ตลาดส่งออกผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมปี’49 : แนวโน้มดี คาดสร้างรายได้ 1,000 ล้านบาท

อุตสาหกรรมผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ของไทยนับเป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนที่ใช้แรงงานคนเกือบทุกขั้นตอนนับตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การเลี้ยงไหม จนถึงการทอเป็นผ้าไหม ซึ่งนอกจากจะเหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีแรงงานเป็นจำนวนมาก และก่อให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้สู่ชนบทเพิ่มมากขึ้นตามลำดับแล้ว ยังส่งผลให้สินค้ากลุ่มนี้ของไทยกลายเป็นงานฝีมือที่อาศัยศิลปะในการผลิตที่ไม่เพียงจะได้รับความนิยมเฉพาะการบริโภคภายในเท่านั้น แต่ยังได้รับความสนใจและการยอมรับจากชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับด้วย ทั้งในด้านความงดงามของสีสันและลวดลาย รวมถึงฝีมือการทอผ้าของคนไทยที่ได้รับการถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งกลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จากมูลค่าการส่งออก 734.2 ล้านบาทในปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 880.8 ล้านบาทในปี 2548 ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2549 ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวคิดเป็นมูลค่า 314.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลพวงจากการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อให้สินค้ากลุ่มนี้ของไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวโรกาสงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในเดือนมิถุนายนศกนี้ ที่จะมีการทอผ้าไหมยกทองเพื่อมอบเป็นของที่ระลึกให้แก่พระราชอาคันตุกะจากหลายสิบประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมพิธีดังกล่าว ก็น่าจะส่งผลกระตุ้นให้สินค้าผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ของไทยกลายเป็นสินค้าที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้นอีก ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าการส่งออกของสินค้ากลุ่มนี้ในปี 2549 น่าจะเติบโตต่อเนื่องด้วยระดับการเติบโตประมาณร้อยละ 13-15 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกใกล้เคียง 1,000 ล้านบาท

โดยปัจจัยที่เกื้อหนุนให้การส่งออกผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยในปี 2549 ขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนได้นั้น ประกอบด้วย

?การสนับสนุนจากภาครัฐที่มีระบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการรับรู้ในคุณค่าและภาพลักษณ์ที่ดีของผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมไทยอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ผ่านงานต้อนรับแขกบ้านต่างเมืองที่มาเยือนเมืองไทยในวาระต่างๆ ทั้งในส่วนของการตกแต่งสถานที่และการมอบของที่ระลึก ซึ่งในวโรกาสงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในเดือนมิถุนายนศกนี้ ผ้าไหมยกทองก็เป็นหนึ่งในรายการของที่ระลึกสำคัญที่จะมอบให้แก่พระราชอาคันตุกะที่เข้าร่วมพิธีดังกล่าว นอกจากนี้ภาครัฐยังก้าวเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และผลิตไหมให้เต็มกำลังการผลิตมากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพไหมให้ตรงความต้องการของตลาด รวมถึงการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจากต่างประเทศมาให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้ผลิตคนไทย ทำให้สินค้าผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ของไทยในปัจจุบันมีความหลากหลายและสามารถเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคได้มากขึ้นตามลำดับ

?คุณภาพและความหลากหลายของผ้าและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของไทย ปัจจุบันผ้าไหมไทยมีความหลากหลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมทอด้วยมือ(Handmade) หรือผ้าไหมทอด้วยเครื่องจักร(Machine made) รวมถึงผลิตภัณฑ์ผ้าไหมก็มีการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าที่นิยมผ้าไหมไทย

?เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างเช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งล้วนเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทยยังคงทรงตัวและมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามลำดับ ทำให้สินค้าผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยน่าจะมีโอกาสที่ดีขึ้นในตลาดหลักดังกล่าว

