กล้วยไม้ตัดดอก : ไทยส่งออกที่ 1 ของโลก…มูลค่า 2,600 ล้านบาท

ไทยครองอันดับส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกเมืองร้อนมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาเป็นเวลานาน และมูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเริ่มตระหนักคือ การส่งออกกล้วยไม้ของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งจากประเทศที่เป็นคู่แข่งมานานอย่างไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย รวมทั้งคู่แข่งใหม่ที่น่ากลัวอย่างเวียดนามและนิวซีแลนด์ โดยประเทศคู่แข่งเหล่านี้เร่งพัฒนาทางเทคโนโลยีการผลิตเพื่อมุ่งเพิ่มคุณภาพของกล้วยไม้ตัดดอกและต้นกล้วยไม้ นับว่าการส่งออกกล้วยไม้ของไทยกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ที่บรรดาผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาตลาดเดิมและเร่งขยายตลาดใหม่

แหล่งผลิต…ไทยศูนย์กลางภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
พื้นที่ปลูกกล้วยไม้ในประเทศไทยมีประมาณ 20,000 ไร่ โดยเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-2 ต่อปี พื้นที่ปลูกกล้วยไม้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงได้แก่นครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี ปทุมธานีและพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเหมาะกับการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ ใกล้แหล่งน้ำ ใกล้ตลาด และมีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก พื้นที่ปลูกกล้วยไม้มีแนวโน้มที่จะย้ายจากกรุงเทพฯไปจังหวัดใกล้เคียงมากขึ้น เนื่องจากที่ดินมีราคาสูงและประสบปัญหามลภาวะของน้ำและอากาศ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของกล้วยไม้ ปัจจุบันพื้นที่เหมาะสมในการปลูกกล้วยไม้เชิงธุรกิจได้แก่ นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และชลบุรี

ผลผลิตดอกกล้วยไม้เฉลี่ยประมาณ 44,000-45,000 ตัน/ปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1-2 ต่อปี โดยแยกเป็นปริมาณการใช้ในประเทศร้อยละ 50 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 นั้นส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งการส่งออกดอกกล้วยไม้ร้อยละ 95 ของกล้วยไม้ที่ส่งออกทั้งหมดเป็นกล้วยไม้สกุลหวาย

ตลาดกล้วยไม้…การค้าในตลาดโลก
มูลค่าการค้ากล้วยไม้ในตลาดโลกสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแยกเป็นมูลค่าการค้ากล้วยไม้ตัดดอกร้อยละ 85.0 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์Dendrobrium และต้นกล้วยไม้ร้อยละ 15.0 ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์Phalaenopsis และ Cymbidium ซึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งผลิตกล้วยไม้หลักเพื่อป้อนตลาดโลก โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกอันดับหนึ่งของโลก โดยเฉพาะกล้วยไม้ตัดดอกเมืองร้อน รองลงมาคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และประเทศในสหภาพยุโรปโดยเฉพาะอิตาลี

ส่วนตลาดนำเข้าสำคัญของกล้วยไม้คือ ญี่ปุ่นโดยเฉพาะกล้วยไม้ตัดดอก มูลค่าการค้ากล้วยไม้ผ่านตลาดประมูลดอกไม้ในญี่ปุ่นมีมูลค่าสูงถึง 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี ซึ่งกล้วยไม้ส่วนใหญ่นั้นญี่ปุ่นสามารถผลิตได้เอง รวมทั้งกล้วยไม้เมืองร้อนที่ปลูกในโอกินาวา อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นยังเป็นตลาดสำคัญที่นำเข้ากล้วยไม้ โดยมีมูลค่านำเข้าประมาณ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 23.0 ของกล้วยไม้ที่จำหน่ายในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งในแต่ละปีญี่ปุ่นนำเข้ากล้วยไม้ถึงร้อยละ 42.0 ของกล้วยไม้ที่มีการค้าในตลาดโลกทั้งหมด โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการนำเข้าจากไทย รองลงมาคือนิวซีแลนด์ร้อยละ 19 สิงคโปร์ร้อยละ 13.0 และที่เหลือนำเข้าจากไต้หวัน มาเลเซีย และศรีลังกา

