บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิต ‘A(tha)’ แก่หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิที่จะออกโดยบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 6 พันล้านบาท ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ยังประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของดีแทค ที่ระดับ ‘BB+’ และ ‘A(tha)’ ตามลำดับ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ฟิทช์ยังประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของบริษัทที่ระดับ ‘F1(tha)’ โดยบริษัทมีแผนที่จะนำเงินที่ได้รับจากหุ้นกู้ชุดใหม่มาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและลงทุนในระบบเครือข่ายรวมทั้งชำระคืนหนี้ที่ถึงกำหนด
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการที่ดีแทคมีสถานะในส่วนแบ่งทางการตลาดที่แข็งแกร่ง รวมถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างมั่นคง นอกจากนี้อันดับเครดิตของดีแทคยังมีส่วนสนับสนุนจากระดับของความเชื่อมั่นและความพร้อมในการสนับสนุนจากบริษัท เทเลนอร์ เอ เอส เอ หรือ เทเลนอร์ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ดีแทคมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่สูงขึ้นและมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการลดระดับหนี้สินในอนาคต จากการที่ดีแทคได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการขายในเชิงรุก บริษัทสามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการใหม่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.15 ล้านคนในไตรมาส 1 ปี 2549 โดยคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 60% ของจำนวนผู้ใช้บริการใหม่ทั้งหมด ถึงแม้ว่าบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดได้เริ่มมีการปรับเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการขายในเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ฟิทช์คาดว่าดีแทคจะยังสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดของผู้ใช้บริการทั้งหมดที่ระดับ 30% ได้ เนื่องจากบริษัทมีนโยบายในการส่งเสริมการขายและการลงทุนในระบบเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการแข่งขันที่รุนแรงของกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย โดยผู้ให้บริการได้มีความพยายามในการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการใช้อัตราเชื่อมโยงโครงข่าย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ในต้นปี 2550 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ผู้ให้บริการแต่ละรายมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบเครือข่ายที่สูงอย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงทางด้านเครดิตของดีแทคยังรวมถึงการที่บริษัทมีโครงสร้างต้นทุนทางสัมปทานที่ค่อนข้างสูง และความไม่แน่นอนทางด้านกฎหมายของกิจการโทรคมนาคมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของร่างประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว
ในไตรมาส 1 ปี 2549 ดีแทคประกาศกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ระดับ 4.3 พันล้านบาท ซึ่งค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2548 โดยผลบวกจากรายได้จากการให้บริการที่เพิ่มขึ้น 6% เป็น 11.8 พันล้านบาท ได้ถูกลดทอนลงโดยค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายและต้นทุนทางสัมปทานที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ยังคงแข็งแกร่งและระดับการใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างต่ำในระหว่างไตรมาส ทำให้ระดับหนี้สินสุทธิ (Net Debt) ของบริษัท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ 35.9 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (Net Debt/last-12-month EBITDA) ของดีแทค อยู่ที่ระดับ 2.2 เท่า ถึงแม้ว่าระดับหนี้สินสุทธิของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในระหว่างปี 2549 เนื่องจากดีแทคมีแผนการลงทุนในระบบเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ผลประกอบการที่แข็งแกร่งคาดว่าจะทำให้บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วน Net Debt/EBITDA ในระดับที่มีความยืดหยุ่นทางการเงินที่พอเพียงที่ระดับ 2.0 ถึง 2.5 เท่าได้ในระหว่างปี 2549 ถึง ปี2550
ดีแทคเป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศโดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ประมาณ 30% และมีชื่อเสียงทางการค้าเป็นที่รู้จักอย่างดี จากการที่กลุ่มเทเลนอร์เข้าซื้อหุ้นเพิ่มในสัดส่วน 39.9% ในบริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ ยูคอม (ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ดีแทค) ประกอบกับการทำคำเสนอซื้อหุ้นยูคอมและดีแทคในภายหลัง ทำให้กลุ่มเทเลนอร์เพิ่มการมีส่วนได้ส่วนเสียในดีแทค ขึ้นเป็น 70.2% จาก 40.3% ก่อนหน้านี้ การลงทุนในดีแทคถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของเทเลนอร์ในแถบเอเชีย โดยหากไม่นับกิจการของ
เทเลนอร์ในประเทศนอร์เวย์ ดีแทคมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ในกลุ่มเทเลนอร์
ติดต่อ: อรวรรณ การุณกรสกุล, โสมสิริ ชฎาวัฒน์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4755
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน