ธุรกิจบัตรเครดิตไตรมาส 2 ปี 2549 ยังคงขยายตัว ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2549 ยังคงมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปริมาณบัตรเครดิตทั้งระบบอยู่ที่ 10,481,460 บัตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวนบัตรอยู่ที่ 8,896,235 บัตร หรือคิดเป็นอัตราเพิ่ม 14.37% แต่ลดลงเล็กน้อยจากที่ขยายตัว 15.15% ในปี 48 ในขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตยังคงมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2 ปี 49 มีมูลค่า 153,562 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัว 17.82% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 14.95% ในปี 48 สำหรับปริมาณสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไตรมาส 2 ปี 49 มีมูลค่าอยู่ที่ 153,848 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 21.30% และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากที่ขยายตัว 21.10% ในปี 48 ในส่วนของภาพรวมปริมาณการเบิกเงินสดล่วงหน้าไตรมาส 2 ปี 49 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 2 มีมูลค่าการเบิกเงินสดล่วงหน้าอยู่ที่ 44,256 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัว 22.27% จากช่วงเวลาเดียวของปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 16.96% ในปี 48 ทั้งนี้สาเหตุหลักที่จำนวนบัตรเครดิต ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต และปริมาณการเบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ผ่านมานั้น คาดว่าเกิดจากการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการที่หันมาเน้นทำตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตแทนสินเชื่อประเภทอื่นที่มีอัตราการกู้ยืมที่ชะลอตัวลง รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าแทนการใช้เงินสดมากขึ้น

ประเด็นสำคัญของธุรกิจบัตรเครดิตไตรมาส 2 ของปี 2549 ทั้งนี้ จากการพิจารณาตัวเลขบัตรเครดิต ณ ไตรมาส 2 ปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า:

– ปริมาณบัตรเครดิตไตรมาส 2 ปี 2549 ของธนาคารพาณิชย์ไทยมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงแต่ของสาขาธนาคารต่างประเทศและสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร ยังคงมีอัตราการขยายตัวที่เร่งขึ้น

ปริมาณบัตรเครดิตธนาคารพาณิชย์ไทยมีการขยายฐานบัตรเครดิตที่ชะลอลง คือ ในไตรมาส 2 ปี 49 มีจำนวนบัตรเครดิตทั้งสิ้น 4,046,364 บัตร และมีการเติบโต 17.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจาก 23.64% ในปี 48 ในขณะที่สาขาธนาคารต่างประเทศมีอัตราการขยายตัวของบัตรเครดิตใหม่ที่โดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น คือ มีจำนวนบัตรเครดิตทั้งสิ้น 1,162,359 บัตร และขยายตัวสูงถึง 14.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 9.83% ในปี 48 สำหรับสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ Nonbank มีจำนวนบัตรเครดิตทั้งสิ้น 5,272,737 บัตร โดยขยายตัว 12.17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 10.35% ในปี 48 เช่นเดียวกัน ทั้งนี้การขยายฐานบัตรที่โดดเด่นของกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ คาดว่า ส่วนหนึ่งคงจะเป็นผลจากผลของการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ รวมทั้งจากการจัดทำการตลาดบัตรเครดิต โดยมีการจัดแคมเปญการตลาดออกมาเป็นระยะเพื่อขยายฐานบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการทำตลาดเฉพาะกลุ่ม อาทิ กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง อีกทั้งยังใช้กลยุทธ์ขายตรง เน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้นและการเพิ่มสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตให้จูงใจมากขึ้น จึงทำให้การเพิ่มปริมาณบัตรใหม่ของกลุ่มนี้โดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น

– ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตยังคงขยายเพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่มในไตรมาส 2 ปี 2549 โดยเฉพาะกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ

ภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในทุกกลุ่มผู้ประกอบการไตรมาส 2 ปี 2549 มีปริมาณการใช้จ่ายทั้งสิ้น 153,562 ล้านบาท โดยขยายตัว 17.82% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าที่ขยายตัว 14.95% ในปี 48 ทั้งนี้ประเด็นที่น่าสังเกต เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (y-o-y) ก็คือ อัตราการขยายตัวดังกล่าวได้ลดต่ำลงในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับในไตรมาสแรก เนื่องจากอัตราการเติบโตในไตรมาส 1 ได้รับแรงหนุนจากการเทียบจากฐานที่ต่ำกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะว่าในช่วงของไตรมาส 1 ปี 48 มีเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิทำให้ยอดปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตนั้นลดลง อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวในปี 2548 พบว่า ไตรมาส 2 ปี 2549 ที่ผ่านมา ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตยังคงขยายตัวสูงกว่าในปี 48 โดยเมื่อแยกพิจารณาตามกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า ไตรมาส 2 ปี 2549 ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยมีมูลค่า 72,649 ล้านบาท และขยายตัว 17.99% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าที่ขยายตัว 12.43% ในปี 48 ในส่วนของกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มอื่นในไตรมาสนี้ โดยมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งสิ้น 22,215 ล้านบาท และขยายตัว 21.29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าที่ขยายตัว 15.94% ในปี 48 สำหรับปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ก็มีการเติบโตเช่นกัน โดยไตรมาส 2 มีปริมาณการใช้จ่ายทั้งสิ้น 56,698 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัว 16.34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 17.96% ในปี 48 ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายของลูกค้าของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีรายได้ในระดับปานกลางลงมา ทั้งนี้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาส 2 ปี 49 ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น น่าจะเป็นผลมาจากวันหยุดอย่างต่อเนื่องในช่วงพระราชพิธีเฉลิมฉลอง 60 ปี ครองสิริราชสมบัติ และการแข่งขันฟุตบอลโลกในเดือนมิถุนายน อีกทั้งเป็นผลจากการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยบรรดาผู้ออกบัตรผ่านแคมเปญต่างๆ กับร้านค้า เช่น การใช้บัตรเครดิตเพื่อเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าและบริการ และใช้จ่ายภายในจำนวนครั้งที่กำหนดมีสิทธิที่จะได้รับของรางวัล เป็นต้น

– ปริมาณสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตไตรมาส 2 ของปี 2549 สาขาธนาคารต่างประเทศยังคงมีอัตราการขยายตัวที่เร่งขึ้น ส่วนสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงแม้ว่าจะชะลอลง

ทั้งนี้ภาพรวมปริมาณสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตในทุกกลุ่มผู้ประกอบการไตรมาส 2 ปี 49 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 153,848 ล้านบาท โดยขยายตัวในอัตรา 21.30% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากที่ขยายตัว 21.10% ในปี 48 โดยหากแยกพิจารณาเป็นรายผู้ประกอบการแล้วจะพบว่า ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทย มีปริมาณยอดคงค้างทั้งสิ้น 50,232 ล้านบาท หรือขยายตัว 10.65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งใกล้เคียงกับที่ขยายตัว 10.66% ในปี 48 ในส่วนของยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศมีปริมาณสินเชื่อคงค้างในไตรมาส 2 ปี 49 อยู่ที่ 31,068 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัว 27.55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 20.41% ในปี 48 โดยส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ สำหรับยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตของสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ก็มีปริมาณอยู่ที่ 72,548 ล้านบาท โดยขยายตัว 27.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากปี 48 ที่ขยายตัว 30.58%

สำหรับภาพรวมของสินเชื่อคงค้างต่อบัตรอยู่ที่ 14,678 บาทต่อบัตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.05% โดยหากพิจารณาเป็นรายกลุ่มผู้ประกอบการแล้วจะเห็นได้ว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยสินเชื่อคงค้างต่อบัตรลดลงอยู่ที่ 12,414 บาท ลดลง 5.73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ลูกค้าบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งมีอัตราการผ่อนชำระสินเชื่อครบกำหนดในระดับสูงอาจจะเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายของตน ทำให้มียอดสินเชื่อคงค้างต่อบัตรที่ลดลง ในส่วนสาขาธนาคารต่างประเทศมีสินเชื่อคงค้างต่อบัตรอยู่ที่ 26,729 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 11.51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มียอดสินเชื่อคงค้างต่อบัตรสูง อาจเป็นผลอันเนื่องมาจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมควบคู่กับบัตรเครดิต เช่น สินเชื่อบุคคล ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต อีกทั้งการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดการใช้จ่ายที่มีมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มผู้มีรายได้และกำลังใช้จ่ายสูง สำหรับกลุ่มสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์มีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 13,759 บาทต่อบัตร คิดเป็นอัตราการขยายตัวถึง 13.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือได้ว่าเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าผู้ประกอบการกลุ่มอื่น ทั้งนี้การขยายตัวในอัตราที่สูงของยอดสินเชื่อคงค้างของลูกค้าในกลุ่มดังกล่าว ซึ่งน่าจะมีระดับรายได้ที่ต่ำกว่าลูกค้าของผู้ประกอบการรายอื่นๆ อาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับคุณภาพสินเชื่อและความเสี่ยงของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้ยังคงต้องติดตามตัวเลขของกลุ่มสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์นี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด

สำหรับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศให้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 ผู้ประกอบการบัตรเครดิตทุกกลุ่มต้องปรับขึ้นยอดการผ่อนชำระขั้นต่ำของผู้ถือบัตรเดิม (ทำบัตรก่อนวันที่ 1 เมษายน 2547) จากเดิมทีชำระขั้นต่ำ 5% ของยอดค้างทั้งหมด เป็นชำระขั้นต่ำ 10% ของยอดค้างทั้งหมด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับขึ้นยอดการผ่อนชำระขั้นต่ำอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในเรื่องของความสามารถในการผ่อนชำระของลูกค้าผู้ถือบัตรได้ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มียอดสินเชื่อคงค้างต่อบัตรเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการสถาบันการเงินต่างๆ คงต้องเพิ่มความระมัดระวังติดตามพฤติกรรมการผ่อนชำระของผู้ถือบัตรเครดิตของตนใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงของคุณภาพสินเชื่อหากเศรษฐกิจชะลอลงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่มุมหนึ่งการปรับเพิ่มระดับการผ่อนชำระขั้นต่ำขึ้นเป็น 10% ของยอดค้างทั้งหมด น่าจะส่งผลให้พฤติกรรมของผู้ใช้บัตรเครดิตเพิ่มความระมัดระวังและมีวินัยในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต รวมทั้งทำให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขยายธุรกิจและติดตามดูแลลูกค้าของตน ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น

– ปริมาณการเบิกเงินสดล่วงหน้าบัตรเครดิตของไตรมาส 2 ปี 49 โดยรวมแล้วยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาธนาคารต่างประเทศ

ภาพรวมของการเบิกเงินสดล่วงหน้าในทุกกลุ่มผู้ประกอบการไตรมาส 2 ปี 2549 มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 22.27% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 16.96% ในปี 48 โดยเมื่อแยกพิจารณาเป็นรายผู้ประกอบการแล้วพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยมีปริมาณการเบิกเงินสดล่วงหน้าในไตรมาส 2 ปี 49 ขยายตัว 20.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าที่ขยายตัว 9.45% ในปี 48 รวมทั้งมีส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) สูงสุดในระบบถึง 67.45% โดยน่าจะเป็นผลมาจากความได้เปรียบในเรื่องเครือข่ายเครื่อง ATM ในการให้บริการการเบิกเงินสดล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิต สำหรับกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศนั้น มีอัตราการขยายตัวที่เร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสูงถึง 52.20% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 23.80% ในปี 48 อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวที่สูงมากดังกล่าว ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการเทียบจากฐานที่ต่ำกว่า ส่วนในกลุ่มผู้ประกอบการสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์นั้น อัตราการขยายตัวการเบิกเงินสดล่วงหน้าอยู่ที่ 21.87% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 12.36% ในปี 48 สอดคล้องกับทิศทางการเพิ่มของกลุ่มอื่นๆ

แนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจบัตรเครดิต

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของธุรกิจบัตรเครดิต ทั้งในแง่ของการขยายฐานบัตรใหม่ ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ปริมาณของยอดสินเชื่อคงค้างและการเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิต อย่างไรก็ดีธุรกิจบัตรเครดิตคงจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ถึงแม้ว่าจะอยู่ในท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ที่ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและความสามารถในการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตรเครดิต อีกทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่จะเกิดขึ้นตามมา ผู้ประกอบการทุกกลุ่มจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าแข่งขันเพื่อขยายส่วนแบ่งทางการตลาดต่อไป ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า แนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงครึ่งปีหลังปี 49 คงจะเน้นไปในเรื่องของ:

