อนาคตยางธรรมชาติ : ราคาพุ่ง…ถึงปี 2552

ตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องถึงปัจจุบันราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 ราคายางนั้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2549 พุ่งขึ้นสูงถึงกิโลกรัมละ 81 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปัจจุบันราคายางแผ่นดิบอยู่ที่กิโลกรัมละ 101.88 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 103.88 บาท นับว่าเป็นราคายางที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งมีการคาดหมายว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ราคายางน่าจะขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าราคายางแผ่นดิบเฉลี่ยในปี 2549 จะไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 75.00 บาท เมื่อเทียบกับในปี 2548 ที่อยู่ที่ระดับกิโลกรัมละ 55.19 บาทแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7 ส่วนราคาส่งออกยางแผ่นรมควันคาดว่าจะสูงถึงกิโลกรัมละ 2.0-2.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเพิ่มจากปี 2548 ที่ราคาส่งออกเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่กิโลกรัมละ1.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม

หลากปัจจัยหนุน…ดันราคาพุ่งสูงต่อเนื่อง
ราคายางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 และพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ต้นปี 2549 มีหลากหลายปัจจัยหนุน ดังนี้

-ภาวะเศรษฐกิจของโลกได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ คาดว่าจะมีความต้องการใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตยางล้อและชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ตลาดมีความกังวลว่าจะเกิดภาวะอุปทานยางสังเคราะห์ขาดแคลน และถ้าสงครามปะทุขึ้นในอิหร่าน นับว่าเป็นปัจจัยเสริมให้ราคายางธรรมชาติยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

-ผลผลิตยางลดลง ผลผลิตยางโดยรวมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตหลักคือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผลผลิตยางลดลง โดยปี 2547 มีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 6.23 ล้านตัน ปี 2548 ลดลงเหลือ 6.15 ล้านตัน เนื่องจากประสบปัญหาภัยธรรมชาติทั้งภาวะภัยแล้งในช่วงต้นปี และน้ำท่วมในช่วงปลายปี ส่งผลให้ราคายางในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้น ในปี 2549 ในช่วงต้นปียังมีปัญหาฝนตกในแหล่งปลูกยางพารา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง แม้ว่าชาวสวนยางเริ่มที่จะเปิดหน้ายางและกรีดยางได้ตามปกติในช่วงไตรมาสที่สาม แต่คาดว่าปริมาณยางยังคงไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการ โดยปริมาณน้ำยางดิบและยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ออกสู่ตลาดโลกมีปริมาณลดลง โดยเฉพาะจีนและอินเดียที่ปริมาณผลผลิตยางลดลง แต่ความต้องการใช้ยางไม่ได้ลดลง โดยเฉพาะจีนเองที่มีความต้องการใช้ยางวันละ 300-400 ตัน ทำให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ราคายางจะสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ชาวสวนยางกลับกรีดยางพาราได้ลดลง เนื่องจากฝนตก ทำให้ชาวสวนยางส่วนใหญ่นิยมขายน้ำยางสดแทนการทำยางแผ่นดิบ เนื่องจากราคาน้ำยางสดมีราคาไม่ต่างจากยางแผ่นดิบ โดยช่วงนี้เกษตรกรชาวสวนยางต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยต้องเก็บยางแผ่นดิบให้มิดชิด เนื่องจากมีปัญหาแก๊งขโมยยาง

-ผลกระทบจากราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2548 ที่ตลาดนิวยอร์กเฉลี่ยอยู่ที่ 56.70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มเป็น 70.16 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 ส่งผลให้ยางสังเคราะห์มีราคาแพงขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมยางหันมาใช้ยางพาราทดแทนยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิต ประกอบกับระยะ 2-3 ปีหลังนี้ สต็อกยางของโลกได้ลดลงต่อเนื่อง กล่าวคือ โดยปกติมีการสต็อกยางปีละประมาณ 2.5 ล้านตัน ปัจจุบันการสต็อกยางลดลงเหลือ 2 ล้านตัน และพื้นที่ปลูกยางที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ยังไม่ได้เปิดกรีด ทำให้ปริมาณการผลิตยางของโลกเพิ่มขึ้นไม่ทันกับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผลการศึกษาของ International Rubber Study Group พบว่าภายในปี 2553 นี้ ถ้าราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จะทำให้ราคายางธรรมชาติพุ่งขึ้นกว่าสองเท่าสู่ระดับ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม จากระดับ 2.16 ดอลลาร์สหรัฐฯ

