นักดื่มไทยส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาเมาแล้วขับเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุด กระตุ้นการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ ควรมีบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้นสำหรับผู้ดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำผิดกฎหมาย และผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และเข้าใจเรื่องแอลกอฮอล์ และสนับสนุนงบประมาณในโครงการรณรงค์เยาวชนไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีข่าวดี นักดื่มไทยมีแนวโน้มดื่มแอลกอฮอล์น้อยลงเพราะห่วงสุขภาพ
นางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาร์เก็ตไว้ส์ จำกัด เปิดเผยว่า จากผล การสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “การศึกษาเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย” (Thailand Alcohol Study) ของคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อายุ 18-60 ปี จำนวน 3,978 ราย แบ่งเป็นผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำรวม 2,400 ราย และผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยและผู้ที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำรวม 1,578 ราย พบว่า จากปัญหาต่างๆ ที่สังคมกำลังประสบอยู่ในปัจจุบันนั้น ผู้ให้สัมภาษณ์ ส่วนใหญ่คิดว่าปัญหาที่รุนแรงมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น รองลงมาเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาพฤติกรรมของวัยรุ่น อาชญากรรมและความรุนแรง โรคเอดส์ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การขาดจริยธรรมในสังคม ปัญหาโสเภณี ความรุนแรงภายในครอบครัว ปัญหาคุณภาพการศึกษา และ สวัสดิการรักษาพยาบาล ตามลำดับ
“เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าผู้ที่ดื่มประจำร้อยละ 65 เห็นว่าปัญหาเมาแล้วขับเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุด ตามด้วยปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรมที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 22 ซึ่งเป็นความเห็นร่วมกันของผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งเพศชายและหญิงในทุกกลุ่มอายุ รายได้ และพื้นที่ที่พักอาศัย อีกทั้งส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81 ก็เห็นตรงกันว่า ผู้ดื่มทุกคนควรดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ ร้อยละ 78 เห็นว่าบริษัทจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ร้อยละ 77 เห็นว่าแอลกอฮอล์มีบทบาทสามารถทำให้คนเปลี่ยนบุคลิกได้ และร้อยละ 76 เห็นว่าควรมีบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้นสำหรับผู้ดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำผิดกฎหมาย” นางดารณีกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ให้สัมภาษณ์จำนวนร้อยละ 53 มองว่า แอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพซึ่งทำให้คนรู้สึก มึนเมาและไม่สามารถควบคุมตนเอง ในทางตรงกันข้ามร้อยละ 11 เห็นว่าแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ดีต่อ สุขภาพที่ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายและหลับสบาย และร้อยละ 10 กล่าวว่าแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ใช้ดื่มเมื่อเวลาพบปะสังสรรค์ในโอกาสต่างๆ ในด้านของอายุของผู้ให้สัมภาษณ์นั้น พบว่ายิ่งผู้ให้สัมภาษณ์มีอายุน้อยยิ่งมีความเชื่อว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ในขณะที่ยิ่งผู้ให้สัมภาษณ์มีอายุมากยิ่งเชื่อว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ ในส่วนของเพศของผู้ให้สัมภาษณ์นั้น เพศชายมี สัดส่วนของผู้ที่มองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแง่ดีกว่าเพศหญิงที่ร้อยละ 14 ต่อร้อยละ 6 ตามลำดับ
ในส่วนของแนวโน้มในการดื่มแอลกอฮอล์ในอนาคตนั้นมีแนวโน้มไปในทางการดื่มให้น้อยลง โดยผู้ที่ดื่มประจำร้อยละ 63 มีความตั้งใจที่จะดื่มให้น้อยลงหรือเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอนาคต เพราะ เชื่อว่าแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ มากมาย เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง และสมองเสื่อม นอกจากนี้ ยังต้องการที่จะรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และเริ่มมีอายุมากขึ้นทำให้ร่างกายเริ่มที่จะรับไม่ไหว ขณะที่ร้อยละ 36 มีความตั้งใจที่จะดื่มในปริมาณเท่าเดิมกับที่ดื่มอยู่ในปัจจุบัน สำหรับกลุ่มผู้ที่ไม่ดื่มและผู้ที่ไม่ดื่มเป็นประจำนั้นร้อยละ 62 กล่าวว่าพวกเขาไม่มีความตั้งใจที่จะเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ในอนาคต เพราะเชื่อว่าแอลกอฮอล์มีส่วนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่นกัน
เมื่อสอบถามถึงโอกาสที่คาดว่าจะดื่มแอลกอฮอล์ คือ ขณะปาร์ตี้/สังสรรค์กับเพื่อนที่ร้อยละ 90 ดื่มในเทศกาลต่างๆ ที่ร้อยละ 71 และเมื่อฉลองในโอกาสพิเศษที่ร้อยละ 56 ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มีความเหมือนกันในกลุ่มผู้ที่ให้สัมภาษณ์ทุกเพศ อายุ รายได้ และพื้นที่ที่ทำการสัมภาษณ์ สำหรับการดื่มในอนาคตนั้น ประเภทของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คาดว่าจะดื่ม คือ เบียร์ร้อยละ 88 วิสกี้ร้อยละ 60 บรั่นดีร้อยละ 18 และเหล้าขาวร้อยละ 17
