แนวโน้มภาคเกษตรกรรมปี’50 : ผลผลิตเพิ่ม…ส่งออกชะลอตัว

ในปี 2550 นับว่าเป็นปีที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่จะประคองตัวให้รอดท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องกังวลคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญตลาดหนึ่งของไทย ราคาน้ำมันที่แม้ขณะนี้ปรับลดลงแล้ว แต่ก็จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และมีความผันผวนที่อาจจะปรับเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าเกษตร นอกจากนี้ข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่ประเทศคู่ค้าจะนำมาใช้มากขึ้น เช่น ความเข้มงวดในการตรวจสอบสารเคมีตกค้าง และการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต การกำหนดโควตาการนำเข้าสินค้าและการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศ การยกเลิกสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี เป็นต้น และการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากผู้ส่งออกต้องประสบกับภาวะขาดทุนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2549 ถึงต้นปี 2550 อันเป็นผลมาจากมีการตกลงรับคำสั่งซื้อเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และไม่สามารถเจรจาเปลี่ยนแปลงราคาได้ นอกจากนี้เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทยังทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกของไทยลดลงอีกด้วย สำหรับปัจจัยหนุนที่เอื้อต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะความต้องการในตลาดโลกที่มีแนวโน้มขยายตัว ทั้งจากการที่ประเทศคู่แข่งประสบปัญหาภัยธรรมชาติและปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าหันมานำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น กอปรกับนโยบายรัฐบาลที่ปรับลดราคารับจำนำสินค้าเกษตรสำคัญ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศคู่ค้าทราบว่ารัฐบาลจะปรับนโยบายการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญโดยอิงราคาตลาดเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลดีต่อการแข่งขันในตลาดโลก ดังนั้นในปี 2550 ผู้ส่งออกต้องแปรปัจจัยหนุนให้มีความได้เปรียบมากขึ้นทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่จะเกิดขึ้น

ปริมาณการผลิตปี 2549/50 ขยายตัว…อานิสงส์จากราคาปี’49 อยู่ในเกณฑ์สูง
ในปีเพาะปลูก 2549/50 คาดว่าปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญเพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกตามความต้องการของตลาดและราคาที่จูงใจ แม้ว่าจะเกิดวิกฤตน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต สินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือ ข้าว ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว เนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมอยู่ในเขตภาคเหนือและภาคกลาง แต่คาดว่าจะมีการปลูกทดแทนในช่วงกลางปี 2550 โดยเฉพาะข้าว โดยคาดว่าผลผลิตข้าวนาปรังในปี 2550 นี้จะเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยมีผลผลิต 8.0 ล้านตันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2549 ร้อยละ 18.5 ส่วนข้าวที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคาดว่าจะได้ผลดี เนื่องจากเนื้อที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่ในที่สูง คาดว่าผลผลิตข้าวหอมมะลิซึ่งส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตามสินค้าเกษตรบางประเภทมีปริมาณการผลิตลดลง อันเป็นผลมาจากพื้นที่ปลูกลดลง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นๆที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจดีกว่าโดยเฉพาะมันสำปะหลัง ซึ่งนับว่าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นี้มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สองแล้ว คาดว่าไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ นอกจากนี้พืชเศรษฐกิจที่สำคัญบางประเภทมีการขยายการปลูกตามนโยบายพืชพลังงานทดแทน โดยเฉพาะมันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน ทำให้คาดการณ์ว่าผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในปี 2549/50 นั้นมีพืชสำคัญหลากหลายชนิดที่คาดว่าปริมาณการผลิตจะฟื้นตัวจากที่ปริมาณการผลิตลดลงในปี 2548/49 โดยเฉพาะยางพารา อ้อยโรงงานและปาล์มน้ำมัน

