APEC & WTO : หนุนเศรษฐกิจเวียดนาม 2550 ดาวเด่นแห่งอาเซียน

เวียดนามรับหน้าที่เป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ในระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2549 ที่ผู้นำเอเปครวม 21 ประเทศ มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเปค (APEC Summit) ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม รวมทั้งการประชุมของภาคธุรกิจชั้นนำของเอเปค (APEC CEO Summit) ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดียวกันนี้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีของไทย มีกำหนดเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเปคครั้งสำคัญนี้ และกล่าวสุนทรพจน์ ต่อที่ประชุม APEC CEO ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 เพื่อชี้แจงให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าใจ แนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของไทยในปัจจุบัน การประชุมเอเปคครั้งนี้ จะส่งผลให้ตัวแทนจากภาครัฐและนักธุรกิจต่างชาติจาก 20 ประเทศสมาชิกจำนวนมากเดินทางมายังเวียดนาม ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของเวียดนามที่จะประชาสัมพันธ์เวียดนามให้เป็นที่รู้จักของต่างชาติ โดยเฉพาะนักธุรกิจต่างชาติที่แสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย

กลุ่มประเทศสมาชิกเอเปคมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เพราะขนาดเศรษฐกิจของสมาชิกเอเปครวมกันคิดเป็นสัดส่วนราว 57% ของเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญ สมาชิกเอเปค 8 ประเทศติดอยู่ในอันดับประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น (อันดับ 2) จีน (อันดับ 4) แคนาดา (อันดับ 8) รัสเซีย (อันดับ 10) เกาหลีใต้ (อันดับ 12) เม็กซิโก (อันดับ 14) และออสเตรเลีย (อันดับ 15) รวมขนาดเศรษฐกิจของ 8 ประเทศสมาชิกเอเปคนี้มีสัดส่วนถึงราว 53% ของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงอย่างจีน เวียดนาม และรัสเซีย ล้วนเป็นสมาชิกเอเปค และมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะเติบโต 7.7% ในปี 2549 และ 7.1% ในเปี 2550 ในขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราราว 5% ในระหว่างปี 2549-2550

APEC…ผลักดันการเจรจา WTO & ลดอุปสรรคการค้า/การลงทุนในกลุ่ม
หัวข้อหลักของการประชุมของเอเปคในครั้งนี้ ได้แก่ มุ่งสู่ประชาคมแห่งพลวัตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่งคั่ง (Towards a Dynamic Community for Sustainable Development and Prosperity) โดยมีประเด็นสำคัญเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคเอเปค รวมทั้งส่งเสริมการขยายตัวของการค้าโลก ทั้งนี้ การค้าของเอเปคมีความสำคัญต่อการค้าโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลกทั้งหมด”

โอกาสของเศรษฐกิจเวียดนาม … หลังเข้าเป็นสมาชิก WTO

ในเวทีการค้าพหุภาคี เวียดนามผ่านการรับรองการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ของที่ประชุม WTO ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 คาดว่า เวียดนามจะเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างสมบูณ์ในเดือนมกราคม 2550 หลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นสมาชิกใหม่ของ WTO ประเทศล่าสุดลำดับที่ 150 นับจากที่เวียดนามยื่นขอเข้าเป็นสมาชิกของ WTO ตั้งแต่ ปี 2538 ใช้เวลารวมเกือบ 12 ปี (จีนใช้เวลา 14 ปี ในการเข้าเป็นสมาชิก WTO) นับเป็นก้าวสำคัญของการรวมตัวเข้ากับประชาคมเศรษฐกิจโลกของเวียดนาม หลังจากเวียดนามเปิดประเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นอกจากเวียดนามแล้ว ประเทศรัสเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศสมาชิกเอเปคที่มีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือกลุ่ม G-8 และเศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปัจจุบัน ขณะนี้รัสเซียอยู่ในกระบวนการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิกของ WTO โดยรัสเซียยื่นขอเข้าเป็นสมาชิก WTO ในเดือนมิถุนายน 2536 จนถึงขณะนี้นับว่าผ่านมา 13 ปี คาดว่า รัสเซียจะเป็นสมาชิกของ WTO ลำดับถัดไปในปี 2550

