ปริมาณการจำหน่ายสุราในช่วง 8 เดือนแรกปี 2549 ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.6 เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านราคาน้ำมันรวมทั้งความผันผวนทางการเมืองทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว รวมไปถึงการปรับราคาสุราตามภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งจากสถานการณ์ตลาดดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการคาดหวังกับยอดขายสุราในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 ซึ่งถือเป็นฤดูการขายที่สำคัญเนื่องจากมีปัจจัยหนุนจากวันออกพรรษาที่อยู่ในช่วงเดือนตุลาคมทำให้ผู้บริโภคที่เคยลดการดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษาก็จะกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง ในขณะที่ช่วงปลายปีก็จะมีเทศกาลคริสต์มาสรวมทั้งเทศกาลฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันทั่วประเทศจึงคาดว่ายอดจำหน่ายสุราในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะกลับมาคึกคักได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการสุราไม่ควรมองข้ามซึ่งจะมีผลกระทบต่อยอดขายสุราในช่วงไตรมาสสุดท้ายโดยเฉพาะกำลังซื้อของภาคประชาชนที่ยังคงถูกกดดันจากปัญหาราคาน้ำมันที่ยังผันผวน ประการสำคัญได้แก่ปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศในขณะนี้ซึ่งถือว่าหนักกว่าทุกปีที่ผ่านมา และได้ส่งผลกระทบเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรรวมทั้งทรัพย์สินของประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อกำลังซื้อของภาคประชาชนที่ต้องเตรียมงบประมาณภายหลังจากน้ำลด ไว้ปรับปรุงพื้นที่การเกษตรรวมทั้งซ่อมแซมบ้านเรือนและซื้อเครื่องอุปโภค-บริโภค ตลอดจนเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ได้รับความเสียหาย ดังนั้นค่าใช้จ่ายด้านสินค้าฟุ่มเฟือยโดยเฉพาะสุราจึงคาดว่าจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย
นับตั้งแต่ต้นปี 2549 เป็นต้นมาตลาดสุราโดยภาพรวมไม่สู้แจ่มใสนัก เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนที่ถูกกดดันจากปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปัจจัยทางด้านราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยรวมถึงราคาสินค้าและค่าสาธารณูปโภคที่ยังปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราในช่วงเดือนกันยายน 2548 ที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการสุราจำเป็นต้องปรับราคาจำหน่ายให้สอดคล้องกับต้นทุนที่ปรับขึ้น ประการสำคัญสถานการณ์ด้านการเมืองที่ตึงเครียดส่งผลให้อารมณ์ความต้องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลง ซึ่งจากปัจจัยดังที่กล่าวส่งผลให้ยอดจำหน่ายสุราไม่แจ่มใสเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จากปริมาณการจำหน่ายสุราในช่วง 8 เดือนแรกปี 2549 อยู่ที่ระดับ 540.0 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งปริมาณการจำหน่ายสุราอยู่ที่ระดับ 521.0 ล้านลิตร สำหรับตลาดสุราต่างประเทศเองนั้นก็ได้รับผลกระทบจากปัญหากำลังซื้อของภาคประชาชนที่ชะลอตัวลงรวมทั้งปัญหาต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นตามภาษีสรรพสามิตเช่นเดียวกับสุราที่ผลิตในประเทศ โดยในช่วง 8 เดือนแรกปี 2549 ไทยมีการนำเข้าสุราต่างประเทศประมาณ 21.8 ล้านลิตรปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 20.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีปริมาณนำเข้า 27.5 ล้านลิตรสำหรับในส่วนของมูลค่าการนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกปี 2549 มีประมาณ 73.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่าการนำเข้า 75.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า จากปัจจัยด้านกำลังซื้อที่ชะลอตัวส่งผลให้ผู้ประกอบการของไทยหันมานำเข้าสุราที่มีราคาถูกเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จาก ปริมาณการนำเข้าสุราจากสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าสุราสำคัญอันดับหนึ่งของไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 82 ของปริมาณการนำเข้าสุราทั้งหมดของไทยมีมูลค่านำเข้าประมาณ 17.8 ล้านลิตรลดลงร้อยละ 29.9 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสุราจากประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีโรงงานจากต่างประเทศย้ายฐานการผลิตเพื่ออาศัยสิทธิพิเศษทางภาษีตามข้อตกลงอาฟต้ามีประมาณ 3.2 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 101.2
