มูลค่าการนำเข้ายารักษาโรคของไทยในปี 2548 ตามพิกัด 3003-3004 ของกรมศุลกากรมีทั้งสิ้น 22,234.0 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าการส่งออกมีทั้งสิ้น 4,557.6 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าทางด้านยารักษาโรค 17,676.4 ล้านบาท สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 มูลค่าการนำเข้ายารักษาโรคมีทั้งสิ้น 12,756.5 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่มูลค่าการส่งออกยารักษาโรคมีมูลค่า 2,049.2 ล้านบาทลดลงร้อยละ 5.2 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ในครึ่งแรกปี 2549 ไทยยังคงขาดดุลทางด้านการค้ายารักษาโรคคิดเป็นมูลค่า 10,707.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดดุล 8,539.5 ล้านบาท ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้คาดว่าตลอดทั้งปี 2549 ไทยจะขาดดุลการค้าทางด้านยารักษาโรคถึงประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักจากการนำเข้ายาที่ได้รับความคุ้มครองทางด้านสิทธิบัตรซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยารักษาโรคจากยุโรปและสหรัฐฯ ประการสำคัญจากการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนส่งผลให้ความต้องการยารักษาโรคที่ได้รับความยอมรับถึงคุณภาพจากต่างประเทศของผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศที่มีรายได้สูงมีเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรหาหนทางชะลอการนำเข้ายารักษาโรคอาทิ เช่น การสนับสนุนให้ต่างประเทศใช้ไทยเป็นฐานการผลิตยารักษาโรคเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้ยาแผนปัจจุบันและสมุนไพรของไทยที่มีสรรพคุณทางด้านการรักษาโรคใกล้เคียงกันเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งส่งเสริมการส่งออกเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากการขาดดุลการค้าทางด้านยารักษาโรคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประเทศไทยได้พัฒนาการผลิตยาเพื่อใช้รักษาโรคมาอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการในประเทศและเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยจากข้อมูลของกองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่านับตั้งแต่ปี 2526 จนถึงปี 2543 ไทยมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่ผลิตในประเทศ 33,467 ตำรับแยกเป็นยาแผนปัจจุบัน 27,651 ตำรับ และยาแผนโบราณ 5,816 ตำรับ สำหรับมูลค่าการผลิตยาในปี 2547 มีทั้งสิ้น 34,032 ล้านบาทแยกเป็นการมูลค่าการผลิตยาแผนปัจจุบัน 32,640 ล้านบาทและการผลิตยาแผนโบราณมูลค่า 1,392 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเนื่องจากการผลิตยาในประเทศยังคงไม่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ยาในประเทศได้ทั้งหมดโดยเฉพาะยาต้นแบบ(Original Drug) จากต่างประเทศซึ่งได้รับความคุ้มครองทางด้านกฎหมายสิทธิบัตร ทำให้ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้การขาดดุลการค้าทางด้านยารักษาโรคของไทยมีมาอย่างต่อเนื่องดังจะสังเกตได้จากปี 2545 ไทยมีมูลค่าการนำเข้ายา 13,176.1 ล้านบาทและมีมูลค่าการส่งออกยา 2,914.1 ล้านบาทขาดดุลด้านการค้ายารักษาโรค 10,262.0 ล้านบาท มาในปี 2546 มูลค่าการนำเข้ายารักษาโรคเพิ่มขึ้นเป็น 16,356.2 ล้านบาทในขณะที่มูลค่าการส่งออกยารักษาโรคก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 3,290.5 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าทางด้านยารักษาโรคเพิ่มขึ้นเป็น 13,065.7 ล้านบาท สำหรับในปี 2547 การขาดดุลการค้ายารักษาโรคยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2546 คือประมาณ 13,962.2 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้า 17,795.3 ล้านบาทและการส่งออก 3,833.1 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2548 และปี 2549 ไทยยังคงประสบปัญหาการขาดดุลการค้าด้านยารักษาโรคดังได้กล่าวแล้วเบื้องต้น
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลทำให้ไทยประสบปัญหาทางด้านการขาดดุลการค้ายารักษาโรคกับต่างประเทศเป็นจำนวนมากมีอยู่หลายประการที่พอสรุปได้ดังนี้