-WTO & ขยายตลาดส่งออก
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามมีมูลค่าราว 50,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 59 ของโลก เทียบกับไทยที่มีมูลค่า GDP ประมาณ 168,774 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าเวียดนามกว่า 3 เท่า โดยขนาดเศรษฐกิจของไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 36 ของโลก แม้ว่าขณะนี้รายได้ต่อหัวของคนเวียดนามค่อนข้างต่ำ โดยมีรายได้ต่อหัวประมาณ 618 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี แต่เวียดนามตั้งเป้าหมายให้รายได้ต่อหัวของประชากรเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2553 ในขณะที่รายได้ต่อหัวของคนไทยอยู่ใน ระดับเฉลี่ย 2,659 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี มากกว่ารายได้ต่อหัวของคนเวียดนามกว่า 4 เท่าตัว 2

เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตปีละเฉลี่ย 7.5% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2544-2548) นับว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน ที่มีเศรษฐกิจเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลักมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวของภาคการส่งออกและเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตในอัตรา 7.8% ในปี 2549 และ 7.6% ในปี 2550

ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2543-2548) การส่งออกของเวียดนามเติบโตเฉลี่ยปีละเกือบ 20% ถือเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนาม การส่งออกของเวียดนามในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 (มกราคม-ตุลาคม) มีมูลค่า 32,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 24.2% จากช่วงเดียวกันปี 2548 คาดว่าการส่งออกของเวียดนามทั้งปี 2549 จะมีมูลค่ากว่า 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวกว่า 20% จากปี 2548 ขณะที่การนำเข้าของเวียดนามในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 มีมูลค่า 36,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 20.7% จากช่วงเดียวกันปี 2548 สินค้านำเข้าสำคัญของเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป สินค้าวัตถุดิบ (ได้แก่ พลาสติก เหล็ก และผ้าผืน) และสินค้าทุน (ได้แก่ เครื่องจักรกล/เครื่องมือต่างๆ) เวียดนามขาดดุลการค้ามาโดยตลอด สำหรับช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ เวียดนามมียอดขาดดุลการค้าเกือบ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ พลังงาน และสินค้าทุนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

คาดว่าเวียดนามจะได้รับผลดีจากการเข้าเป็นสมาชิก WTO เนื่องจากตลาดส่งออกของเวียดนามเปิดกว้างขึ้น จากการลดอุปสรรคด้านภาษีศุลกากรของประเทศสมาชิก WTO สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามที่มีแนวโน้มสดใส ได้แก่ เสื้อผ้า/สิ่งทอ รองเท้า สินค้าประมง ไม้และผลิตภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์/อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ นอกจากนี้ การส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอซึ่งเป็นสินค้าดาวเด่นของเวียดนามและมีอัตราขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จะสามารถเข้าสู่ตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้มากขึ้น โดยไม่มีข้อจำกัดด้านโควตา เนื่องจากการยกเลิกโควตาสิ่งทอของ WTO ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548

– ตลาดสหรัฐฯ – ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 เวียดนามส่งออกเสื้อผ้าไปสหรัฐฯ มูลค่า 1,541 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 30.4% จากช่วงเดียวกันของปี 2548 มูลค่า 1,182 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปี 2548 ที่การส่งออกเสื้อผ้าไปสหรัฐฯ ขยายตัว 6.3% โดยเวียดนามครองส่วนแบ่งตลาดเสื้อผ้าในสหรัฐฯ ราว 4.8% เทียบกับไทยที่มีส่วนแบ่งเสื้อผ้าในสหรัฐฯ 2.8% มูลค่าส่งออกเสื้อผ้าของไทยในสหรัฐฯ ช่วงครึ่งแรกของปี 2549 เพิ่มขึ้น 5.7%

