สถานการณ์อ้อยและน้ำตาลของไทยในปีการผลิต 2549/50 หากพิจารณาจากปริมาณผลผลิตแล้วพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแม้ว่าประเทศไทยจะต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยผลผลิตอ้อยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 62 ล้านตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.8 เมื่อเทียบกับปีการผลิต 2548/49 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.7 ล้านตัน ส่วนปริมาณผลผลิตน้ำตาลคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 6.5 ล้านตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.3 อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปีการผลิต 2549/50 ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีอยู่หลายประการไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจากระดับเฉลี่ยประมาณ 15.4 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2549 และคาดว่าจะลงมาเหลือเพียงประมาณ 12-13 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2550 ในขณะเดียวกันปัจจัยทางด้านเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ทำให้มูลค่าส่งออกน้ำตาลในรูปเงินบาทน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งปัจจัยทั้งสองประการดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายค่อนข้างมากเนื่องจากปริมาณน้ำตาลถึงร้อยละ 60 ของปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ในประเทศต้องพึ่งพาตลาดส่งออก
การผลิต
แม้ว่าฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2549/50 ประเทศไทยจะประสบกับภาวะฝนตกอย่างต่อเนื่องจนเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักโดยเฉพาะตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางรวม 47 จังหวัด แต่ผลกระทบที่มีต่อผลผลิตอ้อยและน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 2549/50 ก็ถือว่าไม่รุนแรงมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมต้นอ้อยได้รับน้ำอย่างเพียงพอตั้งแต่ต้นฤดูการเพาะปลูก ส่งผลให้ต้นอ้อยเติบโตสูงทำให้ได้ปริมาณอ้อยต่อไร่เพิ่มสูงขึ้นจากประมาณเฉลี่ย 7.9 ตันต่อไร่ในปีการผลิต 2548/49 เพิ่มเป็นเฉลี่ย 8.9 ตันต่อไร่ในปีการผลิต 2549/50 ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่สำคัญคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีพื้นที่ถึงประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั้งหมดก็ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ ประการสำคัญจากการที่ราคาอ้อยปีการผลิต 2548/49 ที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่สูงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อยจาก 6.7 ล้านไร่ในปี 2548/49 มาเป็น 7.1 ล้านไร่ในปีการผลิต 2549/50 หรือคิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นประมาณ 0.4 ล้านไร่ ซึ่งจากปัจจัยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นคาดว่าผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2549/50 มีประมาณ 62 ล้านตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.8 เมื่อเทียบกับปีการผลิต 2548/49 ซึ่งผลผลิตอ้อยมีเพียง 46.7 ล้านตัน สำหรับในส่วนของปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ปีการผลิต 2549/50 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ผลิตได้เพียง 4.84 ล้านตัน
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการเปิดหีบอ้อยในปีการผลิต 2548/49 ที่ผ่านมาเริ่มเปิดหีบได้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2548 และสิ้นสุดการหีบวันที่ 17 เมษายน 2549 รวมระยะเวลาหีบอ้อยเฉลี่ยประมาณ 96 วัน แต่สำหรับฤดูการผลิตปี 2549/50 เนื่องจากปริมาณผลผลิตอ้อยที่สูงถึงประมาณ 62 ล้านตัน คาดว่าจะส่งผลทำให้ช่วงเวลาที่ใช้หีบอ้อยเพิ่มขึ้นจากปีการผลิตก่อน โดยคาดว่าโรงงานน้ำตาลจะสามารถเริ่มเปิดหีบอ้อยได้ประมาณช่วงต้นเดือนธันวาคม 2549 อย่างไรก็ตาม จากปัญหาน้ำท่วมที่ยังจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาให้น้ำลดรวมทั้งการซ่อมแซมถนน และสะพานที่ชำรุดเสียหายอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานและส่งผลต่อการเปิดหีบอ้อยของบางพื้นที่ที่ต้องเลื่อนออกไปและทำให้ระยะเวลาสิ้นสุดการหีบอ้อยจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมของปี 2550 และเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลจากการที่ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นปัจจัยในการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องจากระดับราคาสูงสุดที่ 27.94 บาทต่อลิตรในเดือนกรกฎาคม 2549 ลงมาเหลือ 23.84 บาทต่อลิตร ณ ปัจจุบันหรือคิดเป็นอัตราการลดลง 4.10 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ราคาน้ำมันดีเซล ณ ระดับปัจจุบันถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับระดับราคาเมื่อช่วงที่มีการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานปีการผลิต 2548/49 โดยราคาน้ำมันดีเซลในช่วงวันที่ 10 ธันวาคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มต้นหีบอ้อยอยู่ที่ระดับ 24.44 บาทต่อลิตรก่อนที่จะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 26.29 บาทต่อลิตร ณ วันที่ 17 เมษายน 2549 ซึ่งถือเป็นวันปิดหีบอ้อย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นผลดีต่อการลดต้นทุนค่าขนส่งอ้อยเข้าโรงงานซึ่งถือเป็นต้นทุนประมาณร้อยละ 18 ของต้นทุนการผลิตอ้อยรวม
