ราคาผักพุ่ง : ผลกระทบจากน้ำท่วม…เทศกาลกินเจ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานความเสียหายอุทกภัยเบื้องต้นเนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำต่อเนื่อง พายุดีเปรสชั่นและพายุช้างสารตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม-10 ตุลาคม 2549 ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 49 จังหวัด พื้นที่เกษตรประสบอุทกภัยรวม 3.61 ล้านไร่ พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 2.82 ล้านไร่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวและพืชไร่ อย่างไรก็ตามความเสียหายทางด้านการเกษตรที่ไม่อาจมองข้ามคือความเสียหายต่อผลผลิตพืชผัก โดยจากการออกสำรวจราคาพืชผักทั้งที่ตลาดกลางค้าส่งและตลาดค้าปลีก รวมทั้งรายงานราคาผักขายส่ง-ปลีกในภาคต่างๆปรากฏว่าผลจากภาวะน้ำท่วมทำให้ราคาพืชผักพุ่งสูงขึ้นหลายชนิด หลังจากที่ปรับราคาสูงขึ้นมาแล้วในช่วงราคาน้ำมันแพง นับว่าภาวะน้ำท่วมเริ่มส่งผลซ้ำเติมกับภาวะค่าครองชีพของประชาชนหลังจากที่ต้องเผชิญราคาผักแพงในช่วงราคาน้ำมันที่สูงมากก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่จะมีผลดึงให้ราคาผักเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลกินเจที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 22-30 ตุลาคม เพราะว่าในช่วงเทศกาลกินเจนั้นความต้องการผักเพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงปกติค่อนข้างมาก เท่ากับว่าภาวะน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตผัก ทำให้ปริมาณผักที่จะออกสู่ตลาดลดลง ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงเทศกาลกินเจด้วยจึงยิ่งทำให้ผักมีราคาแพงขึ้นไปอีก

พื้นที่ปลูกพืชผักที่คาดว่าจะเสียหายจากน้ำท่วมในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม-10 ตุลาคม 2549 เท่ากับ 18,890 ไร่ โดยแยกเป็นพื้นที่เสียหายในภาคเหนือมากที่สุดถึงร้อยละ 51.6 ของพื้นที่ความเสียหายทั้งหมด โดยเพื้นที่ความเสียหายส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ สุโขทัยและเชียงใหม่ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 29.0 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดชัยภูมิและนครราชสีมา ภาคกลางร้อยละ 13.2 โดยรายงานพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดอ่างทอง ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 6.2 เป็นความเสียหายภาคอื่นๆ ซึ่งรายงานพื้นที่ปลูกพืชผักนี้เป็นเพียงรายงานความเสียหายในเบื้องต้นเท่านั้น คาดว่าความเสียหายโดยรวมน่าจะมากกว่านี้ เนื่องจากยังคงมีปัญหาฝนตกชุกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกผัก โดยเฉพาะผักกินใบ รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมยังจะขยายความเสียหายกว้างออกไป โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง เนื่องจากการระบายน้ำจากทางเหนือลงสู่ทะเล คาดว่าพื้นที่ปลูกผักที่เสียหายน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมในปี 2547 ซึ่งในครั้งนั้นพื้นที่ปลูกผักเสียหาย 49,672.7 ไร่ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีรายงานความเสียหายในอีกหลายจังหวัด เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี เชียงราย ขอนแก่น เป็นต้น

จากการสำรวจราคาขายปลีกผักสำคัญบางชนิดในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมาพบประเด็นสำคัญคือ ราคาขายปลีกผักสำคัญบางชนิดนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลกินเจและในบางปีก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมด้วย ประเด็นสำคัญสำหรับในปี 2549 คือ ในช่วงเดือนตุลาคมราคาขายปลีกผักสำคัญมีแนวโน้มจะอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา โดยผักที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นคือ ผักกินใบโดยเฉพาะผักคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน และผักกาดหอม ซึ่งปัจจุบันผักเหล่านี้แหล่งซื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในตลาดสด เนื่องจากเป็นผักที่เป็นที่นิยมบริโภคทั่วไป นอกจากนี้ผักเมืองหนาวก็มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมที่แหล่งปลูกสำคัญในภาคเหนือ โดยผักเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีแหล่งจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคของผู้รายได้ระดับกลางขึ้นไป โดยปกติผักเหล่านี้จะมีราคาสูงกว่าผักทั่วไปอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อแหล่งผลิตสำคัญทางภาคเหนือประสบปัญหาน้ำท่วมส่งผลให้ผักเมืองหนาวมีราคาแพงและสินค้าขาดแคลนไม่เพียงพอกับความต้องการ

นอกจากประชาชนในกรุงเทพฯจะได้รับผลกระทบแล้ว ประชาชนในภาคอื่นๆก็ได้รับผลกระทบจากราคาผักที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากภาคเหนือและภาคกลางเป็นแหล่งปลูกผักสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะประชาชนทางภาคใต้นอกจากผักท้องถิ่นแล้ว พืชผักทุกชนิดราคาจะแพงขึ้นจากเดิม เนื่องจากพืชผักบางส่วนรับซื้อมาจากภาคเหนือและภาคกลางซึ่งกำลังประสบปัญหาน้ำท่วม เช่นมะเขือเทศ กะหล่ำปลี กวางตุ้งเคยรับซื้อถุงละ 60-70 บาท(ขนาดถุงละ 10 กิโลกรัม) ปรับราคาขึ้นไปเป็นถุงละ 90-100 บาท ผักคะน้า ผักกาดขาวราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 30-40 บาท จากที่เคยมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 20-25 บาทเท่านั้น เป็นต้น

ราคาผักที่แพงขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อภาวะค่าครองชีพของประชาชน ทั้งในแง่ของผลกระทบโดยตรงจากการที่ต้องซื้อผักเพื่อนำไปบริโภคในครัวเรือนในราคาที่แพงขึ้น และการที่ราคาอาหารสำเร็จรูปมีแนวโน้มแพงขึ้นด้วย โดยร้านค้าอาหารสำเร็จรูปบางแห่งปรับขึ้นราคาอาหาร แต่บางร้านที่กลัวจะเสียลูกค้าก็ทนแบกรับภาระหรือลดปริมาณอาหารลงเล็กน้อย

นอกจากนี้ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความเห็นว่าราคาผักยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูงไปจนถึงสิ้นปี 2549 โดยปัจจัยที่ยังจะส่งผลให้ราคาผักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปอีกอย่างน้อย 1-2 เดือน มีดังนี้

1.ภาวะน้ำท่วม ในช่วงนี้แหล่งผลิตผักที่สำคัญยังประสบปัญหาในเรื่องพายุฝนเป็นช่วงๆ ซึ่งมีผลต่อการทำให้ผักใบทั้งหลายเสียหาย เนื่องจากภาวะฝนที่ตกหนักทำให้ใบผักขาด และบางส่วนเน่าเสีย คาดหมายว่าภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัดทั้งในภาคเหนือและภาคกลางจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน ซึ่งภาคเหนือและภาคกลางเป็นแหล่งปลูกผักสำคัญป้อนตลาดทั่วประเทศ ส่วนจังหวัดต่างๆในภาคกลางโดยส่วนใหญ่เป็นแหล่งปลูกผักที่สำคัญเพื่อป้อนกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยปริมาณความต้องการบริโภคผักของคนกรุงเทพฯสูงถึง 400,000 ตันต่อวัน ถ้าหลายจังหวัดในภาคกลางได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตผักมากขึ้นและทำให้กรุงเทพฯมีปริมาณผักเข้าสู่ตลาดลดลง อย่างไรก็ตามยังโชคดีที่ในปีนี้จังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรีและราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกผักสำคัญป้อนกรุงเทพฯเช่นกันยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม รวมทั้งยังไม่มีรายงานความเสียหายของจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรีซึ่งเริ่มประสบปัญหาน้ำท่วมแล้วด้วย แต่ถ้าการระบายน้ำจากทางเหนือออกสู่ทะเลส่งผลกระทบต่อจังหวัดดังกล่าว คาดว่าราคาผักน่าจะพุ่งสูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามในหลายจังหวัดที่ประสบภาวะน้ำท่วม แม้ว่าทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะมีแนวนโยบายช่วยเหลือภายหลังน้ำลด โดยเฉพาะการปลูกพืชผลเกษตรทดแทนที่เสียหายไป สำหรับพืชผักนั้นทางหน่วยงานราชการมีการสำรองเมล็ดพันธุ์ผักเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกร แต่การปลูกผักต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 เดือนจึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ จึงเท่ากับว่าในช่วงระยะ 1-2 เดือนนี้ราคาผักจะยังอยู่ในเกณฑ์สูงต่อไป

2.ปัญหาน้ำมันราคาแพงในช่วงระยะที่ผ่านมา จากปัญหาที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อราคาผัก โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่งที่มีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่อยู่ในเกณฑ์สูงในช่วงที่ผ่านมายังมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตผักทางอ้อมด้วย โดยราคาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช

3.เทศกาลกินเจ ในช่วงวันที่ 22-30 ตุลาคม 2549 จะเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วงเทศกาลกินเจนั้นราคาผักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากในช่วงเทศกาลกินเจนั้นความต้องการบริโภคผักเพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงปกติ แต่ในปีนี้ได้เกิดภาวะน้ำท่วมอย่างหนักในภาคต่างๆของประเทศในช่วงเวลาใกล้ช่วงเทศกาลกินเจ จึงยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ผักมีราคาแพงมากขึ้นไปอีก

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่จะมีผลดึงให้ราคาผักสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนทั้งโดยทางตรงเมื่อต้องซื้อผักไปปรุงอาหารเพื่อบริโภคในครัวเรือนและเมื่อต้องซื้ออาหารสำเร็จรูปในราคาที่สูงขึ้นหรือปริมาณลดลง แม้ว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามหลักของเศรษฐศาสตร์ที่สินค้าน้อยลง ความต้องการเพิ่มขึ้น ราคาก็ต้องเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องจะสามารถเจ้ามาช่วยเหลือผู้บริโภคคือ ต้องออกมาเข้มงวดบรรดาพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายไม่ให้ฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภคโดยนำเอาปัจจัยเหล่านี้ไปเป็นข้ออ้างในการขึ้นราคาสินค้าเกินควร ซึ่งเท่ากับผู้บริโภคนั้นไม่ได้รับความเป็นธรรม