ส่วนปริมาณการผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญโดยเฉพาะไก่เนื้อ และสุกรในปี 2550 คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากราคาในปี 2549 ไม่จูงใจให้มีการขยายการเลี้ยง และการคาดการณ์ตลาดส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว รวมทั้งการคาดการณ์ว่าในปี 2550 ราคาอาหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าปศุสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมทำให้ปริมาณการผลิตปศุสัตว์ลดลงด้วย ไก่เนื้อปริมาณสต็อกเนื้อไก่ในประเทศที่สูงถึง 80,000 ตันในไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 ส่งผลให้กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในธุรกิจไก่เนื้อลดปริมาณการผลิตไก่เนื้อให้เหลือ 13 ล้านตัว/สัปดาห์ จากที่เคยผลิตอยู่ในระดับ 22-25 ล้านตัว/สัปดาห์ ซึ่งมาตรการชะลอการผลิตไก่เนื้อน่าจะดำเนินการต่อไปถึงกลางปี 2550 อันเป็นผลจากการคาดการณ์การส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2550 โดยเฉพาะไก่เนื้อ อันเป็นผลมาจากมาตรการกำหนดโควตาการนำเข้าของสหภาพยุโรป สำหรับธุรกิจการเลี้ยงสุกรประสบกับปัญหาขาดทุน ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยเลิกกิจการ กอปรกับในช่วงน้ำท่วมธุรกิจการเลี้ยงสุกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภาคกลางประสบความเสียหายอย่างมากของสุกรพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตสุกรในช่วงปี 2550

สำหรับการผลิตสินค้าประมงในปี 2550 คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัว โดยเฉพาะกุ้ง ทั้งนี้ได้รับอานิสงส์มาจากการคาดการณ์ถึงการส่งออกที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีในปี 2550 โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป ทำให้คาดว่าราคากุ้งในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้มีการเลี้ยงกุ้งมากขึ้น โดยคาดว่าปริมาณการเลี้ยงกุ้งกุลาดำจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคในสหภาพยุโรปนั้นนิยมบริโภคกุ้งกุลาดำมากกว่ากุ้งขาว อย่างไรก็ตามเกษตรกรบางส่วนก็ยังคงเลี้ยงกุ้งขาวเพื่อป้อนตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากผู้บริโภคในสหรัฐฯนิยมบริโภคกุ้งขาว และคาดว่าสหรัฐฯจะยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยเช่นเดิม อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องพิจารณาคือผลการทบทวนการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดที่จะประกาศในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งถ้าพิจารณาว่าไม่มีการทุ่มตลาด สหรัฐฯก็จะยกเลิกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด แต่ถ้ายังมีการทุ่มตลาดอยู่ก็จะยังคงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และอาจจะมีการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งถ้าอัตราภาษีใหม่ของไทยยังคงต่ำกว่าประเทศคู่แข่งก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่ถ้าอัตราภาษีใหม่ของประเทศคู่แข่งต่ำกว่าไทยก็จะประสบปัญหาในการส่งออก คาดว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งน่าจะชะลอการเลี้ยงกุ้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 เพื่อรอดูความชัดเจนของสถานการณ์ ถ้าแนวโน้มตลาดส่งออกยังดีอยู่ก็จะมีการขยายการเลี้ยงในช่วงครึ่งหลังปี 2550

ส่วนปริมาณการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรนั้นคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยได้รับอานิสงส์จากการคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้คาดการณ์ว่าผู้บริโภคจะหันไปรับประทานอาหารสำเร็จรูปและอาหารกระป๋องเพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่คาดว่าจะมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น คือ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักผลไม้กระป๋องและแปรรูป

ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรปี’50…อัตราการขยายตัวชะลอลง
คาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2550 จะมีมูลค่าประมาณ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 โดยอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรนั้นมีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2549 ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยในปี 2549 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 16.9 จากที่ในปี 2548 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกเพียงร้อยละ 4.5 เท่านั้น ซึ่งอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกที่ยังเติบโตต่อเนื่องในปี 2550 เนื่องจากคาดการณ์ว่าการส่งออกของทั้งสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าในหมวดกสิกรรม ซึ่งสินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกแจ่มใสเช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสหกรรมเกษตรแยกพิจารณาได้ดังนี้

