ธปท.น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 5.00 ตามเดิม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในการประชุมรอบที่ 6 ของปีวันที่ 6 กันยายน 2549 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee: MPC) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. คงจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ระดับเดิมที่ร้อยละ 5.00 โดยเหตุผลสนับสนุนการคาดการณ์ดังกล่าว สามารถสรุปได้ดังนี้ :-

การปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มถูกกระทบจากปัจจัยลบรอบด้าน

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2549 เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ยังคงให้ภาพการเติบโตที่ชะลอลง โดยแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้แรงหนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวสูงขึ้น การนำเข้าที่ชะลอลง และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น แต่เครื่องชี้ภาวะการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งการลงทุน และการผลิต ก็ยังคงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างชัดเจน ขณะที่การบริโภคก็ยังคงขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ ปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ราคาน้ำมันที่ผันผวนในระดับสูง การแข็งค่าของเงินบาท และอัตราดอกเบี้ยที่ขยับสูงขึ้น ก็ยังมีแนวโน้มที่จะส่งผลกดดันภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าต่อไป โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 5.0 ในไตรมาส 2/2549 และร้อยละ 3.0-3.5 ในช่วงครึ่งหลังของปี เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 ในไตรมาสแรก ดังนั้น การที่ธปท.ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ก็น่าที่จะเป็นผลดีต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

แรงกดดันเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลง

จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ชะลอลงมาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือนที่ร้อยละ 3.8 ในเดือนสิงหาคม เทียบกับร้อยละ 4.4 ในเดือนกรกฎาคม และค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 5.9 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 อีกทั้ง แนวโน้มการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่แม้ว่าอาจยังคงผันผวนในระดับสูงต่อเนื่อง อันเป็นผลหลักมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง แต่ก็น่าจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นที่ช้าลงเมื่อเทียบกับในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอาจมีแนวโน้มปรับลดลงมามีค่าเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 3.9-4.0 ในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2549 อาจมีระดับไม่เกินร้อยละ 5.0 ทั้งนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงดังกล่าว จะช่วยให้ระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง มีค่าเป็นบวกเพิ่มสูงขึ้น และน่าจะทำให้ธปท.มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป

ผลดีต่อการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท

ในช่วงที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยเข้มงวดของธปท.ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 ถึงกลางปี 2549 เพื่อสกัดกั้นแรงกดดันเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ได้มีส่วนสนับสนุนให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นในอัตราที่สูงกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคในปีนี้ โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นอัตราการแข็งค่าที่สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับเงินเยน/ดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 เงินดอลลาร์สิงคโปร์/ดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 5.7 เงินวอนเกาหลีใต้/ดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.8 และเงินหยวน/ดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.4 ในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้น การที่ธปท.ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ซึ่งจะทำให้ค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทยยังคงมีระดับเท่าเดิมอยู่ที่ร้อยละ 0.25 ก็น่าที่จะเป็นผลดีต่อการรักษาสมดุลการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และทำให้เงินบาทไม่ปรับแข็งค่าขึ้นในอัตราที่รวดเร็วเกินไป

ความสอดคล้องกับนโยบายการคลัง

นอกเหนือจากภาพรวมเครื่องชี้เศรษฐกิจมหภาคของไทยแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกของธปท. ยังน่าจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินมีความสอดคล้องกับนโยบายการคลังที่รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลจำนวนเล็กน้อยในปีงบประมาณ 2550 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจากท่าทีของธปท.ในเชิงสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของรัฐบาล ก็บ่งชี้ว่า ธปท.คงจะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในระยะใกล้นี้ โดยอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันที่ร้อยละ 5.00 ในปัจจุบัน น่าจะเป็นระดับที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจไทยโดยรวมแล้ว

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. คงจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน ไว้ที่ร้อยละ 5.00 ตามเดิม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็น่าที่จะเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง และน่าจะเป็นผลบวกต่อการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้ปรับแข็งค่าในอัตราที่รวดเร็วเกินไป ตลอดจนน่าจะเป็นทิศทางที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า หากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางไม่ได้เลวร้ายลงจนส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกแล้ว ธปท.ก็อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ ในขณะที่ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าอาจมีแนวโน้มชะลอลงในปี 2550 อันเป็นผลหลักจากการชะลอตัวลงของการส่งออกตามการเติบโตของเศรษฐกิจคู่ค้าและความล่าช้าในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐ ประกอบกับ ทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างชัดเจนมากขึ้น อาจจะทำให้ธปท.มีความยืดหยุ่นมากขึ้นที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งการผ่อนคลายนโยบายอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 เป็นอย่างเร็ว