การตลาด
จากการที่ภาวะเศรษฐกิจไทยและของโลกยังคงสามารถขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2549 ส่งผลให้ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลทั้งตลาดในและต่างประเทศปี 2550 ยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
-ตลาดในประเทศ ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0-5.0โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยหนุนด้านภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อการบริโภคน้ำตาลที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศปี 2550 จะอยู่ที่ประมาณ 2.1 ล้านตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่จำหน่ายได้ 2.0 ล้านตัน
-ตลาดต่างประเทศ จากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่าภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2550 จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4.9 ส่งผลให้ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลปรับเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีการผลิตก่อน ทั้งนี้คาดว่าปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลของโลกปี 2549/50 จะอยู่ที่ประมาณ 148.3 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากปี 2548/49 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 145.4 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2.9 ล้านตัน ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ความต้องการบริโภคน้ำตาลของประเทศในแถบเอเชียซึ่งเป็นตลาดส่งออกน้ำตาลหลักของไทยคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณกว่าร้อยละ 97 ของมูลค่าการส่งออกน้ำตาลของไทย ยังคงมีอยู่ในระดับสูงอาทิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น จีน กัมพูชา เกาหลีใต้ เป็นต้น โดยเฉพาะจีนนั้นคาดว่าจะยังคงมีความต้องการนำเข้าน้ำตาลในปี 2550 อีกประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งทุกปีจีนจะนำเข้าน้ำตาลจากไทยในระดับเฉลี่ย 150,000-200,000 ตัน ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศในแถบเอเชียมีความต้องการนำเข้าน้ำตาลจากไทยเนื่องจากระยะทางการขนส่งที่ใกล้ ประกอบกับคู่แข่งทางด้านการส่งออกน้ำตาลของไทยอันได้แก่บราซิลนั้นผลผลิตอ้อยบางส่วนต้องนำไปใช้ผลิตเอทานอลเพื่อสนองความต้องการใช้ในประเทศและตลาดส่งออกที่ยังคงเติบโต ในขณะที่ผลผลิตน้ำตาลของออสเตรเลียคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทางภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวคาดว่าไทยจะส่งออกน้ำตาลในปี 2550 ได้ประมาณ 4.0 ล้านตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.7 เมื่อเทียบกับปี 2549 ที่ส่งออกได้ประมาณ 2.4 ล้านตัน สำหรับทางด้านมูลค่าส่งออกน้ำตาลในปี 2550 นั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.5 เมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งส่งออกได้ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ปัญหา
ในฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2549/50 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลซึ่งสรุปได้ดังนี้
ราคาน้ำตาลตลาดโลก ราคาน้ำตาลตลาดโลกในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 อยู่ที่เฉลี่ย 16.1 เซนต์ต่อปอนด์และคาดว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปี 2549 จะอยู่ที่ระดับ 15.4 เซนต์ต่อปอนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.1 เมื่อเทียบกับราคาในช่วงปี 2548 ซึ่งอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 11.4 เซนต์ต่อปอนด์ อย่างไรก็ตาม สำหรับในช่วงฤดูการผลิตปี 2549/50 ราคาน้ำตาลตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นปริมาณผลผลิตน้ำตาลของประเทศผู้ผลิตรายสำคัญทั้งบราซิล จีน อินเดีย รัสเซีย และไทย ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลจากพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นตามแรงจูงใจด้านราคาน้ำตาลที่สูงในช่วงปี 2549 โดยเฉพาะอินเดียนั้นมีแนวโน้มที่ภาครัฐจะยกเลิกข้อห้ามที่ไม่ให้มีการส่งออกน้ำตาลที่ใช้อยู่เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำตาลในประเทศปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากข้อมูลของ F.O.Licht ในเดือนตุลาคมคาดว่าปริมาณผลผลิตน้ำตาลของโลกในปีการผลิต 2549/50 อยู่ที่ระดับประมาณ 160 ล้านตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 จากปีการผลิตก่อนหน้าที่มีปริมาณผลผลิต 151.2 ล้านตันส่วนปริมาณความต้องการบริโภคจะอยู่ที่ระดับ 148.3 ล้านตันเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินประมาณ 11.7 ล้านตัน ในขณะเดียวกันกองทุนและนักเก็งกำไรมีแนวโน้มที่จะเทขายน้ำตาลออกมาอย่างต่อเนื่อง และชะลอดูทิศทางตลาดน้ำตาลก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในตลาดซื้อขายน้ำตาลระหว่างประเทศ