-การกักตุนยางเพื่อรอราคา เกษตรกรชาวสวนยาง พ่อค้าคนกลาง และพ่อค้าท้องถิ่นมีแหล่งอ้างอิงด้านราคายางที่สำคัญ โดยพิจารณาจากราคาซื้อขายยางที่สิงคโปร์ ราคาประกาศจากตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ ของกรมวิชาการเกษตรและราคายางที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย ส่งผลทำให้เกษตรกรที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ในพื้นที่เพาะปลูกยางที่สำคัญ หันมาแปรรูปน้ำยางข้นเป็นยางแผ่นรมควันเพื่อรอให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นจนเป็นที่พอใจจึงนำยางแผ่นรมควันออกมาจำหน่าย เนื่องจากมีแหล่งอ้างอิงด้านราคาเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ราคายางมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปได้อีกหลังจากที่นักลงทุนในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าฯตื่นกระแสข่าวปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ และปริมาณสต็อกยางในญี่ปุ่นและจีนลดลง ทำให้ปริมาณการซื้อขายยางเพิ่มขึ้น โดยราคายางแผ่นรมควันนั้นสูงขึ้นไปถึง 115-118 บาท/กก. หรือประมาณ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อกก. ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2549 เนื่องจากมีการเก็งกำไรว่าราคายางจะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการเข้ามาแข่งขันกันซื้อยางเพื่อให้มียางเพียงพอกับการส่งมอบตามสัญญาที่ได้มีการตกลงไว้แล้ว โดยราคาตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าฯนั้นอิงกับราคาซื้อขายยางล่วงหน้าที่ตลาดโตเกียวและราคาซื้อขายยางล่วงหน้าที่ตลาดสิงคโปร์

ผลกระทบราคายางพุ่ง…อุตสาหกรรมต่อเนื่องต้นทุนเพิ่ม
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าผลกระทบต่อเนื่องของการที่ราคายางสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ มีดังนี้
1.รายได้เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้น การที่ราคายางมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมามีผลทำให้สภาพเศรษฐกิจในครัวเรือนของชาวสวนยางดีขึ้น หลังจากที่ต้องเผชิญกับปัญหาราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2539 ราคายางที่เกษตรกรขายได้นั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นทุนการผลิต จนทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการแทรกแซงตลาดเพื่อยกระดับราคา อย่างไรก็ตามราคายางที่สูงขึ้นนั้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตยางสูงขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันต้นทุนยางพาราสูงถึงกิโลกรัมละ 53 บาท ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าปุ๋ย และค่าแรงงาน ดังนั้นหากคำนวณรายได้สุทธิที่เกษตรกรชาวสวนยางได้รับจากการขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ราคากิโลกรัมละ 77 บาท หากเป็นชาวสวนยางรายเล็กที่กรีดยางเอง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายด้านแรงงานจะมีรายได้มากที่สุดประมาณกิโลกรัมละ 59 บาท ขณะที่ชาวสวนยางรายใหญ่ ซึ่งต้องมีค่าจ้างแรงงาน โดยเจ้าของสวนยางมีรายได้ร้อยละ 60 ของมูลค่าราคายางที่ขายได้ แบ่งเป็นค่าแรงงานร้อยละ 40 ชาวสวนยางจะมีรายได้สุทธิกิโลกรัมละ 24 บาท ส่วนเกษตรกรที่รับจ้างกรีดยางจะมีรายได้กว่ากิโลกรัมละ 35 บาท เท่ากับว่าจากราคายางที่สูงขึ้นขณะนี้ทำให้คนกรีดยางจะมีรายได้ดีที่สุด เนื่องจากลงทุนเฉพาะค่าแรงอย่างเดียว ขณะที่เจ้าของสวนยาง แม้จะมีรายได้ดีเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ แต่เจ้าของสวนยางก็ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้น ทำให้เจ้าของสวนยางคิดที่จะเปลี่ยนระบบการแบ่งผลประโยชน์ใหม่ โดยพยายามลดอัตราส่วนของผลตอบแทนลง นอกจากนี้ในช่วงนี้เจ้าของสวนยางยังต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการเก็บรักษาเพื่อรอการจำหน่ายและการขนส่งยาง เนื่องจากการที่ยางมีราคาแพงทำให้เป็นแรงจูงใจให้มีการปล้นชิงยาง ซึ่งก็กรณีตัวอย่างปรากฏในสื่อต่างๆ

2.ยอดจำหน่ายรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลหรือรถปิกอัพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รายได้ของชาวสวนยางและคนรับจ้างกรีดยางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ยอดจำหน่ายรถปิกอัพเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ในช่วงนี้จะสังเกตเห็นรถปิกอัพป้ายแดงเพิ่มขึ้นในแหล่งปลูกยาง ตั้งแต่ช่วงปี 2546 จนถึงช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 ที่ราคายางมีแนวโน้มสูงขึ้น ยอดจำหน่ายรถปิกอัพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางที่สำคัญของประเทศ กล่าวคือ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 จำนวนรถปิกอัพป้ายแดงในภาคใต้เท่ากับ 19,952 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 ภาคตะวันออกเท่ากับ 11,587 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22,969 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7