ในด้านปริมาณของแอลกอฮอล์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่ดื่มประจำร้อยละ 58 ไม่ทราบถึงปริมาณของแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม แต่อีกร้อยละ 42 คิดว่าพวกเขาทราบถึงปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เขาดื่ม ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นเพศชายร้อยละ 46 มากกว่ากลุ่มเพศหญิงที่ร้อยละ 25 ทั้งนี้ ยังพบว่ายิ่งผู้ให้สัมภาษณ์มีอายุน้อยลงระดับความรับรู้เกี่ยวกับปริมาณแอลกอฮอล์จะยิ่งลดลง นอกจากนี้ผู้ให้สัมภาษณ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด จะมีสัดส่วนของผู้ที่ทราบเกี่ยวกับปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่าผู้ให้สัมภาษณ์ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพ โดยผู้ดื่มที่กล่าวว่าทราบปริมาณแอลกอฮอล์ใน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เขาดื่มนั้นร้อยละ 44 เป็นผู้ที่ดื่มวิสกี้เป็นประจำ ร้อยละ 40 เป็นผู้ที่ดื่มเบียร์เป็นประจำ ร้อยละ 22 เป็นผู้ที่ดื่มเหล้าขาวเป็นประจำ ร้อยละ 4 เป็นผู้ที่ดื่มบรั่นดีเป็นประจำ และร้อยละ 3 เป็นผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มพร้อมดื่ม (RTD) เป็นประจำ
ในด้านการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 58 ของผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดเคยเห็นโฆษณา ขณะที่อีกร้อยละ 42 ไม่เคยเห็นโฆษณาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำและผู้ที่ไม่ดื่มนั้น ร้อยละ 60 ของผู้ที่ดื่มเคยเห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน 3 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 54 ของผู้ที่ไม่ดื่มเคยเห็นโฆษณา ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะจำได้เฉพาะภาพในโฆษณาและโลโก้ มีส่วนน้อยที่สามารถจดจำรายละเอียดเนื้อหาหรือ ข้อความในโฆษณาได้ ในส่วนของผลกระทบของโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการดื่มนั้น ร้อยละ 92 ของผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดมองว่า โฆษณาไม่มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มของพวกเขา สำหรับ ผู้ที่ดื่มเป็นประจำร้อยละ 9 ต้องการดื่มมากขึ้น เทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มร้อยละ 2 เห็นว่าโฆษณามีผลทำให้อยากดื่มมากขึ้น โดยโฆษณาจะมีผลต่อกลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ที่มีอายุน้อยมากกว่ากลุ่มที่มีอายุมากเล็กน้อย
สำหรับการรับรู้เกี่ยวกับกฎหมาย/ข้อบังคับเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น พบว่า ส่วนใหญ่มีระดับความเข้าใจที่ถูกต้องต่อกฎหมาย/ข้อบังคับต่างๆ โดยผู้ที่ดื่มประจำร้อยละ 78 กล่าวว่าเขาทราบถึงกฎหมาย/ข้อบังคับที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ และเป็นกลุ่มเพศชายมากกว่ากลุ่มเพศหญิงที่ร้อยละ 80 ต่อร้อยละ 72 และยิ่งผู้ให้สัมภาษณ์มีอายุมากขึ้นยิ่งมีสัดส่วนการรับรู้ต่อข้อกฎหมาย/ข้อบังคับมากขึ้น โดยในส่วนของกฎหมาย/ข้อบังคับที่ผู้ให้สัมภาษณ์เอ่ยด้วยตนเองว่าทราบนั้น ได้แก่ อายุที่ห้ามซื้อ/จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านค้าปลีกที่ร้อยละ 32 บทลงโทษต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มที่ร้อยละ 19 และ อายุ/สถานที่ที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นที่ร้อยละ 8 ซึ่งแหล่งข้อมูลที่ผู้ให้สัมภาษณ์รับรู้เกี่ยวกับกฎหมาย/ข้อบังคับเหล่านี้นั้นมาจากทางโทรทัศน์ที่ร้อยละ 91 โปสเตอร์และป้ายโฆษณาตามสถานที่ต่างๆ ร้อยละ 25 วิทยุร้อยละ 11 และหนังสือพิมพ์ร้อยละ 10 เป็นต้น
ในส่วนของความคาดหวังที่ผู้ให้สัมภาษณ์เห็นว่า บริษัทขนาดใหญ่ทั่วไป และบริษัทในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรปฏิบัตินั้น ได้แก่ ด้านการบริจาค/จัดตั้งกองทุนแก่เด็กยากจน เด็กกำพร้า คนพิการ คนชรา และคนป่วย การสร้างสโมสรกีฬา/สนามเด็กเล่น การสร้างโรงเรียน/ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก การจ้างงานให้แก่คนจน/คนพิการ/คนว่างงาน ให้มีงานทำ เป็นต้น
“ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ให้สัมภาษณ์จะคาดหวังต่อบริษัทขนาดใหญ่ทั่วไปและบริษัทผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ยกเว้นด้านการรณรงค์และการป้องกัน ที่จะเห็นว่า บริษัท ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายแอลกอฮอล์ควรมีบทบาทมากกว่า โดยควรรณรงค์ให้ความรู้ต่อประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนรู้และเข้าใจเรื่องแอลกอฮอล์และปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม การจัดทำโครงการที่สนับสนุนการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ การสนับสนุนกฎระเบียบของรัฐบาลที่มีต่อแอลกอฮอล์และ ส่งเสริมงบประมาณในโครงการรณรงค์เยาวชนไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันประเด็นด้าน การรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่า มี ความสำคัญ และมีความจำเป็นอย่างมาก ในการประกอบธุรกิจของบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งนี้ การที่บริษัทหรือองค์กรต่างๆ ดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม และให้ความสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของพนักงาน ครอบครัว ชุมชน และสังคมนั้น เป็นหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญขององค์กรต่างๆ” นางดารณีกล่าวโดยสรุป
รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
บริษัท มาร์เก็ตไว้ส์ จำกัด
โทร. 0-2259-0290-4 ต่อ 121
ติดต่อ คุณรัชฎา อาธขันธุ์