อิตาลีเป็นประเทศที่นำเข้ากล้วยไม้มากเป็นอันดับสองของโลก มูลค่านำเข้าประมาณ 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี โดยประมาณร้อยละ 50.0 นำเข้าจากไทย ส่วนที่เหลือนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งกล้วยไม้ส่วนนี้เป็นกล้วยไม้เมืองร้อนที่เนเธอร์แลนด์นำเข้าจากประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และส่งออกมายังอิตาลีอีกต่อหนึ่ง สำหรับประเทศที่นำเข้ากล้วยไม้ที่มีความสำคัญรองลงมาคือ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐฯ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย เบลเยี่ยม กรีซ โปรตุเกส สเปน สวีเดน แคนาดา ฟินแลนด์ เดนมาร์ค และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศที่นำเข้ากล้วยไม้ที่สำคัญส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแถบตะวันตก นอกจากนี้สหรัฐฯสามารถผลิตกล้วยไม้ได้ในมลรัฐฮาวายแต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้า

แหล่งผลิตต้นกล้วยไม้ที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกคือจีน แต่จีนนั้นส่วนใหญ่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศ ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกต้นกล้วยไม้เป็นอันดับสองของโลกรองจากไต้หวัน สำหรับประเทศที่ส่งออกต้นกล้วยไม้ที่สำคัญในตลาดโลกอันดับรองลงมาคือ อังกฤษ อิตาลี ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ บราซิล อินเดีย มาเลเซีย ไอวอรี่โคสต์ ศรีลังกา เปรู มอริธัส เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาดากัสการ์ และจีน ส่วนแหล่งนำเข้าที่สำคัญของต้นกล้วยไม้คือ สหรัฐฯโดยมูลค่าการนำเข้าเกือบ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี ส่วนใหญ่นำเข้าต้นกล้วยไม้ทั้งสายพันธุ์Phalaenopsis ซึ่งร้อยละ 60.0 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดนำเข้าจากไต้หวัน ส่วนตลาดนำเข้าที่มีความสำคัญรองลงมาคือ ตลาดสหภาพยุโรปที่นำเข้าต้นกล้วยไม้ทั้งสายพันธุ์Phalaenopsis และ Cymbidium

ดอกกล้วยไม้ไทย…ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก
อุตสาหกรรมกล้วยไม้ของไทยเจริญก้าวหน้าอย่างมากสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาไม้ดอกไม้ประดับทั้งหมดที่มีการส่งออก และไทยอยู่ในอันดับหนึ่งในการส่งออกดอกกล้วยไม้ของโลก โดยกล้วยไม้จากไทยมีความโดดเด่นทั้งในด้านสีสันและรูปร่างของดอก ซึ่งการส่งออกดอกกล้วยไม้และต้นกล้วยไม้มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยตลอด ตลาดต่างประเทศจะนิยมสั่งซื้อกล้วยไม้สกุลหวาย เนื่องจากสีสันสดใส และระยะเวลาในการใช้งานนาน ส่วนตลาดในประเทศขณะนี้ดอกกล้วยไม้เป็นที่นิยมมากขึ้นกว่าในอดีตเห็นได้จากในงานพิธีและเทศกาลต่างๆ ผู้จัดงานหันมาใช้ดอกกล้วยไม้กันมากขึ้น เนื่องจากมีระยะการใช้งานนานและราคาไม่แพง จากเดิมที่นิยมไม้ตัดดอกประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะดอกกุหลาบ ซึ่งเท่ากับว่าความต้องการกล้วยไม้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ในช่วงครึ่งแรกปี 2549 มูลค่าการส่งออกดอกกล้วยไม้และต้นกล้วยไม้ของไทยเท่ากับ 36.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในปีนี้การขยายตัวของการส่งออกไม่สูงนักก็ตาม เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญมีแนวโน้มลดลงอย่างมากกล่าวคือ ในช่วงครึ่งแรกปี 2549 มูลค่าการส่งออกดอกกล้วยไม้เท่ากับ 30.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักลดลง แต่การส่งออกไปยังสหรัฐฯยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งการส่งออกไปยังตลาดใหม่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดจีน อินเดีย และสหรัฐอาหรับฯ ส่วนมูลค่าการส่งออกต้นกล้วยไม้ในช่วงครึ่งแรกปี 2549 เท่ากับ 6.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 4.6 ทั้งนี้เนื่องจากการส่งออกไปยังญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ และเนเธอร์แลนด์ลดลง อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯและเกาหลีใต้ยังมีแนวโน้มขยายตัว

