ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำประมาณการผลประกอบการไตรมาส 2/2549 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 14 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธนาคารตามขนาดของสินทรัพย์ ได้แก่ กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนสินทรัพย์มากกว่า 10% ของระบบธนาคาร (ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และทหารไทย) กลุ่มธนาคารขนาดกลางที่มีขนาดสินทรัพย์อยู่ระหว่าง 3-10% ของสินทรัพย์รวมของระบบธนาคาร (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา นครหลวงไทย ไทยธนาคาร และธนชาต) และกลุ่มธนาคารขนาดเล็กที่มีขนาดสินทรัพย์ต่ำกว่า 3% ของระบบธนาคาร (ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ (ไทย) ทิสโก้ เกียรตินาคิน และสินเอเชีย) ซึ่งการประมาณการจะอ้างอิงจากข้อมูลตามงบการเงินรวม และข้อมูลรายธนาคารที่เกี่ยวข้อง
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีกำไรสุทธิ (หลังภาษี) จำนวนประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากไตรมาส 1/2549 เท่ากับ 9.47% และลดลงจากไตรมาส 2/2548 เท่ากับ 2.24%
ไตรมาส 2/49 เทียบกับไตรมาส 1/49
รายการเปลี่ยนแปลงทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่สำคัญจากไตรมาสก่อนหน้า สามารถสรุปได้ดังนี้
? รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 2/49 ยังขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ด้วยอัตราการเติบโตที่ชะลอลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 2/49 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะอยู่ที่ประมาณ 5.98 หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้จะยังสามารถรักษาอัตราการขยายตัวได้จากไตรมาสก่อนหน้า ที่ 1.78% แต่ก็เป็นขนาดที่ชะลอลงค่อนข้างชัดเจนจากไตรมาส 1/49 ที่ขยายตัว 9.51% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจาก ประการแรก ไตรมาส 2/49 นี้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องทยอยรับรู้ต้นทุนจากการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำก่อนหน้านี้ (นั่นคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือนในช่วงไตรมาส 4/48 และเงินฝากประจำ 3 เดือนในช่วงไตรมาส 1/49) และจากการริเริ่มออกผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งจ่ายอัตราดอกเบี้ยเป็นรายเดือน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 2/49 จะขยายตัวถึงประมาณ 25% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยในช่วงเดียวกันที่ประมาณ 10% ประการที่สอง ปัจจัยบวกจากเงินปันผลของกองทุนรวมวายุภักษ์ จะหายไปในไตรมาส 2/49 หลังจากที่ธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลางหลายแห่งได้รับเงินปันผลดังกล่าวได้ในไตรมาสแรกของปี 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยหนุนรายได้ดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย
ประการที่สาม ปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องในรูปของเงินลงทุนในตลาดเงินระยะสั้น ณ สิ้นไตรมาส 2/49 น่าจะปรับตัวลดลงจาก ณ สิ้นไตรมาส 1/49 ตามสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่อาจขยับขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารพาณิชย์มักลดยอดเงินฝากในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2549 ลง เพื่อบรรเทาภาระจากการคำนวณเงินสมทบส่งกองทุนฟื้นฟูฯ แต่จะเร่งการขยายสินเชื่อก่อนปิดงวดกลางปี ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2549 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มีสภาพคล่องจำนวน 7.52 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 8.20 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม ในขณะที่ คาดว่าปริมาณสภาพคล่องยังมีโอกาสลดลงต่ออีกในเดือนมิถุนายน โดยปริมาณสภาพคล่องที่ลดลงดังกล่าว หมายถึงข้อจำกัดของการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ย (ในเชิงมูลค่า) จากสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ ถึงแม้ว่าอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่องในไตรมาส 2/49 นี้ จะยังคงได้รับปัจจัยบวกจากปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งในไทยและต่างประเทศก็ตาม
เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย จะได้ว่า ในไตรมาส 2/49 กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ จะมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิประมาณ 4.35 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่ากับ 2.18% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยบวกเสริมจากการปรับอัตราผลตอบแทนของพอร์ตสินเชื่อให้สูงขึ้น ตลอดจน เงินปันผลรับจากเงินลงทุนในหุ้นทุนอื่นๆ ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากรายการเงินปันผลรับที่หายไปจากเงินลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์ได้ เช่นเดียวกับ กลุ่มธนาคารขนาดเล็กที่ประมาณว่าจะมีรายได้ดังกล่าวเพิ่มขึ้น 9.16% มาที่ประมาณ 6.22 พันล้านบาท โดยกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก ได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการที่ธนาคารบางแห่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระหว่างไตรมาส ด้วยขนาดที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ในทางกลับกัน รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของกลุ่มธนาคารขนาดกลาง อาจลดลง 3.79% มาที่ประมาณ 1.02 หมื่นล้านบาท เนื่องจากธนาคารหลายแห่งในกลุ่มนี้ใช้กลยุทธ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างแรงในช่วงก่อนหน้า รายได้ปันผลจากกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 จะหายไปในไตรมาส 2/49 อีกทั้งธนาคารสมาชิกบางแห่งมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในระหว่างไตรมาส 2/49 ทำให้ต้องรับรู้ภาระดอกเบี้ยจ่ายดังกล่าวในระดับสูง
? รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 2/49 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า
ในไตรมาส 2/49 นี้ คาดว่า รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะอยู่ที่ประมาณ -2.23 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 29.47% และเป็นการลดลงกระจายไปในทุกกลุ่มธนาคาร ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับตัวลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย อาทิ รายการกำไรจากเงินลงทุน ซึ่งธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีกำไรจากเงินลงทุนพิเศษในไตรมาส 1/49 ประกอบกับ อัตราผลตอบแทนในตลาดรองตราสารหนี้เฉลี่ยในไตรมาส 2/49 ขยับขึ้นจากไตรมาส 1/49 ซึ่งหมายถึงราคาของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ที่ลดลง และอาจทำให้ธนาคารต้องบันทึกผลต่างระหว่างราคาตลาดและราคาตามบัญชี (Mark-to-market) สำหรับเงินลงทุนประเภทเพื่อค้า ในงบกำไรขาดทุนของไตรมาส 2/49 มากขึ้น นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อยยังน่าจะลดลงในไตรมาส 2/49 เนื่องจากคาดว่าธุรกิจของบริษัทย่อย น่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการบริโภคในประเทศ ตลอดจนความผันผวนของตลาดหุ้น ในขณะที่ คาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ อาจไม่สามารถขยายตัวได้มากนักในไตรมาส 2/49 ตามข้อจำกัดในการขยายสินเชื่อ รวมทั้ง ปัจจัยด้านฤดูกาลที่รายได้ค่าธรรมเนียมมักชะลอตัวลงในไตรมาส 1 และ 2 ของทุกปี โดยส่วนหนึ่งคาดว่าจะเป็นผลจากการชะลอตัวของปริมาณธุรกรรมทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
ในขณะที่ ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน ซึ่งสะท้อนความพยายามในการเพิ่มจำนวนพนักงานในระยะที่ผ่านมา อีกทั้ง ค่าใช้จ่ายด้านอาคาร สถานที่และอุปกรณ์ อันเป็นผลจากกลยุทธ์การขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการขยายงานด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระยะปานกลางถึงยาวอีกด้วย ประกอบกับ ในไตรมาส 2 ของทุกปี มักเป็นช่วงฤดูกาลของการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายประเภทดังกล่าว มักขยับขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า
ดังนั้น เมื่อรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิเข้าด้วยกัน จะได้ว่า รายได้สุทธิจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรอง) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 2/49 จะอยู่ที่ประมาณ 3.76 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 9.65% โดยเป็นการลดลงของรายได้สุทธิจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรอง) ของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลาง ในขณะที่ กลุ่มธนาคารขนาดเล็ก คาดว่าจะมีรายได้สุทธิจากการดำเนินงานดังกล่าวที่เติบโตขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า จากการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเป็นสำคัญ
ในขณะที่ เมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการกันสำรองของไตรมาส 2/49 สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ที่คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 5.82 พันล้านบาท (เทียบกับ 6.19 พันล้านบาทในไตรมาส 1/49) ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาท ในไตรมาส 2/49 (เทียบกับ 8.75 พันล้านบาทในไตรมาส 1/49) ทำให้สามารถสรุปได้ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย น่าจะมีกำไรสุทธิ (หลังสำรองและภาษี) จำนวนประมาณ 2.40 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 9.47% และเป็นการปรับตัวลดลงของกำไรสุทธิในทุกกลุ่มธนาคาร โดยประมาณว่ากำไรสุทธิ (หลังสำรองและภาษี) ของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ อาจอยู่ที่ประมาณ 1.78 หมื่นล้านบาท (ลดลง 10.72% จากไตรมาสก่อน) ของกลุ่มธนาคารกลางอยู่ที่ประมาณ 3.24 พันล้านบาท (ลดลง 5.37% จากไตรมาสก่อน) และของกลุ่มธนาคารขนาดเล็กจะอยู่ที่ประมาณ 2.96 พันล้านบาท (ลดลง 6.03% จากไตรมาสก่อน)
ครึ่งแรกของปี 49
เมื่อผนวกกำไรสุทธิ (หลังสำรองและภาษี) ในไตรมาส 1/49 เข้ากับประมาณการของไตรมาส 2/49 นั้น จะได้ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีกำไรสุทธิประมาณ 5.07 หมื่นล้านบาทในงวดครึ่งแรกของปี 2549 ซึ่งลดลง 0.95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลจะขยายตัวกว่า 272% ในขณะที่ เมื่อไม่รวมภาระภาษีดังกล่าว ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย จะมีกำไรสุทธิ (ก่อนภาษี) จำนวนประมาณ 6.73 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 20.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ หากไม่รวมค่าใช้จ่ายในการกันสำรองในไตรมาส 2/49 ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 29.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้น จะได้ว่า รายได้สุทธิจากการดำเนินงาน อาจขยายตัว 22.17% ซึ่งนำโดยการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ที่ได้รับอานิสงส์หลักจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากประจำและเงินให้กู้ยืมควบคู่กัน ทำให้สามารถเลื่อนการรับรู้ต้นทุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำออกไปก่อนได้ นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากทั้งในและนอกประเทศ ยังส่งผลดีต่อรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นอีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อจำแนกเป็นกลุ่มธนาคาร จะได้ว่า กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลาง คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 3.78 หมื่นล้านบาท และ 6.67 พันล้านบาท ตามลำดับในงวดครึ่งแรกของปี 2549 ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเท่ากับ 6.12% และ 3.01% ตามลำดับ โดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ คาดว่าจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษีกว่า 86% ของภาระภาษีรวมทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดเล็กนั้น คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 6.20 พันล้านบาท ซึ่งขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนเท่ากับ 54.19% เนื่องจากการควบรวมกิจการกับธนาคารต่างชาติตามแผน One-Presence ของธนาคารบางแห่งในกลุ่ม น่าจะช่วยทำให้มีความสามารถในการทำกำไร โดยเฉพาะในด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ที่สูงขึ้นกว่าเดิม
โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/49 ที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า และจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับกำไรสุทธิในงวดครึ่งแรกของปี 2549 ที่คาดว่าจะขยับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเล็กน้อย ในขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทิศทางผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนั้น ยังอาจเผชิญข้อจำกัดจากปัจจัยลบหลายประการ โดยเฉพาะในแง่ของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ อันมีสาเหตุที่สำคัญจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ (ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายสินเชื่อ) ภาระเพิ่มเติมจากการแข่งขันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงก่อนหน้า ตลอดจน การที่การเติบโตของอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่องคงจะติดเพดานแล้ว หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งในไทยและสหรัฐฯ น่าจะถึงจุดสูงสุดในภายไตรมาส 3/49 นี้ ในขณะเดียวกัน ยังมีภาระจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งหลังของปี 2548 โดยเปรียบเทียบ ทำให้ ในภาพรวมแล้ว ฐานะผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งหลังของปี อาจลดความสดใสลงจากช่วงครึ่งปีแรกได้