ผลการศึกษาล่าสุดของ EIU ระบุ "ประเทศในอาเซียนควรสร้างความเติบโตด้านส่งออกให้กับสินค้ามูลค่าสูง"

ดีเอชแอล ผู้นำธุรกิจขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ระดับโลก เปิดเผยถึงผลการศึกษาซึ่งจัดทำโดย หน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์ (Economist Intelligence Unit – EIU) ในการประชุมธุรกิจและการลงทุนอาเซียน ครั้งที่ 4 ประจำปี 2549 (the 4th ASEAN Business and Investment Summit 2006) การศึกษาในหัวข้อเรื่อง “การส่งออกของอาเซียน: วันนี้ พรุ่งนี้ และความท้าทายในการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูง (ASEAN Export: Today, Tomorrow and the High-value Challenge)” มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์ถึงสถานะของประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่ความเกี่ยวข้องกับจีนและอินเดีย และประเทศเหล่านี้จะสามารถวัดผลได้อย่างไรในฐานะกลุ่มการค้าทางด้านการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับสหภาพยุโรป (European Union – EU) และข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (the North American Free Trade Agreement – NAFTA)

การศึกษานี้ มุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด 7 ประเทศ ในกลุ่มการค้าอาเซียน ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียตนาม และพม่า หรือที่เรียกในการศึกษานี้ว่า ‘อาเซียน 7’ โดยการศึกษานี้ได้พิจารณาถึงสถานะการส่งออกในประเทศทั้ง 7 ประเทศ ทั้งนี้ ได้แบ่งการส่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สินค้าที่มีมูลค่าสูง และสินค้าที่มีมูลค่าต่ำ

การศึกษาได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการส่งออกที่มีมูลค่าสูง (เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์) กับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำ (เช่น เสื้อยืดทีเชิร์ต) ทักษะการจัดการที่ดีกว่า ความต้องการพื้นที่ในการขนส่งที่น้อยกว่า และงานทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่มากกว่า เป็นสิ่งที่ต้องการสำหรับสินค้าส่งออกในกลุ่มแรก โดยสินค้าที่มีมูลค่าสูงจะสามารถขยายขอบเขตที่กว้างขึ้นไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูงกว่า ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจทั้งหมดได้

มร. สก๊อตต์ ไพรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “อาเซียน 7 เป็นผู้ส่งออกทางด้านสินค้าที่มีมูลค่าสูงที่ประสบความสำเร็จ จากการศึกษาซึ่งแสดงให้เห็นถึงตัวเลขที่ระบุการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูง อยู่ที่ร้อยละ 51.3 ตามหลัง NAFTA ที่มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 54 เพียงเล็กน้อย ในฐานะที่เป็น “กลไกขับเคลื่อนทางการค้า” ของภูมิภาคนี้ ดีเอชแอลมั่นใจว่า การศึกษานี้ นอกจากจะให้ข้อมูลที่เจาะลึกต่อรัฐบาลของประเทศในอาเซียน และผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสถานะและประสิทธิภาพของภาคการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าสูงแล้ว ยังเสนอคำแนะนำว่าจะสามารถเอาชนะความท้าทายที่กลุ่มการค้าอาเซียนต้องเผชิญได้อย่างไร”

ผลการศึกษาข้อหนึ่งระบุว่า จีน ไม่เพียงแต่แซงหน้าประเทศในอาเซียนทางด้านการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2546 แต่ยังตามทันประเทศอาเซียนในฐานะผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตั้งแต่ปี 2547 ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ รัฐบาลของประเทศอาเซียนควรจะทบทวนนโยบายทางการค้าโดยการเปรียบเทียบกับประเทศจีน และเพื่อรับมือกับความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า

ผลการศึกษาแนะนำว่า กลุ่มการค้าอาเซียนควรมีการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ ใหม่ โดยเหตุผลหลักคือการกระตุ้นให้เกิดผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เพิ่มการเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยี และเอื้อให้เกิดการเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ในประเภทการส่งออกสินค้ามูลค่าสูง การพิจารณาอื่นๆ สำหรับอนาคต รวมไปถึงการผสานทางด้านการค้าและขั้นตอนด้านศุลกากร เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางด้านการส่งออกสินค้ามูลค่าสูงต่อไป

“ลูกค้าของเราจำนวนหนึ่งมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าที่มีมูลค่าสูง และดีเอชแอลก็ยังคงยึดมั่นในการทำงานร่วมกับรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย และภาคธุรกิจของประเทศอาเซียนต่อไปเพื่อการตระหนักถึงศักยภาพของสินค้ามูลค่าสูงของกลุ่มลูกค้าของเรา และเพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าของเรายังคงเติบโตต่อไปในภูมิภาคนี้” มร. ไพรซ์ ระบุ

มร. ไพรซ์ ยังกล่าวต่อไปว่า “เรามั่นใจว่า รายงานและความเข้าใจในการผลการศึกษานี้อย่างลึกซึ้งจะช่วยให้กลุ่มการค้าตระหนักถึงความท้าทายที่พวกเขาเผชิญอยู่ในอุตสาหกรรมการส่งออก และช่วยสนับสนุนให้กลุ่มการค้าทบทวนกลยุทธ์ตามคำแนะนำในรายงานนี้ เพื่อที่จะตอบสนองและเติบโตเหนือความท้าทายเหล่านั้นได้”

