‘กล้าใหม่..ใฝ่รู้’ 3 การแข่งขันท้าความสามารถ..จุดประกายการเรียนรู้สู่ชุมชน

การเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่กล้าแกร่ง ผลิดอกออกใบให้ร่มเงาพึ่งพิงได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการบ่มเพาะตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์

ด้วยเล็งเห็นถึงแนวคิดดังกล่าว ธนาคารแห่งแรกของคนไทยในนาม “แบงก์สยามกัมมาจล” หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในโอกาสเฉลิมฉลองการก้าวสู่ปีที่ 100 จึงแสดงเจตนารมณ์มุ่งสร้างสรรค์สังคม ด้วยการจัดโครงการ “กล้าใหม่…ใฝ่รู้” เพื่อเน้นย้ำและส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาเยาวชน อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศตั้งแต่ระดับต้นกล้า ด้วยการจัดกิจกรรมพัฒนา 3 ระดับ ในรูปแบบการแข่งขันท้าทายความสามารถ 3 ประเภท ได้แก่

“กล้าใหม่…แต่งแต้มจินตนาการ” การแข่งขันวาดภาพสำหรับระดับประถมศึกษา
“กล้าใหม่…ท้าทายสติปัญญา” การแข่งขันตอบปัญหาความรู้รอบตัวสำหรับระดับมัธยม
“กล้าใหม่…สร้างสรรค์ชุมชน” การแข่งขันออกแบบโครงการส่งเสริมสังคมสำหรับอุดมศึกษา

คุณหญิงชฏา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าโครงการ “กล้าใหม่…ใฝ่รู้” เกิดขึ้นในโอกาสที่ธนาคารก้าวสู่ปีที่ 100 และจะจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี มุ่งหวังจุดประกายการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพเยาวชนในแต่ละช่วงวัย ปลูกฝัง ให้เยาวชนรู้จักทำงานเป็นทีม และใฝ่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและกระแสโลก เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมให้สังคมไทยเข้มแข็งด้วยวัฒนธรรมแห่งฐานความรู้ และฐานชุมชน

โครงการ “กล้าใหม่…ใฝ่รู้” นี้ไม่เพียงแต่จะเกิดประโยชน์กับเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น แต่ยังกระจายผลไปสู่โรงเรียน สถาบันการศึกษา ชุมชนและสังคมที่เกี่ยวเนื่องด้วย หากได้รับการขัดเกลาจากกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย

ภายในงานแถลงข่าวนอกจากเหล่าผู้บริหารจะมาสาธิตกิจกรรมของโครงการด้วยตัวเอง โดยการลงมือเพ้นท์กระดานบอร์ดในหัวข้อ “100 ต่อไป กับไทยพาณชิย์” แล้ว ยังมีการสาธิตรูปแบบการแข่งขันโดยน้องๆ และคณะกรรมการตัดสินทั้ง 3 รายการ ได้แก่ กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์ ศิลปินอิสระ, อุทัยพรรณ บุณยประสิทธิ์ อาจารย์ที่มีประสบการณ์สอนภาษาไทยมากกว่า 40 ปี และ ดร.บรรณ-โศภิษณ์ เมฆวิชัย นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญโครงการสร้างสรรค์ชุมชน

กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินส่วนการแข่งขัน “กล้าใหม่…แต่งแต้มจินตนาการ” กล่าวถึงรูปแบบการประกวดว่า “อาจารย์หรือโรงเรียนที่จะส่งเด็กๆ เข้าแข่งขันมักจะกังวลว่าเด็กจะไหวหรือทำได้หรือเปล่า แต่สิ่งที่เราต้องการเห็นคือเด็กได้สนุกร่วมกัน เห็นความเป็นทีมมากกว่า อยากเห็นเขาบริหารและสร้างสรรค์จินตนาการด้วยตัวเอง นั่นทำให้เราไม่กำหนดหัวข้อล่วงหน้า แต่มาตั้งโจทย์กันหน้างาน และกำหนดเวลาคิด”

