ฟิทช์ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตสากลและภายในประเทศของธนาคารกรุงเทพ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ของธนาคารกรุงเทพ (“BBL”) เป็น ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ จาก ‘BBB’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นเป็น ‘F2’ จาก ‘F3’ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิเป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB-’ (BBB ลบ) และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเป็น ‘C’ จาก ‘C/D’ อันดับเครดิตสนับสนุนของ BBL ได้รับการคงอันดับที่ ‘2’ ในขณะเดียวกัน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวแก่ BBL ที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha))

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตนี้ ได้สะท้อนถึงผลกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสถานะเงินกองทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง อันดับเครดิตสากลของ BBL ในขณะนี้ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency IDR) ของประเทศที่ ‘BBB+’ การลดลงของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ประกอบกับการปรับปรุงในเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและระบบธนาคารของประเทศไทย รวมถึงโครงสร้างทางด้านการกำกับดูแลและกฎหมาย จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารในอนาคตได้ เมื่อพิจารณาถึงขนาดของ BBL ความสัมพันธ์ทางสถาบันที่แข็งแกร่ง และความสำคัญที่มีต่อภาคการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากต้องการความช่วยเหลือ

ตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 การปรับโครงสร้างภายในของ BBL อันได้แก่การปรับโครงสร้างเครือข่ายสาขา การบริหารความเสี่ยงที่แข็งแกร่งขึ้น และการแบ่งกลุ่มลูกค้าที่ดีขึ้น เริ่มจะส่งผลดีต่อธนาคาร ผลประกอบการของธนาคารได้ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2546 และในขณะนี้ ธนาคารได้มุ่งเน้นการเจริญเติบโตสู่ยุคใหม่ในตลาดภายในประเทศและระดับภูมิภาค

ผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 20.4 พันล้านบาท ในปี 2548 จาก 17.7 พันล้านบาท ในปี 2547 โดยมีสาเหตุหลักจากการไถ่ถอนตราสารหนี้กึ่งทุนที่มีต้นทุนสูงและผลตอบแทนจากสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ว่ายอดการปล่อยสินเชื่อสุทธิจะลดลง 2.6% เนื่องมาจากการบันทึกหนี้สูญตัดบัญชีและการชำระคืนหนี้ อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของ BBL ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 2.9% จาก 2.4% ในขณะที่อัตราต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารลดลงเป็น 52.1% จาก 55.3% ในไตรมาสแรกของปี 2549 ผลกำไรสุทธิลดลงเป็น 5.2 พันล้านบาท จาก 6 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2548 แต่ผลกำไรก่อนหักภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งเป็น 8 พันล้านบาท จาก 5.8 พันล้านบาท เนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้นและค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีอาจจำกัดการปรับตัวสูงขึ้นของผลกำไรสุทธิในปี 2549

การปรับโครงสร้างหนี้ การบันทึกหนี้สูญตัดบัญชี และการจัดชั้นใหม่ของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย เป็นสถานะลูกหนี้ปกติหลังจากการปรับโครงสร้างบริษัท ได้ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ BBL ลดลงอย่างมากไปสู่ระดับ 100.8 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 (คิดเป็น 10.7% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด) จากระดับ 159.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2547 (คิดเป็น 17%) ธนาคารคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2549 ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลงไปที่ประมาณ 7.5% ภายในสิ้นปี 2549 และ 3% ภายในสิ้นปี 2550 แผนการที่จะโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไปให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐบาลน่าจะช่วยในการเร่งการลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ดังกล่าวได้

ระดับสำรองหนี้สูญของธนาคารได้ลดลงมาที่ 79.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 จาก 109.7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2547 เนื่องจากการบันทึกหนี้สูญตัดบัญชี อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก็ปรับตัวดีขึ้นเป็น 79.3% จาก 69% หนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ยังคงก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ธนาคารอาจต้องกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติม แม้ว่าระดับสำรองหนี้สูญโดยรวมอยู่ในระดับที่เหมาะสม อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของ BBL ได้ลดลงเป็น 15.2% จาก 43.5% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเงินกองทุนที่จะช่วยในการรองรับความเสี่ยงต่างๆ ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2549 เงินกองทุนขั้นที่ 1 ของ BBL อยู่ที่ประมาณ 10.3% ของสินทรัพย์เสี่ยง และเงินกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 13.5% เมื่อนำผลกำไรสุทธิจากครึ่งหลังของปี 2548 และไตรมาสแรกของปี 2549 มารวม และหักเงินปันผลค้างจ่าย ซึ่งได้รับอนุมัติในการประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายน 2549 เงินกองทุนขั้นที่ 1 และเงินกองทุนทั้งหมดของ BBL จะอยู่ที่ประมาณ 11.5% และ 14.8% ตามลำดับ

BBL เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านสินเชื่อ 18% และส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝาก 21% ธนาคารก่อตั้งในปี 2487 โดยตระกูลโสภณพณิช ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นของตระกูลดังกล่าวในธนาคารได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินในปี 2540 BBL มีสาขาในประเทศ 694 สาขา และมีสาขาในต่างประเทศ 20 สาขา โดยสาขาส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งมีบริษัทลูกในธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจบริหารกองทุน