สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) จัดกิจกรรมเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยเชิญเพื่อนๆ วัยรุ่น วัยเรียน มาถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ปัญหาเรื่องสุขภาวะ ทักษะชีวิตเพื่อการดำรงชีวิต ดำรงตนในสังคมอย่างมีความสุข สมวัย ก้าวเป็นผู้ใหญ่โดยเล่าเรื่องเป็นบทละครสั้น พร้อมรูปประกอบ ผลงานที่ได้รับการคัดเลือก จะได้โอกาสเข้ารอบ Workshop เรียนรู้แนวทางการเป็นนักเขียนบทละครและนักแสดง และชิงรางวัลทุนการศึกษา รวมกว่า 3 หมื่นบาท
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาผังรายการ ETV และตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนในสังคมไทย ทำให้พ่อแม่ได้ทราบปัญหาหรือเข้าใจวัยรุ่นมากขึ้น เพราะปัจจุบันค่านิยมในการบริโภคของเด็กเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ดังนั้นหากมาร่วมกันแก้ปัญหาโดยพยายามส่งเสริมกิจกรรมด้านต่าง ๆ เช่น การขยายสื่อดี ๆ สร้างสรรค์ทุกด้านให้เหมาะสมกับเด็ก และอยากจะแนะนำผู้ปกครองว่า จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีได้แก่ “3 ต้อง 2 ไม่” ซึ่ง 3 ต้องก็คือพ่อแม่ต้องกำหนดเวลาให้ลูก ต้องเลือกรายการโทรทัศน์ให้ลูก และต้องนั่งดูอยู่กับลูก ส่วน 2 ไม่นั้นผู้ปกครองจะต้องไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโทรทัศน์ในห้องลูก และไม่มีสื่อร้ายในบ้าน อย่างไรก็ตาม หากโครงการนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากเด็ก ตนอยากเสนอให้ผู้ทำโครงการนี้ขยายผลออกไปมากขึ้น
นายสุนทร พรหมรัตนพงษ์ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ETV) กล่าวว่า ในส่วนของการอบรมเมื่อคณะกรรมการทำการคัดเลือกผู้เข้ารอบ 50 คนแล้ว ทั้งหมดจะได้เข้ารับการอบรมที่ศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์และวีดีโอเทปเพื่อการศึกษา (รังสิต) ที่มีอุปกรณ์ทันสมัยพร้อมรองรับการให้ความรู้ เป็นเวลา 12 วัน โดย 3 วันแรกจะเป็นการจัดอบรมความรู้ในภาคทฤษฎี ส่วนในวันที่เหลือจะจัดให้มีการจัดกลุ่มย่อย 12 กลุ่ม เพื่อให้เด็กร่วมกันฝึกภาคปฏิบัติในการเขียนบทละครสั้นเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการได้พิจารณาและตัดสินต่อไปทั้งนี้ในระหว่างการอบรมทางศูนย์ฯจะได้เชิญผู้มีประสบการณ์ทางด้านการเขียนบท การกำกับการแสดง มาร่วมบรรยายให้ความรู้แก่ทุก ๆ คนได้นำไปใช้ในการเขียนละครสั้น เพื่อให้คณะกรมการพิจาณาในขั้นตอนสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ผลงานของเด็ก ๆ จะได้รับการออกอากาศทาง ETV ด้วย
นายวโรรส โรจนะ กรรมการผู้จัดการ เว็บไซต์ www.dek-d.com กล่าวว่า จากสถิติในปีที่ผ่านๆมา พบว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้เด็กไทยทุกคนได้เข้าถึงอินเตอร์เนตมากขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งความรู้ขนาดใหญ่ มีข้อมูลให้ค้นหามากมาย ดังนั้นผู้ให้บริการเว็บไซต์ ต้องมีความรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูล เนื้อหาที่นำเสนอสำหรับเด็กและเยาวชนควรจะผ่านการกลั่นกรอง และตรวจสอบเป็นอย่างดี เพื่อให้เด็กๆได้ข้อมูลที่ถูกต้อง การนำเสนอต้องมีความเป็นกลางในฐานะสื่ออย่างแท้จริง ไม่ควรใช้ภาษาที่เป็นการเร้าอารมณ์ ยั่วยุให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม เพียงเพื่อให้เกิดกระแส และสร้างความสนใจเพื่อดึงดูดเด็กเข้าเว็บไซต์
“วัยรุ่นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของภาวะอารมณ์อย่างรุนแรง รวดเร็ว ทำให้เด็กบางคนใจร้อน การแก้ปัญหา ควรเป็นแบบ “ติเพื่อก่อ” เน้นการเสนอแนะวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องมากกว่า การว่ากล่าวตักเตือนโดยมุ่งเน้นที่ความผิดของเด็กเพียงอย่างเดียว และให้โอกาสเด็กกลับตัวเสมอ นอกจากนี้จากประสบการณ์ในฐานะผู้ให้บริการเว็บไซต์ที่ผ่านมา พบว่าเด็กจำนวนมากเชื่อข้อมูลที่ได้พบในอินเตอร์เน็ตง่ายมาก เช่นข้อความลูกโซ่ก็มีเด็กเชื่อและทำตามเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสื่อควรมีการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริง โดยการนำเสนอต้องนำเสนอเหตุและผลให้ชัดเจนและครอบคลุม”
สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ต้องเป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นหรือตอนปลาย หรือระดับมหาวิทยาลัย หรือเทียบเท่า (วัย 12-23 ปี) ลักษณะผลงานที่ส่งรอบแรก เป็นผลงานที่เขียนเป็นละครสั้นไม่กำหนดรูปแบบตายตัว โดยมีความยาวของผลงาน ที่สามารถนำไปใช้เป็นบทละครในเวลาประมาณ 3-4 นาที มีเนื้อหาที่สะท้อนปัญหาของวัยรุ่นที่เกิดขึ้นจริง หรือ อาจจะเกิดขึ้นได้จริงในชีวิตวัยรุ่น สรุปประเด็นที่ผู้ชมสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือการตัดสินใจที่ถูกต้องในเหตุการณ์นั้นๆได้ ส่วนรูปประกอบ (ไม่บังคับ) จำนวนไม่เกิน 3 ภาพ อาจใช้คนแสดงประกอบ หรือภาพสำเร็จรูปไม่จำกัด สามารถส่งผลงานมาได้ที่ เว็บไซต์ www.dek-d.com เว็บไซต์ www.etvthai.com และทางไปรษณีย์มาที่โครงการ บทดีชีวิตสวยงาม 15/217 ซอยลาดพร้าว 23 แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900 โทรสาร 0-2954-2505
ในวันที่ 19 ตุลาคม 2549 ประกาศผลการตัดสินผู้ที่ผ่านเข้ารอบแรก โดยพิจารณาจาก 1. คะแนนจากคณะกรรมการตัดสิน 75% เกณฑ์การตัดสิน – ความสมเหตุผล – ความสร้างสรรค์และน่าสนใจของ ปัญหา – ความสามารถในการสื่อสารเป็นข้อความหรือรูปภาพ 2. คะแนนโหวต Popular vote ในเว็บไซต์ www.dek-d.com25% คะแนนโหวตแต่ละบทความเพื่อความยุติธรรมสำหรับผู้ที่ส่งบทความเข้ามาก่อนและหลัง จะคิดคะแนนโดยเอาคะแนนทั้งหมดเฉลี่ยด้วยจำนวนวันที่ลงในเว็บไซต์ ผลงานของผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 50 คนจากคะแนนตัดสินของคณะกรรมการ รวมกับคะแนน Popular vote จะได้เข้าร่วม Workshop อบรมการผลิตละคร ภาคทฤษฏี :ในวันที่ 24-25 ตุลาคม 2549 ภาคปฏิบัติ: ในวันที่ 26-30 ตุลาคม 2549 โดยผู้เข้าร่วมอบรมต้องมีเวลาร่วม Workshop ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของเวลาทั้งหมด อบรมการผลิตละครกับวิทยากรชื่อดังคุณต้อ มารุต สาโรวาท คุณดาราการ วงศ์ศิริ และยังได้มีโอกาสผลิตชิ้นงานจริงแบบมืออาชีพกับทีงานผลิตรายการโทรทัศน์สถานีโทรทัศน์ ETV
และวันที่ 18 พฤศจิกายน จะประกาศผลและมอบรางวัลกับผู้ชนะเลิศ โดยได้รับรางวัลจาก ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รางวัลชนะเลิศ 10,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 เงินรางวัล 7,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 เงินรางวัล 4,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร รางวัลชมเชย 2 รางวัลๆละ 2,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
คณะกรรมการในการตัดสินผลงาน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ได้แก่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้แทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ อาจารย์รักขณา ตัณฑวุฒิโฑ ผู้แทนจากสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ETV รศ.ดร.กิดานันท์ มลิทอง สาขาวิชาโสตทัศนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายแพทย์สุกมล วิภาวีพลกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาวัยรุ่น คุณภีมกมล ประเสริฐวงศ์ นักเขียนบทละครโทรทัศน์ คุณอำนวยพร เอี่ยมพันธ์ ผู้ผลิตรายการ love life idol และนายปกรณ์ สันติสุนทร
กุล กรรมการบริหาร เว็บไซต์ www.dek-d.com
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ :
สุรีย์พร สื่อสกุล (ตุ้ย)
บริษัท ทูเดย์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด
Tel : 01-902-5948, 05-838-5977
E-mail : todaytion@yahoo.com