"เหมันต์ สุคันธา" งานฤดูหนาวพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ปี 2549

ที่มาของงานฤดูหนาวนี้ ได้รับแรงบัลดาลใจจากงานฤดูหนาวที่เคยมีอยู่เดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่มีการจัดงาน ออกร้านหารายได้ในช่วงฤดูหนาวขึ้น เช่น งานนักขัตฤกษ์ฤดูหนาววัดเบญจมบพิตรฯ งานรื่นเริงฤดูหนาวพระราชอุทยานสราญรมย์ เพื่อยังประโยชน์ในการทำนุบำรุงกิจการงานของชาติ เช่น การสร้างวัด การจัดซื้อปืนใหญ่ สร้างกองเสือป่า ฯลฯ

งานในครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการจำลองงานฤดูหนาวที่เคยมีแล้วในอดีต โดยใช้แนวคิดของการจัดงานเพื่อนำรายได้มาใช้ในการทำนุบำรุงพระราขนิเวศน์ฯ เพื่อรักษาคุณค่าทั้งในเชิงมรดกและโบราณสถานที่บอกเล่าเรื่องราวอันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย

ประการหนึ่งการจัดงานฤดูหนาวเป็นประจำทุกปี ถือเป็นการรวบรวมผลงานจากโครงการต่างๆ ที่พระราชนิเวศน์ได้มีการฟื้นฟูขึ้นในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเรียนรู้ผลงานการศึกษาและค้นคว้าของพระราชนิเวศน์ฯ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น

ชื่อ Theme ประจำปี 2549 “เหมันต์ สุคันธา”
เหมันต์ สุคันธา มีความหมายถึง กลิ่นหอมจากดอกไม้ยามฤดูหนาว
สื่อความหมายถึง งานฤดูหนาวประจำปีในพระราชนิเวศน์ฯ ริมทะเล ท่ามกลางพันธุ์ไม้ที่ส่งกลิ่นหอมของดอกไม้ไทย

วันที่ 9 – 10 ธันวาคม 2549 เวลา 9.00 – 22.00 น.
และ วันที่ 11 ธันวาคม 2549 เวลา 9.00 – 16.30 น.

ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.mrigadayavan.org/


บรรยากาศโดยรวมเป็นงานรื่นเริงที่เปิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเที่ยวชมพระราชนิเวศน์ฯ ได้ทั้งในเวลากลางคืนและกลางวัน (09.00 น. – 22.00 น.) โดยมีจัดทำกิจกรรมต่างๆ ตามองค์ความรู้ร่วมรัชสมัยตามที่ได้ศึกษาค้นคว้า และจัดกิจกรรมออกร้าน ซึ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการสร้างความแตกต่างของงานออกจากงานรื่นเริงอื่นๆ (งานวัด งานกาชาด หรืองานฤดูหนาวประจำปีของจังหวัด) ทั่วไป ด้วยจุดเด่นของงานที่ร้านค้าของราชสกุล และ องค์กรอื่นๆ ที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นพระผู้ก่อตั้ง โดยคัดเลือกกิจกรรม และสินค้าภายในงานที่เป็นที่ดึงดูด เนื่องจากผลิตภัณฑ์และการออกร้านภายในงานถือเป็นการรวมสินค้าของเจ้านายที่หาซื้อได้ยาก รวมทั้งการตกแต่งในงานเน้นบรรยากาศงานกลางคืนที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ ท่ามกลางพระราชนิเวศน์ริมทะเล จุดเด่นของงานจึงเป็นงานกลางคืนของฤดูหนาวที่ทุกพื้นที่จะมีกลิ่นของดอกไม้ไทยส่งกลิ่นหอม โดยเลือกใช้กลิ่นดอกไม้สกัดในพื้นที่ตามจุดต่างๆ

