ตลาดหลักชะลอ …. ตลาดรองสดใส … ส่งออกไทยเข้มแข็ง

การส่งออกเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เนื่องจากการส่งออกเป็นปัจจัยเดียวที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีอัตราเติบโต 16.6% เป็นมูลค่า 83,569 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.23 ล้านล้านบาท) ในช่วง 8 เดือนแรก 2549 เทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ย 14.9% ตลอดทั้งปี 2548 ประเด็นที่น่าสังเกต ก็คือ การส่งออกของไทยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคมของปีนี้ ขยายตัวในอัตราค่อนข้างสูง โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 18% ต่อเดือน ส่งผลให้ยอดส่งออกรายเดือนของไทยทะลุระดับ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนกรกฎาคม และทำสถิติสูงสุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ณ ระดับ 11,857 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนสิงหาคม 2549 สถานการณ์การส่งออกของไทยที่ค่อนข้างแจ่มใสในปีนี้ เพราะได้รับอานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ของไทยขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้าไทยด้วย ประกอบกับภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกกระเตื้องดีขึ้นในช่วงปีนี้ ก็เป็นผลดีต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยเช่นกัน ซึ่งเป็นรายการสินค้าส่งออกอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 5 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยในแต่ละปี

การส่งออกของไทยไปยังตลาดคู่ค้าหลายแห่งอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 ทั้งประเทศคู่ค้าหลักดั้งเดิมของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป รวมทั้งการส่งออกไปยังตลาดรองของไทย ประกอบด้วยกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก (ไม่รวมญี่ปุ่น) กลุ่มตะวันออกกลาง ทวีปออสเตรเลีย เอเชียใต้ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ และยุโรปตะวันออก เป็นต้น ประเทศคู่ค้าของไทยกลุ่มหลังนี้ นับเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการส่งออกของไทยไปยังตลาดรองเหล่านี้ขยายตัวในอัตราค่อนข้างสูง อยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 25% ในช่วง 8 เดือนแรก 2549

รู้จักตลาดรองไทย … เข้าใจทิศทางการค้า

สถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรก 2549 ได้ปรากฏยอดส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าในกลุ่มตลาดรองได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.9% ซึ่งสูงกว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของการส่งออกทั้งหมดของไทยที่อยู่ในระดับ 16.6% ในช่วงเดียวกัน ส่งผลให้ตลาดรองมีความสำคัญเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนขยับเป็น 38% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยในปัจจุบัน เทียบกับสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 28% ในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ ขณะที่ตลาดหลักดั้งเดิมของไทยมีส่วนแบ่งลดลงเหลือประมาณ 62% ในปัจจุบัน เทียบกับสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 72% ในช่วงก่อนหน้านี้

สำหรับตลาดรองที่สำคัญที่สุดในกลุ่มนี้ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออก (ไม่รวมญี่ปุ่น) ซึ่งมีประเทศจีนเป็นแกนนำ ตลาดแห่งนี้รองรับสินค้าส่งออกของไทยประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าส่งออกของไทยไปยังตลาดรองทั้งหมด ยอดส่งออกไปตลาดเอเชียตะวันออก (ไม่รวมญี่ปุ่น) เพิ่มขึ้น 25.3% ในช่วง 8 เดือนแรก 2549 เทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ย 22.4% ในปีที่ผ่านมา ตลาดรองแห่งอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น 31.9% ทวีปออสเตรเลีย ขยายตัว 25.5% ทวีปอเมริกาใต้ เติบโต 39.4% และตลาดยุโรปตะวันออก ขยายตัว 33.7% ในช่วงเดียวกัน