เงินบาทแข็งค่า แนวโน้มของค่าเงินบาทในปี 2550 คาดว่าจะยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากปี 2549 โดยมีปัจจัยหนุนทั้งจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่เงินหยวนของจีนจะปรับค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่าเงินบาทของไทยในปี 2549 คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยปี 2548 ซึ่งเงินบาทอยู่ที่ระดับ 40.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯส่วนในปี 2550 คาดว่าเงินบาทจะมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 36.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้รายได้ส่งออกน้ำตาลในรูปเงินบาทต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ปัญหาหนี้เงินกู้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นหนี้ที่กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและนำมาพยุงราคาอ้อยในช่วงฤดูการผลิตปี 2541/42-2542/43 ปี 2545/46-2546/47 รวมภาระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมดประมาณ 16,286.1 ล้านบาทที่ต้องชำระไปจนถึงปี 2555(ตัวเลข ณ เดือนตุลาคม 2549) โดยในฤดูการผลิตปี 2548/49 กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีการหักเงินจากชาวไร่อ้อยตันละ 15 บาทจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นเพื่อนำมาใช้ชำระหนี้ สำหรับในฤดูการผลิตปี 2549/50 นั้นการหักเงินค่าอ้อยเพื่อนำไปใช้หนี้เงินกู้มีความเสี่ยงจากปัจจัยราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับลดลงรวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นดังได้กล่าวแล้วข้างต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยทางด้านราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับลดลง รวมทั้งการที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นในปี 2550 มีผลต่อศักยภาพการแข่งขันด้านการส่งออกน้ำตาลของไทยที่ไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากตลาดส่งออกน้ำตาลของไทยจะอยู่ในภูมิภาคเอเชียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนค่าขนส่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งเช่นบราซิลและออสเตรเลียที่มีต้นทุนค่าขนส่งมาตลาดเอเชียด้วยต้นทุนที่สูงกว่าไทย
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยและน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 2549/50 นั้นภาครัฐได้เข้ามาช่วยเหลือโดยการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นไว้ที่ระดับ 800 บาทต่อตันอ้อยเท่ากับปีการผลิตก่อนโดยคำนวณจากสมมติฐานราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ 13 เซนต์ต่อปอนด์และอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งราคาอ้อยดังกล่าว แม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ชาวไร่อ้อยต้องการที่ 1,000 บาทต่อตันเพื่อให้คุ้มกับต้นทุนการผลิตที่ 850 บาทต่อตัน แต่ระดับราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าวก็ถือว่าเป็นราคาที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ของระบบอ้อยและน้ำตาลซึ่งถูกกระทบจากปัญหาราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ลดลง รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้หากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2549/50 ซึ่งจะประกาศในช่วงปลายปี 2550 โดยคำนวณจากรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทั้งในและต่างประเทศตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2549-30 กันยายน 2550 อยู่ในระดับที่ต่ำหรือสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่จะประกาศในช่วงฤดูเปิดหีบเดือนธันวาคม 2549 ไม่มากนัก นอกจากจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวไร่อ้อยแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงภาระหนี้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายด้วย เนื่องจากทางกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะไม่สามารถหักเงินบางส่วนจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของชาวไร่อ้อยที่สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นเพื่อนำมาชำระหนี้เงินกู้ได้
กล่าวโดยสรุปแล้ว คาดว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกในปี 2550 จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ทางด้านส่งออกน้ำตาลของไทย ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณการส่งออกน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นได้เข้ามาช่วยชดเชยราคาที่ลดลง โดยคาดว่าในปี 2550 ไทยจะสามารถส่งออกน้ำตาลจำหน่ายในต่างประเทศได้สูงถึงประมาณ 4.0 ล้านตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.7 เมื่อเทียบกับปี 2549 ที่ส่งออกได้ประมาณ 2.4 ล้านตัน สำหรับทางด้านมูลค่าส่งออกน้ำตาลในปี 2550 นั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.5 เมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งส่งออกได้ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับในส่วนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันกับคู่แข่งไม่รุนแรง เนื่องจากตลาดส่งออกน้ำตาลของไทยจะเป็นประเทศในเอเชียเป็นส่วนใหญ่ซึ่งไทยมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนค่าขนส่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งคือบราซิลและออสเตรเลีย