1.สินค้าเกษตรกรรม การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมในปี 2550 คาดว่ามีมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 นับว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลงจากที่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมในปี 2549 ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 12,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 21.6 ซึ่งนับว่ามีการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ จากที่ในปี 2548 มีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.1 เท่านั้น โดยแยกเป็น

-สินค้ากสิกรรม คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกสินค้ากสิกรรมในปี 2550 เท่ากับ 11,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปี 2549 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 เท่ากับว่าสินค้ากสิกรรมมีแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกที่โดดเด่นต่อเนื่องจากปี 2549 แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะชะลอตัวลงจากที่คาดว่าในปี 2549 จะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 26.6 คาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมหลักหลายสินค้าการแข่งขันในตลาดโลกลดความรุนแรงลง อันเป็นผลจากประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญต่างเผชิญปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตและปัญหาภัยธรรมชาติ ดังนั้นประเทศผู้นำเข้าหันมานำเข้าจากไทยมากขึ้น เช่น เวียดนามระงับการส่งออกข้าว เนื่องจากราคาข้าวในประเทศพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากการที่ผลผลิตข้าวลดลง เป็นต้น นอกจากนี้การที่รัฐบาลปรับมาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะข้าว และมันสำปะหลัง ทำให้มีการคาดการณ์ว่าราคาสินค้าเกษตรกรรมของไทยจะมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้การแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกดีขึ้น

-สินค้าประมง คาดการณ์ว่าในปี 2550 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8แต่เมื่อเทียบกับในปี 2549 ที่คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าประมงเท่ากับร้อยละ 7.3 ทั้งนี้เนื่องจากการคาดว่าการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการที่สหภาพยุโรปคืนสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพีให้ไทยในวันที่ 1 มกราคม 2549 ซึ่งทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญอันดับหนึ่งนั้น คาดว่ายังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนคือ การพิจารณาทบทวนภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ ซึ่งจะประกาศผลประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยจะส่งผลให้มีการขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯในกรณีที่มีการยกเลิกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด แต่ถ้ายังมีการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดต่อไป ก็ต้องมาพิจารณาว่ามีการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีหรือไม่ และต้องพิจารณาความได้เปรียบเสียเปรียบกับประเทศคู่แข่งขันส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในตลาดสหรัฐฯด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนที่สำคัญในการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นตรวจพบสารคลอแรมฟินิคอลในปลาหมึกที่ส่งออกจากเวียดนาม ทำให้ญี่ปุ่นระงับการนำเข้าปลาหมึกจากเวียดนาม รวมทั้งหันมาตรวจสอบผลิตภัณฑ์กุ้งจากเวียดนามเข้มงวดขึ้น คาดว่าญี่ปุ่นจะห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากเวียดนาม โดยหันมานำเข้ากุ้งแปรรูปจากไทยมากขึ้น

-สินค้าปศุสัตว์ ในปี 2550 นั้นคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์รวมทั้งสิ้น 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6.3 ซึ่งนับว่าอัตราการขยายตัวชะลอตัวลงจากที่คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.9 ในปี 2549 โดยการส่งออกไก่แปรรูปต้องเผชิญปัญหาในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป เนื่องจากในปี 2550 สหภาพยุโรปจะมีการกำหนดโควตาส่งออก ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกไก่แปรรูปไปบังตลาดสหภาพยุโรปมีข้อจำกัด รวมทั้งยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากบราซิลอีกด้วย ขณะที่การส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งติดปัญหาในเรื่องที่องค์การระบาดวิทยาระหว่างประเทศยังไม่ได้ประกาศให้ไทยเป็นเขตปลอดไข้หวัดนก รวมทั้งยังมีข่าวของการแพร่ระบาดไข้หวัดนกในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยาทำให้ปริมาณการบริโภคเนื้อไก่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ

2.สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ในปี 2550 คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรจะมีมูลค่า 8,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 โดยอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรนับว่าเติบโตต่อเนื่องจากปี 2549 ที่คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกร้อยละ 9.8 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรนับว่าเป็นดาวเด่นที่มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่คาดว่าจะมีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกอยู่ในเกณฑ์สูง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป โดยเฉพาะปลากระป๋อง และปลาแปรรูป ทั้งนี้เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากกระแสอาหารเพื่อสุขภาพ รวมทั้งกระแสการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศ ทำให้ผู้บริโภคหันมารับประทานอาหารประเภทปลาเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่แม้ว่าในปัจจุบันจะมีมูลค่าการส่งออกไม่สูงมากนัก แต่ก็มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกอยู่ในเกณฑ์สูง ได้แก่ ผักกระป๋องและแปรรูป โดยเฉพาะข้าวโพดฝักอ่อนกระป๋องและข้าวโพดหวานกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร ซุปและอาหารปรุงแต่ง เนื้อสัตว์และของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ รวมทั้งโกโก้และของปรุงแต่ง

ปัจจัยเสี่ยง…ต้องจับตา และเตรียมกำหนดแนวทางรับมือ
ในปี 2550 ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องกังวลสำหรับภาคเกษตรกรรม มีดังนี้
1.แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการคาดการณ์ว่าในปี 2550 เศรษฐกิจของสหรัฐฯมีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของสหรัฐฯลดลง ซึ่งผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยที่พึ่งพิงตลาดสหรัฐฯเป็นหลักต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆมาทดแทน โดยเฉลี่ยแล้วตลาดสหรัฐฯมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15.0 ของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดของไทย กล่าวคือ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 นั้นไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไปยังตลาดสหรัฐฯ 2,302.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 นับว่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯนั้นมีอัตราการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ โดยแยกเป็นการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม 1,056.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 ซึ่งการส่งออกไปยังสหรัฐฯอยู่ในอันดับสามรองจากตลาดญี่ปุ่นและจีน การส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดสหรัฐฯที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ได้แก่ ข้าว กุ้ง และปลาหมึก ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีมูลค่า 1,246.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 ซึ่งการส่งออกไปยังสหรัฐฯอยู่ในอันดับหนึ่งมาโดยตลอด อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผักกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งผู้ส่งออกสินค้าเหล่านี้ต้องเร่งหาตลาดใหม่ทดแทนทั้งนี้เพื่อรักษายอดส่งออกในปี 2550 โดยตลาดส่งออกซึ่งนับเป็นตลาดรอง(ตลาดหลักคือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน)ที่น่าสนใจ แยกออกได้เป็น ตลาดรองที่น่าสนใจสำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรคือ ออสเตรเลีย และแคนาดา โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรไปยังออสเตรเลียเท่ากับ 207.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 และการส่งออกไปแคนาดาเท่ากับ 156.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3
ส่วนตลาดรองที่น่าสนใจสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรคือ จีน เกาหลีใต้ และฮ่องกง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 การส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนเท่ากับ 1,613.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.7 ส่วนการส่งออกไปเกาหลีใต้เท่ากับ 366.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 และการส่งออกไปฮ่องกงเท่ากับ 266.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5

2.การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าในปี 2550 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกเมื่อเทียบกับในปี 2549 ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ดังนี้

-โอกาสของผู้ผลิตสินค้าเกษตรจำหน่ายในประเทศ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และถ้าสินค้าเหล่านั้นผลิตเพื่อขายในประเทศเป็นส่วนใหญ่แล้วก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท แต่ในกรณีที่ต้องพึ่งทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก การจำหน่ายสินค้าในประเทศจะเป็นตัวช่วยบรรเทาผลกระทบของการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่จะทำให้กำไรที่ลดลงจากตลาดส่งออก โดยจะกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบมากน้อยเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าระหว่างตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ดังนั้นตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องถึงปี 2550 จะเห็นแนวโน้มว่าบรรดาผู้ประกอบการที่พึ่งพิงตลาดส่งออกเริ่มหันมาเจาะขยายตลาดในประเทศด้วย โดยเฉพาะอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง

-ผลกระทบต่อปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบที่นำเข้า การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยทำให้ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มลดลงกล่าวคือ ปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชนั้นไทยยังต้องพึ่งพิงการนำเข้า ซึ่งส่งผลต่อเนื่องทำให้ต้นทุนการผลิตภาคกสิกรรมของไทยมีแนวโน้มลดลง

ส่วนการนำเข้าสินค้าเกษตรบางประเภทที่ไทยผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยผู้ประกอบการไทยต้องนำเข้าเพื่อผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศและส่งออก สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่จะได้รับอานิสงส์จากการจากแข็งค่าของค่าเงินบาท แยกเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ได้แก่นมและผลิตภัณฑ์ที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้านมและครีม ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีเช่น บะหมี่สำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าข้าวสาลี เป็นต้น ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ผลิตเพื่อส่งออกที่ได้รับอานิสงส์ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะกากถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าปลาป่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าสัตว์น้ำโดยเฉพาะ ปลาทูน่า ปลาหมึก และกุ้ง

อย่างไรก็ตาม ชาวสวนผักและผลไม้และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องของไทยต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นจากปัจจัยการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทที่จะหนุนให้การแข่งขันที่รุนแรงอยู่แล้วจากผลของการเปิดเขตการค้าเสรี โดยเฉพาะผักและผลไม้เมืองหนาว กล่าวคือการแข็งค่าของค่าเงินบาททำให้สินค้าเกษตรนำเข้ามีแนวโน้มราคาลดลง ซึ่งทำให้การแข่งขันกับสินค้าเกษตรประเภทเดียวกันหรือที่สามารถทดแทนกันได้ดีขึ้น ส่งผลกระทบทำให้สินค้าเกษตรที่ผลิตในประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคคนไทยมักจะนิยมเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่นำเข้า ซึ่งเมื่อผนวกกับการที่ไทยเปิดเขตการค้าเสรีทั้งกับจีน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ทำให้ราคาสินค้าผักและผลไม้เมืองหนาวมีราคาลดลงอยู่แล้ว

-ผลกระทบต่อสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่พึ่งตลาดส่งออกเป็นหลัก การแข็งค่าของค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม เนื่องจากทำให้ผู้นำเข้าตัดสินใจซื้อสินค้าไทยยากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาสินค้าอาหารของไทยแข่งขันได้ดีที่อัตราแลกเปลี่ยนระดับ 39-40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากผู้ส่งออกต้องประสบกับภาวะขาดทุนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2549 ถึงต้นปี 2550 อันเป็นผลมาจากมีการตกลงรับคำสั่งซื้อเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และไม่สามารถเจรจาเปลี่ยนแปลงราคาได้

