By Real parenting ก.ย. 49 (บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง)
“ไหนจะหน้าที่คุณแม่แสนดี ภรรยาที่ช่างเอาอกเอาใจ และบทสาวทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา ทั้งงานในบ้านและนอกบ้านต่างรุมเร้า คุณกำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่หรือเปล่า”
นิตยสาร Real Parenting คู่มือแท้จริงเพื่อชีวิตสมดุลของพ่อแม่ยุคใหม่ที่มีลูกวัย 0-12 ปี ในเครือบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้สำรวจบทบาทและปัญหาความสัมพันธ์ของแม่ยุคใหม่ที่ต้องเผชิญเมื่อมีบุตร โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มคุณแม่ วัย 20-45 ปี และมีบุตรอายุไม่เกิน 4 ปี จำนวน 370 คน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงเดือนกรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา
ผลการสำรวจพบว่า 66.5% ผู้เป็นภรรยาต้องออกไปทำงานนอกบ้านเลี้ยงครอบครัว หลังเลิกงานยังต้องรับผิดชอบเลี้ยงลูก สอนการบ้านลูก และทำงานบ้าน จากภาระหน้าที่อันหนักอึ้งทั้งงานในบ้านและนอกบ้านส่งผลให้คุณแม่ 96% ยอมรับว่าประสบกับภาวะเครียดระดับปานกลางคะแนนเฉลี่ย 6.7 เต็ม 10 คะแนน โดย 5 ปัญหาที่รุมเร้ามากที่สุดคือ
1. กระทบกระทั่งกับสามี 83.8%
การทะเลาะกันระหว่างสามีภรรยาเปรียบเสมือนลิ้นกับฟัน ต้องมีกระทบกระทั่งกันบ้างถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว ทั้งนี้ผู้หญิง 98.8% ยอมรับว่ามีความเครียดจากปัญหาดังกล่าว โดยมีคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 7.4 เต็ม 10 คะแนน แต่เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปพบว่าการทะเลาะกันมีด้านดีปนอยู่ โดยผู้หญิง 57.9% ยอมรับว่าแม้จะกระทบกระทั่งกับสามีบ่อยแต่รักไม่เคยน้อยลง เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างได้พูดระบายความคับข้องใจออกมา ปรับตัวเข้าหากัน จะเกิดความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น สุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจดีขึ้น ไม่เครียด วิตกกังวล ย้ำคิด คาใจอีกต่อไป
2.ความคิดเห็นไม่ลงรอยกับแม่สามี 83.3%
ปัญหาคลาสสิกยาวนานคู่สังคมไทย ซึ่งมีระดับการเกิดปัญหาและความเครียดไม่ต่างจากการกระทบกระทั่งกับสามีไม่มากนักทั้งนี้ผู้หญิง 95.9% ยอมรับว่าความเครียดมากเมื่อมีปากเสียงกับแม่สามี ด้วยคะแนนเฉลี่ย 7.3 เต็ม 10 คะแนน โดยเฉพาะกลุ่มสะใภ้วัย 25-30 ปี ที่ต้องอาศัยอยู่บ้านสามี และพบว่าเมื่อฝ่ายสะใภ้อายุมากขึ้น มีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้นและพยายามปรับตัวเข้าหาแม่สามี ปัญหากินแหนงแคลงใจ ไม่ลงรอยกันจะมีแนวโน้มลดลง
3.สามีผลักภาระให้ภรรยาเลี้ยงลูกคนเดียว 75.9%
ด้วยวิถีสังคมไทยที่ปลูกฝังกันมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ตาย ว่า ”ผู้หญิงต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก ผู้ชายไปทำงานนอกบ้าน” ปัจจุบันจึงมีผู้ชายเพียง 16% เท่านั้นที่ช่วยเลี้ยงลูกแบ่งเบาภาระภรรยา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้เป็นแม่ต้องเหนื่อยล้า โดยมีระดับความเครียดเฉลี่ย 7 เต็ม 10 คะแนน และเวลาส่วนตัวที่น้อยลง จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้หญิง 75.6% ยืนยันไม่พร้อมจะมีลูกเพิ่มอีกคน และ 22.9% เรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายอนุญาตให้ผู้ชายสามารถลาพักงานมาช่วยเลี้ยงลูกหนึ่งเดือนแรกหลังจากภรรยาคลอดบุตร
4.การจัดสรรค่าใช้จ่ายไม่ลงตัว 70.0%
ด้านการแบ่งสรรค่าใช้จ่ายในครอบครัวพบว่า ผู้เป็นสามีคือเสาหลักใหญ่ดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในบ้าน ได้แก่ ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอาหารและเครื่องใช้ต่างๆ ขณะที่ภรรยาช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูก เช่น เสื้อผ้าและของเล่น ซึ่งการมีส่วนร่วมแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวส่งผลให้คุณแม่เครียดต่อปัญหาดังกล่าวน้อยกว่าปัญหาอื่นๆ ด้วยคะแนนเฉลี่ย 6.7 เต็ม 10 คะแนน ยืนยันได้จากคุณแม่มากถึง 80.4% ยังไม่อยากลาออกจากงานประจำมาอยู่บ้านเลี้ยงลูกเนื่องจากเกรงว่าภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในบ้านจะตกที่สามีเพียงคนเดียว
ขณะเดียวกันก็ยังต้องการให้รัฐบาลยื่นมือเข้าช่วย ด้วยการเสนอไอเดียให้มีนโยบายมอบสวัสดิการค่าเล่าเรียนบุตรตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย อย่างน้อย 2 คน / ครอบครัว 23.9% เพิ่มสวัสดิการด้านสุขภาพฟรีค่ารักษาพยาบาลสำหรับเด็กอายุ 0-6 ปี 21.8% เพิ่มสร้างจำนวนสถานเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ ราคาไม่แพง ใกล้บ้าน 17.2% และเพิ่มมาตรการสนับสนุนทางการเงินสำหรับครอบครัวผู้มีเด็กอายุ 0-6 ปี 15.6%
5. ลูกดื้อและเชื่อฟังเฉพาะผู้ที่เลี้ยงเป็นประจำเท่านั้น 67.1%
เนื่องจากผู้ปกครอง 30.2% เท่านั้น ที่เลี้ยงลูกด้วยตนเอง และโดยส่วนใหญ่มีเวลาอยู่กับลูกแค่เพียงช่วงหลังเลิกงาน ความห่างเหินระหว่างผู้ปกครองและเด็ก จึงเป็นเหตุทำให้ลูกดื้อและไม่เชื่อฟังคำสั่งปฏิบัติตามคำสั่งของพ่อแม่ ส่งผลให้คุณแม่เครียดด้วยคะแนนเฉลี่ย 7.1 เต็ม 10 คะแนน โดยมีมากถึง 97.2% ยอมรับว่าเครียดกับปัญหาการจัดการเรื่องลูก
อย่างไรก็ตาม Real Parenting ขอปรบมือดังๆ และเป็นกำลังใจให้คุณแม่ Working Women คนเก่งทุกท่านที่จัดสมดุลระหว่างบทบาทคุณแม่และหน้าที่การงานได้อย่างยอดเยี่ยมและสำหรับข้อเรียกร้อง หวังว่าในอนาคตทางรัฐบาลจะนำเสียงเล็กๆ เหล่านี้ไปพิจารณาออกกฎหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวไทยให้ดียิ่งขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ชมัยพร เจ้าหน้าที่วิจัยและพัฒนา โทร 02-422-9999 ต่อ 4121