ผลิตภัณฑ์กุ้ง : แนวโน้มครึ่งหลังปี 2549 และคาดการณ์ปี 2550

ผลิตภัณฑ์กุ้งเป็นสินค้าเกษตรที่เป็นความหวังในการขยายการส่งออกในปี 2549 เนื่องจากหลากปัจจัยเกื้อหนุนทั้งในด้านการผลิตและการส่งออก โดยคาดว่าการผลิตของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่คาดว่าปริมาณการผลิตกุ้งในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่เผชิญปัญหาโรคระบาด และภาวะอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตกุ้ง ส่วนในด้านการส่งออกนั้นปัจจัยหนุนสำคัญคือ การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวอย่างชัดเจน จากที่ไทยได้คืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี ทำให้สถานะการแข่งขันของไทยในตลาดสหภาพ-ยุโรปดีขึ้น ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯไทยก็ยังคงเป็นอันดับหนึ่ง แม้ว่าจะต้องเผชิญปัญหาต้องวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก ซึ่งเป็นภาระทำให้ต้นทุนการส่งออกเพิ่มขึ้นและสภาพคล่องของผู้ส่งออกลดลง อย่างไรก็ตามคาดว่ากุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดส่งออกสำคัญทุกตลาดไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลและผู้ส่งออกต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาทั้งการผลิตและการแปรรูปให้ตรงตามความต้องการของตลาดและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันของผลิตภัณฑ์กุ้งไทยในตลาดโลก

สถานการณ์การผลิตและราคา…ผลผลิตเพิ่มขึ้น
ปริมาณการผลิตกุ้งเพาะเลี้ยง(กุ้งขาวและกุ้งกุลาดำ)ในช่วงเดือนม.ค.-พ.ค. 2549 เท่ากับ 145,431.50 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 โดยปริมาณการผลิตกุ้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสอง อันเป็นผลมาจากราคากุ้งที่อยู่ในเกณฑ์ดีทำให้มีปริมาณการเลี้ยงเพิ่มขึ้น แม้ว่าตั้งแต่ช่วงปลายปี 2548 และในไตรมาสแรกของปี 2549นี้ปริมาณผลผลิตกุ้งของไทยมีน้อย อันเป็นผลมาจากต้องเผชิญกับภาวะอากาศไม่เอื้ออำนวยโดยเฉพาะฝนตกหนักและน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งที่สำคัญ ทำให้ผลผลิตเสียหายและเกิดปัญหาโรคระบาด การเตรียมบ่อเลี้ยงและเตรียมน้ำที่เหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้งทำได้ยาก ทำให้หลายพื้นที่ต้องหยุดเลี้ยงหรือเลื่อนการลงกุ้งช้าไปกว่าเดิม 1-2 เดือน ซึ่งผลผลิตกุ้งควรจะออกมาสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม อย่างไรก็ตามผลจากอิทธิพลของ ลานินญาทำให้เกิดฝนตกหนักสภาพน้ำในบ่อมีความเค็มต่ำ กุ้งมีอัตรารอดต่ำ เกษตรกรต้องเร่งจับกุ้งจากบ่อก่อนกำหนด ปริมาณกุ้งเข้าสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมมีมากกว่าปกติ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกุ้งขนาดเล็ก คาดว่าส่งผลให้ปริมาณการผลิตกุ้งในช่วงครึ่งแรกปี 2549 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลผลิตกุ้งขาวมีสัดส่วนถึงร้อยละ 98.0 ของปริมาณการผลิตกุ้งทั้งหมด และมีปริมาณการผลิตกุ้งกุลาดำเพียงร้อยละ 2.0 เท่านั้น

ใน 2549 คาดว่าไทยจะสามารถผลิตกุ้งได้ประมาณ 381,700 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2548 ที่ผลิตได้ 360,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 โดยคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ปริมาณการผลิตกุ้งมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากการคาดการณ์ว่าราคากุ้งจะอยู่ในเกณฑ์ดีจูงใจให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงกุ้งเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงเช่นเดียวกับในปี 2548