3.ความผันผวนของราคาน้ำมัน ในช่วงที่ผ่านมาความผันผวนของราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร โดยภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนการใช้น้ำมันประมาณร้อยละ 16.5 ของการใช้น้ำมันทั้งประเทศ และในบรรดาต้นทุนการผลิตทั้งหมดโดยเฉลี่ยแล้วน้ำมันถือเป็นร้อยละ 14.4 ของต้นทุนการผลิต ความผันผวนของราคาน้ำมันนั้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าประมงทะเลที่เป็นการใช้น้ำมันมากที่สุด ส่งผลทำให้เรือประมงโดยเฉพาะเรือประมงขนาดเล็กงดออกจับปลา ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำทะเลในประเทศลดลงและราคามีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ความผันผวนของราคาน้ำมันยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรจากราคาปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ยและสารเคมีเพื่อการเกษตร เป็นต้น
4.ราคานำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น ไทยยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร แม้ว่าการนำเข้าจะได้รับผลดีจากการแข็งค่าของเงินบาท ในปี 2550 มีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบนำเข้ายังคงอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสัตว์น้ำทะเลนำเข้า กล่าวคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การผลิตข้าวโพดเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในไทยลดลง จากเดิมที่มีพื้นที่ปลูกกว่า 7 ล้านไร่เหลือเพียง 6 ล้านไร่ เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ในปี 2550 ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯและยุโรปเพิ่มปริมาณการผลิตไบโอดีเซลและเอธานอล ทำให้ความต้องการธัญพืชในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น กอปรกับความต้องการของจีนยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง ดังนั้นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตปศุสัตว์ ส่วนราคาปลาป่นก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากหลายประเทศขยายการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคสัตว์น้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งราคาปลาป่นที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตกุ้ง สัตว์น้ำทะเล ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสัตว์น้ำทะเลหลายประเทศทั้งในลักษณะเข้าไปลงทุนสัมปทานประมงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำสัตว์น้ำทะเลมาขึ้นท่าที่ไทย และส่งต่อไปเพื่อการบริโภคโดยตรงและเพื่อป้อนอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ แต่จากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัมปทานประมงของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งประมงนอกน่านน้ำที่สำคัญของไทย ทำให้มีแนวโน้มว่าเรือประมงไทยที่เข้าไปจับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซียต้องนำสัตว์น้ำที่จับได้ไปขึ้นท่าที่อินโดนีเซียเพื่อส่งต่อยังอุตสาหกรรมต่างๆของอินโดนีเซีย ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำที่มาขึ้นท่าเรือไทยลดลง และมีแนวโน้มแพงขึ้น

5.การเปลี่ยนแปลงระเบียบ/กฎเกณฑ์การนำเข้าของประเทศคู่ค้า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2550 ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงระเบียบ/กฎเกณฑ์การนำเข้าของประเทศคู่ค้า ซึ่งประเทศคู่ค้ามักจะใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยอ้างว่าเป็นการปกป้องผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศ ในปี 2550 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่จะได้รับผลกระทบคือ ไก่แปรรูปเนื่องจากสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักเปลี่ยนมาตรการมากำหนดโควตานำเข้า คาดว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวของการส่งออกไก่แปรรูปไปยังตลาดสหภาพยุโรป ส่วนกุ้งและผลิตภัณฑ์นั้นเนื่องจากสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด โดยประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2550 จะมีการประกาศผลการทบทวนการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทย กล่าวคือ ถ้าพิจารณาว่าไทยไม่มีการทุ่มตลาดกุ้งและผลิตภัณฑ์แล้ว ผู้ส่งออกของไทยก็ไม่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยเป็นอย่างมาก แต่ถ้ามีการประกาศให้ยังคงเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อยก็ต้องพิจารณาเปรียบเทียบอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่ประกาศใหม่ระหว่างไทยกับประเทศคู่แข่งขัน

อย่างไรก็ตามในปี 2550 ก็ยังมีปัจจัยหนุน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้การแข่งขันของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2550 มีแนวโน้มดีขึ้น ดังนี้

1.สินค้าเกษตรในตลาดโลกปริมาณการผลิตลดแต่ความต้องการเพิ่ม การคาดการณ์ว่าในปี 2550 ความต้องการสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่ประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกเผชิญปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตและปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ความต้องการธัญพืชเพื่อใช้ในการผลิตไบโอดีเซลและเอธานอลในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการนำเข้าธัญพืชมาทดแทนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดในสหภาพยุโรปหันมาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น เนื่องจากสหภาพยุโรปนำธัญพืชไปผลิตเอธานอล