ปัจจัยทางด้านสิทธิบัตรยา โดยปกติ การผลิตยาต้นแบบ(Original Drug) ที่มีการคิดค้นขึ้นเป็นรายแรกของโลกจะได้รับความคุ้มครองทางด้านสิทธิบัตรประมาณ 20 ปี ทั้งนี้ประเทศสหรัฐฯและกลุ่มประเทศในยุโรปจะเป็นผู้ผลิตยาต้นแบบรายใหญ่ของโลก สำหรับในส่วนของไทยนั้นการผลิตยาต้นแบบประสบปัญหาทางด้านเงินลงทุนเครื่องจักรและเงินทุนด้านการวิจัยและพัฒนารวมทั้งระยะเวลาการติดตามผล ทำให้ปัจจุบันไทยยังจำเป็นต้องนำเข้ายาต้นแบบจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง ดังจะสังเกตได้จากแหล่งนำเข้ายาของไทยส่วนใหญ่จะมาจากประเทศสหรัฐฯและประเทศยุโรปซึ่งมีการคิดค้นและพัฒนายาต้นแบบที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรเป็นจำนวนมากซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง โดยอันดับหนึ่งได้แก่ สหรัฐฯมีส่วนแบ่งตลาดยานำเข้าของไทยประมาณร้อยละ 10.4 รองลงมาได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.1 ร้อยละ 9.7 และร้อยละ 7.9 ตามลำดับ
ปัจจัยทางด้านต้นทุนการผลิต ในปัจจุบัน นอกจากประเทศไทยจะนำเข้ายารักษาโรคจากประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการค้นคว้ายารักษาโรคใหม่ๆ ในขณะเดียวกันไทยก็มีการนำเข้ายาจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ทั้งในส่วนของยาที่มีสิทธิบัตรและยาสามัญพื้นฐานทั่วไปที่ไม่มีปัญหาทางด้านสิทธิบัตรหรือยาเลียนแบบ(Generic Drug) โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการนำเข้ายารักษาโรคจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาทิ อินเดียจากมูลค่านำเข้า 234.5 ล้านบาทในปี 2545 มาเป็น 511.5 ล้านบาทในปี 2548 ส่วนในช่วงครึ่งแรกปี 2549 มีมูลค่านำเข้า 305.9 ล้านบาทมูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 26.2 ในขณะที่มูลค่านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นจาก 240.5 ล้านบาทในปี 2545 มาเป็น 505.9 ล้านบาทในปี 2548 และ 272.3 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 และการนำเข้าจากอินโดนีเซียมูลค่า 256.3 ล้านบาทในปี 2545 มาเป็น 202.3 ล้านบาทในปี 2548 และ 137.7 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.5
การเติบโตของธุรกิจทางด้านสุขภาพ ผลจากการที่ภาครัฐได้ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรักษาทางการแพทย์แก่ชาวต่างชาติ ในภูมิภาคเอเชีย โดยมีความพร้อมทางด้านบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล รวมทั้งมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยแต่มีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกงและมาเลเซีย รวมทั้งความพร้อมทางด้านกลุ่มธุรกิจสนับสนุน อาทิ สมุนไพรไทย สปาและการนวดแผนไทย รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งช้อปปิ้งสินค้าที่มีเป็นจำนวนมาก โดยจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการส่งออกพบว่าปี 2548 โรงพยาบาลเอกชนของไทยมีคนไข้ชาวต่างชาติเข้าใช้บริการประมาณ 1.25 ล้านคน ส่วนในปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าโรงพยาบาลเอกชนของไทยจะมีคนไข้ชาวต่างชาติประมาณ 1.4 ล้านคน ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงปริมาณความต้องการบริโภคยารักษาโรคนำเข้าที่มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยาราคาแพงที่มีคุณภาพและมีตราสินค้าที่ได้รับความเชื่อถือจากคนไข้ ซึ่งพร้อมจะแบกรับภาระค่ายารักษาโรคที่สูงได้
เป็นที่น่าสังเกตว่า การนำเข้ายารักษาโรคจากต่างประเทศแม้ว่าจะมีความจำเป็นในส่วนของยารักษาโรคที่ยังคงได้รับความคุ้มครองด้านสิทธิบัตร รวมทั้งเพื่อรองรับการเติบโตของคนไข้ชาวต่างประเทศในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนซึ่งหากมองในแง่ดีก็ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มกับมาทางด้านรายได้จากค่ารักษาพยาบาลของชาวต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การนำเข้ายารักษาโรคคิดเป็นมูลค่าที่สูงขึ้นทุกปีก็ส่งผลต่อปัญหาการขาดดุลการค้าด้านยารักษาโรคต่อเนื่องในระยะยาว ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมมือกันหามาตรการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป โดยมีรายระเอียดสรุปได้ดังนั้น