?อุปสงค์สินค้าผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมไทยในกลุ่มตลาดใหม่ต่างก็มีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดออสเตรเลีย รวมถึงกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันมูลค่าการส่งออกของสินค้ากลุ่มนี้ในตลาดดังกล่าวจะมีสัดส่วนการส่งออกรวมกันไม่ถึงร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมไทยโดยรวมในแต่ละปี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังกลุ่มประเทศตลาดใหม่ข้างต้นก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความต้องการยังมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี อีกทั้งยังมีความต้องการสินค้าที่ค่อนข้างหลากหลายด้วย โดยเฉพาะในส่วนของผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ผลิตจากผ้าไหม

แต่ทั้งนี้ ในปี 2549 ผู้ผลิตและผู้ส่งออกผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยยังคงต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัยลบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
?ภาวะความผันผวนของราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าขนส่ง และค่าบริการสาธารณูปโภคโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าของผู้ประกอบการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

?ภาวะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ปัจจุบันผู้ประกอบไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อันมีผลให้สินค้าผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยมีราคาแพงขึ้นในสายตาของลูกค้าต่างชาติโดยเปรียบเทียบ ยิ่งหากค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดการส่งออกได้ในที่สุด

?ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ปัจจุบันปริมาณผลผลิตเส้นไหมที่ผลิตได้ภายในประเทศเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการทอผ้ายังไม่เพียงพอกับความต้องการเท่าที่ควร ขณะเดียวกันวัตถุดิบที่ผลิตได้ภายในประเทศบางรายการก็ยังมีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานนักเมื่อเทียบกับวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังคงมีปัญหาด้านมาตรฐานคุณภาพของวัตถุดิบที่ยังไม่สม่ำเสมออยู่ระดับหนึ่ง ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้ากลุ่มนี้ของไทยโดยเปรียบจึงยังสูงกว่าคู่แข่งอย่างจีนที่มีความพร้อมกว่าในด้านวัตถุดิบ ขณะเดียวกันค่าแรงงานของไทยก็สูงกว่าคู่แข่งประมาณ 2-3 เท่าตัว ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญและทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นในที่สุด จึงนับเป็นอุปสรรคสำคัญในการแข่งขันของผู้ผลิตไทยค่อนข้างมาก

?ศักยภาพด้านการผลิตและการตลาด แม้ว่าผลิตภัณฑ์ไหมที่ผลิตจากเส้นไหมเหลืองของไทยนั้นจะมีเอกลักษณ์โดดเด่น คือเนื้อผ้าไหมที่ผลิตได้จะไม่เรียบแต่มีปุ่มปม และมีความมันวาวมากกว่าผ้าไหมจากประเทศจีน อินเดีย และเวียดนามที่ล้วนผลิตจากไหมขาว แต่ด้วยผ้าไหมที่ผลิตจากเส้นไหมเหลืองของไทยในตลาดต่างประเทศมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผ้าไหมที่ผลิตจากเส้นไหมขาวของอินเดียถึง 3 เท่าตัว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากต้นทุนในการผลิตเส้นไหมขาวต่ำกว่าการผลิตเส้นไหมเหลือง เพราะเปอร์เซ็นต์การตายของตัวหม่อนค่อนข้างต่ำ อีกทั้งระบบการผลิตผ้าไหมของอินเดียก็เป็นการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ทำให้การบริหารการจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพพอสมควรเมื่อเทียบกับไทย ประกอบกับนับวันคู่แข่งที่สำคัญของไทยอย่างจีนได้มีการพัฒนาคุณภาพและรูปแบบเพิ่มขึ้นตามลำดับด้วย ทำให้สินค้าผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของจีนมีความหลากหลายประเภทมากขึ้น และทวีบทบาทมากยิ่งขึ้นในตลาดโลก

?สถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดหลัก จากการที่จำนวนคู่แข่งในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น และคู่แข่งแต่ละรายต่างก็ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพและรูปแบบสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้สถานการณ์การแข่งขันของสินค้ากลุ่มนี้ในตลาดโลกเข้มข้นมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