ส่วนทางด้านการส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักดั้งเดิม 4 แห่ง ประกอบด้วยอาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ขยายตัวค่อนข้างช้า โดยมีอัตราเพิ่มเฉลี่ย 12.1% ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของการส่งออกโดยรวมของไทยที่อยู่ในระดับ 16.6% เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและญี่ปุ่นอ่อนกำลังลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ชะลอลงอยู่ในระดับ 10.9% ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ย 14.9% ในปีที่ผ่านมา อันมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียนมีแนวโน้มชะลอตัว ประมาณการว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะขยายตัวเฉลี่ยราว 5.8% ในปีนี้ เทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ย 6.9% ในปี 2548 ขณะเดียวกันการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นอ่อนแรงลงอยู่ในระดับ 6.7% ในช่วง 8 เดือนแรก 2549 เทียบกับอัตราขยายตัวเฉลี่ย 11.8% ในปี 2548 แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มเข้มแข็งขึ้นก็ตามในปีนี้ แต่สินค้าไทยกลับเสียเปรียบการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนในตลาดญี่ปุ่น จึงบั่นทอนการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น

เมื่อพิจารณาการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดรองของไทย ปรากฎว่าตลาดที่น่าจับตามองมากที่สุด ได้แก่

– ภูมิภาคเอเชียตะวันออก (ไม่รวมญี่ปุ่น) การส่งออกของไทยไปยังตลาดเอเชียตะวันออก (ไม่รวมญี่ปุ่น) ประกอบด้วยประเทศคู่ค้าที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ แต่ทางการไทยยังมิได้จัดให้เป็นตลาดส่งออกหลักดั้งเดิม เพราะเป็นตลาดที่เพิ่งมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆต่อการส่งออกของไทยไม่นานมานี้ ตลาดเอเชียตะวันออกครองส่วนแบ่งประมาณ 19% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย นับเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนราว 15% และตามหลังตลาดอาเซียนเล็กน้อยเท่านั้น (สัดส่วนของอาเซียนประมาณ 21% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย)

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกไปยังตลาดเอเชียตะวันออก (ไม่รวมญี่ปุ่น) น่าพอใจ ก็คือ ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของคู่ค้า โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นแกนนำเศรษฐกิจทั้งของภูมิภาคเอเชียและของโลก คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะรักษาอัตราเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ในปีนี้ ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ การที่ไทยกับจีนเริ่มลดภาษีสินค้าเกษตรนำร่องภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีนเมื่อเดือนตุลาคม 2546 จนกระทั่งอัตราภาษีขาเข้าสินค้าเกษตรเหลือ 0% นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 รวมทั้งทยอยลดภาษีสินค้ารายการอื่นๆ นับตั้งแต่กลางปี 2548 เป็นต้นมา มีส่วนส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยไปจีนอย่างมาก

ทางด้านเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ประมาณการว่าจะขยายตัวราว 5% ในปีนี้ กระเตื้องขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราเติบโต 4% ในปี 2548 ส่วนไต้หวัน คาดการณ์ว่าจะรักษาอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับ 4% ในปีนี้ ใกล้เคียงกับอัตรา 4.1% ปีที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจฮ่องกง แม้ว่ามีแนวโน้มชะลอลงอยู่ในระดับ 6% ในปีนี้ เทียบกับอัตราเติบโต 7.3% ในปี 2548 แต่ก็นับเป็นอัตราขยายตัวที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกอื่นๆ ล้วนกระตุ้นความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งสินค้าไทย ในช่วงนี้

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยด้านค่าเงินของประเทศคู่ค้าก็มีส่วนช่วยให้การส่งออกของไทยไปยังกลุ่มตลาดรองเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้นด้วย ยกตัวอย่าง เช่น การส่งออกสินค้าไทยไปเกาหลีใต้ ได้รับผลดีส่วนหนึ่งมาจากการที่เงินวอนของเกาหลีใต้มีค่าเข้มแข็งขึ้นนับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ โดยค่าเงินวอนแข็งขึ้นประมาณ 6.1% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลงในสายตาของผู้ซื้อชาวเกาหลีใต้ กระตุ้นให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น เป็นต้น

