากนี้ สมาชิกของสมาคมฯ สามารถนำเอาข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับสมาชิกตนเองไปเผยแพร่ต่อได้อีกด้วย”

นางศรีดา ตันทะอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า “มูลนิธิฯ และ Right Click มีเป้าหมายเดียวกันคือเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบในเชิงลบ ผู้ใช้จำเป็นต้องรู้ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอินเทอร์เน็ต เราสนับสนุนเรื่องการศึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น Internet Knowledge, Online Parent Network และไมโครไซต์
Right Click ของ BSA ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะอยู่ในเว็บไซต์ของสมาชิกของเราอย่างแน่นอน”

ส่วนข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Right Click สามารถดูได้ที่ www.bsa.org/thailand ซึ่งไมโครไซต์ได้รับการออกแบบโดยสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย (Webmaster Association of Thailand) ผู้สนใจสามารถอ่านเคล็ดลับ, เทคนิค, การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา หรือการป้องกันตัวเองจากภัยอินเทอร์เน็ตได้จากไมโครไซต์แห่งนี้” มร.ทารุน ซอร์เนย์ กล่าว

เกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ (Business Software Alliance; BSA) คือองค์กรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโลกดิจิตอลที่มีความปลอดภัยและถูกกฎหมาย บีเอสเอคือกระบอกเสียงของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ทั่วโลก รวมถึงกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ สมาชิกบีเอสเอคือตัวแทนของการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โครงการต่างๆของบีเอสเอล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์เทคโนโลยีผ่านภาคการศึกษาและนโยบายที่สนับสนุนการปกป้องลิขสิทธิ์, ไซเบอร์ซีเคียวริตี้, การค้า และอีคอมเมิร์ซสมาชิกกลุ่มบีเอสเอประกอบด้วย อะโดบี (Adobe), แอปเปิล (Apple), ออโต้เดสก์ (Autodesk), เอวิด (Avid), เบนต์เลย์ซิสเต็มส์ (Bentley Systems), บิซแทร็กบิซิเนสโซลูชั่นส์ (Biztrak Business Solutions), บอร์แลนด์ (Borland), คาเดนซ์ดีไซน์ซิสเต็มส์ (Cadence Design Systems), ซิสโก้ซิสเต็มส์ (Cisco Systems), ซีเอ็นซีซอฟต์แวร์มาสเตอร์แคม (CNC Software/Mastercam), เดลล์ (Dell), อิเล็กทริกแองเจิลส์ (Electric Angels), เอ็นทรัสต์ (Entrust), เอชพี (HP), ไอบีเอ็ม (IBM), อินเทล (Intel), อินเทอร์เน็ตซีเคียวริตี้ซิสเต็มส์ (Internet Security Systems), แมคอะฟี (McAfee), ไมโครซอฟท์ (Microsoft), มินิแท็บ (Minitab), พีทีซี (PTC), อาร์เอสเอซีเคียวริตี้ (RSA Security), เอสเอพี (SAP), โซลิดเวิร์คส (SolidWorks), ไซเบส (Sybase), ซิมแมนเทค (Symantec), ไซโนซิส (Synopsys), แม็ตช์เวิร์คส (The MathWorks), เทรนด์ไมโคร (Trend Micro), ยูบีเอส (UBS Corporation) และยูจีเอส (UGS)