ในขณะที่คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าวิกฤตน้ำท่วมจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตสินค้าเกษตรบางส่วน แต่คาดว่าเกษตรกรจะปลูกชดเชยผลผลิตที่เสียไปได้ในช่วงฤดูแล้งของปี 2550 ทำให้ผลผลิตเลื่อนไปออกในช่วงกลางปี 2550 รวมทั้งไทยยังมีสต็อกสินค้าเกษตรบางส่วนที่สามารถระบายออกสู่ตลาดในปีหน้านี้ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสอันดีของไทยในการขยายปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2550 คาดว่าราคาสินค้าเกษตรในปี 2550 จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากการส่งออกที่อยู่ในเกณฑ์ดีเป็นปัจจัยหนุน

2.นโยบายรัฐบาล การปรับนโยบายการแทรกแซงตลาดของรัฐบาลนับว่าส่งผลต่อสภาพการแข่งขันในการส่งออกสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยมาตรการแทรกแซงที่รัฐบาลประกาศแล้วคือ มาตรการรับจำนำข้าว2549/50 ที่กำหนดราคารับจำนำใกล้เคียงกับราคาตลาด ซึ่งเป็นผลให้ราคารับจำนำลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อการแข่งขันในตลาดโลก ดังเช่นการกำหนดราคารับจำนำข้าวปี 2549/50 เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาด และอยู่ในสถานการณ์ที่สอดรับกับสถานการณ์ในตลาดโลกในปี 2550 ที่คาดว่าความต้องการข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเป็นการส่งสัญญาณว่าราคาข้าวส่งออกของไทยมีแนวโน้มลดลง ประเทศผู้นำเข้าหันมาพิจารณานำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากความแตกต่างระหว่างข้าวไทยกับเวียดนามมีแนวโน้มลดลง ส่วนมาตรการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2549/50ปรับมาใช้ราคารับจำนำแบบขั้นบันไดทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2550 และรักษาเสถียรภาพของราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย กล่าวคือ ในเดือนพฤศจิกายนกิโลกรัมละ 1.25 บาท เพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 1.30, 1.35, 1.40, 1.45 และ 1.50 บาทในเดือนธันวาคม 2549- เมษายน 2550 ตามลำดับ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรทยอยการขุดหัวมันสำปะหลังแล้ว ยังส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าทราบถึงทิศทางราคาชัดเจน นอกจากนี้นโยบายการส่งเสริมพลังงานทางเลือกส่งผลให้ความต้องการมันสำปะหลังและปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย

บทสรุป
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าแนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2550 ยังมีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2549 แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม เนื่องจากต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของตลาดสหรัฐฯ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ความผันผวนของราคาน้ำมัน และการเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎเกณฑ์ของประเทศผู้นำเข้าสินค้า แต่ก็ยังมีปัจจัยหนุนที่ช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะความต้องการในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรของหลายประเทศลดลงจากปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยและปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ประเทศคู่ค้าหันมานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งคาดการณ์ว่าการแข่งขันในตลาดโลกจะลดความรุนแรงลง เนื่องจากประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรบางประเทศระงับการส่งออกชั่วคราว เช่นเวียดนามระงับการส่งออกข้าวเนื่องจากปริมาณการผลิตลดลงจากปัญหาภัยธรรมชาติและแมลงศัตรูพืช เป็นต้น และการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวจากการที่ประเทศคู่แข่งถูกระงับการนำเข้าจากปัญหาถูกตรวจพบสารเคมีตกค้าง เช่น ญี่ปุ่นระงับการนำเข้าปลาหมึกจากเวียดนามเนื่องจากตรวจพบสารเคมีตกค้าง และหันมาเข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์กุ้งจากเวียดนาม คาดว่ามีแนวโน้มว่าญี่ปุ่นจะระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากเวียดนามด้วย ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดีในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทย เป็นต้น ในขณะที่ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของไทยในปี 2550 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเข้ามาแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรของรัฐบาล ซึ่งทำให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยมีแนวโน้มลดลง และสถานะการแข่งขันในตลาดโลกดีขึ้น