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้ตลาดกล้วยไม้ขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออกดอกกล้วยไม้ร่วง ซึ่งโดยปกติโรงงานส่งออกดอกกล้วยไม้จะทิ้ง แต่หากนำมาแช่น้ำให้ดอกไม้อิ่มน้ำ และนำไปผึ่งให้แห้งใส่ถุงพลาสติกเพื่อส่งออกไปจำหน่ายให้กับภัตตาคาร/ร้านอาหาร ทั้งนี้เพื่อนำไปประดับจานอาหารหรือประดับแก้วเครื่องดื่มก็จะเป็นอีกตลาดหนึ่งที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตลาดกล้วยไม้ รวมทั้งการขยายตลาดส่งออกโดยการเปิดจำหน่ายดอกกล้วยไม้ทางอินเทอร์เนตเพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสสั่งซื้อกล้วยไม้ได้ทันที และการเข้าเป็นสมาชิกตัวแทนจัดจำหน่ายกล้วยไม้ระบบขายตรงทั่วโลก

แนวโน้มตลาดส่งออกดอกกล้วยไม้ที่สำคัญของไทยในปี 2549 มีดังนี้

-ญี่ปุ่น ไทยส่งออกทั้งดอกกล้วยไม้และต้นกล้วยไม้ไปยังตลาดญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด ซึ่งในตลาดญี่ปุ่นไทยต้องแข่งขันกับประเทศไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซียและนิวซีแลนด์ รวมทั้งยังต้องแข่งขันกับไม้ตัดดอกประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะดอกเบญจมาศจากเนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ดอกกุหลาบและลิลลี่จากอินเดีย เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามกล้วยไม้ของไทยเป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่นที่นิยมดอกไม้ต่างถิ่นที่มีความสวยงามแปลกแตกต่างออกไป(Exotic Beauty)