3.การซื้อที่ดินเพื่อลงทุนปลูกยาง เมื่อราคายางเพิ่มสูงขึ้น กอปรกับรัฐบาลมีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกยาง นับเป็นแรงจูงใจให้มีการลงทุนซื้อที่ดินเพื่อปลูกยาง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่าง โดยผู้ที่เข้าไปลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของสวนยางเดิมที่มีความชำนาญในเรื่องการจัดการดูแลต้นยางและการกรีดยาง ตลอดจนการแปรรูปและการจำหน่ายยาง

4.ต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสูงขึ้น ผลกระทบของราคายางที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นทำให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยางต้องเผชิญกับปัญหาขาดทุนในกรณีที่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ล่วงหน้าไปแล้ว และทำให้หลายโรงงานไม่กล้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเนื่องจากไม่มั่นใจว่าราคายางซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญนั้นจะดีดตัวขึ้นไปอีกมากน้อยเท่าใด เนื่องจากในปัจจุบันแม้ว่าราคายางธรรมชาติยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ความต้องการก็ยังคงสูงด้วย อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันยังอยู่ในเกณฑ์สูงทำให้ผู้ผลิตไม่ได้หันไปใช้ยางสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบทดแทนยางธรรมชาติ

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากคือ อุตสาหกรรมผลิตถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ยางรัดของและยางยืด ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีปริมาณการใช้ยาง 124,700 ตันต่อปี และมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนอุตสาหกรรมยางล้อและชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำจากยางได้รับผลกระทบรองลงมา เนื่องจากใช้ยางสังเคราะห์มากกว่ายางธรรมชาติ ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยาง โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมถุงมือยาง ซึ่งจะเลือกเฉพาะโรงงานที่คนไทยถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 60.0 คาดว่าภายในปี 2550 มาตรการจะเป็นการหาแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการนำไปปรับปรุงเครื่องจักร ปรับเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ส่วนมาตรช่วยเหลือในระยะกลางเริ่มตั้งแต่ปี 2550-2552 รัฐบาลควรจะเข้าไปสนับสนุนสภาอุตสาหกรรมและสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบและรับรองมาตรฐานถุงมือยาง

5.ผู้ส่งออกยาง การที่ราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง ทำให้ผู้ส่งออกมีปัญหาในการส่งออกพอสมควร โดยผู้ส่งออกจะต้องมีการคาดการณ์ราคาขายยางพาราล่วงหน้าที่แม่นยำ ทั้งนี้เพื่อให้มีการทำสัญญาการซื้อขายยางล่วงหน้าได้โดยไม่ขาดทุน ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 ปริมาณการส่งออกยางเท่ากับ 985,888 ตัน มูลค่า 1,611 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 ที่มีปริมาณการส่งออก 1,003,300 ตัน มูลค่า 1,114 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 1.7 แต่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.6

อนาคตยางในช่วง 5 ปีข้างหน้า …ราคายังอยู่ในเกณฑ์สูง
นักวิเคราะห์ยางในตลาดโลกคาดการณ์ว่าผลผลิตยางธรรมชาติในตลาดโลกจะไม่สามารถเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10 ล้านตันก่อนปี 2555 ถ้าประเทศผู้ผลิตยางรายสำคัญของโลกไม่มีนโยบายเร่งรัดขยายการผลิต ในขณะที่ความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10 ล้านตันในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า โดยคาดหมายว่าความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกจะมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 3.7 ในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าในปี 2552 ปริมาณการผลิตยางธรรมชาติจะต่ำกว่าความต้องการยางในตลาดโลกถึง 0.23 ล้านตัน และภาวะการขาดแคลนยางธรรมชาติจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้คาดการณ์ว่าอนาคตราคายางธรรมชาติยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าราคายางจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงปี 2548-2552 ปัจจัยสำคัญคือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศผู้บริโภคยางหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีนและอินเดีย ปัจจัยสำคัญที่กำหนดราคายางในตลาดโลกคือ ปริมาณการผลิตของประเทศผู้ผลิตยางสำคัญ และปริมาณการบริโภคยาง โดยเฉพาะประเทศผู้นำเข้ายางรายใหญ่ของโลก คือ สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนประเด็นในเรื่องราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นยังไม่ส่งผลทำให้ความต้องการยางธรรมชาติในอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ลดลง เนื่องจากราคายางธรรมชาติก็ยังถูกกว่ายางสังเคราะห์ประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน นอกจากนี้กระบวนการผลิตยางรถยนต์ยังมีความจำเป็นต้องใช้ยางธรรมชาติที่มีความยืดหยุ่นสูงผสมกับยางสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติทนความร้อนสูง ดังนั้นความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกจึงยังอยู่ในเกณฑ์สูง