ในขณะที่การส่งออกสิ่งทอของเวียดนามไปสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 60.6% ในช่วงครึ่งแรกปี 2549 แม้ว่าสิ่งทอของเวียดนามมีส่วนแบ่งในสหรัฐฯ ไม่ถึง 1% ในตลาดสหรัฐฯ เทียบกับไทยที่มีส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอในสหรัฐฯ 1.6% อัตราการเติบโต 0.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549

– ตลาดสหภาพยุโรป – การส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอของเวียดนามไปสหภาพยุโรปในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 เพิ่มขึ้น 70.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของงปี 2548 ครองส่วนแบ่งตลาดเสื้อผ้าและสิ่งทอในหสหภาพยุโรปราว 1.4% ในขณะที่ไทยครองส่วนแบ่งตลาด 1.7% ด้วยอัตราการเติบโตของการส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอไปสหภาพยุโรป 17.2% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549

– WTO & การลงทุนต่างประเทศในเวียดนาม
นอกจากจีนและอินเดียที่เป็นประเทศแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศในปัจจุบัน เวียดนามเป็นอีกประเทศหนึ่งในเอเชียที่ต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากต้นทุนแรงงานที่ต่ำและแหล่งวัตถุดิบอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของนักลงทุนต่างชาติ จากการที่เวียดนามมีข้อผูกพันที่จะต้องผ่อนคลายกฎระเบียบภาคบริการและการลงทุนเมื่อเข้าเป็นสมาชิก WTO คาดว่านักลงทุนต่างชาติจะเข้าไปลงทุนทางตรงในเวียดนามมากขึ้น ทั้งการลงทุนในภาคการผลิตและการจัดตั้งธุรกิจบริการ ส่งผลดีต่อการจ้างงานในประเทศและยกระดับรายได้ให้กับเวียดนาม

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2544-2548) เวียดนามดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่ารวม 20,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในปี 2548 มูลค่า FDI ในเวียดนาม 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 50% จากปี 2547 สำหรับช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 โครงการลงทุนของต่างชาติในเวียดนามมีจำนวนราว 705 โครงการ มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 4,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันปี 2548

ประเภทโครงการลงทุนของต่างชาติในเวียดนามช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 ที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอุตสาหกรรมหนัก มูลค่าโครงการรวม 2,083 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีจำนวน 209 โครงการ ส่วนประเภทโครงการลงทุนที่มีจำนวนโครงการมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเบา มีจำนวน 216 โครงการ มูลค่ารวม 740.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนมีมูลค่าโครงการลงทุนสูงสุดในปีช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 ได้แก่ ฮ่องกง เกาหลีใต้ บาร์บาดอส สหรัฐอเมริกา หมู่เกาะ เคย์แมน และญี่ปุ่น ตามลำดับ

ประเด็นท้าทายเวียดนาม & ปรับตัวเข้าร่วมประชาคมโลก

เวียดนามได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดสินค้าและภาคบริการของประเทศสมาชิก WTO ได้มากขึ้น หลังจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ขณะเดียวกันเวียดนามต้องแลกเปลี่ยนผลประโยชน์โดยการเปิดตลาดสินค้า ภาคบริการและการลงทุนในประเทศให้กับประเทศสมาชิก WTO เช่นกัน ถือได้ว่าการเข้าเป็นสมาชิก WTO เป็นความท้าทายสำคัญของเวียดนาม ทำให้เวียดนามต้องเปิดตลาดสินค้าและบริการของตน ตามความต้องการของประเทศสมาชิก WTO เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนในการรับเข้าเป็นสมาชิก

นอกจากนี้ แม้ว่าเวียดนามจะได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้าปรับลดภาษีขาเข้าให้แก่สินค้าเวียดนามภายใต้กรอบข้อตกลงของ WTO แต่เวียดนามยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคจากมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งขณะนี้เวียดนามกำลังเผชิญกับมาตรการเหล่านี้อยู่เช่นกัน เช่น ภาษีการต่อต้านการทุ่มตลาด มาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ที่เข้มงวด และมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม เป็นต้น