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 ผู้ประกอบการสุราจะเร่งใช้มาตรการส่งเสริมการขายหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจัดรายการชิงโชคแจกแถมของรางวัล การจัดกิจกรรม ณ จุดขาย ตามร้านอาหาร สถานบันเทิงต่างๆทั้งนี้เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่งรวมทั้งชดเชยกับปริมาณการจำหน่ายนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ ทั้งนี้ปัจจัยหนุนสำคัญที่ส่งผลให้ยอดจำหน่ายสุราในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 กลับมาคึกคักอีกครั้งนั้นเพราะเข้าสู่ช่วงออกพรรษาซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 7 ตุลาคม ทำให้ประชาชนที่เคยงดดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษากลับมาเป็นลูกค้าอีกครั้ง ในขณะเดียวกันช่วงปลายปียังมีเทศกาลสำคัญทั้งคริสต์มาส เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้ความต้องการบริโภคสุราทั้งในส่วนของการดื่มสังสรรค์ที่บ้านหรือการไปดื่มตามสถานบันเทิง ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญตามต่างจังหวัดมีเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังถือเป็นสินค้ายอดนิยมที่คนทั่วไปจะใช้มอบเป็นของขวัญให้กับญาติมิตร ในรูปกระเช้าของขวัญหรือซื้อแยกต่างหาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ตลาดสุราช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีมีการแข่งขันที่รุนแรง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าไตรมาสสุดท้ายของปีถือเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการจะสามารถกระตุ้นยอดจำหน่ายสุราให้กลับมาคึกคักได้เนื่องจากมีปัจจัยหนุนหลายประการที่จะทำให้ความต้องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนดีขึ้น เช่นเงินเฟ้อที่ลดต่ำลง รวมทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงหลายครั้งติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ตลาดสุราในช่วงไตรมาสสุดท้ายก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงพึงระวังที่อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการเพิ่มยอดขายที่ผู้ประกอบการตั้งไว้ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
ปัญหาน้ำท่วม จากรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยพบว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2549 เกิดขึ้นหลายครั้งและได้สร้างความเสียหายให้กับสาธารณูปโภคและบ้านเรือนของประชาชนอย่างหนัก โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม เกิดน้ำท่วมใน 5 จังหวัดภาคเหนือมีผู้ได้รับผลกระทบ 319,589 คน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคเหนือและภาคใต้รวม 22 จังหวัดมีผู้ได้รับผลกระทบ 48,520 คน และล่าสุดตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคมต่อเนื่องถึงปัจจุบัน(รายงานล่าสุดวันที่ 13 ตุลาคม 2549) เกิดน้ำท่วมใน 46 จังหวัดรวมทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยมีผู้ได้รับผลกระทบ 2,452,563 คน และคาดว่าภาวะน้ำท่วมจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงที่เหลือของเดือนตุลาคมตามปริมาณน้ำฝนและน้ำในเขื่อนที่มีเป็นจำนวนมากและกำลังถูกระบายลงมายังพื้นที่รับน้ำท้ายเขื่อนซึ่งจะทำให้พื้นที่ความเสียหายจากน้ำท่วมยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์น้ำท่วมต้องเตรียมเงินไว้ซื้อวัสดุก่อสร้างซ่อมแซมที่พักอาศัย ซื้อเครื่องใช้ไม้สอยในบ้านที่เสียหายภายหลังน้ำลด รวมทั้งใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยจากโรคที่มากับฝนตกและน้ำท่วม ส่งผลให้กำลังซื้อของภาคประชาชนในด้านอื่นๆปรับตัวลดลง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นเช่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะที่ประชาชนในกลุ่มซึ่งไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำท่วมก็มีแนวโน้มลดกิจกรรมสังสรรค์ในช่วงฝนตกและน้ำท่วม ซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างถี่โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม จึงส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายสุราตามร้านอาหาร สถานบันเทิงต่างๆตามไปด้วย ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมปี 2545 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายสุราในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมปีเดียวกันมีเพียง 122.2 ล้านลิตรจากเดิมปกติของปีก่อนๆซึ่งเป็นฤดูการขายสำคัญปริมาณการจำหน่ายสุรามีสูงเฉลี่ยถึงประมาณ 141.4 ล้านลิตรหรือคิดเป็นปริมาณการจำหน่ายที่ลดลงจากปกติถึงร้อยละ 13.6
ราคาน้ำมันยังคงผันผวน ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศมีการปรับลดลงติดต่อกันในช่วงตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยน้ำมันดีเซลลดลง 8 ครั้ง รวมลดลง 3.40 บาทต่อลิตรและน้ำมันเบนซินลดลงต่อเนื่อง 11 ครั้งรวม 4.60 บาทต่อลิตร แต่ราคาจำหน่ายน้ำมันในปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยน้ำมันเบนซิน95 อยู่ที่ 25.59 บาทต่อลิตรและน้ำมันดีเซลอยู่ที่ระดับ 24.14 บาทต่อลิตร และยังไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ต้องปรับราคาน้ำมันในประเทศขึ้นไปอีกหรือไม่ เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ได้ส่งสัญญาณที่จะปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันลดต่ำลง ในขณะเดียวกันภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานมีมติขยายเพดานการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันทุกชนิดเป็น 4 บาท/ลิตรจากกำหนดเพดานเดิมที่จัดเก็บในอัตรา 2.50 บาท/ลิตร ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศยังคงทรงตัวในระดับสูงแม้ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะปรับลดลง และทำให้ประชาชนต้องประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอื่นที่จำเป็นน้อยกว่าโดยเฉพาะสุราซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยประเภทหนึ่งที่ประชาชนพร้อมจะประหยัดและลดรายจ่ายด้านนี้ลง
