แรงงานไทยในตะวันออกกลาง : พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส

การสู้รบระหว่างทหารอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในประเทศเลบานอนที่เปิดฉากตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นมา และได้สงบลงเมื่อวันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม 2549 ตามมติขององค์การสหประชาชาติที่ให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงกัน พร้อมกับมีการส่งกองกำลังรักษาความสงบของสหประชาชาติเข้าไปควบคุมพื้นที่ในประเทศเลบานอน

ผลของสงครามได้สร้างความสูญเสียมากมาย ทั้งชีวิต สิ่งของ อาคารบ้านเรือน และบาดแผลทางจิตใจของประชาชน หลายคนต้องสูญเสียบ้านพักอาศัย หลายคนต้องสูญเสียคนที่รัก ญาติพี่น้อง โดยเฉพาะชาวเลบานอนต้องสูญเสียชีวิตไปมากกว่า 1,100 คน ขณะที่ทหารอิสราเอลต้องเสียชีวิตไปจำนวน 156 คน นอกจากนั้นบ้านเรือนของชาวเลบานอนยังถูกทำลายไปมากกว่า 15,000 หลัง

ความสูญเสียไม่เพียงแต่จะทำลายวัตถุและจิตใจของผู้คนเท่านั้น หากแต่ผลของสงครามยังทำให้เกิดความเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล นับตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอันเป็นผลมาจากสงคราม และความไม่แน่นอนในสถานการณ์ที่อาจจะลุกลามบานปลายได้

สงครามยังทำให้มีการอพยพนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติออกจากประเทศเลบานอนไปหลายหมื่นคน ส่งผลทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในตะวันออกกลางต้องสูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศเลบานอนต้องเดินทางกลับประเทศไทยเป็นจำนวน 35 คน ขณะเดียวกันแรงงานไทยในภาคเหนือของประเทศอิสราเอลต้องเคลื่อนย้ายหลบภัยสงครามเป็นจำนวนถึง 459 คน ในจำนวนนี้ต้องเดินทางกลับประเทศไทยเป็นจำนวน 93 คน เนื่องจากรู้สึกไม่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตามวิกฤติของสงครามในประเทศเลบานอนยังก่อให้เกิดโอกาสในการจ้างงานใหม่เพิ่มมากขึ้นในตะวันออกกลาง ทั้งนี้เนื่องจากจะต้องมีการบูรณะซ่อมแซมอาคาร บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกันสงครามยังก่อให้เกิดโอกาสขึ้นกับหลายๆประเทศในตะวันออกกลางที่มีรายได้จากการส่งออกน้ำมัน(Pro-Dollars) ซึ่งมีราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วงของสงคราม โดยคาดว่ารัฐบาลของหลายๆประเทศในตะวันออกกลางจะเพิ่มเงินงบประมาณรายจ่ายในการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งโครงการต่างๆจะส่งผลทำให้มีความต้องการใช้แรงงานเพิ่มมากขึ้นด้วย

โดยปัจจุบันตะวันออกกลางถือได้ว่าเป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่ เนื่องจากประเทศในกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือระหว่างรัฐอ่าวอาหรับ(Gulf Cooperation Council: GCC) 6 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย โอมาน และกาตาร์อยู่ในระหว่างการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ทำให้มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปเป็นจำนวนมาก อันจะส่งผลทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย

ตะวันออกกลาง : โอกาสกำลังจะมาถึง
ตะวันออกกลางเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย แม้ว่าในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แรงงานไทยจะเดินทางไปทำงานในตะวันออกกลางลดน้อยลง หลังจากที่เกิดกรณีการโจรกรรมทรัพย์สินในประเทศซาอุดิอาระเบีย แต่ตะวันออกกลางยังถือว่าเป็นตลาดที่มีแนวโน้มค่อนข้างสดใสในอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของหลายๆประเทศในตะวันออกกลางเริ่มฟื้นตัว ส่งผลทำให้มีความต้องการใช้แรงงานมากขึ้น

ดังนั้นหลังจากที่เกิดวิกฤติสงครามในเลบานอน ก็ยังมีโอกาสดีสำหรับแรงงานไทยที่จะได้เข้าไปทำงานในตะวันออกกลางมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลของหลายประเทศต่างยังมีโครงการขยายการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่(Mega Projects) เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือระหว่างรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งมีรายหลักจากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ประเทศในกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือระหว่างรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ทั้ง 6 ประเทศน่าจะมีรายได้จากการขายน้ำมันในปี 2549 อันจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล เป็นมูลค่าถึง 230 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเป็นมูลค่าประมาณ 8.7 ล้านล้านบาท (38 บาท = 1 ดอลลาร์) เปรียบเทียบกับในปี 2548 ที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการขายน้ำมันเป็นมูลค่า 167 พันล้านดอลลาร์ หรือ 6.3 ล้านล้านบาท

การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนของหลายประเทศ ทำให้มีโครงการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยโครงการต่างๆ เหล่านี้จะทำให้มีความต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก ขณะที่ตะวันออกกลางมีแรงงานท้องถิ่นน้อย ดังนั้นแรงงานต่างชาติรวมทั้งแรงงานไทยจึงยังมีโอกาสเข้าไปทำงานในตะวันออกกลางได้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับแนวโน้มของตลาดแรงงานในตะวันออกกลางตลอดปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานประมาณ 18,500-18,800 คน โดยคาดว่าจะมีเงินรายได้ส่งกลับจากแรงงานในตะวันออกกลางประมาณ 4,400 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัย ดังนี้

1.การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลลเลาะห์ในเลบานอนจะไม่เกิดขึ้นอีก
ทั้งนี้เนื่องจากประเทศอิสราเอลถือว่าเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญมากของไทยในตะวันออกกลาง ดังนั้นหากมีการสู้รบยืดเยื้อ อาจจะทำให้แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในตะวันออกกลางมีจำนวนลดลง ดังนั้นหากจำนวนแรงงานลดลงจะทำให้มีเงินรายได้ส่งกลับประเทศไทยลดลงด้วย

2.สงครามต้องไม่ขยายตัวไปยังประเทศอื่น
ทั้งนี้คาดว่าสงครามระหว่างทหารอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนคงจะไม่ขยายตัวลุกลามไปยังประเทศอื่นๆในตะวันออกกลาง เพราะหากสงครามลุกลามไปยังประเทศใกล้เคียงจะส่งผลทำให้การเดินทางไปทำงานของแรงงานไทยในตะวันออกกลางชะลอตัว แต่ถ้าสงครามไม่ขยายพื้นที่คาดว่าแรงงานไทยจะสามารถเดินทางไปทำงานที่ประเทศอื่นๆในตะวันออกกลางเป็นไปตามปกติ

3.โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือระหว่างรัฐอ่าวอาหรับ(GCC) ยังดำเนินต่อไป
เนื่องจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่(Mega Projects) ในกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือระหว่างรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) มีมูลค่ามากกว่า 250 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ตะวันออกกลางกลายเป็นภูมิภาคที่มีการก่อสร้างมากที่สุดในโลก โดยโครงการต่างๆเหล่านี้จะมีส่วนช่วยสร้างงานให้กับแรงงานไทยได้เป็นจำนวนมาก

4.ราคาน้ำมันดิบยังทรงตัวในระดับสูงต่อไป
เนื่องจากราคาน้ำมันดิบมีผลต่อเงินงบประมาณรายจ่ายของประเทศที่มีรายได้จากการส่งออกน้ำมัน ดังนั้นหากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงจะส่งผลทำให้ประเทศที่ส่งออกน้ำมันมีรายได้ลดลง และอาจจะมีการปรับลดงบประมาณรายจ่ายในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้มีการจ้างงานลดลงด้วย

กาตาร์ : ตลาดใหม่แซงหน้าอิสราเอล
ในปี 2548 ที่ผ่านมามีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในตะวันออกกลางจำนวน 18,700 คน ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามีรายได้ส่งกลับของแรงงานไทยประมาณ 4,800 ล้านบาท

สำหรับใน ช่วง 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค.)ของปี 2549 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในตะวันออกกลางเป็นจำนวน 12,840 คน เมื่อเทียบกับ 7 เดือนแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8

โดยประเทศในตะวันออกกลางที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากตามลำดับ ดังนี้

อันดับที่ 1 ประเทศกาตาร์
ในช่วง 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค.)ของปี 2549 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานที่ประเทศกาตาร์จำนวน 5,186 คน เปรียบเทียบกับ 7 เดือนแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 210.5

ส่งผลทำให้มีจำนวนแรงงานไทยที่เดินทางไปประเทศกาตาร์มากแซงหน้าประเทศอิสราเอล ซึ่งเคยเป็นประเทศในตะวันออกกลางที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากเป็นอันดับ 1 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันกาตาร์เป็นประเทศหนึ่งในตะวันออกกลางที่โครงการก่อสร้างมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลกาตาร์มีนโยบายที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เลิกการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบผสมผสาน จึงเร่งการก่อสร้างปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก

ผลจากนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รัฐบาลกาตาร์ได้ขยายโครงการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก เช่น โครงการขยายระบบน้ำประปา โรงไฟฟ้า สนามบินโดฮา การก่อสร้างสะพานเชื่อมระหว่างประเทศกาตาร์กับประเทศบาห์เรน การก่อสร้างอุโมงค์ลอดระหว่างกาตาร์กับดูไบ โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนยกระดับ การก่อสร้างเกาะ “Pearl of the Gulf” และการก่อสร้างศูนย์พยาบาลขนาดใหญ่ เป็นต้น

นอกจากนั้นรัฐบาลกาตาร์ยังมีการก่อสร้างสนามกีฬาเพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ 2006 ทำให้มีความต้องการแรงงานจากต่างประเทศจำนวนมากปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในประเทศกาตาร์ประมาณ 8,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นช่างฝีมือและกึ่งฝีมือในนิคมอุตสาหกรรม ในโรงกลั่นน้ำมัน การก่อสร้าง ธุรกิจโรงแรม และภัตตาคาร เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มในอนาคต คาดว่าประเทศกาตาร์ยังจะเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญของไทยอีกต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลกาตาร์ได้ประกาศนโยบายเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ทำให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยในขณะนี้มีการขยายโรงงานอุตสาหกรรมของต่างชาติและรัฐบาลกาตาร์เป็นจำนวนมาก ทำให้แรงงานไทยน่าจะมีโอกาสที่ได้งานในประเทศกาตาร์เพิ่มมากขึ้นด้วย

อันดับที่ 2 ประเทศอิสราเอล
ในช่วง 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค.)ของปี 2549 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลจำนวน 2,604 คน เมื่อเทียบกับ 7 เดือนแรกของปี 2548 ลดลงร้อยละ 44.5

การที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลลดลงนั้น เนื่องมาจากความต้องการแรงงานลดลงตั้งแต่ปลายปี 2548 โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานด้านการก่อสร้างที่มีความต้องการลดลงมาก อันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2549 จะมีแรงงานไทยรายใหม่เดินทางไปทำงานที่อิสราเอลเพียง 2,604 คน แต่เมื่อรวมกับแรงงานเก่าที่มีอยู่ในประเทศแล้ว ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลประมาณ 28,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานอยู่มากเป็นอันดับที่สองรองจากประเทศซาอุดิอาระเบียที่คาดว่ามีแรงงานไทยทำงานอยู่ประมาณ 30,000 คน