– การค้าสินค้า
เวียดนามมีข้อผูกพันที่จะต้องเปิดตลาดสินค้า โดยลดภาษีศุลกากรสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้งยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก ส่งผลให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจของเวียดนามต้องแข่งขันกับสินค้าของต่างชาติในตลาดภายในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของเวียดนามยังต้องเผชิญกับมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) จากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น การเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) จากสหภาพยุโรป โดยสหภาพยุโรปเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดรองเท้าจากเวียดนามและจีน ในอัตรา 10% และ 16.5% ตามลำดับ ในเดือนตุลาคม 2549 ส่งผลให้ความสามารถทางการแข่งขันของการส่งออกรองเท้าของเวียดนามในตลาดสหภาพยุโรปลดลง คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตรองเท้าขนาดเล็กของเวียดนามที่ศักยภาพทางการแข่งขันของการส่งออกรองเท้าในตลาดสหภาพยุโรปลดลง

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปของเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ เช่น สินค้าประมงที่มีมูลค่าส่งออกราว 2,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 เพิ่มขึ้น 13.7% คิดเป็นสัดส่วน 8.4% ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนามในปี 2548 ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอของเวียดนามยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการต้องนำเข้าวัตถุดิบ เช่น เส้นใยและผ้าผืน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างจีนที่สามารถใช้วัตถุดิบภายในประเทศ รวมถึงปัญหาจากค่าแรงงานของเวียดนามที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่

– ภาคบริการ & การลงทุน
นอกจากผลดีจากการเปิดตลาดภาคบริการและการลงทุนภายในเวียดนามที่จะช่วยเพิ่มการจ้างงานและรายได้ให้กับประชาชนเวียดนามแล้ว การที่เวียดนามต้องผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อเปิดตลาดภาคบริการและการลงทุน เช่น กิจการโทรคมนาคม ค้าส่ง ธุรกิจการเงิน และพลังงาน โดยขยายเพดานสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติให้กับประเทศสมาชิก WTO ส่งผลให้นักธุรกิจต่างชาติมีโอกาสเข้าไปลงทุนจัดตั้งธุรกิจในเวียดนามมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจของเวียดนามต้องแข่งขันกับธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปจัดตั้งธุรกิจให้บริการในเวียดนามมากขึ้น

– กฎระเบียบด้านทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อมและแรงงาน
เวียดนามต้องปฏิบัติตามข้อตกลงด้านต่างๆ ของ WTO ได้แก่ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด การปกป้องและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน ซึ่งถือเป็นมาตรฐานในระดับที่สูงขึ้นสำหรับภาคเอกชนเวียดนาม ก่อให้เกิดต้นทุนการดำเนินงานจากการที่เวียดนามจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องต่อกฎระเบียบเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาทางการค้า และนำไปสู่กรณีพิพาททางการค้า เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมักจะนำประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม และแรงงาน มาเชื่อมโยงกับการค้าและใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) เป็นอุปสรรคต่อสินค้าส่งออกของเวียดนาม

– บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายของเวียดนามที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น หลังจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO เวียดนามหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคเอกชนและสร้างกฎระเบียบภาครัฐที่เข้มแข็ง เป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อรองรับต่อการเปิดเสรีจากการเข้าเป็นสมาชิกของ WTO เช่น การยกเลิกการอุดหนุนของภาครัฐ การปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และความโปร่งใสของการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เวียดนามจึงควรเร่งพัฒนาและปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศให้เป็นสากลและสอดคล้องกับกฎระเบียบของ WTO เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด รวมทั้งส่งเสริมความแข็งแกร่งและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

บทสรุป
เวียดนามดำเนินยุทธศาสตร์การรวมตัวเข้ากับประชาคมโลก ทั้งการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Trading Arrangement : RTA) ได้แก่ เอเปค และอาเซียน และระดับพหุภาคี ได้แก่ WTO รวมทั้งวางแผนจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ทวิภาคีกับญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเจรจาจัดทำ FTA ในปี 2550