กิจกรรมภายในงาน

Exhibition

1. นิทรรศการแนะนำข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
2. นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
3. นิทรรศการเครื่องฝรั่งในรัชสมัย
4. นิทรรศการเครื่องเสวยแบบไทย
5. นิทรรศการสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ
6. นิทรรศการเครื่องแต่งกายในรัชสมัย
7. นิทรรศการหัวหิน-ชะอำ สถานตากอากาศยอดนิยม
8. นิทรรศการบทพระราชนิพนธ์ในพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
8.1 นิทรรศการบทละครตามบทพระราชนิพนธ์ในพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จัดแสดงภาพถ่ายขณะพระเจ้าอยู่หัวทรงละคร ร่วมกับเสียง อ่านบทละคร
8.2 นิทรรศการบทพระราชนิพนธ์อันเป็นแรงบันดาลใจในโครงการสวนหลวง-สวนป่าพระราชนิเวศน์ฯ ซึ่งโครงการสวนหลวง-สวนป่าพระราชนิเวศน์ฯ นี้ สำนักงานพระราชนิเวศน์ฯ ได้จัดทำเพื่อฟื้นฟูภูมิทัศน์โดยรอบพระราชฐานที่ประทับเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว ทั้งยัง เป็นสถานที่พักผ่อนและให้ผู้เยี่ยมชมได้ศึกษาพันธุ์ไม้ต่างๆ ตามบทพระราชนิพนธ์ ประกอบไปด้วย สวนต่าง คือ สวนเวนิส วานิช สวนศกุนตลา สวนวิวาหพระสมุท สวนมัทนะพาธา สวนสาวิตรี สวนครัว สวนปาล์ม และสวนดอกไม้หอม ซึ่งในขณะนี้สำนักงานพระราชนิเวศน์ฯ ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเอกชนไปแล้วบางส่วนคือ สวนเวนิส วานิช สวนสมุนไพร และสวนดอกไม้หอม โดยทั้ง 3 สวนที่ได้รับการสนับสนุนแล้วนี้ จะมีการจัดนิทรรศการโดยใช้เสียงอ่านประกอบที่มีเนื้อหากล่าวถึง ความเป็นมา การดำเนินงาน และผลที่คาดว่าจะได้รับจากการโครงการสวนนั้นๆ เสียงตามจุดพื้นที่สวนต่างๆ นี้ทำขึ้นเพื่อให้ผู้ชมร่วมรับรสจินตนาการจากบทประพันธ์นั้นๆ ทั้งนี้การจัดแสดงในทั้ง 3 สวนนี้ ถือเป็นโครงการนำร่องเพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้สนับสนุนการสร้างสวนอื่นๆ เข้าใจรูปแบบของโครงการที่จะกำลังดำเนินการได้ชัดเจนมากขึ้น

Workshop

เป็นกิจกรรม ที่สร้างขึ้นตามองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า เป็นการขยายส่วนต่อของนิทรรศการ ให้ผู้เข้าชมเห็นภาพองค์ความรู้ต่างๆ ชัดเจนมากขึ้น พร้อมกับมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ โดยจัดกิจกรรมให้กระจายไปตามจุดต่างๆ ทั้งบริเวณพระราชฐานที่ประทับชั้นในและบริเวณพระราชฐานที่ประทับชั้นกลาง ซึ่ง Workshop แต่ละฐาน จะมีการจัดขึ้นเป็นรอบ ประมาณ 2-3 รอบ/วัน โดยมีตารางเวลาของกิจกรรมต่างๆ สลับสับเปลี่ยนกัน เพื่อให้กิจกรรมสามารถดำเนินต่อเนื่องทั้งวัน ผู้เข้าชมสามารถรับทราบตารางกิจกรรมต่างๆ เพื่อจัดสรรเวลาในการเยี่ยมชมได้จุดประชาสัมพันธ์ และผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมด้วยการซื้อบัตร Workshop ได้จากจุดจำหน่ายบัตร 3 จุด ซึ่งกระจายอยู่ภายในพระราชนิเวศน์ฯ

1. ธงชาติไทย
มูลเหตุของการเปลี่ยนแปลงธงชาติไทยมาเป็นธงไตรรงค์ในปัจจุบันนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญ และมีที่มาน่าสนใจ สมควรเผยแพร่ให้เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง จึงนำมาจัดเป็นกิจกรรมในรูปแบบของการวาดภาพระบายสีธงช้างเผือกคู่กับธงไตรรงค์ อธิบายสาเหตุการเปลี่ยนแปลงลักษณะของธง และสามารถนำภาพวาดระบายสีกลับไปเป็นที่ระลึกได้ พร้อมกับนิทรรศการประกอบการสาธิตวิธีการพิมพ์ลาย หรือ การปักภาพช้างลงบนผืนธง

2. อัตตบำบัด : ฤาษีดัดตน หมอกะลาตาเดียวกับการนวดแผนไทยด้วยตัวเอง (บำบัดกายด้วยคุณเอง)
กิจกรรมในส่วนนี้ขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมาร่วมจัดนิทรรศการ ออกร้านและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพืชสมุนไพร โดยนำศาสตร์ของฤาษีดัดตน หมอกะลาตาเดียว และการนวดสมุนไพรมาสาธิตและฝึกหัดการนวดเพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถเรียนรู้การนวดด้วยตนเอง โดยกิจกรรมส่วนนี้จัดอยู่ในบริเวณซุ้มของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

