ในช่วงเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนมิถุนายนของทุกปีบรรดาผู้ปกครองต้องวิ่งวุ่นในการหาเงินเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเปิดภาคการศึกษาใหม่ ภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมนี้นับว่าเป็นปัญหาหนักหน่วงสำหรับผู้ปกครองเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการศึกษานั้นถือได้ว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่มั่นคงของบุตรหลาน ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสในการเรียนต่อ หรือมีโอกาสในการเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงหรือสถาบันการศึกษาที่ต้องการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “ค่าใช้จ่ายเปิดเทอมปี 2549” ในช่วงระหว่าง 1-27 เมษายน 2548 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,451 คน
จากผลการสำรวจคาดว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมทั่วประเทศสูงถึง 45,000 ล้านบาท โดยการคำนวณเม็ดเงินสะพัดสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมในปี 2549 คำนวณโดยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนนักเรียน/นักศึกษาในแต่ละระดับการศึกษา และความแตกต่างของค่าใช้จ่ายที่จะแตกต่างกันอันเนื่องจากประเภทของสถานศึกษาและหลักสูตร เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเปิดเทอมปี 2548 แล้วค่าใช้จ่ายในปี 2549 ลดลงประมาณร้อยละ 10 ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรดาผู้ปกครองปรับตัว โดยการซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนเร็วขึ้นทำให้ได้ส่วนลดสูงถึงร้อยละ 10.0 หรือการซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนลดลงโดยซื้อตามความจำเป็น สิ่งใดที่พอจะใช้ได้ก็ใช้ไปก่อนไม่ได้ซื้อใหม่ทั้งหมด นับว่าเป็นการปรับตัวอย่างรวดเร็วในด้านค่าใช้จ่ายรับมือกับการคาดการณ์ว่าภาระค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากเคยมีประสบการณ์แล้วในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
การทำตลาดของผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมนี้ต้องมีการปรับกลยุทธ์กันอย่างขนานใหญ่ เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการคาดการณ์กันว่ากำลังซื้อของบรรดาผู้ปกครองจะลดลง และผู้ปกครองจะต้องหาทางรัดเข็มขัดกันทุกวิถีทาง นอกจากนี้ในช่วงเปิดเทอมนั้นนับเป็นช่วงสำคัญที่บรรดาผู้ประกอบธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมจะกอบโกยรายได้ในแต่ละปี ดังนั้นบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมนั้นการเริ่มกระตุ้นตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันผู้ปกครองส่วนใหญ่เน้นการประหยัด จากเดิมที่ในช่วงเปิดเทอมใหม่แต่ละครั้งบรรดาผู้ปกครองจะซื้อเครื่องแบบนักเรียน รองเท้า และอุปกรณ์การเรียนต่างๆใหม่ทั้งหมดให้กับบุตรหลาน แต่ปัจจุบันผู้ปกครองเน้นการใช้ของเดิมไปก่อน ถ้าไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่จากการที่ต้องเปลี่ยนสถานศึกษา ดังนั้นการรักษายอดจำหน่ายให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมานับว่าเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเปิดเทอม นอกจากปัญหาที่บรรดาผู้ปกครองเน้นนโยบายประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและดุเดือดในระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเองทั้งนี้เพื่อรักษายอดจำหน่ายไว้ โดยมีการส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการหันไปร่วมมือจัดการส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้า และช่องทางโมเดิร์นเทรดทั้งหลาย โดยเฉพาะร้านดิสเคาต์นสโตร์ ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยยอดนิยมในปัจจุบัน เน้นการโฆษณาทางโทรทัศน์และสื่อต่างๆมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2548 รวมทั้งยังมีการหาช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ โดยเฉพาะการเข้าไปประมูลจำหน่ายสินค้าโดยตรงกับทางสถาบันการศึกษา กิจกรรมต่างๆนั้นเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งนับว่าเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา
ปีการศึกษา 2549…เงินสะพัดลดลงร้อยละ 10 ผู้ปกครองรัดเข็มขัด
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “ค่าใช้จ่ายเปิดเทอมปี 2549” ในช่วงระหว่าง 1-27 เมษายน 2548 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,451 คน โดยสำรวจเฉพาะผู้ปกครองที่มีบุตรหลานหรือเด็กในความดูแลที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม การกระจายกลุ่มตัวอย่างตามอาชีพ ระดับการศึกษา และรายได้ต่อเดือนของครัวเรือนโดยคำนึงถึงความแตกต่างของระดับชั้นการศึกษา และประเภทของสถานศึกษา รวมทั้งหลักสูตรที่แตกต่างกัน โดยปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมมีความแตกต่างกัน และกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันในช่วงเปิดเทอมอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการสัมภาษณ์เชิงลึกกับบรรดาผู้ปกครองที่ออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าต่างๆที่เกี่ยวข้องกับช่วงเปิดเทอมให้กับบุตรหลาน รวมทั้งการเก็บรวบรวมรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆของสถานศึกษา ซึ่งนำมาใช้ประกอบในการคำนวณ
จากผลการสำรวจคาดว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมทั่วประเทศสูงถึง 45,000 ล้านบาท โดยการคำนวณเม็ดเงินสะพัดสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมในปี 2549 คำนวณโดยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนนักเรียน/นักศึกษาในแต่ละระดับการศึกษา และความแตกต่างของค่าใช้จ่ายที่จะแตกต่างกันอันเนื่องจากประเภทของสถานศึกษาและหลักสูตร เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเปิดเทอมปี 2548 แล้วค่าใช้จ่ายในปี 2549 ลดลงประมาณร้อยละ 10 แม้ว่าค่าเทอมซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้บรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุว่าทางโรงเรียน/สถานศึกษาเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสมทบอื่นๆนอกจากค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้น แต่บรรดาผู้ปกครองเน้นนโยบายประหยัดค่าใช้จ่ายเปิดเทอมในด้านอื่นๆ อันเป็นผลกระทบจากค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมจะแตกต่างกันอย่างมากทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนบุตรหลานที่ครัวเรือนนั้นต้องรับภาระค่าใช้จ่าย ประเภทของสถานศึกษา (เช่น โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชน โรงเรียนสาธิต โรงเรียนฝรั่ง หลักสูตรสองภาษา หลักสูตรนานาชาติ เป็นต้น) และระดับชั้นการศึกษา นอกจากนี้ในระดับอุดมศึกษาความแตกต่างของสาขาวิชาที่ศึกษาจะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันด้วย
ค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของบรรดาผู้ปกครองนั้นจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของสถาบันการศึกษาและระดับชั้นการศึกษา ซึ่งเมื่อนำค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมมาคำนวณเป็นเม็ดเงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมในปี 2549 คาดว่าในช่วงเปิดเทอมก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดทั่วประเทศ 45,000 ล้านบาททั่วประเทศ โดยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีเม็ดเงินสะพัดมากที่สุด 16,000 ล้านบาท และเงินที่สะพัดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้นมากกว่าในภาคต่างๆประมาณ 3 เท่าตัว