การเผยแพร่การศึกษานี้ได้มีการประกาศในเวลาเดียวกันกับการประชุม ASEAN-BIS ซึ่งเป็นการประชุมธุรกิจและเครือข่ายที่สำคัญที่สุด ซึ่งดีเอชแอลเป็นผู้สนับสนุนหลักในหลายๆ ปีที่ผ่านมา โดย มร. ไพรซ์ ได้มีปาฐกถาในวันแรกของการสัมมนาซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับตำแหน่งของอาเซียนในระบบซัพพลายเชนของโลก

ดีเอชแอลยึดมั่นในการลดความซับซ้อน ความเสี่ยง และค่าใช้จ่ายของการค้าทั้งใน และระหว่างประเทศ ทั้งภายในและข้ามทวีปเอเชียแปซิฟิก รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ โดยนอกจากการที่ดีเอชแอล ได้นำเสนอบริการขนส่งระหว่างประเทศด้วยความน่าเชื่อถือ ที่มีความครอบคลุมให้กับธุรกิจต่างๆ แล้วยังมุ่งในการสนับสนุนการศึกษาทั้งทางด้านแนวโน้ม ตลอดจนปัญหา และความท้าทายทางด้านการค้าและลอจิสติกส์ ในปี 2547 ดีเอชแอล ได้มอบหมายให้บริษัท แมคคินซี (McKinsey) ทำการศึกษาความหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจการส่งออกทางด้านสิ่งทอของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดีย ก่อนที่ข้อตกลงว่าด้วยการค้าสิ่งทอระหว่างประเทศ (MFA) การควบคุมโควตาการส่งออกสิ่งทอขององค์การการค้าโลก (WTO) จะสิ้นสุดลงในต้นปี 2548

นอกจากนั้น ดีเอชแอลยังสนับนุนการให้ขั้นตอนการผ่านการตรวจของศุลกากรมีความสะดวกขึ้นอย่างมาก รวมถึงกิจกรรมการค้าอื่นๆ เช่น ในประเทศเวียดนาม ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เป็นผู้ให้บริการการขนส่งทางอากาศรายแรกที่ให้มีบริการเดินพิธีการศุลกากรในวันอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรยากาศการค้าของเวียดนาม ซึ่งการดำเนินพิธีการทางด้านศุลกากรในวันหยุดไม่เคยกระทำได้สำหรับผู้ให้บริการทางด้านคลังสินค้าหรือขนส่งด่วนเลย ในประเทศอินโดนีเซีย ด้วยการสนับสนุนที่ดีจากศุลกากรทั้งในและนอกกรุงจาการ์ตา ดีเอชแอลได้รับประโยชน์จากความเป็นเอกราชของภูมิภาคซึ่งออกกฎหมายโดยรัฐบาลกลางในปี 2541 ในการดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างละเอียดรอบคอบในการเปิดเกตเวย์ (จุดบริการในขั้นตอนการนำสินค้าเข้าและออก) ในเมืองหลักของอินโดนีเซีย เพื่อความสะดวกและลดเวลาในการผ่านการตรวจโดยศุลกากร

ดีเอชแอล ยึดมั่นในการทำงานร่วมกับรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับปรุงการค้าและนโยบายอื่นๆ เพื่อให้ประเทศในแถบอาเซียนเติบโตทางด้านเครือข่ายการส่งออกที่มีมูลค่าสูงไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นอย่างประสบความสำเร็จและต่อเนื่อง

ข้อมูลเพิ่มเติมดีเอชแอล
ดีเอชแอล ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ระดับโลก ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญพิเศษในการมอบนวัตกรรมและโซลูชั่นซึ่งได้รับการออกแบบโดยเฉพาะเพื่อสนองตอบความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าจากผู้ให้บริการเพียงรายเดียว ดีเอชแอลเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริการขนส่งด่วน การขนส่งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก ตลอดจนโซลูชั่นด้านลอจิสติสก์ต่างๆ และบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการทั่วทุกมุมโลก และมีความเข้าใจถึงความต้องการของตลาดในแต่ละประเทศได้อย่างลึกซึ้ง ปัจจุบัน ดีเอชแอลมีเครือข่ายเชื่อมโยงครอบคลุมมากกว่า 220 ประเทศ และอาณาเขตต่างๆ ทั่วโลก โดยมีบุคลากรกว่า 285,000 คนทั่วโลก ที่พร้อมมอบบริการขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ครบวงจรที่รวดเร็ว วางใจได้ และเกินความคาดหวังของลูกค้า ดีเอชแอล เป็นหนึ่งในตราสินค้าของดอยช์ โพสท์ เวิลด์ เน็ต ซึ่งสามารถทำรายได้ 45 พันล้านเหรียญยูโร ในปี 2005

ดีเอชแอล ประเทศไทย ให้บริการขนส่งและลอจิสติกส์อย่างครบวงจรด้วยศักยภาพของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ดีเอชแอล โกลบอล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง และดีเอชแอล เอ็กเซล ซัพพลายเชน ที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกอย่างเต็มที่จากการติดต่อผู้ให้บริการเพียงรายเดียว (one-stop-shop) ซึ่งรองรับการขนส่งทุกรูปแบบ ตั้งแต่เอกสารไปจนถึงตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีพนักงาน 1,700 คนให้บริการอย่างมืออาชีพ ผ่านเครือข่ายและจุดบริการมากกว่า 20 แห่ง ที่ให้บริการครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมที่เว็บไซต์ www.dhl.co.th