– ตะวันออกกลาง ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพของไทยอีกภูมิภาคหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแพงมาก ช่วยเพิ่มรายได้และกำลังซื้อของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบ ดังนั้น การส่งออกของไทยไปยังตลาดตะวันออกกลางโดยรวมขยายตัว 31.9% เป็นมูลค่า 3,621 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ย 25.3% ในปี 2548 นับเป็นตลาดส่งออกที่ขยายตัวในอัตราค่อนข้างสูง แม้ว่ามูลค่าส่งออกของไทยไปยังตลาดแห่งนี้ยังไม่มากนักก็ตาม โดยมีส่วนแบ่งประมาณ 4.6% ของยอดส่งออกทั้งหมดของไทย ตลาดส่งออกสำคัญของไทยในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่เติบโตรวดเร็วในช่วง 8 เดือนแรก 2549 ได้แก่ กาตาร์ พุ่งขึ้น 99% โอมาน 88% คูเวต 53% ซาอุดิอาระเบีย 48% อิหร่าน 32% บาห์เรน 27% จอร์แดน 27% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 23% เป็นต้น

ประเด็นที่น่าสังเกตในตลาดนี้ ได้แก่ การส่งออกรถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยไปยังตลาดตะวันออกกลางเติบโตในอัตราสูงมากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นอัตราขยายตัวเฉลี่ย 90% ต่อปี และยังคงขยายตัวสูงถึง 103% เป็นมูลค่า 973 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ส่งผลให้รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นสินค้าอันดับ 1 ที่ไทยส่งออกไปตลาดตะวันออกกลางนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา และมียอดส่งออกทะลุระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 คาดว่าการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปตะวันออกกลางจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้

แต่ในขณะเดียวกัน อัญมณีและเครื่องประดับที่เคยครองแชมป์สินค้าส่งออกอันดับ 1 ที่ไทยส่งไปตะวันออกกลางระหว่างปี 2543-2546 กลับมียอดส่งออกชะลอลงในปี 2547-2548 และประสบภาวะชะงักงันในช่วง 8 เดือนแรก 2549 เนื่องจากอิสราเอลลดการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทย เพราะเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองระหว่างอิสราเอลกับเลบานอนปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง มีส่วนบั่นทอนความต้องการนำเข้าสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ อิสราเอลเป็นประเทศที่ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปขายมากที่สุดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง มูลค่าส่งออกสินค้ารายการนี้ไปอิสราเอลคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปยังตลาดตะวันออกกลางทั้งหมด การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ชะลอลง ส่งผลให้อัญมณีและเครื่องประดับหล่นไปอยู่ในลำดับ 3 รองจากรถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ และข้าว ในตลาดตะวันออกกลาง

– ยุโรปตะวันออก การส่งออกของไทยไปภูมิภาคยุโรปตะวันออก แม้ว่ามีมูลค่าไม่สูงนัก แต่ก็ไม่น่ามองข้ามตลาดรองกลุ่มนี้ เนื่องจากมีการขยายตัวต่อเนื่องในอัตราสูง โดยมีอัตราเพิ่ม 33.7% เป็นมูลค่า 943 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 8 เดือนแรก 2549 เทียบกับอัตราขยายตัวเฉลี่ย 23.4% ในปี 2548 ยุโรปตะวันออกนับเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพอีกแห่งหนึ่งของไทย เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนี้อยู่ในเกณฑ์สดใส โดยเฉพาะรัสเซีย ซึ่งกำลังเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าชธรรมชาติรายใหญ่สุดของโลก และเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทยในกลุ่มยุโรปตะวันออก รองรับสินค้าส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยไปยุโรปตะวันออก คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะรักษาอัตราเติบโตในระดับ 6.5% ในปีนี้ ใกล้เคียงกับอัตราขยายตัว 6.4% ในปี 2548

ส่วนการส่งออกของไทยไปยังประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยุโรปตะวันออก เช่น ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ และยูเครน ก็ขยายตัวในอัตราสูงอยู่ในระดับประมาณ 35-80% ในช่วงมกราคม-สิงหาคมปีนี้ เพราะภาวะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เข้มแข็ง โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 4.5-6.0% ในปีนี้ เทียบกับอัตราขยายตัวในระดับประมาณ 2.5-4.0% ในปี 2548 ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง

– ตลาดรองอื่นๆ ก็ล้วนมีศักยภาพต่อการส่งออกของไทยลดหลั่นกันไป ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย เอเชียใต้ ทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาใต้ เพียงแต่ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ การค้าของไทยกับกลุ่มดังกล่าวอ่อนกำลังลงบ้าง ด้วยสาเหตุแตกต่างกัน ยกตัวอย่าง เช่น การส่งออกไปยังนิวซีแลนด์ซบเซา แม้ว่าไทยได้จัดทำ FTA กับนิวซีแลนด์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพราะนิวซีแลนด์ประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงปีนี้ หรืออย่างการส่งออกของไทยไปอินเดียในรอบ 8 เดือนแรก 2549 ก็เชื่องช้าลง เนื่องจากผู้นำเข้าอินเดียชะลอการนำเข้าสินค้าจากไทยในช่วงต้นปีนี้ เพื่อรอเวลาให้อัตราภาษีขาเข้าภายใต้ข้อตกลง FTA ระหว่างไทยกับอินเดียสำหรับสินค้านำร่อง 82 รายการ ที่ทยอยปรับลดลงเป็นลำดับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะลดลงเหลือ 0% ในวันที่ 1 กันยายน 2549 ส่วนตลาดรองในทวีปแอฟริกา ก็เริ่มมีคู่แข่งมากขึ้นจากชาติเอเชียด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจีนหรือสินค้าจากเวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกข้าวของไทยที่ประสบภาวะซบเซาในตลาดแอฟริกาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปีนี้ เนื่องจากแอฟริกาหันไปนำเข้าข้าวเวียดนาม ซึ่งมีราคาต่ำกว่าข้าวไทยเป็นการทดแทน เป็นต้น

ข้อเสนอแนะ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าตลาดการค้าอันดับรองได้ทวีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับในฐานะตลาดส่งออกของไทย เนื่องจากประเทศกลุ่มนี้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและมีนโยบายเศรษฐกิจที่เปิดกว้างมากขึ้น จึงน่าจะเป็นโอกาสของไทยที่จะกระจายการส่งออกสินค้าไทยไปยังทุกทวีปทั่วโลก เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดการค้าไทย เผยแพร่ชื่อเสียงและสร้างความเชื่อถือให้แก่สินค้าไทยทั่วถึงทุกภูมิภาค ดังนั้นมาตรการเชิงรุกที่ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันต่อไป ได้แก่

– กลยุทธ์จัดงานแสดงสินค้าไทยในต่างประเทศ เป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงที่การแข่งขันในเวทีการค้าโลกรุนแรง เพราะการจัดงานแสดงสินค้าไทยในประเทศต่างๆ ช่วยเปิดตลาดสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางโดยตรง ทางการไทยควรหมุนเวียนจัดงานแสดงสินค้าไทยในภูมิภาคต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ซื้อต่างชาติจดจำสินค้าไทยได้แม่นยำ เนื่องจากขณะนี้ประเทศคู่แข่งของไทยที่ผลิตสินค้าคล้ายคลึงกับไทยต่างก็เร่งผลักดันการส่งออกสินค้าของตนอย่างขะมักเขม้น ยกตัวอย่างเช่น เวียดนามได้ส่งเสริมการส่งออกสินค้าหัตถกรรมไปยังประเทศตะวันตก รวมทั้งวางแผนจัดงานแสดงสินค้าเวียดนามในประเทศเพื่อนบ้านเอเชียด้วย นอกจากนี้ การจัดงานแสดงสินค้าไทย ช่วยให้ผู้ส่งออกไทยได้สำรวจความต้องการของกลุ่มลูกค้าในภูมิภาคต่างๆได้อย่างถูกต้อง สามารถนำมาประยุกต์ให้สินค้าไทยสามารถสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม รวมถึงได้รับทราบศักยภาพคู่แข่งในตลาดเหล่านั้นอีกด้วย