3.งานข้าราชบริพารฝ่ายใน
สาธิตชีวิตความเป็นอยู่ของข้าราชบริพารฝ่ายใน และจัดให้ผู้เยี่ยมชมสามารถฝึกปฏิบัติ โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น งานดอกไม้สด ประเภทงานร้อยมาลัย และการทำเครื่องหอม งานแกะสลัก งานอัดกลีบผ้าและอบร่ำ งานพับผ้ารูปตุ๊กตาสัตว์ และพุ่มสักการะพระมหาธีรราชเจ้า ฯลฯ พร้อมจัดแสดงนิทรรศการทางวิชาการประกอบ

4.นักพันธุ์ศาสตร์รุ่นจิ๋ว
เป็นกิจกรรมสาธิตที่เน้นกลุ่มครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆ ให้เข้ามาร่วมกิจกรรมการทำทะเบียนพันธุ์ไม้ โดยจัดกิจกรรมนอกซุ้มจัดแสดง และนำชมพันธุ์ไม้ต่างๆ ภายในเขตพระราชฐานที่ประทับชั้นใน พร้อมเชิญ ดร. วีรชัย ณ นคร และอาจารย์ระพี สาคริก ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านพันธุ์ไม้มาร่วมทำทะเบียนพันธุ์ไม้เพื่อเป็นฐานข้อมูลของพระราชนิเวศน์

5. คำถามรอบรู้เรื่องพระราชนิเวศน์
คุณจะแน่ใจได้อย่างไร ว่าคุณสามารถเข้าใจเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับ พระราชนิเวศน์ฯ ได้ถูกต้อง? กิจกรรมส่วนนี้เป็นการรวบรวมคำถามที่ประกอบด้วยประเด็นการเรียนรู้ข้อมูลด้านต่างๆ ของพระราชนิเวศน์ลงในเอกสาร ผู้ร่วมกิจกรรมสามารถซื้อคำถามดังกล่าวเพื่อใช้เป็นคู่มือการตอบคำถาม พร้อมกับมีของที่ระลึกสำหรับผู้ร่วมกิจกรรมที่สามารถทำข้อมูลได้ถูกต้องตามคำถามทั้งหมด โดยได้รับการสนับสนุนที่ระลึกจากองค์กรเอกชน กิจกรรมในส่วนนี้นอกจากจะเป็นการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในงานพิพิธภัณฑ์แล้ว เงินที่ได้จากการจำหน่ายชุดกิจกรรมจะเป็นประโยชน์สำคัญแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มีโอกาสร่วมบำรุงพระราชนิเวศน์ฯ อีกทางหนึ่งด้วย

6. ฝึกทำอาหารคาว เมนูดั้งเดิม ตำรับเมืองเพชร
เชิญผู้มีความชำนาญในการปรุงอาหารคาวสูตรต้นตำรับดั้งเดิมในเมืองเพชร ที่หาได้ยากในปัจจุบัน มาถ่ายทอดเคล็ดลับการปรุงอาหาร

Event

1.การแสดงบนเวที
เวที การแสดง บริเวณพระราชฐานที่ประทับชั้นใน พื้นที่สนามระหว่างประตูเสด็จกับทะเล โดยมีรายการดังนี้
โขน จัดเป็นการแสดงรายการพิเศษเพียง 1 รอบ ในวันที่ 9 ธันวาคมพุทธศักราช 2549
หมายเหตุ ยังมีรายการแสดงบนเวทีอื่นๆ อีก ซึ่งจะบรรจุเข้าในตารางเวลาและหมายกำหนดการภายหลัง

2.ดวงตราไปรษณียากร
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อกิจการไปรษณีย์โทรเลข จึงจะจัดให้มีการถ่ายภาพลงดวงตราไปรษณียากร เพื่อเป็นที่ระลึกให้แก่บุคคลที่เข้ามาร่วมงานถ่ายภาพที่ระลึกในรูปแบบดวงตราไปรษณียากร กิจกรรมในส่วนนี้ขอความร่วมมือจากกรมไปรษณีย์มาร่วมจัดนิทรรศการ ออกร้านและกิจกรรมอื่นๆ

3.ปลูกหญ้าแฝก
เป็นกิจกรรมเพื่อชักชวนให้ผู้เยี่ยมชมได้มีโอกาสร่วมปลูกหญ้าแฝกเพื่อฟื้นฟูและปรับสภาพดินโดยได้รับความร่วมมือจากโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในการแนะนำข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดินและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

กิจกรรมออกร้าน

1. ร้านค้าของพระราชนิเวศน์ฯ และร้านดอยตุง
2. ร้านรวง
2.1. ร้านอาหารมีชื่อของจังหวัด
2.2. ร้านค้าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ในจังหวัดเพชรบุรี
2.3. ร้านหนังสือและสิ่งพิมพ์ ร้านหนังสือความรู้ทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์