สำหรับปริมาณกุ้งที่จับจากทะเลและกุ้งก้ามกรามที่เพาะเลี้ยงในปีนี้มีแนวโน้มลดลง คาดว่าผลผลิตกุ้งที่จับจากทะเลและกุ้งก้ามกรามจะหายไปจากตลาดประมาณ 50,000 ตันกล่าวคือ คาดว่าปริมาณกุ้งที่จับจากทะเลปีนี้จะมีประมาณ 37,430 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2548 ที่มีปริมาณการจับ 74,860 ตัน ลดลงร้อยละ 50.0 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากภาวะวิกฤติราคาน้ำมัน ทำให้ชาวประมงงดออกเรือจับสัตว์น้ำ ส่วนปริมาณการผลิตกุ้งก้ามกรามปีนี้จะลดลง เพราะตั้งแต่กลางปี 2548 มีการระบาดของโรคไวรัส ทำให้บรรดาโรงเพาะลูกกุ้งได้รับความเสียหาย แม้ว่ารัฐบาลอนุญาตให้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งก้ามกราม ทำให้โรงเพาะฟักบางรายเริ่มฟื้นตัว แต่ส่วนใหญ่ยังแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสไม่ได้ คาดว่าปีนี้ปริมาณการผลิตกุ้งก้ามกรามจะผลิตได้น้อยลงประมาณ 13,000 ตัน หรือจะลดลงประมาณร้อยละ 30-40 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ส่วนราคากุ้งในช่วงครึ่งแรกปี 2549 ยังลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 กล่าวคือ ราคาที่เกษตรกรขายได้ในช่วงครึ่งแรกปี 2549 เท่ากับ 182.33 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 9.5 ส่วนราคาที่โรงงานรับซื้อเท่ากับ 210.67 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงร้อยละ 4.5 โดยราคากุ้งมีแนวโน้มลดลงในช่วงไตรมาสที่สองส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้เกษตรกรต้องจับกุ้งก่อนกำหนด กุ้งที่เข้าสู่ตลาดจึงเป็นกุ้งขนาดเล็กและมีปริมาณมากผิดปกติ นอกจากนี้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลงในช่วงไตรมาสสอง ทำให้ห้องเย็นได้ลดการรับซื้อกุ้งลง มีผลทำให้ราคากุ้งในประเทศตกต่ำ หากยังเป็นเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรมากเพราะปัจจุบันเกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงกุ้งที่เพิ่มขึ้นมาก จากราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญรวมถึงผู้ผลิตอาหารกุ้งหลายรายได้ปรับราคาขายสูงขึ้น ผลพวงที่จะตามมาคือเกษตรกรจะเร่งจับกุ้งขายเพราะเกรงราคาจะลดลงไปอีก ทำให้เวลานี้เป็นโอกาสของผู้ส่งออกรายใหญ่ที่จะซื้อกุ้งเข้าเก็บสต็อก อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2549 ราคากุ้งจะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยปัจจัยที่สนับสนุนทำให้ราคากุ้งปีนี้อยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากการส่งออกอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งในตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรป

การส่งออกขยายตัว…ครึ่งปีหลังได้อานิสงส์จากคู่แข่งต้นทุนผลิตสูงขึ้น
การส่งออกกุ้งในช่วงครึ่งแรกปี 2549 มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลมาจากการนำเข้าของสหภาพยุโรป และสหรัฐฯเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ ปริมาณการส่งออกสินค้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 103,201 ตัน มูลค่า 26,465.80 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออก 82,099 ตัน มูลค่า 20,721.50 ล้านบาทแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 และ 27.7 ตามลำดับ ปัจจัยกระตุ้นสำคัญคือ การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 5,199 ตัน มูลค่า 1,353 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 109.2 และ 118.6 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในช่วง 5 เดือนแรกมีปริมาณการส่งออก 56,766 ตัน มูลค่า 14,524 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.4 และ 46.1 ตามลำดับ

เดิมนั้นมีการคาดว่าช่วงครึ่งหลังปี 2549 การส่งออกกุ้งจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงโดยคำสั่งซื้อมีแนวโน้มลดลงในช่วงไตรมาสสอง แต่คาดว่าคำสั่งซื้อเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาสสาม กล่าวคือ ปัจจัยความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาท โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นผิดปกติเทียบกับเมื่อช่วงต้นปีแข็งค่าขึ้นมาเฉลี่ยร้อยละ 8 ซึ่งสูงกว่าทุกประเทศในภูมิภาค ส่งผลให้สินค้ากุ้งของไทยมีราคาแพงขึ้นกว่าคู่แข่งขัน ประกอบกับการเปิดรับคำสั่งซื้อช่วงไตรมาสสองในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมาราคากุ้งในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขัน ทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาเบาบางมาก แต่อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสสามคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรปเริ่มมีเข้ามามากขึ้น เนื่องจากสินค้ากุ้งไทยได้รับอานิสงส์จากอินโดนีเซียและเวียดนามคู่แข่งสำคัญ ประสบปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยและภัยธรรมชาติทำให้มีต้นทุนที่สูง สถานะการแข่งขันกุ้งของไทยกระเตื้องขึ้น ทำให้คาดว่าปริมาณการส่งออกปี 2549 จะเท่ากับ 280,000 ตัน มูลค่า 75,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับในปี 2548 แล้วปริมาณการส่งออกจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 โดยแยกเป็นกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 57.0 และกุ้งแปรรูปร้อยละ 43.0 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด

ปัจจัยเสี่ยง’49…วิเคราะห์ประเทศคู่แข่ง-คู่ค้า

ปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งสำหรับปี 2549 มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องพึงระวัง ดังนี้

-สถานการณ์ในประเทศคู่แข่งขัน เนื่องจากการส่งออกกุ้งของไทยต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น อันเป็นผลมาจากประเทศคู่แข่งขันสำคัญของไทยมีการขยายปริมาณการผลิตและส่งเสริมการเจาะขยายตลาดส่งออกทั้งในสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ประเด็นที่น่าสนใจคือในการส่งออกกุ้งขาวประเทศคู่แข่งขันสำคัญคือ จีน บราซิลและเอกวาดอร์ ซึ่งปีนี้นับว่าเป็นข่าวดีของผู้ส่งออกกุ้งไทยเนื่องจากผลผลิตกุ้งของจีนและบราซิลลดลง กล่าวคือคาดว่าในปี 2549 จีนจะผลิตกุ้งได้ประมาณ 224,000 ตัน ลดลงเมื่อเทียบกับในปี 2548 ที่ผลิตกุ้งได้ 280,000 ตัน หรือลดลงร้อยละ 20 เนื่องจากต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ปรวนแปร พายุไต้ฝุ่น และเกิดภาวะน้ำท่วมรุนแรง สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เลี้ยงกุ้ง เช่น เหนือเขตฟู่เจิ่นขึ้นไป ทางใต้จ้าน-เจียง มณฑลกวางตุ้ง กวางโจว ไห่หนาน เป็นต้น ขณะเดียวกันหลายพื้นที่ก็เกิดภาวะแห้งแล้ง มีอุณหภูมิสูง ส่งผลให้ราคากุ้งในประเทศจีนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งที่ปกติแล้วช่วงเดือนนี้ราคากุ้งของจีนควรจะลดลง ภาวการณ์เช่นนี้จะทำให้ศักยภาพหรือโอกาสการส่งออกกุ้งของจีนลดลง ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันในสินค้ากุ้งของจีนในตลาดกุ้งโลกน้อยลงไปด้วย ส่วนบราซิลนั้นเพิ่งจะฟื้นตัวจากปัญหากุ้งเป็นโรคกล้ามเนื้อขุ่นขาว และปัญหาโรคตัวแดงจุดขาวระบาดในหลายพื้นที่ จึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผลผลิตกุ้งของบราซิลในปี 2548 ลดลงเหลือ 55,000 ตัน หรือลดลงร้อยละ 31.3 คาดว่าในปี 2549 นี้ปริมาณการส่งออกกุ้งจากบราซิลนั้นมีไม่มากนัก

ส่วนการส่งออกกุ้งกุลาดำนั้นไทยต้องเผชิญการแข่งขันกับอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลลิปปินส์ ซึ่งในปี 2549 ประเทศเหล่านี้มีการขยายการผลิตกุ้งกุลาดำประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับผลผลิตในปี 2548 คาดว่าผลผลิตกุ้งของอินเดียในปี 2549 จะได้ประมาณ 120,000 ตัน เทียบกับในปี 2548 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 ซึ่งกุ้งที่เลี้ยงเป็นกุ้งกุลาดำเกือบทั้งหมด เนื่องจากรัฐบาลอินเดียไม่ยอมให้นำเข้ากุ้งขาว กุ้งที่ส่งออกจากอินเดียมีขนาดเฉลี่ย 30 ตัว/ก.ก.ส่วนเวียดนามในปี 2549 คาดว่าจะมีผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นเป็น 138,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 กุ้งเกือบทั้งหมดเป็นกุ้งกุลาดำ แต่ก็เริ่มมีการนำเข้าพันธุ์กุ้งขาวเพื่อขยายการเลี้ยงแล้ว คาดว่าในอนาคตเวียดนามจะเป็นคู่แข่งในการส่งออกกุ้งขาวด้วย อย่างไรก็ตามในปีนี้พื้นที่เลี้ยงกุ้งทางภาคใต้ของเวียดนามประสบความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ซึ่งส่งผลให้การส่งออกกุ้งของเวียดนามในปีนี้อาจจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ส่วนอินโดนีเซียคาดว่าในปี 2549 มีผลผลิตกุ้งประมาณ 230,000 ตัน หันไปเพิ่มการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ อัตราส่วนการผลิตกุ้งขาว : กุ้งกุลาดำเป็น 90:10 จากเดิมที่มีสัดส่วน 80:20 สำหรับฟิลิปปินส์คาดว่าจะผลิตกุ้งได้ 50,000 ตัน กุ้งที่เลี้ยงส่วนใหญ่ก็เป็นกุ้งกุลาดำ เนื่องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์เพิ่งจะอนุญาตให้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวและอนุญาตให้เลี้ยงได้เฉพาะที่เกาะลูซอนเท่านั้น

-สถานการณ์ในประเทศคู่ค้า โดยประเทศคู่ค้าที่ไทยต้องติดตามความเคลื่อนไหวคือ ตลาดสำคัญได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ตลาดสหรัฐฯ ตลาดสหรัฐฯนับว่าเป็นตลาดส่งออกกุ้งที่สำคัญที่สุดของไทยเนื่องจากปริมาณการส่งออกกุ้งของไทยประมาณร้อยละ 50 ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 การส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยยังคงครองตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งเป็นอันดับหนึ่งในตลาดสหรัฐฯทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า แต่สิ่งที่ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยต้องระมัดระวังคือการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างอินโดนีเซีย เอกวาดอร์ และจีน ส่วนประเทศที่เริ่มเข้ามาเป็นคู่แข่งรายใหม่ของไทยในตลาดสหรัฐฯคือ มาเลเซีย บังคลาเทศ กัมพูชา ซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน และไต้หวัน ซึ่งสัดส่วนตลาดของประเทศเหล่านี้ยังไม่มากนัก แต่อัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง

คาดว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังนั้นมีปัจจัยที่จะสร้างผลกระทบทำให้ต้นทุนการส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐฯเพิ่มขึ้น คือจากกรณีที่วอล-มาร์ต ห้างค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯกำหนดให้สินค้ากุ้งที่วางจำหน่ายในห้างฯ ต้องเป็นกุ้งที่หน่วยงานรับรองมาตรฐานของภาคเอกชนในสหรัฐฯหรือ Aquaculture Certification Counci, Inc. (ACC) รับรองว่ากระบวนการเพาะเลี้ยงและแปรรูปต้องเป็นไปตามมาตรฐาน Best Aquaculture Practices (BAP) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ให้ความสำคัญต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยด้านอาหาร และสามารถตรวจสอบย้อนกลับที่มาของสินค้าได้ จากข้อกำหนดดังกล่าวที่จะมีผลบังคับใช้สำหรับโรงงานแปรรูปกุ้ง(ห้องเย็น)ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 และสำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ได้เริ่มส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยทั้งระบบที่ต้องปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่ อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต และค่าใช้จ่ายในการสมัครขอรับการตรวจรับรองมาตรฐาน โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายในการสมัครขอรับการตรวจรับรองโรงงานแปรรูปและฟาร์มกุ้งต้องเสียค่าใช้จ่าย 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าบริการของเจ้าหน้าที่จาก ACC ซึ่งเป็นผู้ตรวจรับรองมาตรฐานอีก 400–800 ดอลลาร์สหรัฐฯ/วัน นอกจากนี้โรงงานที่ผ่านการตรวจรับรองแล้วต้องเสียค่าแรกเข้าเป็นโรงงานมาตรฐาน BAP ขั้นต่ำให้กับ ACC จำนวน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และหากโรงงานส่งออกกุ้งเกิน 1,000 ตัน/ปี ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนที่เกินอีก 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน แต่สูงสุดไม่เกิน 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายในการทบทวนการรับรองมาตรฐานอีก 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี รวมถึงผู้ซื้อสินค้ากุ้งจากโรงงานยังต้องเสียค่าการรับรองให้แก่ ACC จำนวน 0.025 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กก. ขณะที่ฟาร์มเพาะเลี้ยงที่ผ่านการตรวจรับรองแล้วต้องเสียค่าแรกเข้าเป็นฟาร์มมาตรฐาน BAP ขั้นต่ำ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ และหากมีผลผลิตเกิน 500 ตัน/ปี ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนที่เกินอีก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน แต่สูงสุดไม่เกิน 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการทบทวนการรับรองมาตรฐานอีก 500 ดอลลาร์สหรัฐฯในทุก 2 ปี เบื้องต้นห้องเย็นที่จะเข้าสู่มาตรฐาน ACC ของวอล-มาร์ตมีภาระค่าใช้จ่ายอย่างต่ำประมาณ 160,000 บาท/โรง ฟาร์มเพาะเลี้ยง ประมาณ 60,000 บาท/ฟาร์มอย่างไรก็ดี แม้ว่าภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่ผู้ส่งออกกุ้งของไทยก็จำเป็นต้องทำเพื่อรักษาตลาดไว้ เนื่องจากวอล-มาร์ตเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในสหรัฐฯ แต่ทางแก้ไขในการลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงได้คือการติดต่อกับหน่วยงานอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ เพื่อขอให้วอล-มาร์ตยอมรับหนังสือรับรองที่ออกโดยกรมประมง โดยไม่ต้องให้ ACC มาตรวจสอบอีก

ส่วนกรณีที่สหรัฐฯเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทย โดยในปี 2548 ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไทยจ่ายเงินค้ำประกันซี-บอนด์ประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท คาดว่าในปี 2549 นี้ จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 100-200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือ 4,000-8,000 ล้านบาท ประเด็นที่จะต้องติดตามคือ

-การดำเนินการฟ้องร้องกับองค์การการค้าโลก ตามที่ไทยได้ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก(ดับบลิวทีโอ) กรณีที่สหรัฐฯเก็บภาษีกุ้งนำเข้าจากไทยซ้ำซ้อน โดยเก็บทั้งอากรตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี)และวางพันธบัตรค้ำประกันส่งออก (ซี-บอนด์)นั้น ในวันที่ 1 สิงหาคม 2549 คณะผู้แทนไทยถาวรที่เจนีวาจะเข้ารับฟังคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่จากสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(ยูเอสทีอาร์) และกรมศุลกากรสหรัฐฯ โดยฝ่ายสหรัฐฯจะต้องชี้แจงประเด็นต่างๆ ทั้งเหตุผลการวางซี-บอนด์และการให้คำตอบว่าสหรัฐฯยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวหรือไม่ สำหรับการชี้แจงภายใน 1 วันก็จะทราบผลทันทีว่าไทยจะพอใจคำชี้แจงของสหรัฐฯหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการส่งข้อมูล ผลกระทบจากการเก็บค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นกับผู้ส่งออกกุ้งไทยไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯแล้ว ทั้งนี้หากคำชี้แจงดังกล่าวไม่เป็นที่น่าพอใจกับฝ่ายไทย สามารถยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการตัดสินข้อพิพาทภายใต้ดับบลิวทีโอได้ภายใน 30 วันเพื่อให้คนกลางเข้ามาพิจารณาและตัดสินเรื่องดังกล่าวต่อไป

-การทบทวนการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดนั้นดำเนินการมาครบ 1 ปี กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯให้สิทธิประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขอทบทวนอัตราภาษีตั้งแต่เดือนมีนาคม 2549 เนื่องจากส่วนต่างของการทุ่มตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯให้ทางเลือกกับบริษัทผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไทย 2 ทางคือ การขอทบทวนภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ทางกระทรวงพาณิชย์จะสุ่มเลือกบริษัทผู้ส่งออกกุ้งของไทยเพียง 3 บริษัทมาเป็นตัวแทนในการตอบข้อมูลแบบสอบถาม โดยคัดเลือกจากบริษัทที่ยื่นคำร้องขอทบทวนโดยสมัครใจและบริษัทที่ทางกระทรวงพาณิชย์คัดเลือกเอง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจะนำข้อมูลที่ได้รับไปประมวลผลเพื่อกำหนดอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดครั้งใหม่ ส่วนทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการขอถอนคำร้องทบทวนอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดปี 2549 ซึ่งบริษัทผู้ส่งออกกุ้งที่เลือกทางเลือกนี้จะยอมรับข้อเสนอโดยการยอมจ่ายเงินให้กับกลุ่มพันธมิตรชาวประมงกุ้งภาคใต้ 8 มลรัฐแลกกับการคงอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดไว้เท่าเดิมอีก 1 ปี ซึ่งทางเลือกนี้นับว่าเป็นการลดความเสี่ยงในการที่จะถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่เพิ่มขึ้นหลังจากการพิจารณาทบทวนประจำปี

ตลาดสหภาพยุโรป แม้ปริมาณการส่งออกในตลาดยุโรปจะเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ผู้นำเข้ายังคงเป็นรายเดิม ปัจจัยหนุนคือไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดสหภาพยุโรปดีขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงในการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปสร้างเงื่อนไขในเรื่องของการตรวจสอบสารตกค้างเพิ่มขึ้นมาอีกเช่น การตรวจสอบสารตกค้าง Malachite Green หรือการออกระเบียบเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของการปนเปื้อนของสารไดอ็อกซินในผลิตภัณฑ์ เป็นต้น รวมทั้งการเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่งสำคัญ เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกกุ้งต่างหันมาขยายการส่งออกสู่ตลาดสหภาพยุโรป หลังจากเผชิญปัญหาการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการเรียกเก็บเงินค้ำประกันการส่งออกในตลาดสหรัฐฯ ประเทศที่น่าจับตามองคือ เอกวาดอร์ จีน บราซิลและเวียดนาม กล่าวคือการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของเอกวาดอร์ไปยังตลาดสเปนและอิตาลีเติบโตอย่างรวดเร็วมากต่อเนื่องจากในปี 2548 ส่วนจีนนั้นการส่งออกมายังสหภาพยุโรปกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากที่สหภาพยุโรปยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้า สำหรับบราซิลและเวียดนามก็มีการขยายตลาดมายังสหภาพยุโรปมากขึ้นด้วยเช่นกัน หลังจากที่ต้องเผชิญปัญหาในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ

ตลาดญี่ปุ่น สถานการณ์ตลาดในญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอย ตลาดไม่มีการขยายตัว จากผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนทำให้สินค้าจากไทยมีราคาแพง ไม่สามารถสู้กับประเทศคู่แข่งได้ นอกจากนี้ผู้บริโภคในญี่ปุ่นมีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รูปแบบใหม่ตามฤดูกาล และส่วนใหญ่ผู้ค้าญี่ปุ่นเริ่มที่จะมีการส่งวัตถุดิบของตนมาให้แปรรูป ปัจจุบันไทยครองอันดับห้าในการส่งออกกุ้งสดแช่แข็งไปยังญี่ปุ่น รองจากเวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดียและจีน โดยประเทศเหล่านี้เผชิญปัญหาในการส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯ จึงหันมาขยายตลาดญี่ปุ่น นอกจากนี้คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคกุ้งกุลาดำขนาดใหญ่ ซึ่งไทยมีการผลิตน้อย เนื่องจากปัจจุบันไทยหันไปเพิ่มการเลี้ยงกุ้งขาว การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดญี่ปุ่นจึงไม่ขยายตัวมากนักเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขัน

ประเด็นที่น่าจับตามองในตลาดญี่ปุ่นคือ ผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปมีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากตลอดช่วงระยะ 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ตลาดกุ้งแปรรูปในญี่ปุ่นเป็นที่จับตามองของหลายประเทศที่ประสบปัญหามาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในสหรัฐฯ คาดว่าในปี 2549 การแข่งขันในการแย่งตลาดกุ้งแปรรูปในญี่ปุ่นจะเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศคู่แข่งที่น่าจับตามองของไทยในตลาดญี่ปุ่น คือ จีนและเวียดนาม ซึ่งผู้ส่งออกกุ้งของไทยต้องหันมาปรับสัดส่วนการผลิตกุ้งแปรรูปเพื่อขยายการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น

คาดการณ์ปี 2550…ผลผลิตเพิ่ม ส่งออกขยายตัว
คาดว่าในปี 2550 สภาพภูมิอากาศจะเข้าสู่ภาวะปกติ ปริมาณการเลี้ยงกุ้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยผลกระทบจากลานินญาจะหมดไปในปี 2549 นี้ และขนาดของกุ้งที่เข้าสู่ตลาดก็มีแนวโน้มเป็นขนาดกุ้งใหญ่ ทำให้ราคาเฉลี่ยกุ้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่ประสบปัญหาขาดทุนจากการที่ต้องจับกุ้งก่อนกำหนดและราคากุ้งตกต่ำดังเช่นที่เกิดขึ้นในปีนี้ โดยตามแผนยุทธศาสตร์กุ้ง(ปี 2549–2551) คาดว่าจะมีการเพิ่มพื้นที่การเลี้ยงกุ้งอีกร้อยละ 10.0 และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มผลผลิตกุ้งขาวให้ได้ 950 กิโลกรัมต่อไร่ และกุ้งกุลาดำ 700 กิโลกรัมต่อไร่ จากในปัจจุบันที่มีผลผลิตเฉลี่ย 800 กิโลกรัมต่อไร่ และ 565 กิโลกรัมต่อไร่ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการปรับสัดส่วนพื้นที่การผลิตกุ้ง โดยการขยายพื้นที่เลี้ยงกุ้งขาว ซึ่งเป็นกุ้งที่เป็นที่นิยมบริโภคทั้งในตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรป จากเดิมที่มีการเลี้ยงกุ้งขาวร้อยละ 45 ของพื้นที่เลี้ยงกุ้งทั้งหมด และกุ้งกุลาดำร้อยละ 55 มาเป็นกุ้งขาวร้อยละ 70 กุ้งกุลาดำร้อยละ 30 สำหรับกุ้งกุลาดำซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคในตลาดญี่ปุ่นแต่ต้องเป็นกุ้งขนาดใหญ่นั้นก็มีการปรับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้ได้ตามความต้องการของตลาด

ส่วนการส่งออกกุ้งไทยในปี 2550 คาดว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้ว่าจะต้องเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงเช่นเดียวกับในปี 2549 แต่คาดว่าผู้ส่งออกกุ้งของไทยยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดและเจาะขยายตลาดเพิ่มเติมได้ โดยตลาดที่คาดว่าผู้ส่งออกกุ้งของไทยจะขยายการส่งออกได้อย่างมากคือ ตลาดสหภาพยุโรป โดยไทยมีข้อได้เปรียบประเทศคู่แข่งขันที่เทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งของไทยจึงไม่กังวลกับการตรวจพบสารตกค้าง โดยผู้ส่งออกกุ้งตั้งเป้าหมายขยายการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปในปี 2550 เท่ากับ 50,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากในปี 2549 ถึง 1.5 เท่าตัว ส่วนตลาดสหรัฐฯนั้นการส่งออกในปี 2550 ผู้ส่งออกกุ้งของไทยต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากเพิ่มมาตรการตรวจสอบคุณภาพสินค้าของห้างวอล-มาร์ต แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ

-การประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดใหม่ที่คาดว่าจะมีการประกาศในช่วงปลายปี 2549 หลังจากการทบทวนอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งถ้ายังคงอัตราภาษีเท่าเดิมทุกประเทศก็เท่ากับว่าไทยยังคงได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ แต่ผู้ส่งออกกุ้งของไทยจะเสียเปรียบในการแข่งขันถ้าอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของประเทศคู่แข่งต่ำกว่า

-คำตัดสินขององค์การการค้าโลกเกี่ยวกับการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออกกุ้งของสหรัฐฯ ซึ่งประเทศผู้ส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐฯยื่นคำฟ้องต่อองค์การการค้าโลก ถ้าองค์การการค้าโลกมีคำตัดสินให้สหรัฐฯเลิกกำหนดวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก ก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากต้นทุนของผู้ส่งออกกุ้งของไทยมีแนวโน้มลดลง

ส่วนตลาดญี่ปุ่นนั้นการส่งออกของไทยน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากผู้ส่งออกกุ้งของไทยมีการปรับการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น กล่าวคือ มีการปรับเพิ่มขนาดของกุ้งกุลาดำ เนื่องจากตลาดญี่ปุ่นนิยมบริโภคกุ้งกุลาดำขนาดใหญ่ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งจะมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตกุ้งมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ราคากุ้งส่งออกของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ ทำให้ไทยน่าจะแย่งตลาดคืนมาจากประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนามและอินเดีย นอกจากนี้การที่ผู้ส่งออกกุ้งของไทยหันมาขยายสัดส่วนการส่งออกกุ้งแปรรูป ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์กุ้งที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากในตลาดญี่ปุ่น อันเนื่องจากความนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ไปประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้าน

นอกจากการขยายการส่งออกกุ้งไปยังตลาดหลักทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่นแล้ว ผู้ส่งออกกุ้งยังมีแผนจะเปิดตลาดใหม่เพิ่มขึ้น โดยเน้นตลาดที่มีศักยภาพก่อน เช่น การจัดโรดโชว์ในประเทศที่มีอำนาจซื้อสูง โดยเฉพาะสเปน รัสเซีย อียิปต์ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี อังกฤษ เบลเยียม และฝรั่งเศส โดยการเข้าไปสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้นำเข้าด้วยระบบตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)

อย่างไรก็ตามเพื่อทำให้การส่งออกสินค้ากุ้งของไทยมีความยั่งยืน และยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งของโลกได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกร ห้องเย็น ผู้ส่งออกจะต้องร่วมกันพัฒนาวัตถุดิบซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการแข่งขัน โดยทุกฝ่ายต้องสร้างความร่วมมือด้านเสถียรภาพราคากุ้ง ซึ่งราคาที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ควรอยู่ที่ 150-155 บาท/กก.(ขนาด 50 ตัว/กก.) สูงสุดไม่เกิน 165 บาท และต่ำสุดไม่เกิน 140 บาท/กก. หากสามารถสร้างเสถียรภาพได้จะจูงใจเกษตรกรในการเลี้ยง ส่วนผู้ส่งออกสามารถทำตลาดได้อีกมาก เพราะเวลานี้ผู้ส่งออกของไทยสามารถเจาะตลาด โดยสามารถส่งตรงถึงผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน

บทสรุป
กุ้งและผลิตภัณฑ์เริ่มมีการส่งออกกระเตื้องขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2548 และต่อเนื่องถึงในปี 2550 ทั้งนี้จากปัจจัยเกื้อหนุนในด้านการผลิตที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศคู่แข่งขันหลายประเทศต้องเผชิญปัญหาด้านโรคระบาดและปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต ทำให้การผลิตกุ้งในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ส่วนการส่งออกในตลาดสำคัญทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มขยายตัวเช่นกัน โดยเฉพาะการส่งออกสู่ตลาดสหภาพยุโรปจะขยายตัวอย่างโดดเด่น เนื่องจากไทยได้รับคืนจีเอสพีและมีความได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงในระบบปิด ทำให้สามารถควบคุมสุขอนามัยในด้านการผลิต ซึ่งส่งผลให้สามารถผ่านมาตรการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้นของตลาดสหภาพยุโรปได้ ส่วนตลาดสหรัฐฯคาดว่าไทยจะยังสามารถครองสัดส่วนตลาดเป็นอันดับหนึ่งอยู่ได้ และการส่งออกก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่สหรัฐฯเรียกเก็บจากผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง รวมทั้งผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยยังคงสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามต้องรอดูอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดใหม่ที่จะประกาศในช่วงปลายปี 2549 รวมทั้งคำตัดสินขององค์การการค้าโลกในการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก โดยทั้งสองปัจจัยนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางการส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯ

นอกจากนี้ทางภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกุ้งต้องร่วมมือกันแก้ไขอุปสรรคของการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้ง โดยเฉพาะการส่งออกในตลาดสหรัฐฯ โดยการเจรจาในเรื่องการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก ซึ่งอยู่ในระหว่างการยื่นฟ้องกับองค์การการค้าโลก และการให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ต้องให้ข้อมูลเพื่อให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯพิจารณาทบทวนภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งถ้าผลออกมาแล้วผู้ส่งออกไทยยังคงอยู่ในสถานะได้เปรียบคู่แข่งขันก็นับว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างมากในการขยายตลาดการส่งออกกุ้งในปี 2551