ในไตรมาส 2/2549 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเผยตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 4.9% ซึ่งชะลอตัวลงจากของไตรมาส 1/2549 ที่ 6.1% ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 5.5% เพิ่มขึ้นจากที่ทำได้ในปี 2548 ที่ 4.5% โดยมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญจากการส่งออก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำ ในขณะที่ การใช้จ่ายของครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชน กลับขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนจาก 4.4% และ 11.2% ในปี 2548 มาที่ 3.9% และ 5.4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ 7 แห่ง ที่มีการเติบโตชะลอลงจาก 4.6% ณ สิ้นปี 2548 มาที่ 4.2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549
เมื่อพิจารณาเฉพาะตลาดสินเชื่อ SMEs ของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่ามีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงเช่นกันในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่ ในช่วงที่เหลือของปี 2549 ต่อเนื่องถึงปี 2550 นั้น เงื่อนไขเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวย อาจจะยังกดดันการปล่อยสินเชื่อ SMEs ของธนาคารพาณิชย์ไทยต่อไป อันอาจสะท้อนออกมาในรูปของอัตราการขยายตัวของสินเชื่อ SMEs ที่ลดลง ถึงแม้ว่าการแข่งขันในตลาดนี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นก็ตาม
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจสำหรับตลาดสินเชื่อ SMEs ของธนาคารพาณิชย์ไทย ดังนี้
– เป้าหมายลูกค้า SMEs ของธนาคารพาณิชย์ไทย อยู่ในระดับกลางถึงบน
เนื่องจากธุรกิจ SMEs เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ โดยรวมผู้ประกอบการตั้งแต่รายใหญ่ไปจนถึงรายย่อยๆ ซึ่งเพิ่งเริ่มประกอบธุรกิจ ทำให้มีจำนวนผู้ประกอบการมากถึง 2,239,280 ราย ณ สิ้นปี 2548 หรือคิดเป็นสัดส่วน 99.5% ของวิสาหกิจทั้งหมดทั่วประเทศ ดังนั้น ธุรกิจ SMEs จึงไม่ได้เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินทั้งหมด โดยอาจพึ่งพิงแหล่งเงินทุนอื่นๆ เช่น เงินทุนส่วนตัว สินเชื่อนอกระบบ หรือสินเชื่อในรูปแบบลิสซิ่ง เป็นต้น ในขณะที่ ประมาณว่า จำนวนธุรกิจ SMEs ที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของสถาบันการเงินอาจมีจำนวนประมาณ 50-75% ของจำนวนธุรกิจ SMEs ทั้งหมด
สำหรับธุรกิจ SMEs ที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินนั้น ยังมีการแบ่งตลาด (Segment) ออกไปอีก โดยประชากร SMEs ในระดับล่าง ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ประกอบการ SMEs ในระยะเริ่มธุรกิจ หรือมีคุณสมบัติ (Profile) ในแง่ของศักยภาพในการทำกำไร/การแข่งขันด้อยกว่า จนทำให้มียอดขายต่อปีไม่สูงมากนักนั้น มักจะเป็นลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในขณะที่ ประชากร SMEs ในระดับกลางถึงบนนั้น มักเป็นตลาดของธนาคารพาณิชย์ไทยและธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ เนื่องจากในการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจ SMEs นั้น ธนาคารพาณิชย์จะคำนึงถึงประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจด้วย นอกเหนือจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ประวัติการชำระเงิน ความสามารถในการชำระคืนหนี้ ความสามารถในการทำกำไร และศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจในอนาคต เป็นต้น โดยจากการสำรวจพบว่า ในกรณีของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่นั้น เกณฑ์แบ่งสำหรับการเป็นลูกค้า SMEs และลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ (Corporate) มักจะมียอดขายต่อปีที่ไม่เกิน 500 ล้านบาท
– สินเชื่อ SMEs ของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ยังมีอัตราการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะชะลอตัวลง
การติดตามสถานการณ์อัตราการขยายตัวของสินเชื่อ SMEs ที่ธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น คงจะต้องอาศัยการประมาณการ เนื่องจากไม่มีการรวบรวมและแจกแจงข้อมูลดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ในขณะเดียวกัน ข้อมูลที่ประมาณการได้ ก็มีข้อจำกัดจากการที่นิยามของสินเชื่อที่จำแนกตามกลุ่มลูกค้าของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก และไม่สามารถจัดกลุ่มให้เหมือนกับนิยามของทางการได้ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความตระหนักถึงข้อจำกัดดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการขนาดและอัตราการเติบโตของสินเชื่อ SMEs โดยอาศัยข้อมูลสัดส่วนสินเชื่อ SMEs ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลล่าสุด พบว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 7 แห่งดังกล่าว มีสัดส่วนสินเชื่อ SMEs ประมาณ 32.6% ต่อสินเชื่อรวมทุกประเภท (บนฐานที่ขจัดผลกระทบจากการไถ่ถอนตั๋วเงินของบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐแล้ว) เมื่อพิจารณาเป็นภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณว่า สินเชื่อ SMEs ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 น่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 9.98% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี ถึงแม้ว่าจะชะลอตัวลงจาก 10.9% ณ สิ้นปี 2548 และ 13.0% ณ สิ้นปี 2547
ทั้งนี้ การชะลอตัวของสินเชื่อ SMEs ของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 น่าจะมีสาเหตุที่สำคัญจาก
– การชะลอตัวด้านอุปสงค์ของสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยหากพิจารณาเครื่องชี้เศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญในด้านการผลิต ด้านการค้าปลีก และการค้าส่ง ซึ่งเป็นประเภทธุรกิจที่มี SMEs กระจุกตัวอยู่มากเป็นอันดับ 1, 3 และ 4 ตามลำดับนั้น พบว่าล้วนแต่ปรับตัวไปในทิศทางที่ชะลอตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งนี้ ข้อมูลของ ธปท.แสดงว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 8.1% ชะลอลงจาก 9.1% ในปี 2548 เช่นเดียวกับดัชนีมูลค่าค้าปลีก ที่ขยายตัวลดลงชัดเจนจาก 7.0% ในปี 2548 มาอยู่ที่ 1.6% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 ในขณะที่ ดัชนีมูลค่าค้าส่ง ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน เปลี่ยนแปลง -2.2% เทียบกับ 0.0% ในปี 2548
เงื่อนไขแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยดังกล่าว ย่อมจะส่งผลกระทบต่อความต้องการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ทั้งสินเชื่อในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน และสินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจใหม่ อีกทั้ง ยังทำให้จำนวนผู้ริเริ่มธุรกิจใหม่ลดลงด้วย ดังจะเห็นได้จากจำนวนนิติบุคคลตั้งใหม่ในประเทศที่หดตัว 1.4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 เทียบกับการเติบโต 4.1% ในปี 2548
– ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ การขยับขึ้นของราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตลอดจนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท อาจส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของภาคธุรกิจ อันนำมาสู่ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ที่ลดลง โดยเฉพาะในกรณีของธุรกิจ SMEs ที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยดังกล่าว มากกว่าธุรกิจรายใหญ่ ดังนั้น จึงทำให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาความเสี่ยงเครดิตของลูกค้ามากขึ้น ถึงแม้ว่า ในทางปฎิบัติ ปัจจัยด้านอุปทานดังกล่าว จะมีอิทธิพลต่อการชะลอตัวของสินเชื่อ SMEs น้อยกว่าปัจจัยด้านอุปสงค์ก็ตาม
สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2549 นั้น คาดว่าสินเชื่อธุรกิจ SMEs จะยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้ฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นจากเดิมมากนัก โดยราคาน้ำมันในประเทศ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี 2549 เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อาจจะขยับขึ้นได้อีกประมาณ 0.25% เข้าหา 8.0% ภายในสิ้นปี 2549 นี้ ในขณะที่ การอัดฉีดเม็ดเงินจากงบประมาณของภาครัฐ คงจะสามารถกระทำได้อย่างเป็นรูปธรรมในปี 2550 มากกว่าในปีนี้ ดังนั้น จึงน่าจะส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อสำหรับธุรกิจ SMEs น่าจะมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อ SMEs น่าจะขยายตัวประมาณ 8.2-9.4% ณ สิ้นปี 2549 เทียบกับ 10.9% ณ สิ้นปี 2548
ส่วนในปี 2550 นั้น เนื่องจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงประมาณ 3.5-4.5% ซึ่งมีกรอบด้านต่ำของช่วงการเติบโตที่น้อยกว่าของปี 2549 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4.0-4.5% เนื่องจากการชะลอตัวของการส่งออก และการลงทุนรวม อันเป็นผลจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ ซึ่งอาจจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 เป็นอย่างเร็ว นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูง (อย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550) และเงินบาทอาจมีทิศทางแข็งค่าขึ้นอีก ตามการแข็งค่าของเงินหยวนและเงินเยน ดังนั้น ทำให้คาดว่า สินเชื่อ SMEs ของธนาคารพาณิชย์ไทย จะโตประมาณ 7.6-9.0% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของปี 2549
การปล่อยสินเชื่อ SMEs ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ก็ชะลอตัวลงชัดเจนเช่นกัน
นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์แล้ว ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ SMEs ในระยะที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า SMEs เกิดใหม่ ที่ยังมีคุณสมบัติ (Profile) ด้อยกว่า หรือมีความเสี่ยงเครดิตที่สูงกว่า ตลาดลูกค้าที่เป็นเป้าหมายของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของการอนุมัติและค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ น่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน (นอกเหนือไปจากการที่ฐานการปล่อยสินเชื่อใหญ่ขึ้น) ดังจะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวของการอนุมัติและค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ที่ลดลงจาก 35.3% ในปี 2547 มาที่ 13% ซึ่งลดลงชัดเจนจากที่เคยสูงถึง 68-69% ในปี 2544-2545
– อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดสินเชื่อ SMEs ระหว่างธนาคารพาณิชย์ไทย คงรุนแรงมากขึ้นอีก ท่ามกลางความสนใจที่เพิ่มขึ้น
ถึงแม้ว่าในช่วงปี 2549-2550 สินเชื่อ SMEs จะได้รับผลกระทบจากวัฏจักรการชะลอตัวของเศรษฐกิจเช่นเดียวกับสินเชื่อรายใหญ่ แต่การแข่งขันจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ คงจะขับดันให้สินเชื่อประเภทนี้ รักษาอัตราการขยายตัวที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่นๆ ได้ โดยในระยะหลัง ธนาคารพาณิชย์ไทยล้วนแต่หันมาให้ความสนใจกับธุรกิจ SMEs มากยิ่งขึ้น เนื่องจาก
– สินเชื่อ SMEs เป็นสินเชื่อที่มีอัตราผลตอบแทน (Yield) สูง โดยอัตราผลตอบแทนของสินเชื่อ SMEs นั้น แม้จะต่ำกว่าสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต แต่ก็สูงกว่าสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรายใหญ่
– การรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin) หรือการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย จะยากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากภาวะการแข่งขันด้านสินเชื่อที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จะสร้างข้อจำกัดในการตั้งราคาในลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการรักษาความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างของสินทรัพย์ โดยวิธีหนึ่งคือ การเพิ่มอัตราผลตอบแทน (Yield) ของพอร์ตสินเชื่อ เช่น การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อรายย่อยในพอร์ตสินเชื่อรวม ในขณะเดียวกัน ก็เร่งเพิ่มค่าธรรมเนียม ซึ่งสามารถกระทำได้ผ่านการเร่งสร้างฐานลูกค้า ควบคู่ไปกับการเพิ่มช่องทางการให้บริการต่างๆ เป็นต้น
– โครงสร้างพื้นฐานของธนาคารพาณิชย์ไทย มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ระบบบริหารความเสี่ยงและวิธีการพิจารณาอนุมัติเครดิต ซึ่งมีการปรับปรุงและพัฒนาขึ้นมากจากอดีตที่ มักเน้นการพิจารณามูลค่าหลักประกัน และการตัดสินใจของผู้จัดการสาขาที่ใกล้ชิดกับลูกค้า มาเป็นการใช้ระบบการให้คะแนนเครดิตแบบอัตโนมัติ (Credit Scoring System) หรือระบบที่มีมาตรฐานมากขึ้น โดยมีการให้น้ำหนักกับปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ ข้อมูลในงบการเงิน กระแสเงินสด ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ ศักยภาพในการแข่งขัน และประวัติการชำระหนี้ของลูกค้า อีกทั้ง ยังได้พัฒนาระบบการติดตามพอร์ตสินเชื่ออย่างสม่ำเสมอเป็นรายเดือน ซึ่งน่าจะสามารถช่วยเตือนภัยจากการถดถอยของคุณภาพสินเชื่อ SMEs ที่มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
นอกเหนือจากนั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่ง ยังได้จัดวางระบบเพื่อให้เข้าหาลูกค้า SMEs ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น เช่น การเพิ่มจำนวนพนักงานและการจัดตั้งทีมพิเศษขึ้นมา เพื่อดูแลและกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้า SMEs โดยเฉพาะ และการจัดตั้งศูนย์ลูกค้าธุรกิจในบริเวณเขตเศรษฐกิจที่สำคัญในต่างจังหวัด เป็นต้น