ปัจจุบันความต้องการไม้ตัดดอกในญี่ปุ่นอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉลี่ยมูลค่าตลาดไม้ตัดดอกในญี่ปุ่นเท่ากับ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และศูนย์ส่งเสริมไม้ดอกของญี่ปุ่น (The Japanese Flower Promotion Centre) ความต้องการไม้ตัดดอกของญี่ปุ่นยังคงขยายตัวอีกเกือบเท่าตัว อันเป็นผลมาจากในญี่ปุ่นมีเทศกาลหลากหลายเทศกาลที่เป็นการให้ของขวัญ เช่นวันแม่ ช่วงเดือนแห่งการแต่งงานในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และธันวาคม เทศกาลไหว้บรรพบุรุษ(The Prayer Month of Obon)ในช่วงเดือนกรกฎาคม เป็นต้น รวมทั้งการใช้ไม้ตัดดอกในชีวิตประจำวัน ทำให้ความต้องการไม้ตัดดอกเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จะมีความต้องการไม้ตัดดอกเฉพาะบางโอกาสหรือบางสถานที่ เช่น โรงแรม การจัดงานปาร์ตี้ เป็นต้น ทำให้ตลาดไม้ตัดดอกของญี่ปุ่นนั้นเป็นที่สนใจของประเทศผู้ส่งออกไม้ตัดดอกทั่วโลก ดังนั้นผู้ส่งออกกล้วยไม้ของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในญี่ปุ่น โดยเฉพาะการบุกขยายตลาดของไต้หวัน ซึ่งการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกของไต้หวันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกของไต้หวันในปี 2548 เท่ากับ 8.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว ทั้งนี้เป็นผลจากการที่สภาเกษตรของไต้หวันประสบความสำเร็จอย่างมากในการส่งเสริมการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอก โดยเฉพาะการวาดภาพดอกกล้วยไม้ของไต้หวันลงบนเครื่องบินของสายการบินจีน ซึ่งทำให้กล้วยไม้ตัดดอกของไต้หวันเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกงและประเทศต่างๆในตะวันออกกลาง สำหรับคู่แข่งรายใหม่ที่กำลังมาแรงในตลาดญี่ปุ่น คือ นิวซีแลนด์ โดยผลผลิตกล้วยไม้เกือบทั้งหมดของนิวซีแลนด์นั้นส่งป้อนตลาดญี่ปุ่น กล่าวคือมูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกของนิวซีแลนด์เฉลี่ย 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยร้อยละ 60.0 นั้นส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น

-สหรัฐฯ ตลาดสหรัฐฯมีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น และแนวโน้มการส่งออกยังคงเพิ่มขึ้น โดยตลาดกล้วยไม้นำเข้าของสหรัฐฯนั้นแบ่งออกเป็นกล้วยไม้สกุลหวายและกล้วยไม้สกุลอื่นๆ ซึ่งไทยนั้นมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 98 ของการนำเข้ากล้วยไม้สกุลหวาย ในปีนี้สหรัฐฯนำเข้ากล้วยไม้สกุลหวายจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากกล่าวคือ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 สหรัฐฯนำเข้ากล้วยไม้สกุลหวายจากไทย 1.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.6 คู่แข่งสำคัญของกล้วยไม้สกุลหวายของไทยในตลาดสหรัฐฯคือ โคลัมเบีย ปานามา คอสตาริก้า และสิงคโปร์ สำหรับกล้วยไม้พันธุ์อื่นๆไทยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 60 จัดเป็นตลาดอันดับสามของการนำเข้ากล้วยไม้พันธุ์อื่นๆทั้งหมดของสหรัฐฯ คู่แข่งสำคัญของกล้วยไม้พันธุ์อื่นๆของไทยในตลาดสหรัฐฯคือ เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย และบราซิล อย่างไรก็ตามในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 นี้มูลค่าการส่งออกดอกกล้วยไม้พันธุ์อื่นๆไปยังตลาดสหรัฐฯเท่ากับ 692 พันดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นถึง 1.3 เท่าตัว ซึ่งคู่แข่งที่กำลังมาแรงคือโคลัมเบียและไต้หวัน เนื่องจากอัตราการขยายตัวของการนำเข้าของทั้งสองตลาดนี้อยู่ในเกณฑ์สูง แม้ว่ามูลค่าการนำเข้ายังไม่มากนักก็ตาม กล่าวคือ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการนำเข้ากล้วยไม้พันธุ์อื่นๆของสหรัฐจากไต้หวันเท่ากับ 116 พันดอลลาร์สหรัฐฯ และจากโคลัมเบีย 14 พันดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นถึง 3.4 เท่าตัวและ 1.4 เท่าตัวตามลำดับ นอกจากนี้สิ่งที่ต้องจับตามองสำหรับการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯคือ การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการผลิตกล้วยไม้ของมลรัฐฮาวาย รวมทั้งมลรัฐอื่นๆที่เริ่มหันมาลงทุนปลูกกล้วยไม้ ทำให้คาดหมายว่าในอนาคตความต้องการกล้วยไม้นำเข้าของสหรัฐฯอาจจะมีแนวโน้มลดลง หรือมีการเปลี่ยนแปลงไปจากในปัจจุบัน