มาตรการควบคุมโฆษณา ภาครัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มที่จะออกประกาศห้ามการโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อต่างๆทั้งวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งป้ายโฆษณาที่เป็นสื่อกลางแจ้งทั้งหมด ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นเช่นเดียวกับการควบคุมโฆษณาบุหรี่ ทั้งนี้ภาครัฐฯจะเร่งประกาศมาตรการควบคุมดังกล่าวโดยเร็ว ทั้งนี้หากมาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจะเป็นปัจจัยส่งผลให้ผู้ประกอบการสุราดำเนินธุรกิจได้ยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายซึ่งต้องอาศัยสื่อเผยแพร่ไปถึงผู้บริโภค
ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สถานการณ์ตลาดสุราในช่วงไตรมาสสุดท้ายยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อยอดจำหน่ายหลายประการ ดังนั้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีผู้ประกอบการสุราจำเป็นต้องพิจารณาทางเลือกอื่นๆเพื่อแก้ปัญหาตลาดสุราที่ชะลอตัวลง ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
การจับตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปี 2549 ภาคการท่องเที่ยวของไทยเริ่มฟื้นตัวเป็นลำดับภายหลังจากที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มมั่นใจในการให้บริการของโรงแรมที่พักรวมทั้งความปลอดภัยภายหลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในปี 2547 ในขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ก็คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ส่งผลให้คาดว่าตลอดปี 2549 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาไทยประมาณ 13.4 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 โดยเฉพาะในช่วง พฤศจิกายน-ธันวาคมซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกันประมาณ 2.4 ล้านคน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มสดใส เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง
เน้นภาคส่งออกให้มากขึ้น ในขณะที่ตลาดสุราในประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหากำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการสุราของไทยหันไปพัฒนาตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยรายได้ในประเทศ โดยมีปัจจัยสนับสนุนทางด้านรสชาติและคุณภาพสุราที่ผู้ประกอบการสุราของไทยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสุราของไทยจะยังมีไม่สูงมากนักแต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากมูลค่าส่งออก 4.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2541 เพิ่มขึ้นมาเป็น 11.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2546 และ 15.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 ตามลำดับ หรือหมายความว่าในช่วง 8 ปี(2541-2548)มูลค่าการส่งออกสุราของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 22.2 ต่อปี สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกปี 2549 การส่งออกสุรามีมูลค่าประมาณ 13.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยตลาดส่งออกสุราที่สำคัญของไทยได้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนทั้งกัมพูชา พม่า และลาว ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 97.0 ของมูลค่าการส่งออกสุราทั้งหมดของไทย เนื่องจากเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศเหล่านี้ยังมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ปริมาณความต้องการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากไทยที่มีคุณภาพและมีราคาไม่แพงเนื่องจากระยะทางขนส่งที่ใกล้มีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสุราของไทยควรเร่งหาหนทางขยายตลาดส่งออกใหม่ๆที่มีศักยภาพเพิ่มเติมจากตลาดดั้งเดิมอาทิประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีตามข้อตกลงอาฟต้า ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกสุราของไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมได้อีกมาก
กล่าวโดยสรุปแล้ว ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 ยังเป็นความหวังของผู้ประกอบการสุราที่ต้องการเพิ่มยอดขายชดเชยรายได้นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาซึ่งไม่สดใสมากนัก โดยผู้ประกอบการต่างเตรียมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดรวมทั้งเพิ่มยอดขายของตนเองให้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนที่ยังคงถูกกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงกว่าทุกปีในพื้นที่ภาคต่างๆของประเทศ ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนส่วนหนึ่งถูกนำใช้ไปเพื่อการบูรณซ่อมแซมบ้านเรือนและสิ่งของเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหาย จึงคาดว่ารายจ่ายของประชาชนทางด้านสุราจะถูกกระทบตามไปด้วย นอกจากนี้ หากมาตรการห้ามโฆษณาสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมงประกาศใช้ในช่วงท้ายของปีนี้ก็จะยิ่งซ้ำเติมให้ตลาดสุราในประเทศชะลอตัวลงไปมากพอสมควร