จากการสำรวจค่าใช้จ่ายเปิดเทอมในปี 2549 พบว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายของบรรดาผู้ปกครองนั้นแยกออกได้เป็นค่าเทอมร้อยละ 40.0 ค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนร้อยละ 30.0 ค่ากิจกรรมอื่นๆร้อยละ 18.0 และค่าอาหารร้อยละ 13.0
ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเปิดเทอมที่บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจพบในปี 2549 มีดังต่อไปนี้
1.ปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม จากการสำรวจพบว่าผู้ปกครองในกรุงเทพฯร้อยละ 27.7 ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจคาดว่าจะมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างแน่นอน และอีกร้อยละ 21.9 ของกลุ่มตัวอย่างยังไม่แน่ใจว่าจะมีปัญหาหรือไม่ อย่างไรก็ตามในปีนี้มีผู้ปกครองถึงร้อยละ 50.0 ที่ระบุว่าไม่มีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม เนื่องจากในปีนี้บรรดาผู้ปกครองเตรียมความพร้อมเพื่อรับปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมไว้แล้ว อันเป็นผลมาจากสัญญาณเตือนตั้งแต่ปลายปีถึงปัญหาราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่มภาระในเรื่องค่าครองชีพโดยทั่วไปอยู่แล้ว
ประเด็นที่น่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบวิธีการแก้ปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของบรรดาผู้ปกครองที่คาดว่าจะประสบปัญหาในช่วงเปิดเทอม ปรากฏว่าในผลการสำรวจค่าใช้จ่ายเปิดเทอมในปี 2549 นี้ บรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 35.2 หันไปพึ่งพาวิธีการกู้ยืมเงิน ทำให้การแก้ปัญหาด้วยการกู้ยืมนั้นเป็นอันดับหนึ่งของวิธีการแก้ปัญหาของบรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง วิธีการแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมอันดับรองลงมาคือ การถอนเงินสะสม การเปียร์แชร์ การพึ่งพาโรงรับจำนำ และการเลือกทำงานพิเศษ ส่วนอัตราดอกเบี้ยของการพึ่งพาการกู้ยืมนั้นจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแหล่งของการกู้ยืม จากการสำรวจพบว่าโดยเฉลี่ยบรรดาผู้ปกครองต้องเสียดอกเบี้ยเฉลี่ยเกือบร้อยละ 15 ต่อเดือน
สำหรับการกู้ยืมเงินนั้นแหล่งกู้ยืมของบรรดาผู้ปกครองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมนั้นแยกออกได้เป็นการกู้ยืมเงินนอกระบบร้อยละ 77.1 ของการพึ่งพาการกู้ยืมเงินทั้งหมด และในระบบร้อยละ 22.9 อย่างไรก็ตามแหล่งกู้ยืมนอกระบบนั้นส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมเงินจากบรรดาญาติ/คนรู้จักถึงร้อยละ 55.0ซึ่งการกู้ยืมเงินจากแหล่งนี้บางครั้งไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือถ้าเสียก็จะอยู่ในอัตราค่อนข้างต่ำ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 22.1 นั้นพึ่งพิงการกู้ยืมเงินจากนายทุนเงินกู้ ซึ่งการกู้ยืมเงินจากแหล่งนี้มักจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนั้นอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง
ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องทางเลือกของบรรดาผู้ปกครองที่ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม มีดังนี้
-การขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการศึกษาของภาคเอกชน ในปี 2545 นับว่าเป็นปีแรกที่ผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อนเริ่มรุกเข้ามาให้บริการสินเชื่อทางด้านการศึกษาโดยการเปิดเคาน์เตอร์ให้บริการปล่อยสินเชื่อเงินสดกับบรรดาผู้ปกครองที่เข้ามาจับจ่ายซื้ออุปกรณ์ทางการศึกษาในห้างสรรพสินค้าที่จัดการส่งเสริมการขาย “Back To School” ข้อได้เปรียบสำหรับลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อเงินผ่อนคือ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม โดยใช้เพียงเอกสารทางราชการและใบรับรองเงินเดือนเท่านั้น ทำให้บรรดาผู้ปกครองได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ใช้บริการสินเชื่อเงินผ่อนนี้ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าการใช้บริการโรงรับจำนำประมาณร้อยละ 1-2 ซึ่งบรรดาผู้ปกครองที่เลือกใช้บริการประเภทนี้เนื่องจากเน้นความสะดวกเป็นหลัก นอกจากนี้บรรดาห้างสรรพสินค้าและกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่บางแห่งยังร่วมมือกับผู้ประกอบการบัตรเครดิตให้ผ่อนชำระค่าสินค้าต่างๆที่เกี่ยวข้องกับช่วงเปิดเทอมอีกด้วย นับว่าเป็นการจัดหาบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและการดึงบรรดาผู้ปกครองเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น
จากการสำรวจในปีนี้พบว่าแหล่งสินเชื่อเพื่อการศึกษาที่บรรดาผู้ปกครองใช้บริการในปีการศึกษา 2549 คือ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของรัฐบาล ธนาคารออมสิน ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าบรรดาผู้ปกครองยังคงหันไปพึ่งพาแหล่งสินเชื่อเพื่อการศึกษาจากรัฐบาลและธนาคารของรัฐเป็นอันดับแรกก่อนที่จะพึ่งพิงสินเชื่อเพื่อการศึกษาของภาคเอกชน แต่ด้วยข้อจำกัดของการให้สินเชื่อของรัฐบาลและธนาคารของรัฐ โดยบรรดาผู้ปกครองระบุว่าโอกาสได้สินเชื่อเพื่อการศึกษาจากทั้งสองแหล่งนี้ค่อนข้างน้อย ทำให้สินเชื่อเพื่อการศึกษาของภาคเอกชนสามารถเข้ามาตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ได้
-โรงรับจำนำที่พึ่งยามยากของคนจน แม้ว่าธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อนของเอกชนจะเริ่มรุกมาให้สินเชื่อด้านการศึกษามากขึ้น แต่โรงรับจำนำก็ยังคงเป็นธนาคารคนยาก หรือที่พึ่งพิงของผู้ปกครองบางกลุ่ม กล่าวคือในช่วงที่ผ่านมาบรรดาผู้ปกครองที่มีปัญหาในช่วงเปิดเทอมจะเลือกโรงรับจำนำเป็นแหล่งพึ่งพิง 1 ใน 5 อันดับแรก แม้ว่าในปัจจุบันสถาบันการเงินจะหันมาปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมมากยิ่งขึ้น ทั้งการเข้ามารุกตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อนที่ตั้งเคาน์เตอร์ปล่อยสินเชื่อในห้างสรรพสินค้า แต่ผู้ปกครองบางกลุ่มยังคงเลือกที่จะใช้บริการโรงรับจำนำ เนื่องจากการกู้เงินจากสินเชื่อเพื่อการศึกษานั้นยังมีความยุ่งยากในเรื่องเงื่อนไขในการขอกู้ โดยเฉพาะหลักฐานในเรื่องใบรับรองเงินเดือน และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่า รวมทั้งผู้ปกครองกลุ่มนี้เคยใช้บริการโรงรับจำนำมาก่อน และมีสินทรัพย์ที่โรงรับจำนำยอมรับจำนำ ดังนั้นโรงรับจำนำจึงยังเป็นแหล่งพึ่งพิงสำคัญของผู้ปกครองกลุ่มนี้
ตลาดอุปกรณ์การเรียน…ผู้ประกอบการเร่งปรับกลยุทธ์ ตอบสนองผู้ปกครองปรับตัว
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเปิดเทอมพบว่านอกจากค่าใช้จ่ายในด้านค่าเล่าเรียน ค่าอาหาร ค่ารถนักเรียน และค่ากิจกรรมอื่นๆแล้ว ค่าใช้จ่ายด้านชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนก็เป็นค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นภาระหนักกับผู้ปกครองเช่นกัน ซึ่งภาวะการแข่งขันของอุปกรณ์การศึกษานั้นเป็นไปอย่างรุนแรงในช่วงเปิดเทอม เนื่องจากนับว่าเป็นช่วงโอกาสทองของธุรกิจเหล่านี้ โดยตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาบรรดาผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์เร่งทำตลาดสินค้าเปิดเทอมเร็วขึ้น โดยเริ่มมีกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าประเภทอุปกรณ์การเรียนตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้เพื่อหวังที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ทำให้ในปีนี้การแข่งขันในตลาดอุปกรณ์การเรียนเป็นไปอย่างดุเดือด ทั้งในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆที่เริ่มมาตั้งแต่ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายร่วมกับช่องทางการจำหน่ายต่างๆ โดยเฉพาะบรรดาโมเดิร์นเทรด