-สหภาพยุโรป สหภาพยุโรปนั้นนับว่าเป็นประเทศที่สำคัญในการนำเข้ากล้วยไม้พันธุ์ Dendrobium มูลค่าการนำเข้าเฉลี่ย 21 ล้านยูโรต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3 ของการนำเข้าไม้ตัดดอกทั้งหมดของสหภาพยุโรป โดยประเทศในสหภาพยุโรปที่มีความต้องการกล้วยไม้มาก คือ อิตาลีสัดส่วนประมาณร้อยละ 67 ของการนำเข้ากล้วยไม้ทั้งหมด รองลงมาคือ เนเธอร์แลนด์ โดยไทยนั้นเป็นประเทศส่งออกกล้วยไม้ที่สำคัญของสหภาพยุโรปมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 87 รองลงมาเป็นสิงคโปร์ แอฟริกาใต้ และนิวซีแลนด์ และตลาดสหภาพยุโรปนับว่าเป็นตลาดส่งออกกล้วยไม้ที่มีความสำคัญเป็นอันดับสามรองจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ

ประเด็นพึงระวังสำหรับการส่งออกกล้วยไม้คือ สหภาพยุโรปมีนโยบายจัดระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรให้กับประเทศผู้ส่งออกเพื่อสร้างมาตรฐานด้านสุขอนามัยด้านพืชให้เป็นที่ยอมรับทั้งประเทศผู้นำเข้าและส่งออก โดยในส่วนของไทยมีการศึกษาและวิเคราะห์มาตรฐานสินค้าเกษตรในกลุ่มกล้วยไม้ เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญ มีปัญหาการตรวจพบเพลี้ยไฟ โดยเฉพาะผู้ปลูกรายเล็ก ทำให้ขาดการบำรุงรักษาหรือใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งการแก้ปัญหาในเรื่องเพลี้ยไฟนี้ทางบริษัทผู้ส่งออกกล้วยไม้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรหามาตรการป้องกันถ้าพบว่าผู้ปลูกกล้วยไม้ไม่แก้ไข ทางบริษัทจะดำเนินการถอนสัญญาที่ส่งให้บริษัทเป็นการชั่วคราว ส่วนขั้นตอนการรมยานั้นทางบริษัทผู้ส่งออกจะเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยอาจจะต้องปรับโรงรมยาหรือปรับตัวยาให้แรงขึ้น ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อคุณภาพของสินค้าด้วย

อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกกล้วยไม้ทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากไม้ตัดดอกประเภทอื่นๆ ทั้งที่เป็นไม้ตัดดอกที่ผลิตได้ในแต่ละประเทศ และไม้ตัดดอกนำเข้าจากประเทศคู่แข่งของไทย ผู้ส่งออกกล้วยไม้ของไทยเริ่มมองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพิงเฉพาะตลาดหลักดั้งเดิม ซึ่งตลาดที่น่าสนใจคือ จีน โดยในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาจีนนำเข้าดอกกล้วยไม้จากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70-100 ทำให้เกิดภาวะแย่งกันซื้อดอกกล้วยไม้ ทำให้เกษตรกรสามารถขายกล้วยไม้ในราคาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกล้วยไม้ไทยทั้งประเภทไม้ตัดดอกและไม้กระถางตระกูลหวายที่ได้รับความนิยมสูงในตลาดจีน อย่างไรก็ตามตลาดจีนไม่เน้นกล้วยไม้คุณภาพดี แต่เน้นซื้อปริมาณมาก เกรดปานกลาง เช่นเดียวกับที่มีการซื้อขายในบริเวณปากคลองตลาด โดยจะส่งเข้าไปขายในตลาดกลางกล้วยไม้ในเมืองเซี่ยงไฮ้และกว่างโจว ทั้งนี้จีนจะมีการสั่งซื้อกล้วยไม้จากไทยตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันชาติ ตรุษจีน วันสารทจีนที่มีปริมาณความต้องการซื้อสูงและไม่ค่อยต่อราคา ที่ผ่านมาตลาดกล้วยไม้ในจีนกำลังเป็นที่สนใจของประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทั้งไต้หวันก็เข้าไปลงทุนปลูกกล้วยไม้เมืองหนาวในจีน แต่ถือว่าคนละตลาดกับสินค้าของไทยที่เป็นกล้วยไม้เมืองร้อน สิ่งที่น่าห่วงก็คือปัญหาการแข่งขันตัดราคาระหว่างพ่อค้าคนไทยด้วยกันเองจะทำให้เกิดปัญหาขาดทุน

นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกกล้วยไม้คือ ความต้องการดอกกล้วยไม้ในตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยต้องการความแปลกใหม่และหลากหลาย ปัจจุบันการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ในประเทศไทยยังทำกันน้อยมาก และเมื่อได้พันธุ์ใหม่ยังต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปีจึงจะสามารถสรุปได้ว่าพันธุ์นั้นมีอนาคตหรือเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ ทำให้ไทยเสียตลาดบางส่วนให้กับไต้หวันและสิงคโปร์ หรือแม้แต่นิวซีแลนด์ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีการสร้างศูนย์เทคโนโลยีกล้วยไม้และให้เอกชนเข้าไปใช้ประโยชน์ทำให้ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าได้ดี ซึ่งถ้าผู้ส่งออกของไทยหันมาพัฒนาในด้านพันธุ์และเทคโนโลยีก็น่าจะดึงตลาดกลับมาได้

ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าประเทศคู่แข่งจะผลิตดอกกล้วยไม้ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะไต้หวัน สิงคโปร์และมาเลเซีย ทำให้ประเทศไทยต้องหามาตรการและแนวทางในการพัฒนากล้วยไม้ส่งออกอย่างเร่งด่วน โดยศึกษาวิจัย และการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟในกล้วยไม้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับของทั้งเกษตรกรและผู้ส่งออก วิจัยและทดสอบเทคโนโลยีการปลูกและการดูแลรักษาอย่างจริงจัง สนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายทอดความรู้และรวมกลุ่มผู้ซื้อปัจจัยการผลิต ส่งเสริมเกษตรกรให้ปรับปรุงพันธุ์ รวมทั้งการขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ นอกจากตลาดคู่ค้าเดิมด้วย