?ปัญหาด้านการตลาดที่พบว่าผู้ประกอบการไทยยังด้อยความสามารถในการที่จะเจาะตลาด หรือทำตลาดใหม่ รวมถึงการขยายช่องทางการตลาด โดยหวังพึ่งเพียงตลาดหลักเดิมๆมากเกินไป ขณะเดียวกันยังคงให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในตลาดเดิมไม่มากเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังขาดแคลนนักการตลาดมืออาชีพที่จะช่วยผู้ประกอบการทางด้านการตลาดด้วย

?ปัญหาการจัดการ พบว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรมไหมไทยส่วนใหญ่ยังขาดทักษะในการบริหาร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยังไม่สามารถพัฒนาตนเองให้ก้าวทันกับสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมขั้นต้นถึงขั้นปลายตลอดจนอุตสาหกรรมสนับสนุนยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม หรือกลุ่มโรงงานสาวไหม กลุ่มโรงงานทอผ้าไหม หรือกลุ่มผู้ส่งออก

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าแนวทางในการกระตุ้นความต้องการบริโภคผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยในตลาดโลกให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้นนั้น จึงควรประกอบด้วย

?การสร้างการรับรู้ในคุณค่าของผ้าและผลิตภัณฑ์ไหม ด้วยการเผยแพร่ผ่านการสัมมนาในงานแสดงสินค้า การเขียนบทความลงในนิตยสาร และการจัดทำโฆษณาผ่านเครือข่ายโทรทัศน์ ของตลาดกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ซึ่งทั้งนี้ผู้ประกอบการควรจะต้องหันมาให้ความสำคัญต่อการสำรวจความต้องการของตลาด พร้อมกับติดตามความเคลื่อนไหวแนวโน้มแฟชั่นเพื่อออกแบบให้สอดคล้องกับความนิยมของตลาดอย่างต่อเนื่องด้วย

?การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ด้วยการจัดแสดงแฟชั่นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำเสนอเสื้อผ้าสำเร็จรูป พร้อมทั้งเครื่องประดับตกแต่งกายอย่างผ้าพันคอ เน็คไท หรือรองเท้า ควบคู่กันไปด้วย

?การมุ่งสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของลูกค้า เพราะเมื่อลูกค้ามีความภักดีต่อตราสินค้าก็ย่อมก่อให้เกิดความได้เปรียบในระยะยาว ทำให้คู่แข่งรายใหม่เข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมได้ยากลำบากมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วย
?การพัฒนารูปแบบสินค้า ด้วยการจ้างนักการตลาดมืออาชีพเพื่อแนะนำแนวทางการเจาะตลาดของสินค้าผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยในตลาดกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเสื้อผ้าสำเร็จรูป หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ผลิตด้วยวัตถุดิบเส้นไหมจากต่างประเทศมาให้ความรู้ และคำแนะนำแก่ผู้ผลิตคนไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะรูปแบบที่จูงใจ หลากหลาย และแตกต่างจากคู่แข่งย่อมเป็นโอกาสอันดีในการขยายตลาดสินค้าผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้ก็ต้องเร่งพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบของไทยโดยควบคู่กันไปด้วย

?การพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต่างหันมาร่วมมือกันเร่งสะสางปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบมากขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาด้านปริมาณและมาตรฐานการผลิตที่ไม่สม่ำเสมอพอสมควรซึ่งวัตถุดิบในการผลิตผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ของไทยนับว่าเป็นจุดแข็งที่ไทยไม่ควรละเลยให้คู่แข่งเข้ามาแทรกแซงได้ ดังนั้นการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบเพื่อป้อนแก่การอุตสาหกรรมไหมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในด้านชนิดของวัตถุดิบ ด้านคุณภาพการผลิต หรือการควบคุมมาตรฐานสินค้า ก็น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

?การติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด ผู้ประกอบการไทยก็ควรต้องหันมาความสำคัญต่อการศึกษาตลาดจากรายงานหรือข้อมูลเพื่อดูทิศทางแฟชั่นอย่างต่อเนื่องด้วย และไม่เฉพาะแต่สินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่มเท่านั้น แต่ควรศึกษาถึงทิศทางของความต้องการสินค้าตกแต่งบ้าน และสินค้าเครื่องใช้ไม้สอยภายในบ้านที่คาดว่าน่าจะก้าวเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในอนาคตด้วย
?การเปิดเกมรุกบุกตลาดในวงกว้างยิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะตลาดใหม่ๆทั้งตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดเอเชียใต้ ตลาดละตินอเมริกา และตลาดยุโรปตะวันออก เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสให้สินค้าผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยเป็นที่รู้จักในตลาดใหม่ดังกล่าวก่อนคู่แข่งให้เร็วมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

บทสรุป
ปัจจุบันผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์หรือสินค้าโอทอปกำลังได้รับความนิยมค่อนข้างแพร่หลายมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่พบว่ามูลค่าการส่งออกผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศใกล้เคียง 1,000 ล้านบาทในปี 2549 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการเผยแพร่ผ่านงานต้อนรับแขกบ้านต่างเมืองที่มาเยือนเมืองไทยในวาระต่างๆทั้งในส่วนของการตกแต่งสถานที่และการมอบของที่ระลึก ซึ่งในวโรกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในเดือนมิถุนายนศกนี้ ผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยก็จะมีโอกาสเป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น เพราะผ้าไหมยกทองจะเป็นหนึ่งในรายการของที่ระลึกที่สำคัญที่จะมอบให้แก่พระราชอาคันตุกะที่เข้าร่วมพิธีดังกล่าว นอกจากนี้ภาครัฐยังก้าวเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และผลิตไหมให้เต็มกำลังการผลิตมากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพไหมให้ตรงความต้องการของตลาด

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นด้วยส่วนแบ่งตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยโดยรวมในตลาดโลกที่ยังไม่สูงมากนัก หรือไม่ถึงร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมโดยรวมในตลาดโลก ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่า ผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทั้งด้านการผลิตและการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันทั้งในส่วนของการมีความได้เปรียบด้านต้นทุนที่ต่ำ อันเกิดจากประสิทธิภาพการประกอบการที่เหนือกว่าด้วยการปรับปรุงระบบการบริหารต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง หรือการเพิ่มระดับมาตรฐานการดูแลรังไหมให้มีเปอร์เซ็นต์รังเสียน้อยที่สุดโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย เป็นต้น และการมีความได้เปรียบด้านความแตกต่าง ซึ่งมาจากการที่สินค้าผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยมีคุณภาพที่เหนือกว่า หรือมีการตอบสนองต่อลูกค้าได้ดีกว่า ด้วยการพัฒนาคุณภาพและรูปแบบของสินค้า การเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างตราสินค้าของตนเอง เป็นต้น โดยทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการเร่งสร้างความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของสินค้ากลุ่มนี้ของไทย นอกจากจะนำมาซึ่งรายได้ที่ไหลเข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังเป็นการปูทางให้ผ้าทอไหมของไทยมีโอกาสก้าวขึ้นสู่การเป็นแหล่งวัสดุผ้าทอไหมที่สำคัญสำหรับการผลิตเสื้อผ้าของบรรดาประเทศผู้นำด้านแฟชั่นระดับโลก รวมถึงการพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งผลิตสินค้าเครื่องใช้ในบ้านที่ทําจากผ้าไหมคุณภาพสินค้าอยู่ระดับกลางถึงระดับบนที่สำคัญระดับโลก อันจะนำไปสู่การสร้างงานและกระจายรายได้ไปสู่ชนบททั้งในส่วนของผู้ปลูกหม่อน ผู้เลี้ยงไหม ผู้ทอผ้าไหม และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ไหมของไทยต่อไปในที่สุดด้วย