แรงงานไทยในประเทศอิสราเอลส่วนใหญ่จะทำงานในด้านการเกษตรและร้านอาหาร ทั้งนี้คาดว่ามีแรงงานไทยที่ทำงานด้านการเกษตรประมาณ 25,500 คน โดยทำงานกระจายไปทั่วประเทศอิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางภาคเหนือซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศเลบานอน รองลงมาเป็นการทำงานในร้านอาหารมีอยู่ประมาณ 1,000 คน และทำงานก่อสร้างประมาณ 100 คน

ส่วนแรงงานที่เหลือประมาณ 1,400 คน ทำงานในด้านการเจียระไนอัญมณี เป็นแม่บ้าน งานดูแลผู้สูงอายุ และทำงานในธุรกิจสปา เป็นต้น

แนวโน้มของตลาดแรงงานของไทยในประเทศอิสราเอล คาดว่ายังจะต้องเผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอนอยู่มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัญหาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศและสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

แต่อย่างไรก็ตามแรงงานไทยยังมีโอกาสที่จะเข้าไปทำงานในประเทศอิสราเอลได้อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจด้านการเกษตร ร้านอาหารและการเจียระไนอัญมณีของอิสราเอลยังมีความต้องใช้แรงงานอีกเป็นจำนวน ดังนั้นจึงคาดว่าแรงงานไทยน่าจะมีโอกาสเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลเพิ่มขึ้นในอนาคต

อันดับที่ 3 ประเทศคูเวต
ในช่วง 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค.)ของปี 2549 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานที่ประเทศคูเวตจำนวน 1,688 คน เมื่อเทียบกับ 7 เดือนแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 173.6

สาเหตุที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานประเทศคูเวตเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคูเวตขยายตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ส่งผลทำให้ประเทศคูเวตมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากงบประมาณรายได้มากกว่าร้อยละ 80 ของรัฐบาลคูเวตได้มาจากการส่งออกน้ำมัน รัฐบาลคูเวตจึงเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านการลงทุนและการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานมากขึ้น ทำให้มีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมากในโครงการก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงการขยายโรงกลั่นน้ำมัน และระบบท่อส่งน้ำมัน

แรงงานไทยในประเทศ ส่วนใหญ่ทำงานที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน ประกอบท่อส่งน้ำมัน อู่ต่อเรือ อู่ซ่อมรถ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ร้านเสริมสวย โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ก่อสร้าง โรงแรม และร้านอาหาร เป็นต้น

ประเทศคูเวตถือว่าเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทยในกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือระหว่างรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ทั้งนี้เนื่องจากประเทศคูเวตมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) หลายโครงการ โดยมีมูลค่ารวมกันประมาณ 250 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9.5 ล้านล้านบาท) ทำให้มีความต้องการใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการขยายโรงกลั่นน้ำมันในเมืองAl Zour โครงการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมี โครงการขยายโรงไฟฟ้า โครงการอู่ต่อเรือ โครงการก่อสร้างที่พักอาศัยที่เมืองMadinat Hareer โครงการขยายโรงกลั่นน้ำมันในเมืองAl Zour โครงการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมี โครงการขยายโรงไฟฟ้า และโครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มของตลาดแรงงานของไทยในประเทศคูเวต คาดว่าจะยังมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลคูเวตมีนโยบายที่จะขยายโครงการทางด้านการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างอีกเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันก็มีนโยบายในการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนของรัฐบาลคูเวตจะทำให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในธุรกิจการขนถ่ายสินค้า การก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ธุรกิจห้างสรรพสินค้า และโรงแรม เป็นต้น ซึ่งโครงการต่างๆเหล่านี้มีความต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก ขณะที่ประเทศคูเวตมีแรงงานท้องถิ่นอยู่น้อย และแรงงานท้องถิ่นส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะทำงานกับภาคราชการมากกว่าการทำงานกับภาคเอกชน จึงถือว่าเป็นโอกาสที่แรงงานไทยยังสามารถที่จะเข้าไปทำงานได้อีก

อันดับที่ 4 ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ในช่วง 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค.)ของปี 2549 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จำนวน 1,651 คน เมื่อเทียบกับ 7 เดือนแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.1

ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประมาณ 2,500 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือที่ทำงานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมสิ่งทอ โรงงานวัสดุก่อสร้าง โรงแรม และร้านอาหาร เป็นต้น

จากการที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ประกาศนโยบายเปิดเสรีทางการค้า ส่งผลทำให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันรัฐดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งถือว่ายังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการค้าของภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีการขนถ่ายสินค้าและส่งต่อสินค้าไปยังประเทศอื่นๆในกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือระหว่างรัฐอ่าวอาหรับ(GCC) ส่งผลทำให้มีความต้องการใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้นรัฐบาลของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังได้จัดตั้งเขตการค้าเสรี(Free Trade Zone) ทุกๆรัฐ ส่งผลทำให้มีการลงทุนจากต่างชาติในพื้นที่เขตการค้าเสรีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลทำให้มีความต้องการใช้แรงงานเป็นจำนวนมากในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

ขณะเดียวกันโครงการก่อสร้างเกาะปาล์ม(Palm Island) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีการก่อสร้างเกาะใหม่ในทะเลเป็นรูปต้นปาล์มถึง 2 โครงการ ทำให้มีความต้องการใช้แรงงานในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ผลจากการที่นักธุรกิจไทยไปลงทุนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็มีส่วนทำให้มีการนำแรงงานไทยไปทำงานในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย

อย่างไรก็ตามตลาดแรงงานในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการแข่งขันกันมาก เนื่องจากมีแรงงานไร้ฝีมือราคาถูกจากประเทศในแถบเอเชียใต้ได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกาเข้าไปทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้แรงงานไทยที่เป็นแรงงานกึ่งมีฝีมือและแรงงานมีฝีมือถูกกดค่าจ้างแรงงานตามไปด้วย

สำหรับแนวโน้มตลาดแรงงานไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาดว่ายังมีอนาคตที่ค่อนข้างสดใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสการทำงานในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และสปา ซึ่งแรงงานไทยจะมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับแรงงานจากเอเชียใต้หรือประเทศอื่นๆในตะวันออกกลาง แต่สิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาสำหรับแรงงานไทยในการทำงานก็คือ ปัญหาเรื่องความเข้าใจในด้านวัฒนธรรมและศาสนาของชาวอาหรับที่แตกต่างจากประเทศไทย ดังนั้นหากมีการสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องนี้แก่แรงงานไทยเป็นอย่างดีแล้วดาดว่าแรงงานไทยจะสามารถเข้าไปทำงานในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพิ่มมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

อันดับที่ 5 ประเทศบาห์เรน
ในช่วง 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค.)ของปี 2549 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศบาห์เรนจำนวน 636 คน เมื่อเทียบกับ 7 เดือนแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.8

ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในประทศบาห์เรนประมาณ 2,000 คนส่วนใหญ่ทำงานในโรงกลั่นน้ำมัน ช่างประกอบท่อส่งน้ำมัน ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างเคาะพ่นสี ช่างเชื่อม ซ่อมเรือสินค้า ช่างเสริมสวย ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นกุ๊กในร้านอาหาร ขนถ่ายสินค้าทางเรือ และก่อสร้าง เป็นต้น

ประเทศบาห์เรนเป็นเกาะที่ประกอบด้วยเกาะเล็กๆอีก 33 เกาะในอ่าวเปอร์เซีย มีพลเมืองประมาณ 6.7 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติประมาณ 2.5 แสนคน