– ตลาดลูกค้า SMEs ในส่วนที่ยังไม่ถูกครอบครอง (Untapped Market) โดยธนาคารพาณิชย์ ยังมีขนาดใหญ่ และธนาคารพาณิชย์ไทยอาจเลือกลงมาเล่นในระดับล่างของปิรามิดประชากร SMEs มากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากประมาณว่าธุรกิจ SMEs ที่ไม่ได้ใช้บริการสินเชื่อจากสถาบันการเงิน อาจมีจำนวนกว่า 5 แสนราย ซึ่งยังไม่นับรวมธุรกิจ SMEs ที่เกิดใหม่ในแต่ละปีอีกดังนั้น จึงเป็นตลาดที่เป็น “โอกาส” ของสถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ตลาดดังกล่าวอาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายโดยตรงของธนาคารพาณิชย์ไทย เนื่องจากข้อจำกัดของขนาดธุรกิจ SMEs และระยะเวลาที่ประกอบธุรกิจ ดังนั้น การเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ทางทฤษฎีแล้ว ควรจะขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตของกลุ่มประชากร SMEs ในระดับกลางถึงบน ซึ่งน่าจะผันแปรตามทิศทางเศรษฐกิจ (ที่หนุนให้ธุรกิจ SMEs ระดับล่างมีผลกำไรและขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นๆ จนเลื่อนชั้นขึ้นมาเป็น SMEs ระดับกลาง) ยกเว้นว่าจะมีการเลื่อนชั้นของประชากรอย่างรวดเร็ว ผ่านการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (เช่น เมื่อธุรกิจ SMEs ได้รับการอุดหนุน หรือความช่วยเหลือจากภาครัฐ จนทำให้ศักยภาพในการทำกำไรพัฒนาขึ้น) กระนั้นก็ดี คาดว่าสภาวะการแข่งขันระหว่างธนาคารที่รุนแรง อัตราผลตอบแทนจากสินเชื่อ SMEs ที่อยู่ในระดับสูง และที่สำคัญ ประสิทธิภาพของการบริหารความเสี่ยงที่สูงขึ้น คงจะผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ไทยเลือกลงมาเล่นในกลุ่มลูกค้าระดับล่างมากขึ้น อันจะเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายสินเชื่อ SMEs ในระยะต่อไป
– หลักเกณฑ์จากทางการที่เอื้ออำนวยมากขึ้น เช่น การอนุมัติให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยของธปท. ตามกรอบแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อขยายการให้บริการทางการเงินให้กับกลุ่มธุรกิจและลูกค้ารายย่อยโดยเฉพาะ ตลอดจน การนำมาตรการเงินกองทุนแบบใหม่ “Basel II” มาใช้ในช่วงสิ้นปี 2551 อันจะมีผลในการลดน้ำหนักความเสี่ยงเครดิตของลูกค้าสินเชื่อ SMEs (ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี) ลงจากเดิมที่ 100% มาเหลือ 75% ซึ่งแม้ว่าน้ำหนักความเสี่ยงใหม่ดังกล่าว เป็นผลจากการการสำรวจของ Bank of International Settlement (BIS) โดยใช้ข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในต่างประเทศ แต่ก็คงจะต้องติดตามต่อไปว่าน้ำหนักความเสี่ยงดังกล่าว จะสอดคล้องกับลูกหนี้ SMEs ของไทยหรือไม่อย่างไร
ในภาพรวมแล้ว ผลจากแนวโน้มการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ในตลาดสินเชื่อ SMEs ที่รุนแรงขึ้น อาจทำให้ธุรกิจ SMEs มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นจากอดีต ส่งผลตามมาให้มีการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้นเพื่อแย่งชิงกลุ่มลูกค้า SMEs ระดับกลางและบน และอาจทำให้ความภักดีของลูกค้ากลุ่มดังกล่าวต่อธนาคารผู้ให้บริการลดลง นอกจากนี้ การแข่งขันสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ ยังอาจออกมาในรูปของการแย่งชิงบุคลากรที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกค้าอย่าง ผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้า (Relationship Manager) ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากในการเจาะตลาด SMEs ในต่างจังหวัด ในขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ของลูกค้าให้ได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การนำเสนอบริการในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจงและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า SMEs ดังกล่าวมากขึ้น นอกเหนือไปจากการขายไขว้ผลิตภัณฑ์/บริการ (Cross-Sell) และ Bundled Product เพื่อเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการแข่งขันด้านราคาสำหรับธุรกิจ SMEs ระดับที่ต่ำลงมา จะยังไม่รุนแรงนัก เนื่องจากธุรกิจ SMEs กลุ่มดังกล่าว ค่อนข้างจะยึดติดกับพฤติกรรมการใช้บริการของธนาคารพาณิชย์หลัก (Main Bank) เพียงแห่งเดียว เพราะโครงสร้างธุรกิจยังไม่ซับซ้อน ประกอบกับมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นๆ ในขณะที่ อุปสรรคที่สำคัญสำหรับธนาคารพาณิชย์ในการเจาะตลาดนี้ คงเป็นศักยภาพของระบบการบริหารความเสี่ยง และต้นทุนการดำเนินงานต่อหน่วยที่อยู่ในระดับสูง