– การกระตุ้นปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ทั้งนี้ผู้ถือบัตรเครดิตโดยเฉลี่ยแล้วถือ 3 บัตรต่อคน ประเด็นที่น่าสังเกต คือ ผู้ถือบัตรเครดิตจะไม่ได้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทุกบัตรที่มี ทำให้มีปริมาณบัตรเครดิตที่ไม่ค่อยได้ใช้ถืออยู่ในมือด้วยเช่นกัน นอกจากนี้บางครั้งผู้ถือบัตรเครดิตจะเวียนการใช้บัตรในแต่ละเดือนไป จึงไม่เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการมากอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ผู้ประกอบการจึงต้องการกระตุ้นให้ผู้ถือบัตรใช้จ่ายผ่านบัตรนั้นมากขึ้นหรือถ้าเป็นไปได้ให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน คือ เมื่อต้องการชำระสินค้าหรือบริการให้นึกถึงบัตรเครดิต กลยุทธ์การตลาดต่างๆ จึงถูกนำมาใช้เพื่อให้ฐานลูกค้าบัตรเครดิตที่มีอยู่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นและเลือกที่จะใช้จ่ายผ่านบัตรของผู้ประกอบการรายนั้นมากกว่าที่จะเลือกใช้บัตรอื่น นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่าบนความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการบัตรเครดิต ทำให้ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ (Brand Royalty) ที่เคยมีเริ่มลดลงซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น โอกาสในการเปลี่ยนแบรนด์ (Switching Brand) หรือหันไปลองสินค้าตัวใหม่ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงก็มีมากขึ้น ทั้งนี้คงต้องยอมรับว่าในการที่จะรักษาความภักดีของลูกค้าได้นั้น ผู้ประกอบการคงจะต้องทำให้บัตรเครดิตของตนมีลักษณะ ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ ซึ่งกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการจะใช้มากขึ้น คือ เพิ่มสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิต โดยการหาพันธมิตรใหม่ๆ เข้ามาร่วมให้ครอบคลุมและหลากหลายประเภท อาทิ ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น

– ผู้ประกอบการมุ่งขยายฐานบัตรเครดิตไปยังกลุ่มผู้มีรายได้สูง เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูงอีกทั้งยังมีศักยภาพในการชำระบัตรเครดิตสูง นอกจากนี้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขันเพื่อที่จะขยายฐานบัตรเครดิตในลูกค้ากลุ่มนี้จะมีความรุนแรงมากขึ้นระหว่างผู้ประกอบการ เนื่องจากฐานลูกค้าที่มีรายได้ระดับสูงมีปริมาณที่จำกัด ซึ่งจะเป็นการชิงไหวพริบทางการตลาด ผู้ประกอบการใดสามารถสร้างความแปลกใหม่ของบัตรเครดิต การนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ก็จะสามารถเจาะเข้าไปยังกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้มากขึ้น กลยุทธ์ในการทำตลาดจะเน้นแบบเจาะกลุ่มลูกค้า (Segmentation Marketing) เพื่อเข้าถึงความต้องการของลูกค้า ชีวิต พฤติกรรม หรือความชอบส่วนตัว

– อย่างไรก็ตามคาดว่าการอนุมัติบัตรเครดิตจะมีความเข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้แม้ว่าการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดจะยังคงต้องรุกหน้าต่อไป เนื่องจากผู้ประกอบการต่างต้องการรักษาฐานลูกค้าของตนและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดหากทำได้ แต่ก็คาดว่าในขณะเดียวกันผู้ออกบัตรก็คงจะเพิ่มความเข้มงวดในการออกบัตรเครดิตใหม่มากขึ้น เพื่อควบคุมระดับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของตนได้ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งความเข้มงวดในเรื่องการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว อาจมีผลทำให้อัตราการขยายตัวของบัตรเครดิตเป็นไปในทิศทางที่ชะลอลงได้