การประชุมนโยบายดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่ธปท.ให้กับความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ในวันที่ 7 มิถุนายน 2549 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee: MPC) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะมีการประชุมรอบที่ 4 ของปีเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน หรือทิศทางอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน ซึ่งปัจจุบันยืนอยู่ที่ร้อยละ 4.75 โดยเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางว่า ภายหลังจากที่ธปท.ได้เริ่มต้นวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งธปท.ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วรวมทั้งสิ้นร้อยละ 3.50 นั้น การกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายสำหรับการประชุมวันที่ 7 มิถุนายนที่จะถึงนี้ อาจเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากที่สุด เพราะธปท.คงจะต้องชั่งน้ำหนักอย่างละเอียดรอบคอบระหว่างความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่โครงสร้างเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมปัจจัยที่คาดว่าธปท.จะใช้ประกอบการตัดสินใจในทางเลือกระหว่างการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.00 หรือการมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ร้อยละ 4.75 ในการประชุมวันที่ 7 มิถุนายน โดยสรุปดังนี้ :-

ปัจจัยแวดล้อมประกอบการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท.

• ภาวะเงินเฟ้อ จากข้อมูลล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2549 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline inflation) ขยับเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 6.2 จากร้อยละ 6.0 ในเดือนเมษายน และสูงกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน ปรับลดลงมาที่ร้อยละ 2.7 ในเดือนพฤษภาคม จากร้อยละ 2.9 ในเดือนเมษายน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากธปท.ให้น้ำหนักกับความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง จากการที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายนอาจยังคงมีระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปีที่ร้อยละ 5.9 และจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังคงมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง การตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.00 ของธปท.ในการประชุมวันที่ 7 มิถุนายน เพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคาและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักตามกรอบ Inflation Targeting ก็นับว่าเป็นการดำเนินการที่มีเหตุผลยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงค่าคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในอีก 12 เดือนข้างหน้า ที่น่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักจากประมาณร้อยละ 4.0-4.5 แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคมจะเพิ่มขึ้น อีกทั้ง การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันหรือปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก ไม่ได้เป็นผลมาจากความร้อนแรงของภาวะอุปสงค์ กอปรกับ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับลดลงและยังมีระดับที่ไม่สูงจนเกินไป ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การที่ธปท.จะให้น้ำหนักกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะชะลอตัวลงในระยะต่อไป รวมทั้งโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะหลุดออกนอกกรอบร้อยละ 0-3.5 ที่มีน้อยลง โดยการมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.75 ตามเดิม ก็เป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกัน

• ภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจ ถึงแม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 1/2549 จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.0 (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัจจัยลบทั้งผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาความไม่สงบในภาคใต้) แต่เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญล่าสุดในเดือนเมษายนของธปท.ที่แสดงสัญญาณการชะลอตัวลงในวงกว้างทั้งด้านการบริโภค การลงทุน การผลิต และการส่งออก ตลอดจน แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีที่ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน ปัญหาความยืดเยื้อทางการเมือง และผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากธปท.จะให้น้ำหนักมากขึ้นกับความเสี่ยงทางด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วยการตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 4.75 ก็น่าจะเป็นการดำเนินการที่สมเหตุสมผลมากกว่า เพราะแม้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 อาจไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แต่การดำเนินการดังกล่าวก็อาจจะยิ่งซ้ำเติมหรือมีผลกระทบทางจิตวิทยาต่อบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศให้ถดถอยลงไปอีก

• อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง จากความมุ่งหวังของธปท.ที่จะเพิ่มระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้กลับมาอยู่ในแดนบวกเพื่อกระตุ้นการออม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ในการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ธปท.อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.00 ในการประชุมวันที่ 7 มิถุนายน เพื่อส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของตนขึ้นตามมาอีกระลอกหนึ่ง กระนั้นก็ดี การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ ท่ามกลางภาวะการใช้จ่ายในประเทศที่มีแนวโน้มถดถอยลง อาจส่งผลในเชิงลบตามมาต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ หากธปท.มีความเชื่อมั่นว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อน่าที่จะปรับตัวลดลงในระยะข้างหน้า ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริง ณ ระดับปัจจุบัน ที่น่าจะเข้าใกล้ระดับที่เป็นบวกมากขึ้นแล้ว หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันกันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ก็อาจจะมีความยืดหยุ่นที่จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ แล้วรอให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมามีค่าเป็นบวกในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าเมื่ออัตราเงินเฟ้อผ่อนคลายตัวลง ก็ได้เช่นกัน

• อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 5.00 มาที่ร้อยละ 5.25 ในการประชุมวันที่ 28-29 มิถุนายน ค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทยที่มีโอกาสจะเพิ่มขึ้น หากธปท.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ อาจเป็นอีกปัจจัยที่ธปท.พิจารณาประกอบการตัดสินใจสำหรับการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ (7 มิถุนายน) อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การที่เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแนวโน้มตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ปรับตัวอ่อนค่าลงในระยะข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลตามมาให้สกุลเงินอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์ฯ รวมถึงค่าเงินบาทของไทย มีแนวโน้มที่จะปรับแข็งค่าขึ้น ผนวกกับ การที่ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศของไทยยังคงมีระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ทำให้คาดว่า ผลกระทบจากค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยที่อาจเพิ่มขึ้นต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนสุทธิ อาจจะมีจำกัด นอกจากนี้ ธปท.น่าจะเทน้ำหนักการตัดสินใจไปที่ปัจจัยภายในประเทศ ทั้งความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ เป็นหลักมากกว่าปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าน่าจะเข้าใกล้ระดับสูงสุดในไม่ช้านี้แล้ว