“เอแบค” เดินหน้าสานต่อโครงการแข่งขันธุรกิจจำลองในสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 2

“เอแบค”เดินหน้าสานต่อการจัดแข่งขันโครงการแข่งขันธุรกิจจำลองในสถาบันอุดมศึกษา เป็นปีที่ 2 หลังประสบผลสำเร็จจากครั้งแรก ดึง 30 สถาบันการศึกษาชั้นนำในเมืองไทย ร่วมวง หวังสร้างความแข็งแกร่งเด็กไทยให้ขึ้นชั้น เตรียมรับกับกระแสสงครามเศรษฐกิจที่กำลังก้าวสู่ระดับสากล และขยายผลของความสำเร็จ “ธุรกิจจำลอง” ไปสู่วงกว้าง

อาจารย์บัญชา สกุลดี Deputy Vice President ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้จัดการแข่งขันธุรกิจจำลองในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABACA) เพื่อสร้างจิตสำนึกในการเป็นผู้ประกอบการที่สามารถสร้างงานได้ด้วยตนเอง และพัฒนาความเป็นนักธุรกิจมืออาชีพที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้กับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับตัวนักศึกษาเองในการเป็นส่วนหนึ่งของบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อออกสู่สังคม ด้วยการส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในการดำเนินธุรกิจจริง และนำมาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีที่ได้เรียนรู้มาในชั้นเรียน ซึ่งถือเป็นแนวทางการเรียนรู้ภายในรั้วมหาวิทยาลัยที่กำลังเป็นที่สนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนอย่างดียิ่งจากอดีตผู้บริหารบริษัทจำลองมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญที่ประสบความสำเร็จอยู่ในแวดวงธุรกิจ

การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ วันที่ 25 – 29 ตุลาคม 2549 จะเป็นการฝึกอบรม หลังจากนั้นแต่ละสถาบันจะเริ่มวางแผนงานและดำเนินธุรกิจของตน และระหว่างวันที่ 7 – 8 กรกฎาคม 2550 จะเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานธุรกิจจำลองของแต่ละสถาบัน สำหรับในปี 2549 มีสถาบันการศึกษาถึง 30 แห่งเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เพราะเป็นเพียงปีที่ 2 ของการจัดงานเท่านั้น มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ได้เล็งเห็นในประโยชน์จากการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ และสิ่งที่น่ายินดีอีกประการก็คือ การแข่งขันในครั้งนี้นักศึกษาแต่ละสถาบันจะมีการนำเอาสินค้าชุมชน (OTOP) หรือสินค้าท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อทำแผนธุรกิจและการตลาดด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาและสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นด้วย จะเป็นประโยชน์สำหรับตัวนักศึกษาเองที่จะได้มีเวทีในการใช้ความรู้ ความสามารถจากในห้องเรียน นำมาประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์จริงที่จะเกิดขึ้น

“บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อจากนี้ไป มิใช่แต่เพียงการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านไปสู่นักศึกษาเท่านั้น แต่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นผู้ที่ฝึกฝน หล่อหลอมคุณลักษณะผู้ประกอบการและนักธุรกิจมืออาชีพให้แก่นักศึกษา ให้เป็นผู้สร้างงานด้วยตนเองได้ และเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคมอีกด้วย”

ทางด้าน ดร.จิราภา ศรีกาฬสินธุ์ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้จะเข้าฝึกอบรมตั้งแต่ การวางแผน การเลือกธุรกิจ และสินค้าหรือบริการที่จะดำเนินการ การหาช่องทางการตลาด การจัดหาสินค้าและวัตถุดิบ การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากนั้นก็จะเริ่มจัดองค์กร แบ่งสายงาน ตั้งแต่การบริหารงานบุคคล การรับสมัครพนักงาน การบริหารด้านการตลาด การขาย การวางรูปแบบระบบบัญชีและการเงิน การกำหนดและปรับเปลี่ยน กลยุทธ์การจัดการและการตลาด

“ไม่ใช่แต่เรื่องทฤษฎีเท่านั้น แต่นักศึกษายังต้องรู้ถึงแนวทางในการการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษาภายในบริษัทจำลองเอง รวมไปถึง คณาจารย์และนักธุรกิจในองค์กรชั้นนำของประเทศไทยจะเป็นผู้ที่คอยให้คำปรึกษา ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของบริษัทจำลองแต่ละแห่ง”

การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการประสบความสำเร็จจากการจัดงานในครั้งแรก โดยมีมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 20 สถาบัน ยอดขาย 25,957,756.25 บาท ซึ่งบรรยากาศของการจัดการแข่งขันในครั้งแรกเต็มไปด้วยความอบอุ่น ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ที่ต่างให้ความสนใจในการเข้าร่วมและแนะนำโครงการบริษัทจำลองของตัวเอง อีกทั้งยังได้แลกประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

โครงการธุรกิจจำลองในสถาบันอุดมศึกษาคือพัฒนาการของกิจกรรมเชิงธุรกิจที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จัดขึ้นมากว่า 30 ปี ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่นำรูปแบบดังกล่าวมาดำเนินการให้กับนักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยนักศึกษาจะรู้จักกันดีในชื่อของ “Dummy Company” และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญพยายามที่จะขยายแนวความคิดนี้สู่วงกว้างไปยังมหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์แก่สังคม โดยเฉพาะการพัฒนาสังคมธุรกิจในเมืองไทยให้แข็งแกร่ง รองรับกับสังคมธุรกิจระดับโลกที่กำลังก้าวเข้ามามีอิทธิพลในเมืองไทยเป็นอย่างมาก

รายละเอียดข่าวเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : ดร. จิราภา ศรีกาฬสินธุ์
ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
โทร. 0-2723-2131-2