เยาวชนไทยกับการพนันฟุตบอลโลก 2006

กระแสความนิยมในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ได้แผ่ปกคลุมไปในหมู่คนไทยทุกกลุ่ม รวมทั้งบรรดาเยาวชนไทยที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ตามโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และที่ติดตามมากับการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญๆ คือ การพนันฟุตบอล เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต่างหามาตรการป้องกันไม่ให้ลุกลามขยายวงกว้างและสร้างปัญหาอื่นตามมาจากหนี้พนันฟุตบอล

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ตระหนักถึงปัญหาของการพนันฟุตบอลที่จะติดตามมาจากการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการชมฟุตบอลโลก 2006 ของคนไทย โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-15 พฤษภาคม 2549 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 3,093 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 31.2 เป็นกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา จากการสำรวจพบประเด็นที่น่าสนใจของพฤติกรรมการชมฟุตบอลโลก 2006 ของกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา ดังนี้

กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นนักเรียนและนักศึกษาส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 54.5 ติดตามชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลจากต่างประเทศเป็นประจำอยู่แล้ว รองลงมา คือ ร้อยละ 33.4 ชมนานๆครั้ง และมีเพียงร้อยละ 11.2 ที่ไม่ได้ชม

อย่างไรก็ตาม สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกซึ่งจัด 4 ปีครั้งนั้น กลุ่มนักเรียนและนักศึกษาจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นนักเรียนและนักศึกษาตั้งใจจะติดตามชมการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ด้วยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 79.4 ในจำนวนนี้มีผู้ที่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลอยู่แล้ว และผู้ที่ร่วมกระแสฟุตบอลโลก

ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาส่วนน้อยที่จะไม่ชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ ส่วนใหญ่ไม่ต้องการนอนดึกเพราะกลัวจะกระทบต่อการเรียน เนื่องจากการแข่งขันจะอยู่ในช่วงกลางคืน โดยคู่แรกเริ่มเวลาประมาณ 20.00 น. และคู่สุดท้ายเริ่มเวลาประมาณ 02.00 น.
ปัญหาสำคัญที่คาดว่าจะติดตามมาจากการที่นักเรียนและนักศึกษาส่วนใหญ่เฝ้าติดตามชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม 2549 นี้ นอกจากในเรื่องการเรียน อาทิ การมาเรียนสาย ขาดเรียน ง่วงหรือหลับในห้องเรียน ประสิทธิภาพในการเรียนลดลง แล้ว ยังมีปัญหาการพนันฟุตบอลในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องตรวจตรากวดขันอย่างเข้มงวดและปราบปรามอย่างเด็ดขาด โดยได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียนและสถาบันการศึกษา เพื่อป้องกันและขจัดการพนันฟุตบอลของนักเรียนและนักศึกษาในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้

จากการสำรวจพบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นนักเรียนและนักศึกษาตั้งใจจะเล่นพนันฟุตบอลในการแข่งขันฟุตบอลโลกปีนี้ในสัดส่วนร้อยละ 22.6 ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เล่นพนันฟุตบอลเพื่อเพิ่มความสนุกในการชมการแข่งขัน รองลงมาเล่นพนันฟุตบอลเพราะอยากได้เงิน

สำหรับแหล่งเงินที่ใช้ในการเล่นพนันฟุตบอลโลกปีนี้ของผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่จะเล่นพนันฟุตบอลโลกปีนี้ ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 50.6 ใช้เงินที่เก็บสะสมไว้ รองลงมา คือ ร้อยละ 27.5 เป็นเงินเดือนหรือค่าขนมที่ได้รับจากผู้ปกครอง

ผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่ไม่เล่นพนันฟุตบอลโลกปีนี้ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 77.4 ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 41.2 ไม่เล่นเพราะไม่ชอบการพนัน และร้อยละ 21.8 ไม่เล่นเพราะกลัวถูกตำรวจจับ

หน่วยงานด้านการศึกษาต่างออกมาตรการป้องกันการพนันฟุตบอลโลกในสถานศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดกิจกรรมรณรงค์กระตุ้นเตือนผู้ปกครองและเยาวชนให้ตระหนักถึงปัญหาของการเล่นพนันฟุตบอลผ่านสื่อต่างๆในช่วงก่อนและระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลก และออกประกาศกระทรวงเรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขการเล่นพนันทายฟุตบอลโลก โดยขอความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

– ขอความร่วมมือจากองค์กรหลักของกระทรวง และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องสั่งการไปยังสถานศึกษาในสังกัดให้ดูแล รับผิดชอบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเล่นพนันทายฟุตบอลอย่างจริงจังและต่อเนื่อง หากละเลยให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยทันที

– ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้ดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิดทั้งเรื่องความประพฤติ และการเรียน ตลอดจนการใช้จ่ายเงินทองให้รัดกุมและเหมาะสม รวมทั้งการใช้โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต และการสื่อสารที่อาจใช้ในการเล่นพนันฟุตบอล

– ให้ผู้บริหารติดตามพฤติกรรมครู และลูกจ้างภายในสถานศึกษา ถ้ามีการเล่นพนันฟุตบอลให้กล่าวตักเตือน และลงโทษทางวินัยหากไม่เชื่อฟัง กรณีพบนักเรียนเล่นพนันฟุตบอลให้ว่ากล่าวตักเตือนและติดตามพฤติกรรม หากยังมีพฤติกรรมคงเดิมให้แจ้งผู้ปกครองรับทราบ เพื่อร่วมกับทางสถานศึกษาดำเนินการแก้ไขต่อไป

– ให้องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์และสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายนักเรียน นักศึกษา ช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีการเล่นพนันในสถานศึกษา หากพบให้แจ้งผู้บริหารเพื่อดำเนินการ

– ให้สถานศึกษาตรวจสอบและประมวลผลการมาสาย และการไม่มาเรียนของนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา เพื่อดูความผิดปกติในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก พร้อมทั้งหาแนวทางและมาตรการแก้ไขอย่างเหมาะสมต่อไป

– ให้สถานศึกษาบันทึกเทปการแข่งขันฟุตบอล และเผยแพร่ให้นักเรียนชมตามเวลาที่เหมาะสม เพื่อนักเรียนจะได้ไม่เสียเวลาพักผ่อนในการชมถ่ายทอดสดกลางคืน รวมทั้งให้กลุ่มสารสังคมศึกษา วิชาพลานามัย และนักเรียน ร่วมกันจัดกิจกรรมเรียนรู้การกีฬา ภาษา และวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

– ขอความร่วมมือจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กวดขันเฝ้าระวังการเล่นพนันทายผลฟุตบอล

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานต่างๆให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบปัญหาเรื่องการพนันฟุตบอลและไม่สามารถแก้ไขปัญหาเองได้ อาทิ สำนักพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา และกิจการพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ หรือศูนย์สวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และสตรี รวมทั้งสถานีตำรวจท้องที่ทุกแห่ง

ด้านสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาได้ส่งหนังสือไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆเกี่ยวกับมาตรการป้องกันเยาวชนเล่นการพนันบอลในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยให้ทางมหาวิทยาลัยดำเนินการสอดส่องดูแลเป็นพิเศษไม่ให้มีการตั้งโต๊ะรับพนันบอลในมหาวิทยาลัยหรือหอพัก ถ้ามีต้องมีโทษสูงสูด ถ้าตัวนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยตั้งตัวเป็นเจ้าภาพไม่ว่าจะเอาเงินของตัวเอง หรือคนอื่นเป็นนายหน้าต่อไป ต้องโทษหนักเช่นกัน คือ ถึงขั้นไล่ออก นอกจากนี้ยังให้มหาวิทยาลัยช่วยดูแลประสานกับหน่วยราชการอื่นเพื่อช่วยปราบปรามโต๊ะพนันบอลเถื่อนรอบๆมหาวิทยาลัย ส่วนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกนั้น ถ้าอยู่ในเวลาที่เหมาะสม หอพักมหาวิทยาลัยจะจัดตั้งจอโปรเจกเตอร์ ทำเป็นกิจกรรมไม่เอิกเกริก เพื่อให้อยู่ในสายตา

นอกจากผลเสียของการแข่งขันฟุตบอลโลกดังกล่าวแล้ว สถาบันการศึกษาต่างๆสามารถใช้การแข่งขันฟุตบอลโลกจัดกิจกรรมกระตุ้นให้นักเรียนและนักศึกษาสนใจการเล่นกีฬาฟุตบอล และหันมาเล่นกีฬาฟุตบอลกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย และช่วยให้เยาวชนไทยใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากขึ้น

ขณะที่แต่ละครอบครัวก็ควรจะใช้ช่วงเวลาที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกให้เป็นประโยชน์ ในการสร้างความใกล้ชิดระหว่างสมาชิกในครอบครัวด้วยการชมการแข่งขันฟุตบอลโลกนัดสำคัญๆร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ในแต่ละครอบครัว เพื่อสร้างความผูกพันใกล้ชิดระหว่างสมาชิกในครอบครัวแล้ว ยังเป็นโอกาสที่บรรดาผู้ปกครองจะสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกได้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งควบคุมการจัดสรรเวลาพักผ่อนที่เหมาะสมของบุตรหลาน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเรียน ตลอดจนการสอดส่องดูแลความผิดปกติในการใช้จ่ายของบุตรหลาน และตรวจตราว่ามีทรัพย์สินของมีค่าของคนในครอบครัวและในบ้านสูญหายหรือไม่