นอกจากนี้ประเทศที่น่าจับตามองว่าจะเป็นคู่แข่งในการส่งออกกล้วยไม้ของไทยในอนาคตคือ เวียดนาม ปัจจุบันเกษตรกรในเวียดนามเริ่มหันมาปลูกไม้ตัดดอกมากขึ้น โดยไม้ตัดดอกที่ผลิตได้คือ เดซี่ ลิลลี่ กล้วยไม้ และกุหลาบ ซึ่งเวียดนามส่งออกไม้ตัดดอกมูลค่าประมาณ 6.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 1.4 ของมูลค่าการนำเข้าไม้ตัดดอกทั้งหมดของญี่ปุ่น สำหรับการขยายการปลูกกล้วยไม้นั้นแม้ว่าในปัจจุบันกล้วยไม้พันธุ์พื้นเมืองของเวียดนามนั้นคุณภาพยังไม่ดีพอ ทำให้ต้องพึ่งพิงการนำเข้า โดยแหล่งนำเข้าหลักคือไทยและไต้หวัน มูลค่ากว่า 4 พันล้านด่งต่อปี (ราว 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือประมาณ 10 ล้านบาท และราคาจะยิ่งสูงกว่าเดิมอีกหลายเท่า โดยการนำเข้าในปีนี้ราคาสูงกว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อนร้อยละ 15-20 และกล้วยไม้พันธุ์ ม็อคคาร่าในปัจจุบันจำหน่ายในราคา 45,000 ด่งต่อช่อ (ประมาณ 120 บาท) ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ มีราคาช่อละ 50,000-52,000 ด่ง(ประมาณ 130-138 บาท) เมื่อนำเข้าต้นอ่อนกล้วยไม้ โดยทุกสัปดาห์จะมีการนำเข้ากล้วยไม้กว่า 20,000 ช่อเพื่อสนองความต้องการในประเทศที่ต้องการดอกกล้วยไม้ที่หลากสีสันและมีคุณภาพดี สำนักงานการเกษตรและพัฒนาชนบทของนครโฮจิมินห์รายงานว่าปี 2548 พื้นที่ปลูกกล้วยไม้มีทั้งหมด 500 ไร่ เพิ่มขึ้นจาก 156 ไร่ ในปี 2546 และ 312 ไร่ ในปี 2547 และคาดว่าระหว่างปี 2549-2553 นี้จะมีพื้นที่ปลูกกล้วยไม้เพิ่มขึ้นเป็น 1,250 ไร่ เนื่องจากการปลูกกล้วยไม้เป็นกิจการที่สามารถทำกำไรได้ดีและใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่มากเหมือนดอกไม้ประเภทอื่นๆ ทั้งนี้คณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์อนุมัติโครงการลงทุนมูลค่า 14.2 พันล้านด่ง(ประมาณ 380 ล้านบาท) ในการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับดอกไม้ บอนไซ และปลาสวยงาม จนถึงปี 2553 โดยเงินจำนวนดังกล่าวจะใช้ไปในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการปลูกดอกไม้ บอนไซ หรือเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาสวยงามในเชิงธุรกิจและเพื่อใช้ให้เป็นเงินทุนกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4-7 ต่อปีด้วย นอกจากนี้สถาบันชีววิทยาเขตร้อน สถาบันวิทยาศาสตร์เกษตรกรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยเกษตรและป่าไม้ และบริษัทเอกชนบางบริษัทในเวียดนามพยายามที่จะขยายพันธุ์กล้วยไม้ให้ได้หลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น โดยรัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าหมายว่าการพัฒนาการเพาะปลูกกล้วยไม้นี้จะทำให้เวียดนามไม่ต้องนำเข้ากล้วยไม้ และสามารถที่จะส่งออกกล้วยไม้ยังต่างประเทศได้ด้วยในอนาคต

บทสรุป
แม้ว่าในปัจจุบันไทยยังครองอันดับในการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกเมืองร้อนได้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่การส่งออกกล้วยไม้ของไทยก็ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดโลก โดยประเทศคู่แข่งทั้งรายเก่าและรายใหม่เจาะขยายตลาดส่งออกเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากไทย ทั้งนี้โดยอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การคิดค้นพันธุ์กล้วยไม้ใหม่ๆ ทั้งในด้านสีสันและรูปทรง ทั้งนี้เพื่อให้มีความหลากหลาย เน้นการตอบสนองความต้องการของตลาดให้มากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาในด้านการขนส่ง ทำให้ผู้ส่งออกกล้วยไม้ของไทยคงต้องหันมาเพิ่มการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อก้าวหนีคู่แข่ง และการหันมาให้ความสำคัญกับการขนส่งมากขึ้น เนื่องจากการส่งออกกล้วยไม้ต้องอาศัยการขนส่งทางอากาศเท่านั้น ซึ่งมีเนื้อที่ค่อนข้างจำกัด และไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิเพื่อรักษาความสดของกล้วยไม้ ทำให้การขนส่งยังเป็นข้อเสียเปรียบสำหรับสินค้ากล้วยไม้มาเป็นเวลานาน และยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการขยายตลาดส่งออกอีกด้วย ดังนั้นภาครัฐและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งพัฒนาการขนส่งกล้วยไม้เพื่อรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกต่อไป