ด้าน อุทัยพรรณ บุณยประสิทธิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการออกข้อสอบส่วนการแข่งขัน “กล้าใหม่…ท้าทายสติปัญญา” กล่าวว่า นักเรียนที่เข้ามาสมัครทางโรงเรียนไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวนักเรียนมากนัก เพราะคำถามไม่ได้ทดสอบเรื่องความจำ แต่เป็นการทดสอบความเข้าใจ ไหวพริบ การใช้หลักของเหตุผล เป็นการวัดพื้นฐานความรู้มากกว่า เน้นให้เด็กรู้จักคิดด้วยตัวเอง ซึ่งลักษณะคำถามคล้ายข้อสอบวัดแวว มีตั้งแต่ภาษาไทย สังคม เลข วิทยาศาสตร์ และความรู้รอบตัว เริ่มจากง่ายไปยาก

“เรามีกติกาว่าต้องมาเป็นทีมระหว่างนักเรียนม.ต้นกับม.ปลาย เพราะเราต้องการวัดพื้นความรู้ของเด็กในแต่ละชั้น เช่นคำถามข้อนี้ม.ปลายอาจจะลืมไปแล้ว แต่น้องม.ต้นยังตอบได้ก็ช่วยตอบ เป็นการทดสอบความร่วมมือซึ่งกันและกัน บางครั้งรู้สึกเสียดายบางทีเด็กคิดได้เอง แต่กลายเป็นว่าคิดอะไรตามที่ครูเตรียมไว้ให้ ก็เลยไม่เกิดเป็นกล้าใหม่ แต่กลายเป็นกล้าแก่ไป”

ปิดท้ายที่ ดร.บรรณโศภิษณ์ เมฆวิชัย นักวิชาการด้านโครงการสร้างสรรค์ชุมชน หนึ่งในคณะกรรมการการแข่งขัน “กล้าใหม่…สร้างสรรค์ชุมชน” อธิบายรูปแบบการแข่งขันว่า การเลือกหัวข้อโครงการเข้าสู่การแข่งขันต้องเป็นการส่งเสริมชุมชนที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถาบันการศึกษานั้นๆ นั่นเพราะต้องการให้เยาวชนศึกษาชุมชนใกล้ตัวเพื่อพร้อมจะออกไปสู่สังคม และมีแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่อยากทำตัวให้เป็นประโยชน์กับสังคม

“สิ่งที่เราพิจารณาคือ นักศึกษาจะดึงไอเดียออกมานำเสนออย่างไร และสามารถนำไปใช้กับสังคมได้จริงอย่างไร เราก็หวังที่จะเจอโครงการที่ยั่งยืนในการสานต่อ ซึ่งโครงการอยากให้เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่จะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้จากคนรุ่นใหม่ให้คนรุ่นเก่าได้ บางครั้งเราอาจจะไม่ได้เห็นผลงานที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นการทำงานเป็นทีม นี่คือสิ่งที่เราให้ความสำคัญ”

สำหรับการแข่งขันจะเป็นการเฟ้นหาเพชรเม็ดงามจากทั่วประเทศ ไม่จำกัดสถาบัน เริ่มต้นการแข่งขันคัดเลือกตัวแทนในระดับภูมิภาคจากทั่วประเทศก่อนจะเข้าถึงรอบตัดเชือกในการแข่งขันระดับประเทศวันที่ 11-13 มกราคม 2550 โดยเปิดรับสมัครทีมเยาวชนเข้าร่วมโครงการ 3 ระดับ คือ

• ระดับประถมศึกษาปีที่1-6 แข่งขันประกวดวาดภาพเป็นทีม ส่งใบสมัครได้ถึง 14 กรกฎาคม
• ระดับมัธยมศึกษาปีที่1- 6 แข่งขันตอบคำถามความรู้รอบตัว ส่งใบสมัครได้ถึง 20 กรกฎาคม
• ระดับอุดมศึกษาปี1-ปีสุดท้าย แข่งขันจัดทำโครงการเพื่อสังคมและชุมชน ส่งใบสมัครได้ถึง
7 กรกฎาคม

ผู้ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใบประกาศเกียรติคุณ และของรางวัลกว่า 2 ล้านบาท โดยทีมตัวแทนในระดับภาคยังจะได้รับสิทธิเข้าร่วมค่ายความรู้ เพื่อสัมผัสการทำงานจริงในการเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันระดับประเทศของแต่ละรายการ โดยธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย

นักเรียน นักศึกษา และอาจารย์ที่สนใจ สามารถส่งใบสมัครมาได้ที่ โครงการกล้าใหม่..ใฝ่รู้ ตู้ปณ.1117 ปณฝ. เพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ 10311 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2777-7777 กด 5 หรือ 3, 0-2381-4075 www.scbchallenge.com และธนาคารไทยพาณิชย์ ทุกสาขา