1.ส่งเสริมการใช้ยารักษาโรคที่ผลิตในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้ายารักษาโรคจากต่างประเทศ ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการต้องเร่งสร้างความยอมรับด้านคุณภาพมาตรฐานยาไทยด้วยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย รวมทั้งรณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้ยารักษาโรคที่ผลิตในประเทศในส่วนที่มีคุณภาพเท่าเทียมและราคาถูกกว่าหรือใกล้เคียงกับต่างประเทศ ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรซึ่งไทยมีวัตถุดิบในประเทศที่หลากหลายซึ่งสามารถนำมาใช้ผลิตเป็นยาแผนโบราณที่สามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันโดยมีผลข้างเคียงน้อยกว่า
2.สนับสนุนให้บริษัทยาต่างประเทศย้ายฐานการผลิตมาไทย มูลค่าตลาดยารักษาโรคทั้งระบบของไทยจากข้อมูลขององค์การเภสัชกรรมพบว่ามีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจำนวนประชากรและรายได้ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนับเป็นการสนับสนุนให้บริษัทยาจากต่างประเทศสนใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ดังนั้นภาครัฐจึงควรสร้างแรงจูงใจทางด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆทางด้านการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมผลิตยารักษาโรคซึ่งจะทำให้บริษัทยาจากต่างประเทศสนใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศแล้วยังสามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้อีกด้วย
3.เพิ่มมูลค่าการส่งออกยา ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตยาของผู้ประกอบการไทยมีความทันสมัยและมีต้นทุนการผลิตไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียโดยเฉพาะยาเลียนแบบ(Generic Drug) ซึ่งเป็นยาสามัญพื้นฐานทั่วไปที่มีรูปแบบเดียวกับยาต้นแบบซึ่งระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรหมดลง ทำให้บริษัทยาทั่วๆไปสามารถผลิตยาชนิดเดียวกับยาต้นแบบออกจำหน่ายได้ในราคาที่ต่ำลง ทั้งนี้ตลาดส่งออกยารักษาโรคที่มีแนวโน้มสดใสได้แก่ ประเทศอาเซียนซึ่งยังไม่สามารถผลิตยาที่มีคุณภาพเพื่อใช้ในประเทศได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ รวมไปถึงตลาดอื่นๆที่น่าสนใจได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ศรีลังกา เนปาล ทั้งนี้จากข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่าตลาดส่งออกยาทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 201,326.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 เพิ่มขึ้นจาก 184,816 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547 ทั้งนี้ประเทศผู้ส่งออกยารายใหญ่ 10 อันดับแรกของโลกส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ สำหรับประเทศในเอเชียที่มีบทบาททางด้านการส่งออกยาไปตลาดโลก และถือเป็นคู่แข่งทางด้านการส่งออกยาของไทยที่สำคัญได้แก่อินเดียและจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตยาที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ โดยเฉพาะยาเลียนแบบที่ไม่มีสิทธิบัตรหรือยาที่สิทธิบัตรหมดอายุ โดยอินเดียและจีนมีการส่งออกยาคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.1 และร้อยละ 0.3 ของตลาดส่งออกยาของโลกทั้งหมด สำหรับในส่วนของประเทศไทยนั้นหากพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกยาแล้วถือว่ายังมีบทบาทในตลาดส่งออกยาของโลกค่อนข้างน้อยเพียงประมาณ 113.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.06 ของตลาดส่งออกยาโลกเท่านั้น ดังนั้นหากไทยได้มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตยาให้มีคุณภาพมาตรฐานสากลมากขึ้นทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณก็จะสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้นและช่วยลดปัญหาการขาดดุลการค้าทางด้านยารักษาโรคลงมาได้
กล่าวโดยสรุปแล้ว มูลค่าตลาดยารักษาโรคทั้งระบบของไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจำนวนประชากร รวมทั้งรายได้ของประชาชนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และยิ่งธุรกิจโรงพยาบาลมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการยารักษาโรคขยายตัวตาม อย่างไรก็ตาม การที่ไทยยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้ายารักษาโรคจากต่างประเทศในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงกว่ามูลค่าการส่งออกมากเป็นภาวะที่ไม่พึงปรารถนา ดังนั้นการเร่งลดการนำเข้าโดยการสนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้ยารักษาโรคที่ผลิตในประเทศควบคู่ไปกับผลักดันการส่งออกจะช่วยลดปัญหาการขาดดุลการค้าทางด้านยารักษาโรคให้ลดน้อยลงได้