ประเด็นที่น่าสนใจจากการสำรวจคือ บรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีการปรับพฤติกรรมในช่วงเปิดเทอมจากสาเหตุหลักคือ ค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และค่าอุปกรณ์การเรียนรวมทั้งชุดนักเรียนแพงขึ้น โดยบรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุว่าค่าใช้จ่ายในด้านชุดนักเรียนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งการปรับพฤติกรรมของบรรดาผู้ปกครองแยกออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจนคือ กลุ่มแรกที่ยังคงปริมาณการซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนเท่ากับในปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีระดับรายได้อยู่ในเกณฑ์สูง และมีการเตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมไว้เป็นอย่างดี แต่กลุ่มนี้ก็ปรับพฤติกรรมโดยการเลือกซื้อสินค้าในช่วงที่มีการลดราคามากที่สุด เช่นในช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการเสนอส่วนลดให้ถึงร้อยละ 10.0 รวมทั้งบรรดาผู้ปกครองกลุ่มนี้ยังได้รับความสะดวกในการจับจ่าย เนื่องจากลูกค้าจะไม่แน่นเหมือนช่วงใกล้เปิดเทอม ส่วนผู้ปกครองอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีรายได้ไม่สูงนักก็จะปรับพฤติกรรมโดยการลดการซื้อ หรือพยายามใช้ชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนที่ยังคงใช้ได้อยู่ไปก่อน
เลือกสถานศึกษา…ผู้ปกครองยินดีจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ
ปัญหาที่มีการกล่าวถึงเสมอมาในช่วงเปิดเทอมคือ การเรียกร้องเงินแป๊ะเจี๊ย หรือที่มีการเรียกเป็นเงินค่าบำรุงโรงเรียน เงินสมทบเพื่อก่อสร้างตึก ฯลฯ แต่ถ้าจะมาพิจารณาถึงที่มาของปัญหานี้แล้ว สาเหตุที่แท้จริงน่าจะมาจากบรรดาผู้ปกครองเองที่ต้องการเลือกสถานศึกษาให้บุตรหลาน โดยจากการสำรวจของ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบว่าถ้าบุตรหลานของบรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างไม่สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาที่ต้องการได้ บรรดาผู้ปกครองถึงร้อยละ 57.3 ของกลุ่มตัวอย่างจะเลือกวิธีการวิ่งเต้นเพื่อที่จะให้บุตรหลานได้เข้าเรียนในสถานศึกษาที่ต้องการ (ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 48.7 จะเลือกวิธีอื่นๆ ได้แก่ เปลี่ยนสถานศึกษาร้อยละ 39.2 รอสอบใหม่ร้อยละ 1.8 และรอฝากเข้าช่วงเทอม 2 ร้อยละ 1.8) โดยวิธีการวิ่งเต้นนั้นมี 2 ทางเลือกคือ ร้อยละ 61.6 เลือกการฝากเข้าและอีกร้อยละ 38.4 เลือกการจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ย ซึ่งจำนวนเงินแป๊ะเจี๊ยะที่บรรดาผู้ปกครองยินดีจ่ายนั้นจะแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งนี้ขึ้นกับชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง และระดับชั้นของการศึกษา นอกจากนี้จำนวนเงินแป๊ะเจี๊ยสูงสุดที่ผู้ปกครองยินดีจ่ายนั้นก็แตกต่างกัน
ค่าใช้จ่ายสมทบ…ภาระของผู้ปกครอง