– ในปี 2549 เวียดนามแสดงให้ชาวโลกเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจสำคัญเนื่องจากขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มเอเปคคิดเป็นสัดส่วนถึง 57% ของขนาดเศรษฐกิจโลก และมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกลุ่มเอเปคคิดเป็นสัดส่วนราว 45% ของการค้าโลก จึงเป็นพลังขับเคลื่อนการเจรจาการค้าโลกของ WTO รอบโดฮา (Doha Development Agenda : DDA) ซึ่งถือเป็นรูปแบบการเปิดเสรีทางการค้าที่ดีที่สุด เพราะหากการเจรจารอบโดฮาประสบผลสำเร็จ จะก่อให้เกิดผลผูกพันการเปิดตลาดกับประเทศสมาชิก WTO รวมถึง 150 ประเทศ นอกจากนี้ การดำเนินการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนของเอเปค การอำนวยความสะดวกทางการค้า และเป้าหมายการลดต้นทุนทางการค้าลง 5% ภายในปี 2553 จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค และเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจของประเทศเอเปค โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่มีต้นทุนการค้าระหว่างประเทศต่ำลง

– เวียดนามได้รับการรับรองจาก WTO ให้เข้าเป็นสมาชิก WTO ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 และคาดว่าเวียดนามจะเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างสมบูรณ์ในเดือนมกราคม 2550 จะสร้างโอกาสให้สินค้าส่งออกของเวียดนามขยายตัวในตลาดของประเทศสมาชิก WTO ได้มากขึ้น จากการลดภาษีศุลกากรของประเทศคู่ค้า สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามที่มีแนวโน้มสดใส ได้แก่ เสื้อผ้า/สิ่งทอ รองเท้า สินค้าประมง ไม้และผลิตภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์/อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ นอกจากนี้การเปิดตลาดภาคบริการและการลงทุนของเวียดนาม คาดว่าจะดึงดูดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาในเวียดนามมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและยกระดับรายได้ของประชาชนเวียดนาม

ขณะเดียวกันต้นทุนของการเข้าเป็นสมาชิก WTO คือ เวียดนามต้องเปิดตลาดสินค้า ภาคบริการและการลงทุนในประเทศให้กับประเทศสมาชิก WTO ส่งผลให้ผู้ประกอบการ/ภาคธุรกิจของเวียดนามต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันกับสินค้าคู่แข่งที่เข้าสู่ตลาดเวียดนามได้มากขึ้นจากการลดภาษีศุลกากรของเวียดนาม ทำให้สินค้าเหล่านี้เข้ามาแข่งขันในเวียดนามได้ด้วยราคาที่ต่ำลง รวมถึงการแข่งขันของภาคธุรกิจเวียดนามกับธุรกิจบริการของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ทางการเวียดนามจำเป็นต้องเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจเวียดนาม โดยเร่งสร้าง/ปรับปรุงกฎเกณฑ์และกฎระเบียบให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นและแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน โดยเฉพาะการส่งเสริมการแข่งขันระหว่างรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน เนื่องจากปัจจุบันเวียดนามมีรัฐวิสาหกิจกว่า 5,000 แห่ง ดำเนินการในธุรกิจบริการสาขาต่างๆ เช่น ภาคการเงิน โทรคมนาคม ขนส่ง พลังงาน และอุตสาหกรรม ซึ่งไม่เกิดแรงจูงใจในการแข่งขัน และไม่เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานเท่าที่ควร

นอกจากนี้ การที่เวียดนามต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของ WTO ด้านการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การปกป้องสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ส่งผลให้ภาคธุรกิจของเวียดนามมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวที่อยู่ในระดับสูง ทางการเวียดนามควรให้ความรู้กับภาคธุรกิจ กระตุ้นให้เกิดการปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับกฎที่เข้มงวดเหล่านี้ในการดำเนินธุรกิจ ไม่เช่นนั้นอาจถูกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) จากประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโป ที่มักใช้ประเด็นเรื่องการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การปกป้องสิ่งแวดล้อมและแรงงาน มาเชื่อมโยงกับการค้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกของเวียดนามไปประเทศดังกล่าวอาจประสบอุปสรรคการค้า หากไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวของ WTO