– หุ้นส่วนกับพันธมิตรท้องถิ่น ความร่วมมือระดับประเทศเป็นมาตรการที่ดำเนินมาช้านาน ซึ่งประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว แต่สำหรับประเทศคู่ค้าที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ อาทิ จีน อินเดีย และรัสเซีย ควรที่ประเทศไทยจะขยายความร่วมมือในระดับเมืองต่อเมืองด้วย ในฐานะประตูการค้าบานเล็กอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อสร้างความคุ้นเคยและเจาะตลาดเฉพาะท้องถิ่นระหว่างกันมากขึ้น ทั้งนี้ อาจเริ่มต้นจากประเทศที่มีพรมแดนและพื้นฐานความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันก่อน ยกตัวอย่างเช่น ความร่วมมือนำร่องระหว่างจังหวัดภาคเหนือของไทยกับแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนานของประเทศจีน ซึ่งมีชนพื้นเมืองที่มีสายสัมพันธ์ทางเชื้อชาติกับชาวไทยอาศัยอยู่ หรือความร่วมมือระหว่างจังหวัดอีสานตอนบนกับกรุงเวียงจันทน์ของลาว รวมถึงจังหวัดภาคตะวันออกของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา เป็นต้น

– สร้างแบรนด์สินค้าไทยระดับพรีเมียมต่อเนื่อง ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าหลากหลายประเภท ทั้งสินค้าทางการเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม จึงควรส่งเสริมการสร้างตราสัญลักษณ์สินค้าไทย เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าไทยกับสินค้าประเทศอื่นๆอย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นการรับประกันคุณภาพสินค้าไทยระดับพรีเมียมด้วย โดยเฉพาะการผลิตสินค้าที่เน้นตลาดระดับบน เพื่อสร้างชื่อเสียงและประชาสัมพันธ์ความสามารถของผู้ประกอบการไทยในวงการการค้าโลกมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าส่งออกจำพวกอาหารและผลไม้ไทยต้องเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยและบรรจุภัณฑ์ที่สะอาดสวยงามถูกสุขอนามัย เพื่อรักษาคุณภาพอาหารไทยให้น่ารับประทาน

– ขยายธุรกิจบริการสู่ตลาดโลก ทางการไทยควรสนับสนุนธุรกิจบริการหลากหลายประเภทที่ไทยมีความสามารถเป็นอย่างดี โดยทางการไทยมีการออกใบรับรองคุณภาพการประกอบธุรกิจบริการ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในกลุ่มลูกค้าต่างชาติ การที่ไทยจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้าต่างๆ จะนำไปสู่การเปิดเสรีธุรกิจบริการระหว่างไทยกับต่างประเทศด้วย ธุรกิจบริการที่มีศักยภาพของไทย อาทิ ร้านอาหารไทย นวดแผนไทยและสปา บริการด้านสุขภาพ ธุรกิจเสริมสวย การสอนศิลปะป้องกันตัวแบบไทย กิจการอู่ซ่อมรถ บริการก่อสร้าง สถาบันสอนภาษาไทย สถาบันสอนทำอาหารและขนมไทย บริการสุขภาพ และธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะภัตตาคารและร้านอาหาร ซึ่งอนุญาตให้พ่อครัว-แม่ครัวคนไทยเข้าไปทำงานได้ จะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังการส่งออกเครื่องปรุง วัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำอาหารไทยด้วย ทั้งนี้ ไทยควรใช้สิทธิประโยชน์ด้านสาขาบริการที่ต่างชาติเปิดเสรีให้ไทยเข้าไปประกอบกิจการอย่างเต็มที่

การส่งออกไปยังตลาดรองที่เริ่มมีบทบาทโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆในขณะนี้ ช่วยกระจายการส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคต่างๆ อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ในตลาดหลักๆ เท่านั้น ดังนั้น การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศเชิงรุก จึงควรให้ความสำคัญทั้งตลาดหลักและตลาดรองพร้อมๆ กัน เพื่อให้การส่งออกของไทยมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ผันแปรต่างๆ ของโลก นอกจากนี้ ควรยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการของไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานโลก ตลอดจนเกื้อหนุนผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อเป็นกลไกเสริมพลังทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ตลาดรองที่มีศักยภาพและสามารถจะพัฒนาเป็นตลาดหลักของไทยในอนาคต ได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล และแอฟริกาใต้ ซึ่งมีความได้เปรียบในฐานะที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ และเศรษฐกิจกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดรองกลุ่มนี้ต่อไป