จากการสำรวจและในการสัมภาษณ์บรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุปัญหาที่น่าหนักใจในเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม แม้ว่าไม่ต้องมีภาระในเรื่องค่าเทอมสำหรับช่วงการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เนื่องจากทางรัฐบาลให้การอุดหนุนการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี แต่สถานศึกษามีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสมทบของสถานศึกษา กล่าวคือบรรดาสถานศึกษาต่างๆมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองหลายครั้งแทนที่จะรวมเป็นยอดเดียว และจัดเก็บเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าเรียนคอมพิวเตอร์ ค่าไฟฟ้าสำหรับการเรียนในห้องปรับอากาศ ชุดเชียร์ลีดเดอร์ ค่าเรียนภาษา กิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิต ค่าประกันอุบัติเหตุ ค่าใช้จ่ายเข้าค่ายสำหรับนักเรียนใหม่ ฯลฯ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในปี 2548 พบว่าสถานศึกษาบางแห่งมีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายสมทบเฉลี่ยเกือบ 2,000 บาทต่อคน ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้นับว่าเป็นภาระอย่างมากสำหรับผู้ปกครอง นอกจากนี้บรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังระบุว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่สามารถนำไปเบิกกับต้นสังกัดได้ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าเทอม
ซึ่งในเรื่องค่าใช้จ่ายสมทบนี้กระทรวงศึกษาธิการมีการตั้งคณะทำงานวิเคราะห์เกี่ยวกับการเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองทั้งหมด ตามระเบียบปฏิบัติของกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งทางโรงเรียนจะต้องไม่บังคับผู้ปกครอง แต่ให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ และหากมีการเรียกเก็บรายการใดต้องออกใบเสร็จให้ผู้ปกครองด้วย รวมทั้งควรมีการชี้แจงให้ผู้ปกครองเข้าใจในกรณีมีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายสมทบที่เพิ่มขึ้นจากค่าเล่าเรียน โดยทางกระทรวงศึกษาธิการออกหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสมทบของสถานศึกษา โดยสามารถขอเก็บเงินบริการเสริมพิเศษใน 4 บริการได้แก่ การจัดบริการเสริมพิเศษ เช่น เรียนคอมพิวเตอร์ การสอนเสริมพิเศษ การเรียนปรับพื้นฐาน เป็นต้น การจัดบริการกิจกรรมพิเศษ เช่น กิจกรรมเข้าค่ายต่างๆ กิจกรรมกีฬาสี การเรียนว่ายน้ำ เป็นต้น การจัดบริการเสริมคุณภาพชีวิตนักเรียน เช่น การประกันอุบัติเหตุ ค่าตรวจสุขภาพ ค่าตรวจสารเสพติด โครงการอาหารของโรงเรียน เป็นต้น และการจัดบริการเสริมมาตรฐานคุณภาพโรงเรียน เช่น การพัฒนาสื่อเทคโนโลยี ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองสมัครใจ อีกทั้งต้องแจ้งผู้ปกครองล่วงหน้าเพื่อประกอบการตัดสินใจ
บทสรุป
ในช่วงเปิดภาคการศึกษาปี 2549 ภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมยังเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับบรรดาผู้ปกครอง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปี 2549 คาดว่าจะเกิดเงินสะพัดสูงถึง 45,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมปี 2548 แล้วลดลงร้อยละ 10.0 โดยบรรดาผู้ปกครองมีการปรับตัวเพื่อเตรียมรับปัญหาในช่วงเปิดเทอมแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง และมีการเตรียมรับมือกับปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมเป็นอย่างดี กลุ่มนี้จะหันมาซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนเร็วขึ้น โดยเลือกซื้อตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่บรรดาผู้ประกอบการให้ส่วนลดมากที่สุดถึงร้อยละ 10.0 และยังได้รับความสะดวกในการเลือกซื้อ เนื่องจากลูกค้ายังไม่แน่นเหมือนช่วงใกล้เปิดเทอม โดยผู้ปกครองกลุ่มนี้ยังคงปริมาณในการซื้อเท่ากับในปีที่ผ่านมา ส่วนผู้ปกครองอีกกลุ่มหนึ่งจะเน้นประหยัด ลดปริมาณในการซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน
ในปีนี้ค่าเล่าเรียนของสถานศึกษาบางแห่งปรับเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการเพิ่มหลักสูตรการเรียนสองภาษา และการเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ รวมทั้งสถานศึกษายังมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายสมทบโดยเฉพาะค่ากิจกรรมพิเศษต่างๆเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งทำให้ธุรกิจที่เฟื่องฟูในช่วงเปิดเทอมคือ ธุรกิจสินเชื่อเพื่อการศึกษา ในปัจจุบันมีภาคเอกชนทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงินเข้ามาแย่งชิงการให้บริการบรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย โดยบางแห่งจัดรายการร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เข้าไปตั้งบูธอำนวยความสะดวกให้สินเชื่อและการผ่อนชำระค่าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเปิดเทอมถึงในแหล่งที่บรรดาผู้ปกครองเข้าไปจับจ่ายซื้อของ ซึ่งการรุกตลาดสินเชื่อเพื่อการศึกษา ทำให้บรรดาผู้ประกอบการโรงรับจำนำต้องมีการปรับการให้บริการ ทั้งนี้เพื่อดำรงความเป็นที่พึ่งพิงของผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตามยังมีผู้ปกครองบางรายที่ยังคงต้องพึ่งพิงโรงรับจำนำ เนื่องจากการใช้บริการสินเชื่อเพื่อการศึกษานั้นต้องมีใบรับรองเงินเดือน และเสียอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่า ซึ่งผู้ปกครองกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เคยใช้บริการโรงรับจำนำ และมีสินทรัพย์ที่สามารถนำไปจำนำได้
ประเด็นที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษในเรื่องค่าใช้จ่ายเปิดเทอมคือ การพึ่งพิงแหล่งเงินกู้ยืม ซึ่งการหันไปพึ่งพิงแหล่งกู้ยืมเงินกลายเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งของบรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง โดยแหล่งเงินกู้ยืมนั้นมีทั้งในระบบและนอกระบบ ปัญหานี้นับว่าเป็นปัญหาที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะการพึ่งพิงการกู้ยืมนอกระบบ แม้ว่าในปัจจุบันทางสถาบันการเงินหลายแห่งจะหันมาขยายการให้สินเชื่อเพื่อการศึกษากันมากขึ้นก็ตาม การยินดีจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเพื่อเลือกสถานศึกษาให้กับบุตรหลาน ซึ่งยังแสดงค่านิยมในการเลือกสถานศึกษาให้กับบุตรหลาน ค่าใช้จ่ายสมทบ ซึ่งทางโรงเรียนเรียกเก็บเพิ่มเติมนอกเหนือจากค่าเล่าเรียน โดยผลจากการสำรวจพบว่าบรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุว่าปัญหานี้เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมเพิ่มขึ้น ปัญหาในเรื่องการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสมทบของบรรดาโรงเรียนต่างๆนี้นับเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไขและต้องมีการประกาศกฎเกณฑ์ที่โรงเรียนสามารถเรียกเก็บได้อย่างชัดเจนเพื่อความเข้าใจทั้งของโรงเรียนและบรรดาผู้ปกครอง
สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมในปี 2548 ก็มีการเร่งปรับกลยุทธ์ทางการตลาดกันอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ผลิตเครื่องแบบนักเรียนและรองเท้านักเรียน ทั้งนี้เนื่องจากผู้ปกครองเน้นนโยบายประหยัด แต่ผู้ประกอบการอยู่ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ดังนั้นจึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาและช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด โดยเฉพาะการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้า และการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบต่างๆเพื่อจูงใจบรรดาผู้ปกครองให้เลือกซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น