ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างครึ่งหลังปี 2549 ขยับปรับบริหาร-จัดการต้นทุน

ในภาพ :พัฒนพงษ์ ตนุมัธยา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) รายงานคาดการณ์ภาวะธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปี 2549 ช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าจะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ จากข้อมูลรายงานดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจสาขาก่อสร้างของกระทรวงพาณิชย์ล่าสุด มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 44.5 % ซึ่งถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง สาเหตุหลักยังคงเป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งส่งผลให้โครงการลงทุนในภาครัฐ รวมถึงโครงการประเภท เมกะโปรเจ็กต์มีการเลื่อนการใช้งบประมาณออกไป ขณะเดียวกันในส่วนของงานก่อสร้างในภาคเอกชนเองก็มีแนวโน้มการชะลอตัวเช่นกัน หลังจากที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดต่ำลง เนื่องมาจากวิกฤตทางการเมือง การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้ผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจที่จะเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยหรือการลงทุนเพิ่ม

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปี 2549 คงต้องมีการปรับตัวในหลายด้านเพื่อรองรับการชะลอตัวของตลาดในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่อิงอยู่กับโครงการในภาครัฐเป็นหลักจะได้รับผลกระทบจากตัวเลข Backlog ที่ลดต่ำลงกว่าประมาณการที่คาดไว้ บริษัทฯ คาดว่าสถานการณ์ในลักษณะนี้น่าจะกินระยะเวลาสั้น ๆ และเป็นผลกระทบที่ไม่รุนแรงมากนัก โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างที่มีมูลค่าไม่สูงมาก แต่ส่วนใหญ่ยังคงมีแผนงานก่อสร้างเช่นเดิม คาดว่า ในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นปีงบประมาณใหม่โครงการต่าง ๆ ในภาครัฐที่ถูกเลื่อนออกไปจากปี 2549 ก็จะกลับเข้ามาอยู่ในแผนงานก่อสร้างอีกครั้งซึ่งจะทำให้ในปี 2550 ตลาดรับเหมาก่อสร้างน่าจะกลับ เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ ขณะที่ในส่วนของตลาดการก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์คาดว่า การขยายตัวในช่วงนี้คงเป็นไปตามภาวะกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง โดยผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ ช่วงนี้คงต้องมีการบริหารและจัดการด้านต้นทุนให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่มีการรับงานมาก่อน ที่ราคาน้ำมัน และวัสดุก่อสร้างจะปรับตัวสูงขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งอื่น ๆ ในตลาดได้

ขยายฐานลูกค้าสร้างรายได้เพิ่ม
ด้านนายพัฒนพงษ์ ตนุมัธยา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ตลาดมีการชะลอตัวเช่นนี้ นอกจากการบริหารและจัดการกับต้นทุนแล้วที่สำคัญคงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทาง ใหม่ๆ โดยในส่วนของบริษัทฯเองก็ได้มีการปรับแนวทางมาตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยก่อนหน้าจะมีการรับงานในภาคเอกชนเป็นหลัก อาทิ โครงการคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ขณะที่ในปี 2549 ได้หันมาเข้าประมูลโครงการในภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งชนะการประมูลการสร้างโครงการบ้านธนารักษ์ ของกรมธนารักษ์มูลค่า 495 ล้านบาท และในอนาคตก็มีแผนงานที่จะเข้าประมูลโครงการในภาครัฐ อีกหลายโครงการ

“ตอนนี้คาดว่าตลาดยังไม่ส่งผลกระทบที่ชัดเจนมากนัก โดยเฉพาะกับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่มีขนาดไม่ใหญ่ ปัญหาตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องการบริหารและจัดการกับต้นทุนมากกว่า ขณะที่บริษัทผู้รับเหมาขนาดใหญ่อาจได้รับผลกระทบพอสมควรจากตัวเลข Backlog ที่ต้องมีการประเมินกันใหม่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบในระยะหนึ่ง จนกว่าเรื่องของการเมืองจะสามารถคลี่คลายไปในทางที่ดีได้” นายพัฒนพงษ์ กล่าว

สำหรับความคืบหน้าในส่วนของการเข้าเทคโอเว่อร์ บริษัทรับเหมาเอกชนที่ได้ ไลเซ่นส์ เพื่อประมูลงานภาครัฐได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์หลังจากกระบวนการเสร็จสิ้น ซึ่งใช้งบประมาณลงทุนครั้งนี้ประมาณไม่เกิน10 ล้านบาท และหลังจาก ได้ไลเซ่นส์ใหม่ในครั้งนี้จะสามารถเข้าประมูลงานภาครัฐบาลได้ทันที โดยบริษัทตั้งเป้ารับงาน จากภาครัฐไว้ที่ประมาณ 500- 1,000 ล้านบาท ทุกปี

ส่วนภายในช่วงเดือนมิถุนายน 2549 บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างรอการเซ็นสัญญาเพิ่มอีก 4 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 900 ล้านบาท แบ่งเป็น คอนโดมิเนียม 2 โครงการ มูลค่า 700 ล้านบาท โรงงาน 1 โครงการ มูลค่า 60 ล้านบาท งานคอนโดของภาครัฐ 1 โครงการ มูลค่า 130 ล้านบาท และโครงการอาคารสูงที่อยู่ระหว่างสรุปผลขั้นสุดท้ายอีก 1 โครงการ มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้จากจำนวนงานใหม่ที่ทยอยรับเข้ามาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีนี้ ทำให้มีมูลค่างานในมือ ณ ปัจจุบัน (Backlog) เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3,700 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ยอดรับรู้รายได้ในปี 2549 เติบโตตามเป้าที่บริษัทตั้งไว้อย่างแน่นอน