รัฐบาลของบาห์เรนมีโครงการขยายธุรกิจน้ำมันและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการขยายเกาะเพื่อการท่องเที่ยว การขยายสนามบินนานาชาติ การจัดตั้งศูนย์รักษาพยาบาลฉุกเฉิน(Medical Complex Emergency) การก่อสร้างถนนและระบบท่อระบายน้ำ รวมไปถึงการก่อสร้างที่พักอาศัยขนาดใหญ่ ทำให้มีความต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก

แนวโน้มของตลาดแรงงานของไทยในบาห์เรน คาดว่ายังมีแนวโน้มที่ดีต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการแรงงานในธุรกิจก่อสร้าง การซ่อมโรงกลั่นน้ำมัน และการซ่อมรถยนต์ ยังมีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก

ปัญหาของแรงงานไทยในตะวันออกกลาง
การเดินทางไปทำงานในตะวันออกกลางแรงงานไทยต้องเผชิญกับปัญหาหลายๆอย่าง เช่นการแข่งขันกับแรงงานจากประเทศอื่นในตะวันออกกลางและแรงงานจากประเทศในเอเชีย นอกจากนั้นแรงงานไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาอื่นๆในตะวันออกกลาง ดังนี้

1.ปัญหาด้านภาษาและวัฒนธรรม
แรงงานไทยส่วนใหญ่มักจะประสบกับปัญหาในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับกับนายจ้างในตะวันออกกลาง ทำให้แรงงานไทยต้องเสียเปรียบแรงงานจากประเทศฟิลิปปินส์และแรงงานจากเอเชียใต้ที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่า

2.ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แรงงานไทยยังไม่สามารถที่จะเดินทางไปทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบียได้ตามปกติ ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียถือว่าเป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่ในตะวันออกกลาง ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาเพชรซาอุและปัญหาการฆาตกรรมเจ้าหน้าที่สถานทูตในประเทศไทยยังไม่คลี่คลาย ส่งผลทำให้แรงงานไทยต้องสูญเสียโอกาสในการเข้าไปทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน

3.ปัญหาการหลอกลวง
แม้ว่าปัจจุบันทางการจะได้มีประกาศและแถลงข่าวเรื่องการหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ แต่จะพบได้ว่าการหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศยังคงมีอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากนายหน้าจัดหางานและสายจัดส่งแรงงานบางรายไม่ซื่อสัตย์ ทำให้แรงงานต้องสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมากแล้วยังไม่สามารถเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้

4.ปัญหาการลักลอบทำงานแบบผิดกฎหมาย
ปัจจุบันรัฐบาลของหลายๆประเทศในตะวันออกกลางมีนโยบายส่งเสริมให้มีการรับแรงงานท้องถิ่นเข้าทำงานกับภาคเอกชนเพิ่มขึ้น แต่ชาวอาหรับส่วนใหญ่ยังไม่นิยมทำงานกับบริษัทเอกชน หรืองานที่ใช้แรงกายมาก จึงทำให้เกิดช่องว่างในตลาดแรงงาน ส่งผลทำให้มีการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย โดยแรงงานที่ลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างในเรื่องค่าจ้างแรงงาน และสภาพการทำงาน โดยทางการไทยไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้

ตะวันออกกลางถือว่าเป็นตลาดแรงงานที่มีความสำคัญต่อแรงงานไทยมาก แม้ว่าในปัจจุบันแรงงานไทยจะเดินทางไปทำงานในประเทศแถบเอเชียมากขึ้น แต่หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นส่งผลทำให้ประเทศที่ส่งออกน้ำมันในตะวันออกกลางมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันตะวันออกกลางกำลังเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และมีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศ ซึ่งจะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมาก

ดังนั้นตลาดแรงงานในตะวันออกกลางจึงเป็นตลาดที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุงยุทธวิธีในการส่งแรงงานให้สอดคล้องกับประเทศที่ต้องการใช้แรงงาน และต้องปรับปรุงคุณภาพของแรงงานไทยเพื่อที่จะสามารถแข่งกับประเทศคู่แข่งของไทยได้อย่างเต็มที่